ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

Hatyai Talk เปิดเวทีเสวนา "ถนนแห่งอาหารเมืองหาดใหญ่"

เริ่มโดย ฅนสองเล, 10:28 น. 11 ส.ค 64

ฅนสองเล

Hatyai Talk เปิดเวทีเสวนา "ถนนแห่งอาหารเมืองหาดใหญ่"

เมื่อวันเสาร์ที่ 7 สิงหาคม 2564 มีการจัดเวที่เสวนาออนไลน์ Hatyai Talk ครั้งที่ 6 ถนนแห่งอาหารเมืองหาดใหญ่ ร่วมสนทนาโดย ดร.ภาณุมาศ สุยบางดำ ผู้อำนวยการวิทยาลัยรัตภูมิ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย หัวหน้าโครงการ ถนนแห่งอาหารเมืองหาดใหญ่ อาจารย์ธมลชนก คงขวัญ รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารและวางแผน วิทยาลัยรัตภูมิ หัวหน้าโครงการ กลยุทธ์การตลาดและการประชาสัมพันธ์ Hatyai Gastronomy City ดร.พัชรินทร์ บุญนุ่น หัวหน้าหน่วยวิจัยการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ชุมชนภาคใต้ตอนล่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย หัวหน้าโครงการ ฉื่อฉางสตรีทฟู้ด หัวหน้าโครงการ เอกลักษณ์ทางกายภาพ ถนนแห่งอาหารเมืองหาดใหญ่ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจเทศบาลนครหาดใหญ่ ดร.อรุณรักษ์ ตันพานิช หัวหน้าสาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ หัวหน้าโครงการ การพัฒนาแอพลิเคชั่นถนนแห่งอาหารเมืองหาดใหญ่ ร่วมด้วยนายสิทธิศักดิ์ ตันมงคล ประธานมูลนิธิทักษิณคดีศึกษา และหัวหน้าโครงการวิจัยคลองเตยลิงก์ : การวิจัยและพัฒนาเทศบาลนครหาดใหญ่สู่การเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ ดำเนินรายการโดย นายบัญชร วิเชียรศรี สถานีวิทยุกระจายเสียงฯ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นางสาวชนนิกานต์ วังมี เจ้าหน้าที่ Songkhla Urban Lab

ดร.ภาณุมาศ สุยบางดำ ผอ.แผนการวิจัยฯ เปิดเวทีสนทนาด้วยการเล่าที่มาของโจทย์การวิจัย เริ่มจาก "หาดใหญ่ประสบภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ ทีมนักวิจัย และบุคคลสำคัญของเมืองอีกหลายท่านได้หารือกันถึงวิกฤติของหาดใหญ่ ไม่ว่าจะเรื่องความโดดเด่นของเมืองในอดีต เช่น ตลาดกิมหยงที่ได้รับผลกระทบจากธุรกิจออนไลน์ การขยายตัวของเมืองที่ขยายไปสู่รอบนอกเพิ่มขึ้น คนเริ่มกระจายออกนอกเมือง อีกประเด็นคือ การท่องเที่ยวของเมืองหาดใหญ่ที่ซบเซา หาดใหญ่กลายเป็นเมืองผ่าน เนื่องมาจากเทรนด์นักท่องเที่ยวเปลี่ยนไปสนใจสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติจังหวัดอื่นๆมากขึ้น จากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ทางทีมวิจัยจึงขยับตัวลงพื้นที่สำรวจในตัวเมืองหาดใหญ่ พบว่า ถนนสาย 1 (ถนนนิพัทธ์อุทิศ 1) ร้านรวงเงียบมาก โซนนี้มีร้านอาหารชื่อดังหลายร้าน มีตึกเก่าชิโน-โปรตุกีส ตั้งอยู่ จึงเริ่มต้นศึกษาที่ ถนนสาย 1 ก่อน ผ่านไปทางถนนฉื่อฉาง เราก็ได้โจทย์วิจัยเพิ่มอีกเรื่อง คือ ฉื่อฉางสตรีทฟู้ด ด้วย

เราคุ้นเคยกับถนนฉื่อฉาง(ถนนศุภสารรังสรรค์) ซึ่งมีจุดเด่นในเรื่องอาหาร ความพิเศษของถนนสายนี้คือ อาหารหลายๆอย่างอยู่บนถนนเส้นนี้หมดเลย ร้านเก่าๆมีหลายร้าน และมีความหลากหลายมาก เฟสแรกเรามุ่งเน้นไปที่การขายอาหาร จึงตั้งชื่องานว่า ฉื่อฉางสตรีทฟู้ด นอกจากนี้ถนนเส้นนี้ยังมี วัดฉื่อฉาง ที่สวยงามมาก มีความพิเศษหลายอย่าง เช่น กระเบื้อง เขาทำเองไม่ได้นำมาจากประเทศจีน มาจากการออกแบบของเจ้าอาวาส มาจากตำรา กระบวนการทำกระเบื้องก็ทำที่จังหวัดสงขลา เป็นกระเบื้องที่เผาถึง 3 ครั้ง เมื่อเคาะดูเสียงดังเหมือนเคาะแก้ว นอกจากนี้บนกระเบื้องยังมีคำคม คำสอนบนกระเบื้องที่น่าสนใจมาก วัดฉื่อฉางจึงเป็นที่พึ่งทางใจของคนที่ศรัทธาจำนวนมาก

