ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

ข้อเข่าเสื่อม ไม่ว่าใครก็เป็นได้ รู้ตัวก่อนสายเกินแก้

เริ่มโดย daisydaily, 11:30 น. 28 ก.พ 65

daisydaily

"ปวดเข่าจัง" อาจไม่ใช่แค่การปวดเข่าธรรมดา เชื่อว่าหลาย ๆ คนคงจะเคยได้ยินถึงโรคข้อเข่าเสื่อมกันมาบ้าง แต่ก็อาจไม่ได้คิดว่าโรคข้อเข่าเสื่อมจะมีความอันตรายแค่ไหน หรือสามารถเกิดก่อนวัยหรือไม่ ในความจริงแล้วโรคข้อเข่าเสื่อมไม่ได้เป็นเฉพาะผู้สูงอายุเท่านั้น อายุน้อยก็สามารถเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมได้เช่นกัน สำหรับมใครที่สงสัยว่าโรคข้อเข่าเสื่อม อาการเป็นอย่างไร ข้อเข่าเสื่อมเกิด จากอะไร ข้อเข่าเสื่อม รักษาหายไหม ในบทความนี้มีคำตอบค่ะ

[attach=1]

โรคข้อเข่าเสื่อม (Osteoarthritis)

ข้อเข่าเสื่อม เป็นหนึ่งในกลุ่มโรคข้ออักเสบที่พบได้บ่อย มักจะพบได้ในผู้สูงอายุ โดยมีสาเหตุมาจากกระดูกอ่อนที่ห่อหุ้มกระดูกต้นขา และหมอนรองกระดูกที่ห่อหุ้มกระดูกหน้าแข้งที่ผ่านการใช้งานมานานเกิดการสึกหรอ ร่วมกับภาวะน้ำหล่อเลี้ยงข้อเข่าผลิตได้ลดลง หรือแห้งไป

ทำให้กระดูกบริเวณข้อต่อเกิดการเสียดสีกัน จนทำให้เนื้อกระดูกเสียสภาพ ซึ่งสร้างความเจ็บปวดให้แก่ผู้ป่วย หากความรุนแรงของโรคมากขึ้น ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บตลอดที่เคลื่อนไหวเข่า ทำให้เดินได้ยากหรือเดินไม่ได้เลย ในบางรายอาจพบถึงภาวะกระดูกผิดรูป หรืออาการขาโก่งได้ด้วย

นอกจากนี้ข้อเข่าเสื่อมยังสามารถเกิดจากภาวะอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากการผ่านการใช้งานมายาวนานอีกด้วย เช่น การติดเชื้อภายในข้อเข่า การมีกระดูกรอบ ๆ เข่าแตกหัก การที่มีกระดูกงอกบริเวณเข่า และเป็นผลจากโรคข้ออักเสบอื่น ๆ เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เป็นต้น

ปัจจัยที่อาจส่งผลให้เกิดโรคข้อเข่าเสื่อม

- เพศ : พบว่าเพศหญิงมีโอกาสเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมได้ง่ายกว่าเพศชายถึง 2 เท่าเนื่องจากปัจจัยด้านฮอร์โมน ลักษณะโครงสร้างของร่างกาย
- อายุ : ผู้สูงอายุมีโอกาสเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมได้ง่าย เนื่องจากข้อเข่าถูกใช้งานมาเป็นเวลานาน
- น้ำหนัก : ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก เกินเกณฑ์ มีโอกาสเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมได้มากกว่า เนื่องจากข้อเข่าต้องรับน้ำหนัก และแรงกระแทกที่มากกว่าผู้ที่มีน้ำหนักตัวปกติ
- ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและกระดูก : ผู้ที่ไม่ค่อยออกกำลังกาย และผู้ที่รับประทานอาหารไม่ถูกสุขลักษณะ และผู้ที่เป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับกระดูก มักมีกล้ามเนื้อข้อเข่าและกระดูกข้อเข่าไม่แข็งแรง จึงทำให้มีโอกาสเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมได้ง่ายขึ้น
- พฤติกรรม : ผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยง ใช้งานข้อเข่าผิดประเภท เช่น การนั่งยอง ๆ การนั่งพับเพียบ นั่งขัดสมาธิ หรือการยกของหนัก ๆ
- อุบัติเหตุ : ผู้ที่เคบประสบอุบัติเหตุบริเวณข้อเข่า เช่น กระดูกเข่าแตก เอ็นบริเวณข้อเข่าฉีก
- การเล่นกีฬา : ผู้ที่เล่นกีฬาที่มีการปะทะหนัก ๆ หรือใช้งานหัวเข่าหนักมาก ๆ เสี่ยงต่ออุบัติเหตุบริเวณเข่า


