ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

จบประเด็นผูกขาด อำนาจเหนือตลาด กรณีซีพีซื้อเทสโก้ โลตัส

เริ่มโดย supergreat, 14:39 น. 03 ธ.ค 63

supergreat


ยังคุยกันได้เรื่อย ๆ กับกรณีซีพีซื้อกิจการเทสโก้ โลตัส คืนจากอังกฤษ ว่าจะเป็นการผูกขาดหรือมีอำนาจเหนือตลาดหรือไม่

คำว่า "ผูกขาด" ตามความเข้าใจทั่วไป ก็คือ การมีผู้ขายเพียงรายเดียว จึงมีอำนาจในการกำหนดราคาได้ แต่ในทางเศรษฐศาสตร์และทางฝั่งของกฎหมาย การพิจารณาว่ากิจการใดจะเป็นกิจการที่ผูกขาดหรือไม่ ต้องว่ากันในรายละเอียดปลีกย่อยอีกมาก 

นายศาสตรา โตอ่อน นักวิชาการอิสระและที่ปรึกษากฎหมาย ได้อธิบายคำว่า ผูกขาด ไว้อย่างน่าสนใจว่า ผูกขาด หรือ Monopoly ซึ่ง mono หมายถึง หนึ่งหรือรายเดียว ดังนั้น ตลาดใดมีผู้แข่งขันเพียงรายเดียว ก็จะเรียกว่า ตลาดผูกขาด ซึ่งการมีเพียงรายเดียวนั้น ปกติแล้วกฎหมายจะต่อต้าน เพราะทำให้กลไกราคาเบี่ยงเบน ผู้บริโภคอาจได้สินค้าที่ราคาแพงขึ้น แต่การผูกขาดก็ยังมีอีกหลายแบบ เป็นต้นว่า

ผูกขาดโดยกฎหมาย หรือกฎหมายให้สัมปทาน เช่น การได้รับสิทธิ์ขายกาแฟในสถานีรถไฟเพียงรายเดียว เช่นนี้ก็เป็นการผูกขาด เพราะไม่มีคู่แข่ง 

ผูกขาดโดยสิทธิบัตร หรือการจดลิขสิทธิ์ ในทรัพย์สินทางปัญญา เช่น คิดอะไรใหม่ ๆ ได้ไม่เคยมีใครคิดใครทำมาก่อน ก็ไปจดสิทธิบัตร เรามีสิทธิ์ขายได้เพียงรายเดียว คนอื่นนำไปใช้ไม่ได้

ผูกขาดโดยธรรมชาติ เช่น รางรถไฟต้องมีเพียงหนึ่งระบบเท่านั้น

สำหรับกรณีของซีพีที่เข้าซื้อกิจการเทสโก้ โลตัสนั้น จู่ ๆ จะไปพูดว่าเขาผูกขาดเลยไม่ได้ ต้องไปดูในรายละเอียดอีก เช่นว่า เขาเป็นรายเดียวหรือไม่ หรือตลาดค้าปลีกมีซีพี มีเซเว่น มีเทสโก้ รายเดียวหรือไม่ ซึ่งถ้าพิจารณากันจริง ๆ ก็จะพบว่า ยังไม่ใช่ ยังมีผู้ให้บริการรายอื่นอีกมากมาย

แต่การที่ซีพีซื้อเทสโก้ โลตัส ก็ทำให้ซีพีกินส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นจึงเกิดข้อสงสัยได้ว่า "เป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด" หรือไม่ และมีอำนาจเพียงพอที่จะทำให้กลไกราคาบิดเบี้ยวได้หรือไม่ ซึ่งในเรื่องอำนาจเหนือตลาดนี้ เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าที่จะวินิจฉัย โดยต้องไปดูในรายละเอียดปลีกย่อยว่า ตลาดนั้นมีผู้แข่งขันกี่ราย มีปริมาณเท่าไร การที่ซีพีคุมทั้งเซเว่นและเทสโก้ โลตัส มีปริมาณเท่าไร มีผลมากเพียงพอหรือไม่ที่จะทำให้เกิดการบิดเบือนราคา เป็นต้น

"ในแง่วิชาการ กว่าจะพูดคำว่าผูกขาดได้ ต้องพิจารณากันยาว ไม่ใช่อยู่ดี ๆ ก็พูด แต่ทุกวันนี้เป็นเพียงการสร้างวาทกรรม"



จากความเห็นของนักวิชาการและนักกฎหมายหลายคนที่ออกมาก่อนหน้านี้ ค่อนข้างจะสรุปได้ชัดเจนตรงกันว่า ไม่เป็นการผูกขาด เพราะยังมีผู้เล่นในตลาดอีกหลายราย แต่สำหรับประเด็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดนั้น ต้องฟังเสียงของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ผู้มีหน้าที่พิจารณาโดยตรง ซึ่ง ผศ.ดร.วิษณุ วงศ์สินศิริกุล หนึ่งในกรรมการแข่งขันทางการค้า ได้อธิบายผ่านบทความในกรุงเทพธุรกิจว่า

คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า กำหนดหลักเกณฑ์ การเป็นผู้ประกอบธุรกิจที่มีอำนาจเหนือตลาด ไว้ 2 กรณี คือ
1. ผู้ประกอบธุรกิจรายใดรายหนึ่งมีส่วนแบ่งตลาดในปีที่ผ่านมาตั้งแต่ร้อยละ 50 ขึ้นไป และมียอดขายในปีที่ผ่านมาตั้งแต่หนึ่งพันล้านบาทขึ้นไป
2. ผู้ประกอบธุรกิจสามรายแรกในตลาด ที่มีส่วนแบ่งตลาดในปีที่ผ่านมารวมกันตั้งแต่ร้อยละ 75 ขึ้นไป โดยมียอดเงินขายในปีที่ผ่านมาไม่ต่ำกว่าหนึ่งพันล้านบาท และมีส่วนแบ่งตลาดในปีที่ผ่านมาไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10

จากผลการศึกษาพบว่า ในปี 2562
ตลาดประเภทไฮเปอร์มาร์เก็ต
-   เทสโก้-โลตัส มีส่วนแบ่งตลาดประมาณร้อยละ 47
-   ในขณะที่บิ๊กซีซูเปอร์มาเก็ตมีส่วนแบ่งตลาดเกือบร้อยละ 40
-   อันดับ 3 คือ ท็อปส์ซูเปอร์สโตร์ มีส่วนแบ่งตลาดเกือบร้อยละ 2

นั่นหมายความว่า ตลาดประเภท ไฮเปอร์มาร์เก็ต ทั้งเทสโก้ฯ และบิ๊กซีฯ ถือเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด ในขณะที่ท็อปส์ฯ ไม่เป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด เนื่องจากมีส่วนแบ่งตลาดในปีที่ผ่านมาไม่ถึงร้อยละ 10 

ตลาดประเภทซูเปอร์มาร์เก็ต
-   ท็อปส์มาร์เก็ต ถือว่ามีส่วนแบ่งตลาดสูงสุด คือประมาณร้อยละ 27
-   ตลาดโลตัสมีส่วนแบ่งตลาดรองลงมาอยู่ที่ประมาณร้อยละ 16
-   อันดับสามคือ วิลล่ามาร์เก็ต มีส่วนแบ่งตลาดประมาณร้อยละ 5

จึงกล่าวได้ว่า ในตลาดประเภทนี้ไม่มีผู้ประกอบธุรกิจรายใดถือเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด เนื่องจากส่วนแบ่งตลาดรวมกันทั้ง สามรายแรกของผู้ประกอบธุรกิจไม่ถึงร้อยละ 75

ตลาดประเภทร้านค้าปลีกขนาดเล็ก
-   เซเว่น-อีเลฟเว่น มีส่วนแบ่งตลาดสูงสุด ประมาณร้อยละ 75
-   อันดับสอง คือ เทสโก้ฯ เอ็กเพลซ มีส่วนแบ่งตลาดประมาณร้อยละ 10

จึงกล่าวได้ว่า เซเว่น-อีเลฟเว่น เป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดก่อนการควบรวมธุรกิจ และมีอำนาจเหนือตลาดเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 10 หลังการควบรวมธุรกิจ

อย่างไรก็ตาม ตามหลักเกณฑ์ของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้านั้น ผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นผู้ผูกขาดหรือเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด ไม่ถือว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้า พ. ศ. 2560 หากแต่จะมีความผิดก็ต่อเมื่อ ผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นผู้ผูกขาดหรือมีอำนาจเหนือตลาด มีพฤติกรรมทางการค้าที่เป็นอุปสรรคต่อการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรม

ค่อนข้างเคลียร์คัตชัดเจนในเรื่องของการเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดหรือไม่ แต่โลกนี้ไม่เคยมีอะไรที่จะทำให้ทุกคนพอใจได้เหมือนกันหมด ดังนั้น แม้ผลการตัดสินของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าจะไม่สามารถทำให้ถูกใจทุกฝ่ายทุกคนได้ แต่เราทุกคนก็ควรจะเคารพสิทธิ์เคารพเสียงของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าผู้มีอำนาจแท้จริงในการพิจารณาประเด็นการควบรวมกิจการซีพีและเทสโก้ โลตัส ตามรายละเอียดที่เป็นเหตุผลที่จะปรากฏในคำวินิจฉัย ซึ่งกำลังจะเปิดเผยสู่สาธารณะในเร็ว ๆ นี้   

-----------------------
อ้างอิง: 
ผูกขาดตลาด VS. อำนาจเหนือตลาด...เหมือนหรือต่าง?
https://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/651593