ลักษณะตัดสินธรรมวินัย ๘ ประการ
“ลักษณะตัดสินธรรมวินัย ๘ ประการนี้ มีมาใน “โคตรมีสูตร” อังคุตตรนิกาย เป็นถ้อยคำที่ตรัสแก่พระนางมหาปชาบดีโคตมี ซึ่งออกบวชเป็นภิกษุณี ถือกันว่าเป็นหลักสำคัญ มีข้อความที่น่าสนใจเป็นพิเศษอีกส่วนหนึ่งคือ เป็นหลักธรรมที่ทรงเลือกสรรมา ในลักษณะเป็นเครื่องตอบแทนคุณแก่บุคคลผู้ตั้งอยู่ในฐานะที่เป็นมารดาอีกส่วนหนึ่งด้วย เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นว่า การปฏิบัติอย่างใดจะเป็นไปถูกต้องตามหลักแห่งการดับทุกข์หรือไม่ ก็ควรใช้หลักเกณฑ์เหล่านี้ เป็นเครื่องตัดสินได้โดยเด็ดขาด ฉะนั้น จึงเป็นหลักที่แสดงถึง ใจความสำคัญแห่งพระพุทธศาสนาอยู่ในตัว หลักเหล่านั้น คือ...ถ้าธรรม(การปฏิบัติ)เหล่าใด...
๑. เป็นไปเพื่อ ความกำหนัดย้อมใจ
๒. เป็นไปเพื่อ ความประกอบทุกข์ (คือทำให้ลำบาก)
๓. เป็นไปเพื่อ สะสมกองกิเลส
๔. เป็นไปเพื่อ ความอยากใหญ่ (คือไม่เป็นการมักน้อย)
๕. เป็นไปเพื่อ ความไม่สันโดษ
๖. เป็นไปเพื่อ ความคลุกคลี
๗. เป็นไปเพื่อ ความเกียจคร้าน
๘. เป็นไปเพื่อ ความเลี้ยงยาก
พึงรู้ว่า ธรรมเหล่านั้นไม่ใช่ธรรม ไม่ใช่วินัย ไม่ใช่สัตถุศาสน์ (สัตถุศาสน์ คือ คำสอนของพระศาสดา)
แต่ถ้าเป็นไปตรงกันข้ามจึงจะ เป็นธรรม เป็นวินัย เป็นสัตถุศาสน์ คือ...
๑. เป็นไปเพื่อ ความคลายกำหนัด
๒. เป็นไปเพื่อ ความไม่ประกอบทุกข์
๓. เป็นไปเพื่อ ไม่สะสมกองกิเลส
๔. เป็นไปเพื่อ ความอยากน้อย
๕. เป็นไปเพื่อ ความสันโดษ
๖. เป็นไปเพื่อ ความไม่คลุกคลี
๗. เป็นไปเพื่อ ความพากเพียร
๘. เป็นไปเพื่อ ความเลี้ยงง่าย
มีอธิบายว่า
คำว่า “ความกำหนัดย้อมใจ” ได้แก่ ความติดใจรักยิ่งขึ้นๆ ในสิ่งที่มาเกี่ยวข้องหรือแวดล้อม ถ้าการปฏิบัติหรือการกระทำ หรือแม้แต่การพูด การคิดอย่างใด ทำให้บุคคลผู้นั้นมีความติดใจรักในสิ่งใดๆแล้ว ถือว่าเป็นการปฏิบัติผิด ตัวอย่างเช่น การดูหนังดูละคร เป็นต้น มันทำให้เกิดความย้อมใจอย่างที่กล่าวนี้ ด้วยอำนาจของ ราคะ เป็นต้น ซึ่งจะเทียบดูได้กับจิตใจของบุคคลผู้ตั้งอยู่ในความสงบ หรือแม้แต่อยู่ในที่สงัด จะเห็นได้ว่าเป็นการแตกต่างกันอย่างตรงกันข้าม พึงอาศัยตัวอย่างนี้เป็นเครื่องเทียบเคียง จับความหมายของคำๆนี้ให้ได้ ทั้งในทารูป เสียง กลิ่น รส โผฎฐัพพะ ธรรมารมณ์ เป็นที่สุด ตัวอย่างแห่งธรรมารมณ์ เช่น การชอบคิดฝัน ถึงสิ่งอันเป็นที่ตั้งแห่งราคะ ก็ย่อมทำจิตให้ถูกย้อมด้วยราคะมากขึ้นๆ เป็นต้น
