ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

เสียงหัวเราะมีประโยชน์อย่างไร

เริ่มโดย จันทร์กระจ่างฟ้า, 10:20 น. 30 ก.ค 64

จันทร์กระจ่างฟ้า



"หัวเราะวันละนิดจิตแจ่มใส" เป็นประโยคที่เราต่างก็คุ้นเคย และได้ยินกันอยู่บ่อย ๆ และอีกประโยคที่ว่า "เครียดมากท้องผูก" แต่ในช่วงเวลาที่สถานการณ์กำลังตึงเครียดแบบปัจจุบัน เพราะ Covid-19 ที่ยังคงระบาดต่อเนื่อง และยาวนานในความรู้สึกของหลายคน นับวันยอดผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตมีแต่จะมากขึ้น เหมือนยังไม่ถึงจุดพีคเสียที ไม่มีทีท่าว่าจะลดลงง่ายด้วย

สารพัดข่าวสาร สารพัดช่องทางให้เราได้ติดตามรับรู้ความเป็นไปของโรคระบาด หลายคนที่รู้จัก แทบจะลืมไปแล้วว่าชีวิตปรกติที่เคยเป็นมานั้น เป็นอย่างไร

เพราะเราติดกับดักของความหวาดกลัว ความหวาดระแวง แม้ทางหน่วยงานต่าง ๆ จะออกมาให้ข้อมูล และรณรงค์ให้เรา ตระหนักแต่อย่าตระหนก ระวังแต่อย่าระแวง แต่มันก็เลี่ยงไม่ได้ที่เราจะรู้สึกตรงกันข้ามกับที่ควรจะเป็น

บางทีอ่านข่าว ฟังข่าว หรือใครต่อใครมาเล่า มาบอก ตรงนั้นมีคนติดเชื้อ ตรงนี้มีคนติดเชื้อ คนตำบลนั้นอาการหนัก หรือคนหมู่บ้านไหนเสียชีวิต ต่าง ๆ เหล่านี้เป็นต้น มันทำให้เรา ๆ ท่าน ๆ ทั้งหลาย ต่างก็จิตตกหดหู่ไปตาม ๆ กัน

การจะให้มานั่งหัวเราะอารมณ์ดี จึงเป็นไปได้ยากมาก แต่รู้หรือไม่ว่า ช่วงเวลาแบบนี้แหละ ที่ "เสียงหัวเราะ" จำเป็นมากที่สุด แม้จะยากด้วยเพราะสิ่งต่าง ๆ กดดันบีบคั้น แต่เราก็ยังต้องใช้ชีวิตให้ดีที่สุด และเพื่อให้ผ่านพ้นช่วงเวลาร้าย ๆ ไปได้อย่างปลอดภัย ทั้งทางด้านสุขภาพจิต และสุขภาพกาย

การหัวเราะ จึงเปรียบเสมือนยาวิเศษ ที่จะทำให้เรามีความสุขและไม่ค่อยเครียด อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นระบบหัวใจและหลอดเลือด ช่วยลดอาการซึมเศร้า เพราะขณะที่เราหัวเราะนั้น ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนแห่งความสุขคือ สารเอ็นโดรฟิน(Endorphin) ออกมา

แล้วที่ว่า "เครียดมากท้องผูก" ก็สามารถใช้การหัวเราะแก้ไขได้เช่นกัน เพราะเวลาที่คนเราหัวเราะ ร่างกายจะเกิดการเคลื่อนไหว กระเพาะอาหารและลำไส้จะได้รับการบริหาร นี่เรื่องจริงนะ ทำเป็นเล่นไป

ถ้าใครเคยดูภาพยนตร์เรื่อง Pacth Adams จะเห็นได้ว่า การใช้เสียงหัวเราะ ช่วยบรรเทาความเจ็บปวดได้ด้วย ตอนที่หมอแพตช์ยังเป็นนักศึกษาแพทย์ และแอบเข้าไปคลุกคลี สร้างความสนุกสนานเฮฮา สร้างเสียงหัวเราะให้กับคนไข้ ซึ่งช่วยลดการใช้ยาลงได้

เสียงหัวเราะ นอกจากจะเป็นผลดีต่อตัวเราเอง ยังเอื้อเฟื้อไปยังคนที่อยู่รอบตัวด้วย เพราะใครก็อยากอยู่ใกล้คนอารมณ์ดีทั้งนั้น

พยายามหัวเราะกันนะ ยามวิกฤตเช่นนี้ ลองฝึกมองสิ่งต่าง ๆ แล้วสอดแทรกอารมณ์ขันเข้าไปบ้าง นอกจากการดูแลรักษาตัวเองตามคำแนะนำของบุคลากรทางการแพทย์แล้ว เราควรดูแลสุขภาพจิตสุขภาพใจควบคู่ไปด้วยกัน



จันทร์กระจ่างฟ้า เขียน / ถ่ายภาพ

...

สวมหน้ากาก อย่าประมาท ตั้งการ์ดสูง รักษาระยะห่าง หมั่นล้างมือ

ด้วยรักและห่วงใย จากเว็บไซต์ Gimyong.com

อ้างอิง https://news.gimyong.com/article/14512
ในโลกนี้ มีคนเพียงแค่ 2 คนที่ไม่มีความทรงจำ คนหนึ่งยังไม่เกิด ส่วนอีกคนตายไปแล้ว