ย่านฉื่อฉางค่อนข้างชัดเจนเรื่องอาหารเป็นต้นทุนอยู่แล้ว ส่วนสาย 1 โดนทอดทิ้งมานานทั้งๆที่สาย 1 มีร้านอาหารหลายร้าน แต่ละร้านมีสูตรพิเศษเฉพาะตัว ที่ส่งต่อจากรุ่นต่อรุ่น แต่ละเมนูมีการปรุงแต่ง มีความตั้งใจในการทำ เราอยากจะเก็บตรงนี้ไว้ให้อยู่ต่อไป สิ่งที่เราคิดต่อก็คือถนนสายนี้ควรจะเป็นถนนแห่งการเรียนรู้เชิงวัฒนธรรม และวันที่เราจัดงาน ฉื่อฉางสตรีทฟู้ด เป็นช่วงเวลาหลังจากโควิดผ่อนปรนในช่วงแรก เราเลือกร้านที่ตั้งอยู่บนถนนสายนั้นทั้งหมด เสียงตอบรับดีมาก"

แตกต่างจากสาย 1 ตอนลงพื้นที่ใหม่ๆ ถนนสเงียบมาก หลายร้านปิดตัว เช่น ร้านพี่เล็ก 59 แต่ร้านอาหารบนถนนสายนี้มีมากกว่า 20 ร้าน โดยเฉพาะอาหารจีน ร้านอาหารอินเดีย"นมัสเต" และร้านไทยพุทธ อย่างร้านพี่ติ๋ม นอกจากนี้ยังมีร้านอาหารมุสลิมด้วย ปัญหาเบื้องต้นในพื้นที่ ร้านค้ามาจากการเช่าร้าน ค่าเช่าสูงมาก หลายร้านเปลี่ยนเจ้าของ หลายร้านปิดตัวไป หลายร้านก็เปิดขึ้นมาใหม่ หน้าที่ของเราคือ ทำการประชาสัมพันธ์ข้อมูลผ่านทางโซเชียลมีเดีย เราลงพื้นที่แต่ละร้าน ถ่ายวิดีโอและถ่ายภาพ และใช้โซเชียลมีเดียเป็นสื่อ นอกจากอาหารแล้ว อาคารบ้านช่องแถบนั้น เจ้าของบ้านก็ยินดีที่จะเปิดบ้านเป็นแหล่งเรียนรู้ คล้ายๆกับที่สงขลา ที่ตลาดรถไฟ เจ้าของร้านอาหารอยากให้มีตลาดตอนเช้าเชื่อมกับประวัติศาสตร์ของชุมทางรถไฟ ปัญหาอีกอย่างที่เจ้าของร้านอาหารละแวกนั้นสะท้อน คือ ปัญหาที่จอดรถที่หายาก ด้านภาษีป้าย และการปรับปรุงทัศนียภาพของร้านเพื่อดึงดูดลูกค้า

ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 การพูดหรือทำเรื่องเกี่ยวกับการท่องเที่ยว ดูเหมือนจะสวนทางย้อนแย้งกับภาวะการณ์ปัจจุบัน แต่เพื่อให้หาดใหญ่สามารถเดินไปข้างหน้าได้เราจำเป็นต้องวางแผนการพัฒนาเมืองไว้อย่างต่อเนื่อง ในช่วงระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมารวมถึงอนาคตข้างหน้า ผู้คนจะถวิลหาธรรมชาติ แสวงหาสิ่งที่เป็นรากของเมืองมากว่าความศิวิไลซ์ เมืองหาดใหญ่จึงต้องปรับตัวเพื่อรับการเปลี่ยนแปลง โดยต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายทั้งส่วนราชการท้องถิ่น ภาคธุรกิจเอกชน และที่สำคัญที่สุดคือประชาชนชาวหาดใหญ่ ต้องมีส่วนร่วมในการพัฒนาเมืองอย่างจริงจังด้วย

______________
สรุปโดย
#AjMan
นักวิจัยโครงการคลองเตยลิงค์   
ข้อมูลเพิ่มเติม www.facebook.com/HatyaiLearning                                                                                                                                                                   

ตอบกลับอย่างรวดเร็ว

ชื่อ:
การยืนยัน:
กรุณาเว้นช่องนี้ว่างไว้:
พยัญชนะไทยรองตัวสุดท้าย:
shortcuts: กด alt+s เพื่อตั้งกระทู้ หรือ alt+p แสดงตัวอย่าง