คำว่า “เป็นไปเพื่อความประกอบทุกข์” หมายถึงการทำตนเองให้ลำบากด้วยความไม่รู้เท่าถึงการณ์ ด้วยความเข้าใจผิด ในกรณีที่ไม่ควรจะมีความลำบากหรือลำบากแต่น้อยก็ตาม เป็นสิ่งที่น่าพิศวงว่า คนเราไม่ชอบความลำบากด้วยกันทั้งนั้น แต่แล้วทำไมจึงไปทำสิ่งที่ตนจะลำบาก ทั้งนี้ ก็เพราะอำนาจของ “โมหะ” คือ ความหลงเป็นส่วนใหญ่ จึงมีความเข้าใจผิดกลับตรงข้าม แม้ในกรณีที่เป็นเรื่องของการอยากดี อยากเด่น อยากมีชื่อเสียง เป็นต้น ก็มีมูลมาจากโมหะอยู่นั่นเอง กรณีที่เป็นการประชดผู้อื่น หรือ ถึงกับประชดตัวเองก็ตาม ย่อมสงเคราะห์เข้าในข้อนี้ ซึ่งมีมูลอันแท้จริงมาจากความหลงสำคัญผิดอย่างเดียวกันนั่นเอง โดยส่วนใหญ่ได้แก่ การปฏิบัติที่เรียกว่า “อัตตกิลมถานุโยค” คือ การทรมานตนอย่างงมงาย
คำว่า “สะสมกองกิเลส” หมายถึง การเพิ่มพูน โลภะ โทสะ โมหะ โดยรอบด้าน ผิดจากความกำหนัดย้อมใจตรงที่ ข้อนี้หมายถึงเป็นอุปกรณ์หรือเครื่องสนับสนุนการเกิดของกิเลสทั่วไป และให้ทวียิ่งขึ้นด้วย การสะสมสิ่งซึ่งเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงกิเลสอยู่เป็นประจำ ในกรณีของคนธรรมดาสามัญ บางอย่างอาจจะไม่จัดเป็นการสะสมกองกิเลส แต่จัดเป็นการสะสมกิเลสอย่างยิ่ง สำหรับผู้ปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์โดยตรง เช่น พวกบรรพชิต หรือในบางกรณีก็จัดว่า เป็นการสะสมกองกิเลส ทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต เช่น การมีเครื่องประดับ หรือเครื่องใช้ชนิดที่ไม่มีความจำเป็นแก่การเป็นอยู่ แต่เป็นไปเพื่อความลุ่มหลง หรือความเห่อเหิมทะเยอทะยานประกวดประขันกันโดยส่วนเดียว เป็นต้น เป็นการขยายทางมาของกิเลส ให้กว้างขวาง ไม่มีที่สิ้นสุด
คำว่า “ความอยากใหญ่” หมายถึง การอยากเกินมาตรฐานแห่งภาวะ หรือสถานะ หรือกำลังสติปัญญาของตน เป็นต้น ส่วนความไม่สันโดษ ไม่ได้หมายถึงความอยากใหญ่ เช่นนั้น แต่หมายถึงความไม่รู้จักพอใจในสิ่งที่ได้มาแล้ว หรือมีอยู่แล้ว ซึ่งทำให้มีความรู้สึกเป็น คนยากจนอยู่เนืองนิจ เป็นทางให้เกิดความอยากใหญ่หรือกิเลสอย่างอื่นต่อไปได้ หรือในทางตรงกันข้าม ทำให้เกิดการทำลายตัวเอง จนถึงกับฆ่าตัวตายก็ได้ โดยภาษาบาลี ความอยากใหญ่ เรียกว่า “มหิจฺฉตา” ความไม่สันโดษเรียก “อสันตุฎฐิ” โดยพยัญชนะหรือโดยนิตินัย เราอาจจะแยกได้ว่าเป็นคนละชั้น คนละตอน หรือคนละอย่าง แต่โดยพฤตินัยย่อมเป็นไปด้วยกัน จนถึงกับหลงไปได้ว่าเป็นสิ่งเดียวกัน