โรคข้อเข่าเสื่อมเกิดกับใครได้บ้าง

[attach=2]

ข้อเข่าเสื่อมไม่เพียงแต่จะเกิดขึ้นเพราะอายุมากเท่านั้น ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ก็สามารถทำให้เกิดโรคข้อเข่าเสื่อมได้เร็วขึ้น

ข้อเข่าเสื่อมในผู้ที่อายุน้อย

- ผู้ที่เคยได้รับการบาดเจ็บบริเวณข้อเข่า ทั้งจากการออกกำลังกายและอุบัติเหตุ
- ผู้ที่มีภาวะโรคอ้วน น้ำหนักตัวมากเกินเกณฑ์ ทำให้ข้อเข่าต้องรับน้ำหนักมากกว่าปกติ จึงเป็นตัวเร่งให้ข้อเข่าเสื่อมเร็วขึ้น
- ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคข้ออักเสบสะเก็ดเงิน
- ผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงที่ไปเร่งให้ข้อเข่าเสื่อมเร็วขึ้น เช่น การนั่งขัดสมาธิ นั่งพับเพียบ นั่งยอง ๆ เป็นเวลานาน
- ผู้ที่ไม่ค่อยออกกำลังกาย กล้ามเนื้อบริเวณข้อต่อไม่แข็งแรง เสี่ยงต่อภาวะข้อเข่าเสื่อมได้ง่าย

ข้อเข่าเสื่อมในผู้สูงอายุ

ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป เนื่องจากข้อเข่าได้ผ่านการใช้งานมาเป็นเวลานาน โดยพบว่าในผู้สูงอายุมากกว่าร้อยละ 40 มักพบภาวะข้อเข่าเสื่อม


อาการส่งสัญญาณข้อเข่าเสื่อม

[attach=3]

ข้อเข่าเสื่อมระยะแรก

ในระยะแรกของโรคข้อเข่าเสื่อม กระดูกอ่อนผิวข้อจะยังไม่สึกมาก ผู้ป่วยจะมีอาการปวดเข่าเฉพาะช่วงเวลาที่ข้อเข่าถูกกระแทกหรือใช้งานเข่ามาก ๆ เช่น การขึ้นลงบันได นั่งขัดสมาธิ นั่งยอง ๆ นั่งพับเพียบ  การเดินไกล โดยอาการปวดจะไม่รุนแรง และไม่นาน เมื่อได้พักอาการปวดเข่าก็จะดีขึ้นเอง ในบางรายอาจพบเสียงดังในเข่าเมื่อขยับบริเวณข้อ แต่อาจไม่ชัดเจนนัก

ข้อเข่าเสื่อมระยะปานกลาง

ในระยะปานกลางของโรคข้อเข่าเสื่อม กระดูกอ่อนผิวข้อจะเริ่มสึกหรอมากขึ้นกว่าระยะแรก และมีการอักเสบบริเวณข้อเข่า ผู้ป่วยจะรู้สึกปวดเข่า เข่าบวม เมื่อจับบริเวณเข่าอาจรู้สึกอุ่นร้อน เวลาขยับข้ออาจได้ยินเสียงดังกรอบแกรบในข้อเข่า ในระยะนี้ผู้ป่วยเมื่อทำกิจกรรมปกติ ไม่ได้มีการกระแทกหรือใช้งานข้อเข่าหนัก ๆ ก็มีอาการปวดเข่าได้ เช่น การนั่ง ยืน เดินปกติ เมื่อเปลี่ยนท่าจากการนั่งเป็นการยืน ผู้ป่วยอาจรู้สึกเจ็บข้อเข่าและใช้เวลาลุกนานกว่าปกติ

ยิ่งผู้ป่วยใช้งานเข่ามาก ๆ หรือข้อเข่าได้รับแรงกดมาก ๆ เช่นการขึ้นลงบันได ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บมากขึ้น และอาจขึ้นลงได้ลำบาง หรืออาจงอเข่าไม่ได้เลย และถึงพักการใช้เข่าอาการจะไม่หายไปเอง หรือหายไม่สนิท

