ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

บัณฑิตอาสา ม.อ. จากการเรียนรู้ปัญหาชุมชนสู่งานวิจัย

เริ่มโดย ทีมงานบ้านเรา, 14:40 น. 27 เม.ย 54

ทีมงานบ้านเรา



หลังจากเกิดสถานการณ์ความไม่สงบ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่ปี 2547 ทำให้เกิดความยากลำบากและปัญหาความปลอดภัยในการเข้าพัฒนาพื้นที่ สถาบันวิจัยและพัฒนาสุขภาพภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งสนับสนุนการดำเนินงานเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต และสร้างความเข้มแข็งให้คนในชุมชน ได้จัดทำโครงการหนึ่งซึ่งสามารถสร้างความร่วมมือ เข้าถึงชุมชน และนำปัญหาของพื้นที่มาเป็นโจทย์เพื่อทำการศึกษาวิจัย โดยใช้บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นกลไกเชื่อมโยงระหว่างมหาวิทยาลัยและชุมชน เน้นบัณฑิตจากพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้เข้าทำงานในพื้นที่จังหวัดภาคใต้แต่ต้องไม่ใช่บ้านเกิด โดยใช้ชื่อ "โครงการบัณฑิตอาสา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์" (บม.มอ.)

ศาสตราจารย์ นพ.วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาสุขภาพภาคใต้ กล่าวว่า "โครงการบัณฑิตอาสา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์" ดำเนินการไปแล้ว 6 รุ่น ส่วนหนึ่งของจุดประสงค์คือเพื่อบ่มเพาะบัณฑิตให้มีจิตสำนึกสาธารณะ เพื่อสังคมส่วนรวม โดยรุ่นที่ 6 ซึ่งมีพิธีรับประกาศนียบัตรไปเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2554 มีจำนวน 26 คน กระจายการปฏิบัติงานในชุมชนต่างๆ 21 พื้นที่ ใน 11 จังหวัดภาคใต้ โดยใช้ฐานการปฏิบัติงานของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยท้องถิ่นภาคใต้ มูลนิธิหยาดฝน โครงการดับบ้านดับเมือง โรงพยาบาลชุมชนและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และฐานงานวิจัยของอาจารย์ในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ประเด็นในการพัฒนาชุมชนประกอบด้วย ประเด็นสุขภาพ ประเด็นสิ่งแวดล้อม ประเด็นการส่งเสริมความเข้มแข็งของกลุ่มอาชีพ และ ประเด็นเด็กและเยาวชน มีอาจารย์เข้าร่วมจาก 16 คณะ 5 มหาวิทยาลัย ร่วมเป็นอาจารย์ที่ปรึกษา เยี่ยมนิเทศบัณฑิตอาสา เป็นวิทยากรในพื้นที่ และให้คำแนะนำปรึกษาแก่บัณฑิตอาสาในประเด็นที่เกี่ยวกับการพัฒนาชุมชน ที่มีอยู่ในปีนี้จำนวน 26 โครงการ และนี่คือส่วนหนึ่งของโครงการเหล่านั้น

"โสณัฎฐนิส สิทธิเชนทร์กุล" พบว่าสมาชิก ชุมชนหมู่ 5 บ้านนายอดทอง-ทุ่งไพร อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ส่วนหนึ่งจะเป็นโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน และมีรอบเอวเกินเกณฑ์ ซึ่งเกิดจากพฤติกรรมการกินอาหารที่ไม่ถูกต้อง จึงจัดโครงการส่งเสริมสุขภาพ "ชมรมคนนายอดทองไร้พุง" ขึ้นเพื่อกระตุ้นให้ชุมชนใส่ใจสุขภาพเลือกบริโภคอาหาร ออกกำลังกายที่ถูกวิธีโดยการทำกิจกรรมกลุ่มแลกเปลี่ยนเรียนรู้ อบรมให้ความรู้ มีการให้บริการเชิงรุกของทีมสุขภาพอาสาสมัครประจำหมู่บ้าน พร้อมทำแบบบันทึกพฤติกรรมสุขภาพ หลังจากดำเนินโครงการไป 6 เดือน มีผู้มีรอบเอวลดลง 18 คน จากจำนวน 30 คน และยังมีการติดตามอย่างต่อเนื่อง

