ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

ตะคริว สาเหตุ และวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น

เริ่มโดย เอยู, 10:18 น. 30 ก.ค 63

เอยู

เชื่อว่าหลาย ๆ คนเคยเกิดอาการเกร็งเป็นก้อนแข็งของกล้ามเนื้อ ที่เรียกกันว่า "ตะคริว" เป็นอาการที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหันทำให้รู้สึกเจ็บปวดทรมาน โดยเฉพาะบริเวณน่องและนิ้วเท้า และไม่สามารถรู้ได้ว่าจะเกิดเมื่อใด มักเกิดขึ้นในขณะเล่นกีฬา เกิดขึ้นในเวลากลางคืน หรือช่วงตื่นนอนใหม่ ๆ อาการเหล่านี้เกิดจากอะไร มีวิธีปฐมพบาลเบื้องต้น รวมทั้งสามารถป้องกันตนเองจากตะคริวได้หรือไม่อย่างไร บทความนี้มีความรู้มาแนะนำค่ะ

สาเหตุของตะคริว
ตะคริว ส่วนใหญ่เป็นอาการที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน ทำให้รู้สึกเจ็บปวดทรมาน เพราะมีอาการเกร็งของกล้ามเนื้อบริเวณน่อง นิ้วเท้า หรือส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย สำหรับสาเหตุของการเป็นตะคริว มีหลายสาเหตุหลัก ๆ เกิดได้ 2 ลักษณะ ดังนี้

1. การเกิดโดยไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดและมีหลายสมมติฐาน
อาจเกิดจากความตึงเครียดของกล้ามเนื้อที่เกิดจากการออกกำลังกาย หรือใช้กำลังมากเกินไป ซึ่งตะคริวมักจะเกิดขึ้นขณะที่กำลังพักหลังจากการออกกำลังกายหรือทำงานหนัก
อาจเกิดจากการทำงานของประสาทที่ผิดปกติระหว่างนอนหลับ
อาจมีสาเหตุมาจากกล้ามเนื้ออ่อนร้าหรือได้รับบาดเจ็บ
การยับยั้งของเลือดอย่างฉับพลัน ขณะที่ไปหล่อเลี้ยงกล้ามเนื้อ
อาจเกิดจากกล้ามเนื้อขาดการยืดหยุ่น เพราะกล้ามเนื้อที่ตึงจะเกิดตะคริวได้บ่อย
2. การเกิดตะคริวที่สามารถระบุสาเหตุการเกิดได้
เกิดจากภาวะต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับระบบประสาท
การเกิดตะคริวของผู้ป่วยที่เป็นโรคตับ เนื่องจากการทำงานที่ผิดปกติของตับ จะทำให้เกิดสารพิษไปยังกระแสเลือด ซึ่งสามารถทำให้กล้ามเนื้อเกิดการกระตุกหรือหดเกร็งตัวได้
การเกิดตะคริวของผู้ป่วยที่เป็นโรคไต อาจทำให้มีเกลือแร่บางชนิดต่ำ และส่งผลให้มีตะคริวได้
เกิดจากภาวะเกลือแร่ในร่างกายต่ำ
เกิดจากโรคอื่น ๆ ที่มีภาวะทำให้แคลเซียมต่ำ
การติดเชื้อจากแบคทีเรียบางชนิด
เกิดจากการทานยาบางชนิด เช่น ยาขับปัสสาวะ กลุ่มยาสแตติน ยากรดนิโคตินิก ยาราโลซิฟีน และยาไนเฟดิปีน

People photo created by jcomp – www.freepik.com

ลักษณะอาการเมื่อเป็นตะคริว
การเกิดตะคริว อาการส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นที่บริเวณขาโดยเฉพาะที่น่อง อาจเริ่มจากรู้สึกเกร็งกล้ามเนื้อส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย มีการเกร็งและปวดมาก โดยทั่วไปอาการตะคริวมักจะเกิดขึ้น ไม่เกิน 2 นาที แต่บางรายอาจเกิดได้นาน 5 – 15นาที แล้วอาการเกร็งก็จะหายไปเอง หลังจากกล้ามเนื้อหายเกร็งแล้ว จะมีอาการปวดหรือเจ็บกล้ามเนื้ออยู่นานเป็นชั่วโมง หรือบางรายเป็นวันก็ได้

