ความตาย..ไม่มี นิมิต เครื่องหมาย
ความตาย..คือ ธรรมดาของชีวิต
ชีวิตํ พฺยาธิ กาโล จ เทหนิกฺเขปนํ คติ
ปญฺเจเต ชีวโลกสฺมึ อนิมิตฺตา น นายเรฯ
สิ่งไม่มีนิมิตเครื่องหมาย ซึ่งใครๆก็รู้ไม่ได้ ในสัตว์โลกมีอยู่ ๕ อย่าง คือ ๑. อายุ ๒. โรค ๓. เวลา ๔. สถานที่ ๕. ที่เกิด
หมายความว่า...
๑. อายุ (ชีวิตํ) จะตายในอายุเท่าใดก็ไม่รู้
๒. โรค (พฺยาธิ) จะตายด้วยโรคอะไรก็ไม่รู้
๓. เวลา (กาโล) จะตายกลางวันหรือกลางคืนก็ไม่รู้
๔. สถานที่ (เทหนิกฺเขปนํ) จะตายในบ้านหรือนอกบ้านก็ไม่รู้
๕. ที่เกิด (คติ) ตายแล้วจะไปเกิดที่ไหนก็ไม่รู้
คัมภีร์วิสุทธิมรรค
-------------------------
สังเวชนียธรรม
ธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งความสังเวช
" ภิกษุทั้งหลาย! บัดนี้ เราขอเตือนเธอทั้งหลายว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงทำหน้าที่ให้สำเร็จด้วยความไม่ประมาทเถิด
มนุษย์ทุกคนไม่ว่าเด็ก ผู้ใหญ่ โง่ ฉลาด มั่งมี และยากจน ล้วนต้องตาย ชีวิตของสัตว์เปรียบเหมือนภาชนะดินที่ช่างหม้อปั้นแล้ว เล็กบ้าง ใหญ่บ้าง สุกบ้าง ดิบบ้าง ซึ่งล้วนมีความแตกสลายเป็นที่สุด "
มหาปรินิพพานสูตร
ที.ม. ๑๐/๑๘๕/๑๓๑-๑๓๒
หมายเหตุ
คำว่า "สังขารทั้งหลาย" ในที่นี้ หมายถึง สิ่งที่เกิดจากเหตุปัจจัย สิ่งที่ถูกปัจจัยปรุงแต่ง ที่ตรงกับคำว่า "สังขตธรรม" ทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม
----------------------------------
ชีวิตนี้น้อยนัก..มีความตายเป็นที่แน่นอน
" สัตว์อยู่ในครรภ์เพียงคืนเดียวซึ่งเป็นคืนแรก ย่อมบ่ายหน้าไป(สู่ความตาย) เหมือนเมฆฝนตั้งขึ้นแล้ว ก็ย่อมเคลื่อนไปเรื่อยไป ไม่หวนกลับมา ดังนี้
วันและคืนล่วงไป ชีวิตพลอยดับไปด้วย อายุของสัตว์ค่อยสิ้นไป ดังน้ำแห่งแม่น้ำน้อยค่อยแห้งไป ฉะนั้น สัตว์ทั้งหลายผู้เกิดมาแล้ว ย่อมมีภัยแต่ความตายเป็นเที่ยงแท้แน่นอน ดุจผลไม้ทั้งหลายที่สุกแล้ว ย่อมมีภัยแต่ความหล่นในเวลาเช้า ฉะนั้น
อนึ่ง เหมือนภาชนะดินที่ช่างหม้อทำขึ้น ทั้งเล็กทั้งใหญ่ ทั้งสุกทั้งดิบ ทุกอย่างล้วนมีความแตกเป็นที่สุด ฉันใด ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายก็เป็น ฉันนั้น
หยาดน้ำค้างที่ยอดหญ้า พอพระอาทิตย์ขึ้นไปก็ตกไป ฉันใด อายุของสัตว์ทั้งหลายก็เป็น ฉันนั้น."
คัมภีร์วิสุทธิมรรค
อนุสสติกัมมัฏฐานนิเทศ
---------------------------------
คติธรรมดา...ของชีวิต
"การระลึกถึงความตายก็เป็นสิ่งสำคัญ ความตายนั้นเป็นความจริงของชีวิต ท่านเรียกว่าเป็นคติธรรมดา คือคนเราเกิดมาแล้วก็ต้องตาย ชีวิตมีการเริ่มต้นก็ต้องมีที่สิ้นสุด การเริ่มต้นของชีวิตเราเรียกว่าการเกิด การสิ้นสุดของชีวิตเราเรียกว่าความตาย เกิดกับตายนี้เป็นของคู่กันและต้องตามกันมาแน่นอน เมื่อระลึกถึงความตายก็คือระลึกถึงความจริงของชีวิต ซึ่งจะทำให้เราเกิดความรู้เท่าทัน แต่ก็เช่นเดียวกันต้องระลึกให้ถูกต้อง ถ้าระลึกไม่เป็น เรียกว่าทำในใจไม่แยบคาย ก็จะทำให้เกิดโทษได้
คนที่ระลึกถึงความตายโดยทำใจไม่แยบคาย เรียกว่าระลึกไม่เป็น จะทำให้เกิดโทษสองประการ
ประการที่หนึ่ง คือ นึกถึงแล้วเกิดความประหวั่นพรั่นกลัว ความประหวั่นพรั่นกลัวเป็นสิ่งบีบคั้นจิตใจ ทำให้จิตใจเศร้าหมองมีความทุกข์ เป็นการระลึกที่ไม่ถูกต้อง