ข้อเข่าเสื่อมระยะรุนแรง

ในระยะรุนแรงของโรคข้อเข่าเสื่อม กระดูกอ่อนผิวข้อสึกหรอไปมากจนบาง หรือไม่เหลือกระดูกอ่อนเลย ยิ่งทำให้กระดูกเสียดสีกันหนักมากขึ้น จนเข่าผิดรูปหรือขาโก่ง ไม่สามารถงอเข่าหรือเหยีดเข่าได้สุด หรืออาจงอหรือเหยียดเข่าไม่ได้เนื่องจากเกิดอาการข้อติด ในบางรายอาจมีอาการอักเสบมากจากน้ำไขข้อเข่าอักเสบ เกิดการบวมน้ำบริเวณเข่า ผู้ป่วยจะรู้สึกปวดตลอดที่มีการขยับข้อเข่า ขยับข้อเข่าได้น้อยมาก หรืออาจไม่สามารถเคลื่อนไหวได้เลย 


การวินิจฉัยโรคข้อเข่าเสื่อม

หากสงสัยว่าตนเองมีภาวะข้อเข่าเสื่อมหรือไม่ สามารถทำแบบประเมินภาวะข้อเข่าเสื่อมเบื้องต้นได้ และหากพบว่าตนเองมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคข้อเข่าเสื่อม ให้เข้าพบแพทย์และตรวจวินิจฉัยโรคดังนี้

1. เอกซเรย์ เพื่อตรวจดูถึงโครงสร้างของข้อเข่าว่ามีช่องว่างระหว่างกระดูกข้อเข่ามากน้อยเพียงใด ดูถึงภาวะกระดูกงอกบริเวณข้อเข่า และดูถึงการผิดรูปของข้อเข่าได้
2. MRI เมื่อการถ่ายภาพเอกซเรย์ไม่อาจบ่งบอกถึงระดับความรุนแรงของข้อเข่าเสื่อมได้ ภาพจาก MRI จะทำให้เห็นถึงกระดูก เนื้อเยื่อ กระดูกอ่อนรอบข้อที่สึกหรอไปได้ชัดเจน
3. การประเมินระดับความรุนแรงของข้อเข่าเสื่อม แพทย์จะประเมินระดับความรุนแรงของโรคข้อเข่าเสื่อมของผู้ป่วยโดยใช้ระบบการให้คะแนนเป็นเครื่องมือการประเมิน
4. การเจาะเลือด เพื่อตรวจถึงสาเหตุของอาการปวดเข่า ว่าเกิดจากโรคข้อเข่าเสื่อม หรือโรคอื่น ๆ เช่นโรคข้ออักเสบ เป็นต้น


วิธีรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม ไม่ต้องผ่าตัด

[attach=4]

เมื่อเข้าพบแพทย์และได้รับการตรวจวินิจฉัยว่าเป็นโรคข้อเข่าเสื่อม โดยวิธีรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมจะมีหลายวิธีขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของโรคข้อเข่าเสื่อม ในรายที่ยังมีระดับความรุนแรงของโรคที่ไม่มากแพทย์อาจพิจารณารักษาแบบประคับประคอง ไม่ต้องเข้ารับการผ่าตัด แต่อย่างไรก็ตามในผู้ป่วยที่มีระดับความรุนแรงข้อเข่าเสื่อมมาก อาจต้องพิจารณาผ่าตัด เนื่องจากการรักษาแบบประคับประคองจะไม่ได้ผล หรือมีผลน้อยมากกับผู้ป่วยกลุ่มนี้

การออกกำลังกาย บริหารข้อเข่า

ในผู้ป่วยที่มีอาการข้อเข่าเสื่อมในระยะเริ่มต้น สามารถออกกำลังกาย บริหารข้อเข่า เพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อบริเวณรอบข้อเข่าให้แข็งแรง สามารถพยุงและรองรับแรงกระแทกแทนข้อเข่าได้มากขึ้น เมื่อกล้ามเนื้อบริเวณข้อเข่าแข็งแรง อาการปวดเข่าจะดีขึ้น