ปัจจัยที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดตะคริว
ผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรัง หรือโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคเกี่ยวกับเส้นประสาท โรคตับหรือไทรอยด์ มีโอกาสสูงที่จะเกิดตะคริวได้
อายุ ผู้สูงอายุที่เสียมวลกล้ามเนื้อไปมากแล้ว ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงในการเป็นตะคริวได้ง่าย
การเสียน้ำของร่างกาย นักกีฬาที่อ่อนล้าและเสียเหงื่อมากมักจะเกิดตะคริวได้ง่าย
การเกิดตะคริว จะพบได้บ่อยในหญิงที่กำลังตั้งครรภ์
วิธีป้องกันการเกิดตะคริว
หมั่นออกกำลังกาย เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะกล้ามเนื้อที่เคยเป็นตะคริว
ก่อนออกกำลังกายควร Warm – up หรืออบอุ่นร่างกาย รวมทั้งการยืดกล้ามเนื้อจะช่วยป้องกันการบาดเจ็บและการเกิดตะคริวได้
ดื่มน้ำให้เพียงพอ เพื่อทำให้ร่างกายชุ่มชื่นไม่มีภาวะขาดน้ำ
หลีกเลี่ยงการใส่ถุงเท้าที่ยาวจนถึงใต้ข้อเข่า โดยเฉพาะถุงเท้าที่คับหรือรัดแน่น จะยิ่งทำให้เกิดตะคริวได้ง่าย
ปรึกษาแพทย์ในการรับประทานอาหารเสริมหรือวิตามินเพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่จำเป็น คือแนวทางหนึ่งที่จะป้องกันไม่ให้เกิดตะคริวได้
วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อเป็นตะคริว
ตะคริว หรือการเกร็งกล้ามเนื้อบริเวณน่อง นิ้วเท้า หรือบริเวณส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย เมื่อเป็นแล้วจะรู้สึกเจ็บปวดทรมาน ผู้ที่เป็นตะคริวสามารถรักษาอาการหรือปฐมพยาบาลเบื้องต้นได้ด้วยตัวเอง ดังนี้

การประคบร้อน โดยใช้ผ้าชุบน้ำอุ่น หรือห่อกระเป๋าน้ำร้อนด้วยผ้านำมาประคบบริเวณกล้ามเนื้อที่มีอาการเกร็งหรือกระตุก ประมาณ 20-30 นาที อาการจะเริ่มดีขึ้น
การประคบเย็น โดยใช้ผ้าชุบน้ำเย็นจัด หรือห้อด้วยน้ำแข็งแล้วนำมาประคบบริเวณที่เป็นกล้ามเนื้อที่เป็นตะคริว ช่วยบรรเทาความเจ็บปวดบริเวณกล้ามเนื้อที่หดเกร็ง หรือกล้ามเนื้อกระตุกให้ดีขึ้นได้
การปฐมพยาบาลเบื้องต้น ด้วยการนวดที่กล้ามเนื้อ ใช้นิ้วมือคลึงเบา ๆ บริเวณกล้ามเนื้อที่เป็นตะคริว อาจทำสลับกับการยืดเหยียดกล้ามเนื้อ ช่วยให้กล้ามเนื้อที่หดเกร็งคลายตัวได้เร็ว
ปฐมพยาบาลเบื้องต้นง่าย ๆ ด้วยการยืดกล้ามเนื้อที่เกิดตะคริวให้คลายตัวช้า ๆ โดยการเกร็งปลายเท้าจิกลง แล้วดันปลายเท้าขึ้นช้า ๆ ทำค้างไว้ 2-3 นาที จนรู้สึกอาการดีขึ้น ทาด้วยครีมหรือยาแก้ปวดเมื่อย แล้วนวดคลึงเบา ๆ บริเวณกล้ามเนื้อที่เป็นตะคริวเพื่อกระตุ้นการไหวเวียนของเลือด ช่วยคลายกล้ามเนื้อได้เร็วและลดอาการเจ็บปวด
อาการกล้ามเนื้อหดเกร็งหรือเป็นตะคริว เมื่อเป็นแล้วแม้จะสามารถหายได้เอง แต่ก็ทำให้รู้สึกเจ็บปวดและทรมาน อาการส่วนใหญ่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันหรือกะทันหัน เช่น ขณะออกกำลังกาย เล่นกีฬา หรือเมื่อกล้ามเนื้อตึงมีอาการเกร็งขณะขับรถเป็นเวลานาน ๆ ซึ่งอาจเป็นอันตรายและทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย นอกจากเรียนรู้การปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อเป็นตะคริวแล้ว วิธีป้องกันการเกิดตะคริวก็เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องเรียนรู้โดยเฉพาะคนที่มีปัจจัยเสี่ยง เราหวังว่าบทความนี้คงเป็นประโยชน์สำหรับทุกคนนะคะ

ขอบคุณบทความจาก https://aufarm.shop/cramp/
ขอบคุณเนื้อหา และสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่: https://aufarm.shop/