ประการที่สอง ระลึกแล้วทำให้เกิดความเศร้าโศกเสียใจ โดยเฉพาะการระลึกถึงความตายของบุคคลผู้เป็นที่รัก เมื่อทำให้จิตใจไม่สบายก็เป็นความทุกข์ เป็นการระลึกที่ไม่ถูกต้องอีกเช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ บางคราวยังเกิดผลประการที่สาม คือ บางคนไปนึกถึงความตายของคนที่เกลียดชังเป็นศัตรูกัน ก็ทำให้เกิดความดีใจ ความดีใจในกรณีนี้เป็นความดีใจในทางร้าย เป็นอกุศล ก็ไม่ดีอีก รวมแล้วก็เป็นการทำในใจไม่แยบคายทั้งสิ้น
ในทางตรงข้าม ถ้าระลึกถึงอย่างถูกต้องก็เป็นคุณเป็นประโยชน์
ประโยชน์ประการที่หนึ่ง ในระดับทั่วไปก็คือ ทำให้เกิดความไม่ประมาท เพราะความตายนี้เป็นความจริงของชีวิตที่ต้องเกิดขึ้นแน่นอนอย่างไม่ต้องสงสัย แต่พร้อมกันนั้นก็เป็นการไม่แน่นอนว่าความตายที่จะเกิดขึ้นแน่นอนนี้จะเกิดขึ้น ที่ไหน เมื่อไร และอย่างไร เราไม่อาจคาดคะเนได้
ในเมื่อสิ่งทั้งหลายไม่เที่ยงแท้แน่นอน ไม่ว่าชีวิตของเราเองก็ตาม สิ่งที่เราเกี่ยวข้องก็ตาม ล้วนไม่เที่ยงแท้แน่นอน เป็นอนิจจัง ไม่คงอยู่ยั่งยืนตลอดไป จึงจะนอนใจอยู่ไม่ได้ เวลาที่ผ่านไปนั้นมันผ่านไปพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงด้วย และความเปลี่ยนแปลงนั้นก็ไม่แน่นอนว่าจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เราจึงจะต้องเร่งรีบทำกิจหน้าที่และทำความดี สิ่งที่ควรทำก็รีบทำ สิ่งที่ควรละเว้นก็รีบละเว้น สิ่งที่ควรป้องกันกำจัดแก้ไขก็รีบป้องกันกำจัดแก้ไขเสีย อันนี้เรียกว่า "ความไม่ประมาท" การระลึกถึงความตายในทางที่ถูกต้องจะทำให้เกิดผล คือ ความไม่ประมาท และในการที่จะเพียรพยายามทำความดี ทำกิจหน้าที่ และทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อไป
ประการที่สอง การระลึกถึงความตายในฐานะที่เป็นความจริงของชีวิตนั้น ทำให้เกิดความรู้เท่าทันความรู้เท่าทันความจริงของชีวิตนี้ก็ทำให้เกิดปัญญา เมื่อเกิดปัญญาก็ทำให้รู้จักปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายถูกต้อง เริ่มตั้งแต่ปฏิบัติต่อชีวิตของตนได้ถูกต้องเป็นต้นไป
คนเรานี้เมื่อไม่รู้จักชีวิตของตนเองก็ปฏิบัติต่อชีวิตผิด พอปฏิบัติต่อชีวิตผิดก็ปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายรอบๆ ตัวผิดด้วย เพราะเราเข้าใจสิ่งทั้งหลายไม่ถูกต้อง เริ่มตั้งแต่ไม่เข้าใจความจริงของชีวิต ก็จึงเที่ยวไปยึดถือผิดๆ หรือยึดถือในทางที่เป็นไปไม่ได้ต่อสิ่งต่างๆ แล้วก็ทำการไปตามอำนาจ ความโลภ ความโกรธ ความหลง อย่างน้อยพอเรารู้เท่าทันความจริงของชีวิตว่า ชีวิตของเราก็เท่านี้แหละ คือมีการเกิดขึ้นในเบื้องต้น แล้วก็มีความตายในที่สุด ในที่สุดก็ต้องจากโลกนี้ไป จะโลภโมห์โทสันไปทำไม มีแต่จะก่อทุกข์ก่อการเบียดเบียนกันไปเท่านั้นเอง ทางที่ดีควรจะใช้ชีวิตนี้ให้เป็นประโยชน์ ทำสิ่งที่ดีงาม แล้วก็ทำจิตใจให้ปลอดโปร่งผ่องใสด้วยความรู้เท่าทัน การระลึกถึงความตายในฐานะเป็นความจริงของชีวิตทำให้เกิดประโยชน์ประการที่สองนี้ ซึ่งเป็นประโยชน์ในทางปัญญาที่สำคัญ
การรู้ได้คิดได้อย่างนี้เป็นการปฏิบัติธรรมที่สำคัญอย่างหนึ่ง ถ้ารู้จักนำมาใช้ประโยชน์ การระลึกถึงความตายก็เป็นสิ่งที่ดี พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้ระลึกถึงความตายอยู่เสมอเป็นประจำ คนที่ระลึกถึงความตายอย่างถูกต้องจะมีจิตปลอดโปร่งเบิกบานผ่องใส และไม่มีความกลัวต่อความตาย แต่จะเกิดความรู้สึกปลุกเร้ากระตุ้นเตือนตนเองให้เอาจริงเอาจังกับการทำกิจหน้าที่ ทำความดีงามและสร้างสรรค์ประโยชน์สุขทั้งแก่ชีวิตของตนเอง และชีวิตที่อยู่ร่วมกับผู้อื่นให้เป็นไปอย่างกระตือรือร้น"
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
( ป. อ. ปยุตฺโต )
ที่มา : จากธรรมนิพนธ์ "นึกถึงความตายก็ต้องทำใจให้ถูก"....