การรักษาข้อเข่าเสื่อมโดยการใช้ยา

หากผู้ป่วยมีอาการปวดจากข้อเข่าเสื่อม เริ่มเต้นแพทย์อาจจ่ายยาให้รับประทาน หรือทาบริเวณเข่า โดยยาที่ใช้มีหลายชนิดขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของโรค
- ยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล ช่วยระงับอาการเจ็บปวดได้กรณีที่มีอาการเจ็บไม่มาก และปลอดภัยสุดในกลุ่มยารักษาอาการปวดเข่า
- ยาทาเฉพาะที่ ใช้แก้ปวดและลดการอักเสบข้อเข่าได้
- ยาต้านการอักเสบแบบไม่มีสเตียรอยด์ (NSAIDs) มีทั้งแบบรับประทานและแบบฉีด ใช้ลดอาการปวดอักเสบได้ดี แต่มีผลข้างเคียงค่อนข้างมาก เช่น ระคายเคืองกระเพาะอาหาร เกิดแผลในกระเพาะอาหาร คลื่นไส้ อาเจียน และเป้นอันตรายต่อไต ไม่ควรใช้ยากลุ่มนี้ติดต่อกันเป็นเวลานาน
- ยาคลายกล้ามเนื้อ ใช้เพื่อคลายกล้ามเนื้อบริเวณข้อเข่าจากการที่ข้อเข่าอักเสบจนทำให้กล้ามเนื้อบริเวณโดยรอบตึง
- ยากลุ่มที่มีฤทธิ์ในการลดการเปลี่ยนแปลงสภาพความเสื่อมของผิวข้อ ช่วยชะลอการเสื่อมของข้อเข่า หรือรักษาคงสภาพความเสื่อมไว้ไม่ให้รุนแรงขึ้น

การทำกายภาพบำบัด

อีกทางเลือกของผู้ที่มีภาวะข้อเข่าเสื่อมคือการทำกายภาพบำบัด เพื่อบรรเทาอาการปวด เช่น การฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายผู้ป่วย เสริมสร้างความแข็งแรงและยืดหย่นของกล้ามเนื้อบริเวณเข่า การประคบร้อน ประคบเย็น การรักษาด้วยเครื่องกระตุ้นไฟฟ้า การรักษาด้วยคลื่นสั้น การใช้เลเซอร์ การทำอัลตราซาด์ เป็นต้น

การรักษาแบบชีวภาพ (Biological Therapy)

1. การฉีดน้ำเลี้ยงข้อเข่า

โรคข้อเข่าเสื่อมโดยปกติแล้วมักมีอาการเสียดสีของผิวกระดูกจากการที่น้ำหล่อเลี้ยงไขข้อลดลง หรือน้ำหล่อเลี้ยงอักเสบ ดังนั้นการฉีดน้ำเลี้ยงข้อเข่าจึงเป็นการเพิ่มน้ำหล่อเลี้ยงบริเวณข้อเข่า เพื่อให้ทำหน้าที่หล่อลื่นและลดการเสียดสีกันระหว่างกระดูกข้อเข่าได้ เหมาะกับผู้ป่วยที่มีระดับความรุนแรงของโรคข้อเข่าเสื่อมระดับเริ่มต้นถึงปานกลาง ในผู้ป่วยที่ผ่านการรักษาด้วยยาแล้วไม่ได้ผล แต่อาการของโรคก็ยังไม่หนักพอที่จำเป็นจะต้องผ่าตัด

การฉีดน้ำเลี้ยงข้อเข่าจะช่วยให้อาการปวดเข่าดีขึ้นและอยู่ได้ประมาณ 3-12 เดือนขึ้นกับความรุนแรงของโรค แต่ในรายที่มีอาการข้อเข่าเสื่อมรุนแรงการฉีดน้ำเลี้ยงข้อเข่าอาจไม่ได้ผล และในบางรายไม่สามารถเข้ารับการฉีดน้ำเลี้ยงข้อเข่าได้ด้วยปัจจัยต่าง ๆ เช่น แพ้น้ำไขข้อเข่าเทียม หรือเคยติดเชื้อบริเวณเข่า เป็นต้น

นอกจากนี้ยังใช้วิธีรักษาแบบการฉีดน้ำเลี้ยงข้อเข่าควบคู่ไปกับการรักษาด้วยการผาตัดผิวข้อเข่าเทียมได้อีกด้วย โดยช่วยปรับสมดุลน้ำไขข้อเข่าหลังผ่าตัด และให้เข่าสามารถกลับมาใช้งานได้เร็วขึ้น

2. การฉีด Platelet Rich Plasma (PRP)