"ใยนะ จอเตะ" เข้าพื้นที่บ้านมะกรูด อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี ซึ่งเป็นชุมชนที่นับถือศาสนาพุทธ ได้สัมผัสชุมชน และเห็นผู้สูงอายุหลายคนที่ไม่มีกิจกรรมประจำที่เด่นชัด หลังจากมีการพูดคุยกับผู้สูงอายุและผู้นำชุมชนแล้ว จึงจัด "โครงการส่งเสริมสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุด้วยวิธีออกกำลังกายแบบผสมผสาน" เช่น ออกกำลังกายด้วยผ้าขนหนูและยางยืด ซึ่งนอกจากได้ออกกำลังกายแล้วยังเป็นการฝึกสมาธิไปในตัว ผลจากการจัดโครงการครั้งนี้ ทำให้บัณฑิตอาสาได้รับการยอมรับจากชาวชุมชนเหมือนลูกหลาน มีผู้สนใจรวมกลุ่มกิจกรรม 20 คน และ ยังมีผู้สนใจจากพื้นที่อื่นมาสอบถามข้อมูล เพื่อนำไปทำกิจกรรมในพื้นที่ของตนต่อไป

"อาหมัด โอกาส" ปฏิบัติงานในพื้นที่ตำบลเกาะสาหร่าย จังหวัดสตูล เพื่อพยายาม "เสริมสร้างและพัฒนากระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน ในการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง" ทำให้ชุมชนตระหนักถึงปัญหาทรัพยากร และเสริมสร้างและพัฒนาให้กลุ่มอนุรักษ์มีความเข้มแข็ง เกิดความตื่นตัวและมีกำลังใจในการทำงานด้านการอนุรักษ์ เกาะสาหร่ายมีกลุ่มอนุรักษ์ทุกหมู่บ้านอยู่แล้วจึงทำให้ง่ายต่อการเข้าใจ แต่ก็นับว่ายังเป็นส่วนน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ทำอาชีพประมง แต่ไม่สนใจอนุรักษ์ จึงเน้นการรวมเป็นกลุ่มใหญ่ก่อนเป็นประจำ เพื่อเน้นให้มีการเห็นประโยชน์ร่วมกัน

"แวกอรีเจาะ กามาลี" จัดทำ "โครงการส่งเสริมการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ของเด็กในชุมชน แฟลตการเคหะแห่งชาติ เทศบาลนครหาดใหญ่" ซึ่งมีประชากรอาศัยอยู่รวมกันอย่างหนาแน่น ถึง 1,048 คน ใน 11 แฟลต และมีความหลากหลายทั้งด้านเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม และอาชีพ แต่เด็กในชุมชนหลายคนไม่ได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ หลังจากการได้มีการสำรวจด้านพฤติกรรมเด็กอายุ 6-12 ปี และความต้องการของผู้ปกครอง จึงได้ส่งเสริมให้จัดกิจกรรมแก่เด็กผู้สนใจ อย่างต่อเนื่อง เกิดแกนนำด้านการสอน นำเต้น นำออกแบบกิจกรรม อ่านหนังสือ ออกกำลังกาย และ ทำการบ้านร่วมกัน รวมทั้งได้รับความร่วมมือจากร้านเกมส์ในการควบคุมเวลาการเล่นเกมส์

"มูหัมมัดเปาซี นาวี" มีพื้นที่ปฏิบัติงาน ที่บ้านทุ่ง ตำบลท่าข้าม อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวยังไม่มีทั้งศูนย์การสอนและผู้สอนอัลกุรอาน ทำให้เด็กจำนวนหนึ่งขาดโอกาสการเรียนรู้ จึงได้จัดทำ "โครงการจัดตั้งศูนย์การสอนอัลกุรอานสำหรับเด็ก" โดยอาศัยการศึกษาบริบทชุมชนเพื่อให้ทราบความต้องการที่แท้จริง มีการสอบถาม สนทนากลุ่มย่อย จัดอบรมทักษะผู้สอน จัดซื้ออุปกรณ์สื่อการสอน มีผู้เรียน 30 คน "มูหัมมัดเปาซี" ต้องการให้มีการศึกษาควบคู่กับการมีจิตใจที่บริสุทธิ์ และใช้ศาสนาในการขัดเกลาจิตใจเพื่อสามารถดำเนินชีวิตท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ เขาต้องพบในอนาคต
สนับสนุนการขับเคลื่อนโดย
- ฮอนด้าพิธานพาณิชย์-อริยะมอเตอร์ www.phithan.co.th/hondaphithan
- ปาล์มสปริงส์ & ซิตี้รีสอร์ท บ้านและคอนโดคุณภาพจากเครืองศุภาลัย www.hatyainakarin.com
- ธีระการช่าง หาดใหญ่ (เยื้องบิ๊กซีคลองแห) โทร 086-4910345 www.facebook.com/teerakarnchanghy
- เอนกการช่าง ผู้นำการพัฒนาเครื่องจักรกลเกษตร โทร 081-7382622 www.an-anek.com/contact.php
รีวิวธุรกิจ เกาะติดบ้านเมือง ร้อยเรื่องท้องถิ่น TLP 0897384215