คำว่า “ความคลุกคลี” หมายถึง การระคนกันเป็นหมู่ เพื่อความเพลิดเพลินอย่างใดอย่างหนึ่งจากการกระทำอันนั้น ความเพลิดเพลิน จากการคลุกคลีนี้มีรสดึงดูดในทางธรรมารมณ์เป็นส่วนใหญ่ และก็มีความยั่วยวน ไม่แพ้อารมณ์ที่ได้รับทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เพราะเหตุฉะนั้นเอง คนเราจึงติดใจรสของการที่ได้ระคนกันเป็นหมู่นี้ ทำให้จิตใจลุ่มหลง มีลักษณะเหมือนกับจมไม่ลง ทำให้ความคิดความอ่าน ดำเนินไปอย่างผิวเผิน ไม่เป็นที่ตั้งแห่งการคิดอย่างแยบคายหรือลึกซึ้ง แต่พึงทราบไว้ว่าการประชุมกันเพื่อศึกษาเล่าเรียน ปรึกษาหารือ กิจการงานอันเป็นหน้าที่ เป็นต้นนั้น ท่านไม่เรียกว่าการคลุกคลีกันเป็นหมู่ในที่นี้ แต่อีกทางหนึ่งท่านยังหมายกว้างไปถึงว่า การถูกกิเลสทั่วไปกลุ้มรุม ด้วยสัญญาอดีต ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่เคยผ่านมาแล้วแต่หนหลัง แม้นั่งคิดฝันอยู่คนเดียว ก็กลับสงเคราะห์ไว้ในคำว่า การคลุกคลีในหมู่อย่างหนึ่งด้วยเหมือนกัน เพราะมีมูลมาจากความอาลัยในการระคนด้วยหมู่
คำว่า “ความเกียจคร้าน” และคำว่า “เลี้ยงยาก” มีความหมายชัดเจนแล้ว การปฏิบัติทำความดับทุกข์เป็นเรื่องใหญ่และยึดยาว จึงต้องอาศัยความเพียร ความเลี้ยงง่าย จึงจะเป็นเหตุให้ไม่ต้องมีภาระเรื่องอาหารมากกว่าที่จำเป็น ซึ่งทำให้เสียเวลา และเสียวัตถุมากไปเปล่าๆ โดยที่อาจจะนำไปใช้เป็นประโยชน์อย่างอื่นได้
ลักษณะทั้ง ๘ นี้ แต่ละอย่างๆเป็นปฏิปักษ์ต่อการปฏิบัติ เพื่อความดับทุกข์ โดยตรงก็มี เป็นเพียงอุปสรรคก็มี และเป็นการปฏิบัติผิดโดยตรงก็มี จึงถือว่าไม่ใช่ธรรม ไม่ใช่วินัย ไม่ใช่สัตถุศาสน์ ต่อเมื่อปฏิบัติตรงกันข้ามจาก ๘ อย่างข้างต้น จึงจะเป็นไปเพื่อความดับทุกข์ หรือเป็นธรรม เป็นวินัย เป็นสัตถุศาสน์ นี้นับว่าเป็นหมวดธรรมที่เป็นอุปกรณ์แห่งการปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์อย่างหนึ่ง ในฐานะที่เป็นหลักสำหรับยึดถือ หรือให้ดำเนินไปถูกทาง”
พุทธทาสภิกขุ
ที่มา : จากหนังสือ “ศึกษาธรรมะอย่างถูกวิธี” ธรรมบรรยายในพรรษา ปีพุทธศักราช ๒๕๐๐
---------------------------------
หลักการที่เป็นมาตรฐานสำหรับวินิจฉัยคำสอนว่า..ถูกต้องตามหลักพุทธศาสนาหรือไม่?