เป็นสารสกัดเกล็ดเลือดจากเลือดของผู้ป่วยเอง สามารถใช้รักษาผู้ที่มาอากรข้อเข่าเสื่อม หรือการบาดเจ็บบริเวณเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อ โดยสามารถเห็นผลการรักษาที่ 4-6 สัปดาห์หลังฉีด


รักษาโรคข้อเข่าเสื่อมด้วยการผ่าตัด

[attach=5]

เมื่อแพทย์วินิจฉัยว่ามีภาวะข้อเข่าเสื่อมรุนแรง และผู้ป่วยอาจเคยได้รับการรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ แบบประคับประคองแล้วไม่ได้ผล แพทย์จะพิจารณาผ่าตัดให้กับผู้ป่วย โดยการผ่าตัดก็ยังสามารถแบ่งวิธีการผ่าได้หลายวิธีดังนี้

การผ่าตัดโดยวิธีส่องกล้อง (Arthroscopic Surgery)   

การผ่าตัดโดยวิธีส่องกล้องเป็นรูปแบบการผ่าตัดที่ใช้กล้องสอดเข้าไปในบริเวณที่ทำการผ่าตัด และแสดงภาพผ่านหน้าจอ และสอดเครื่องมือเข้าไปในบริเวณที่ต้องการรักษา ทำให้ไม่จำเป็นต้องเปิดแผลกว้าง แผลผ่าตัดจึงเล็ก ใช้เวลาพักฟื้นสั้น และการทำกายภาพบำบัดง่ายขึ้น แต่เหมาะกับใช้รักษาผู้ป่วยที่ไม่ต้องมีการใส่เครื่องมือหรืออวัยวะเทียมขนาดใหญ่เข้าไปในร่างกาย เช่นหมอนรองกระดูกฉีกขาด เอ็นขาด กระดูกอ่อนแตก เป็นต้น และหลังรับการผ่าตัดควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด

การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม (Arthroplasty)

ในผู้ป่วยที่มีภาวะข้อเข่าเสื่อมรุนแรง ผิวกระดูก กระดูกอ่อนบริเวณเข่าสึกหรอจนบางหรือไม่เหลือแล้ว แพทย์จะพิจารณาผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม เพื่อลดอาการปวด และให้ข้อเข่ากลับมาเคลื่อนไหวได้มากขึ้น ในการผ่าตัด แพทย์จะนำเอาพื้นผิวข้อเข่าที่สึกหรอ เสื่อมสภาพแล้วออกแล้วแทนที่ด้วยโลหะอัลลอยด์ และคั่นระหว่างโลหะด้วยแผ่นโพลีเอทิลีน อายุของข้อเข่าเทียมที่ผ่าตัดไปสามรถใช้งานได้ถึงประมาณ 10-20 ปีแต่อย่างไรก็ตามหากหลังผ่าตัดผู้ป่วยยังคงพฤติกรรมเดิมที่เพิ่มความเสี่ยงให้เกิดข้อเข่าเสื่อม ข้อเข่าเทียมก็สามารถเสื่อมสภาพได้เร็วขึ้น และต้องทำการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมใหม่ในอนาคต

สำหรับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมมีวิธีผ่าตัด 2 วิธีขึ้นอยู่กับข้อจำกัดและความรุนแรงของโรคดังนี้

- การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมทั้งหมด (Total Knee Arthroplasty: TKA)

ในผู้ป่วยที่ข้อเข่าเสื่อมรุนแรง อาจต้องทำการเปลี่ยนข้อเข่าเทียมทั้งหมด โดยแพทย์จะผ่าตัดผิวกระดูกส่วนปลายกระดูกต้นขาและส่วนบนกระดูกหน้าแข้งที่เสื่อมสภาพออกทั้งหมด และแทนที่ด้วยผิวข้อเข่าเทียมที่ทำจากโลหะอัลลอยด์และมีแผ่นโพลีเอทิลีนกั้นระหว่างกระดูก

- การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมบางส่วน (Unicompartment Knee Arthroplasty: UKA)

หากผลวินิจฉัยพบว่ามีข้อเข่าเสื่อมมากเพียงบางส่วน แพทย์อาจพิจารณาผ่าตัดเอาเฉพาะส่วนที่เสียสภาพออกและแทนที่ด้วยโลหะอัลลอยด์ และใช้แผ่นโพลีเอมิลีนแทนที่หมอนรองกระดูกเดิม ส่วนผิวกระดูกที่ไม่เสื่อมสภาพก็ยังคงเอาไว้เช่นเดิม ทำให้แผลจากการผ่าตัดเล็กกว่าการเปลี่ยนข้อเข่าเทียมทั้งหมด และยังช่วยคงสภาพของผิวกระดูก เอ็นและกล้ามเนื้อที่ยังสภาพดีไว้


