ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

"สพฐ" แถลงข่าวการพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนการสอนอิสลามศึกษา

เริ่มโดย ทีมงานประชาสัมพันธ์, 15:47 น. 14 ก.ย 55

ทีมงานประชาสัมพันธ์

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ แถลงข่าวการพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนการสอนอิสลามศึกษาแบบเข้มในสถานศึกษาของรัฐในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้

วันนี้(14ก.ย.55) ที่ โรงแรมหาดแก้วรีสอร์ท อ.สิงหนคร จ.สงขลา กระทรวงศึกษาธิการ โดย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จัดให้มีการแถลงข่าวการพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนการสอนอิสลามศึกษาแบบเข้มในสถานศึกษาของรัฐในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ โดยมีผู้ร่วมแถลงข่าว ประกอบด้วย นายอำนาจ วิชยานุวัติ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาการศึกษาเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ , นายวินัย สะมะอุน คณะทำงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย , นายสุริยา ปันจอร์ สมาชิกวุฒิสภา จ.สตูล และ นายอาไซ่น่า อับดุลเลาะ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านจะแนะ

นายอำนาจ วิทยานุวัติ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาการศึกษาเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ เปิดเผยว่า จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่พิเศษ เนื่องจากความหลากหลายทางเชื้อชาติ ศาสนาและวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง และมีความผูกพันอย่างแน่นแฟ้น ดังนั้นการศึกษาจึงต้องมีความสอดคล้องกับบริบทพื้นที่ ต้องมีความรู้ความเข้าใจในสภาพความเป็นอยู่ วิถีชีวิตและความต้องการของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ ประมาณร้อยละ 80 นับถือศาสนาอิสลามและใช้ภาษามลายูเป็นส่วนใหญ่ ทางรัฐบาลจึงให้ความสำคัญและกำหนดจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่พิเศษที่จะต้องดำเนินนโยบายในการพัฒนาและแก้ปัญหา ทั้งด้านเศรษฐกิจ การศึกษา ความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สิน โดยกำหนดให้จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ ประกอบด้วย จ.ยะลา จ.ปัตตานี จ.นราธิวาส จ.สตูล และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา (อ.จะนะ,อ.เทพา,อ.สะบ้าย้อย และอ.นาทวี) และเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2549 กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศใช้ชื่อการจัดการศึกษา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า "การจัดการศึกษาเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้" กระทรวงศึกษาธิการได้มีนโยบายในการจัดการศึกษาสำหรับพื้นที่ดังกล่าว โดยยึดหลักเชิงบูรณาการกับวิถีชีวิต ความต้องการของท้องถิ่นที่มีลักษณะเฉพาะพื้นฐานของหลักศาสนา ซึ่งสามารถสนองตอบความต้องการของผู้ปกครองและชุมชนที่มีการเรียกร้องให้รัฐดำเนินการเปิดสอนอิสลามศึกษาแบบเข้มในสถานศึกษาของรัฐทำนองเดียวกับโรงเรียนปอเนาะ คือ สัปดาห์ละ 8-12 ชั่วโมง เพื่อส่งเสริมศาสนาอิสลาม พร้อมกันนั้นได้มีการปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนอิสลามเพิ่มเติมในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาโดยมีการนำร่องในบางโรงเรียนตั้งแต่ปี 2547 และขยายหลักสูตรดังกล่าวเป็น 350 โรงเรียนในปัจจุบัน ซึ่งผลการประเมินพบว่า ผู้ปกครองส่วนใหญ่มีความพึงพอใจ จึงถือว่าเป็นการเพิ่มทางเลือกทางการศึกษา ทำให้นักเรียนสามารถเรียนอิสลามศึกษาในโรงเรียนได้อย่างต่อเนื่อง เพราะศาสนาอิสลามให้ความสำคัญกับการศึกษาเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอิสลามศึกษาที่สามารถนำความรู้มาปฏิบัติศาสนกิจในชีวิตประจำวันและยึดมั่นในหลักคำสอนของศาสนาอิสลามเป็นหลักในการดำรงชีวิตได้อย่างสันติสุขในพื้นที่ต่อไป

ตอบกลับอย่างรวดเร็ว

ชื่อ:
การยืนยัน:
กรุณาเว้นช่องนี้ว่างไว้:
พยัญชนะไทยตัวที่สอง:
shortcuts: กด alt+s เพื่อตั้งกระทู้ หรือ alt+p แสดงตัวอย่าง