"หลักการสำหรับใช้วินิจฉัยคำสอน และการประพฤติปฏิบัติทั่วไป ว่าถูกต้องตามหลักพุทธศาสนาหรือไม่ ซึ่งเรียกว่า "หลักตัดสินธรรมวินัย"
หลักตัดสินพระธรรมวินัยนี้ พระพุทธเจ้าทรงตรัสแก่ "พระมหาปชาบดีโคตมีเถรี" ครั้งหนึ่ง และแก่ "พระอุบาลีเถระ" ครั้งหนึ่ง
ที่ทรงตรัสแก่พระมหาปชาบดีโคตมีเถรี มี ๘ ข้อ ใจความว่า...
"ธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อ
๑.สราคะ ( ความติดใคร่ย้อมใจ )
๒.สังโยค ( ความผูกรัดมัดตัวอยู่ในวังวนแห่งทุกข์ )
๓.อาจยะ ( ความพอกพูนกิเลส )
๔.มหิจฉตา ( ความมักมากอยากใหญ่ )
๕.อสันตุฏฐี ( ความไม่รู้จักพอ )
๖.สังคณิกา ( ความมั่วสุมคลุกคลี )
๗.โกสัชชะ ( ความเกียจคร้าน )
๘.ทุพภรตา ( ความเป็นคนเลี้ยงยาก )
ธรรมเหล่านี้ พึงรู้ว่า ไม่ใช่ธรรม ไม่ใช่วินัย ไม่ใช่สัตถุสาสน์(คำสอนของพระศาสดา)
ส่วนธรรมเหล่าใด เป็นไปเพื่อ
๑.วิราคะ ( ความคลายออกเป็นอิสระ )
๒.วิสังโยค ( ความเปลื้องตนจากวังวนแห่งทุกข์ )
๓.อปจยะ ( ความไม่พอกพูนกิเลส )
๔.อัปปิจฉตา ( ความมักน้อย ไม่มากอยากใหญ่ )
๕.สันตุฏฐี ( ความสันโดษ )
๖.ปวิเวก ( ความสงัด )
๗.วิริยารัมภะ ( ความเร่งระดมความเพียร )
๘.สุรภตา ( ความเป็นผู้เลี้ยงง่าย )
ธรรมเหล่านี้ พึงรู้ว่า เป็นธรรม เป็นวินัย เป็นสัตถุสาสน์"
( ที่มา : วินย. ๗/๕๒๓/๓๓๑ )
ที่ทรงตรัสแก่ พระอุบาลีเถระ มี ๗ ข้อ ใจความว่า...
" ธรรมเหล่าใด เป็นไปเพื่อ
๑.เอกันตนิพพิทา ( ความหน่ายหายติดได้สิ้นเชิง )
๒.วิราคะ ( ความคลายออกเป็นอิสระ )
๓.นิโรธ ( ความดับกิเลสได้ ไม่มีทุกข์เกิดขึ้น )
๔.อุปสมะ ( ความสงบที่กิเลสระงับราบคาบไป )
๕.อภิญญา ( ความรู้ประจักษ์ตรงต่อความจริงจำเพาะ )
๖.สัมโพธะ ( ความตรัสรู้หยั่งเห็นความจริงเต็มพร้อม )
๗.นิพพาน ( ภาวะดับทุกข์หายร้อนเย็นสนิท )
ธรรมเหล่านี้พึงรู้ว่า เป็นธรรม เป็นวินัยเป็นสัตถุสาสน์( คำสอนของพระศาสดา )
( ที่มา : องฺ.สตฺตก.๒๓/๘๐/๑๔๖ )
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
( ป. อ. ปยุตฺโต )
ที่มา : หนังสือ "กรณีธรรมกาย" หน้า ๓๘-๔๐...