การป้องกันโรคข้อเข่าเสื่อม

[attach=6]

เพื่อให้ข้อเข่าเทียมไม่เสื่อมสภาพไปไวจนต้องทำการผ่าตัดข้อเข่าเทียมซ้ำ ควรถนอมข้อเข่าเทียม โดยปฏิบัติตนให้เหมือนกับการป้องกันโรคข้อเข่าเสื่อม ดังนี้

ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เป็นตัวเร่งให้เกิดอาการข้อเข่าเสื่อมเร็วขึ้น 

- การนั่งยอง ๆ การนั่งขัดสมาธิ การนั่งพับเพียบ และท่านั่งที่ทำให้ข้อเข่าถูกบิดหรือผิดรูป
- การขึ้นลงบันไดบ่อย ๆ
- การยก แบกของหนัก
- การเล่นกีฬาที่ทำให้เข่าเกิดการกระแทกบ่อยครั้ง

เพิ่มสมรรถภาพทางร่างกายเพื่อชะลออาการข้อเข่าเสื่อม

- ออกกำลังกายเสริมสร้างกล้ามเนื้อบริเวณข้อเข่า
- ลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ เพื่อให้ข้อเข่ารับน้ำหนักลดลง
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ที่ช่วยเสริมสร้างบำรุงกระดูกและข้อ


FAQs ข้อเข่าเสื่อม

ข้อเข่าเสื่อม รักษาด้วยตัวเองได้ไหม
ตอบ   อาการข้อเข่าเสื่อมเป็นการเสื่อมสภาพของผิวข้อเข่า ซึ่งไม่สามารถรักษาให้ข้อเข่ากลับมาสภาพเดิมด้วยตนเองได้ แต่หากผู้ป่วยมีอาการข้อเข่าเสื่อมเริ่มต้น สามารถดูแลตนเองเพื่อชะลอและป้องกันไม่ให้ข้อเข่าเสื่อมไปมากกว่าเดิมได้

อาหารช่วยบำรุงข้อเข่า มีอะไรบ้าง
ตอบ   เพื่อให้ข้อเข่าสามารถใช้งานได้นานขึ้น การบำรุงข้อเข่าจึงมีส่วนช่วยให้ข้อเข่าแข็งแรง เช่น การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ อย่างอาหารที่มีกรดไขมันโอเมก้า3 ไม่ว่าจะเป็นปลาทะเล หรือปลาน้ำจืดประเภทเนื้อขาว ช่วยบำรุงข้อต่อกระดูก ลดการบวมอักเสบในข้อ อาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ อย่างในผักหลากสี และผักใบเขียว ช่วยบำรุงกระดูกได้มาก อาหารที่มีแคลเซียมสูง เพราะแคลเซียมจะช่วยให้กระดูกแข็งแรง และการรับประทานอาหารที่มีวิตามินดี ซึ่งช่วยเรื่องการดูดซึมแคลเซียมเข้าสู่ร่างกายมากขึ้น


สรุป

ข้อเข่าเป็นข้อต่อที่ใหญ่ที่สุดในร่างกาย ต้องรับน้ำหนักและแรงกดทับของร่างกาย ดังนั้นไม่แปลกที่จะเกิดการเสื่อม อย่างข้อเข่าเสื่อมขึ้น ผู้ป่วยมักจะมีอาการปวดเข่า เคลื่อนไหวลำบากขึ้น หรือในผู้ที่มีอาการรุนแรง กระดูกข้อเข่าอาจเกิดการผิดรูปหรือขาโก่ง ทำให้การเดินเป็นไปได้ยาก โรคข้อเข่าเสื่อมเป็นโรคที่ส่งผลให้คุณภาพชีวิตแย่ลง

อย่างไรก็ตามโรคข้อเข่าเสื่อมสามารถรักษาได้ไม่ว่าจะเป็นการประคับประคองในกลุ่มผู้ป่วยอาการไม่หนักมาก และรักษาด้วยการผ่าตัดในกลุ่มผู้ป่วยที่ข้อเข่าเสื่อมรุนแรง แต่การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุคือป้องกันไม่ให้เกิดข้อเข่าเสื่อมได้