ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

ชมจิตรกรรมไทยชุดมหาชาติ ที่วัดคูเต่า ตำบลแม่ทอม อำเภอบางกล่ำ จังหวัดสงขลา

เริ่มโดย four, 07:30 น. 19 ส.ค 51

four

ชมจิตรกรรมไทยชุดมหาชาติ  ที่วัดคูเต่า  ตำบลแม่ทอม อำเภอบางกล่ำ จังหวัดสงขลา


ประวัติวัดคูเต่า
                วัดคูเต่า ถือเป็นวัดเก่าวัดแก่อีกแห่งหนึ่งในจังหวัดสงขลา ภายในอาณาบริเวณของวัดประกอบไปด้วยอาคารเสนาสนะต่างๆอายุรวมได้หลักหลายร้อยปีซึ่งถือเป็นมรดกตกทอดทางสถาปัตยกรรม และศิลปกรรมอันทรงค่า  โดยเฉพาะอุโบสถวัดคูเต่า ได้รับการขึ้นทะเบียนจากกรมศิลปากรแล้ว  ถือเป็นความภาคภูมิใจของชาวตำบลแม่ทอม อำเภอบางกล่ำ จังหวัดสงขลา 
                ซึ่งเรื่องเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของวัดคูเต่านี้ กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ ได้ศึกษาถึงประวัติของวัดคูเต่าเอาไว้ใน  ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม 3  ปี พ.ศ. 2527  หน้า 387-388 สรุปได้ว่า  วัดคูเต่า ตั้งอยู่ที่เลขที่ 1 บ้านแม่ทอม อำเภอบางกล่ำ จังหวัดสงขลา สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย  มีที่ดินตั้งวัดเนื้อที่ 15 ไร่ 3 งาน 13 ตารางวา  น.ส. 3 ก เลขที่ 1691 อาณาเขต ทิศเหนือยาว 3 เส้น 18 วา ติดต่อกับคลองอู่ตะเภา ทิศใต้ยาว 3 เส้น  18 วา ติดต่อกับถนนสาธารณะ ทิศตะวันออกยาว 4 เส้น 4 วา ติดต่อกับคลองอู่ตะเภา ทิศตะวันตกยาว 3 เส้น 19 วา ติดต่อกับถนนสาธารณะ มีที่ธรณีสงฆ์ 1 แปลง เนื้อที่ 16 ไร่ 3 งาน 47 ตารางวา น.ส. 3 เลขที่ 1596  พื้นที่ตั้งวัดเป็นที่ราบลุ่มริมคลองใกล้ทะเลสาบสงขลา อาคารเสนาสนะต่างๆมี อุโบสถกว้าง 9 เมตร ยาว 14 เมตร สร้าง พ.ศ. 2446 โครงสร้างก่ออิฐถือปูนและไม้รอบด้วยกำแพงแก้ว มีซุ้มประตูก่ออิฐถือปูนขาว ยอดเป็นจัตุรมุข แกะลายกนก และซุ้มสีมาลายกนก หน้าบันเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ และพระพรหมทรงหงส์ มีลายกนกและรูปสัตว์ประกอบ ภายในมีจิตรกรรมรูปพระเวสสันดรชาดก  ศาลาการเปรียญกว้าง 14.50 เมตร ยาว 21.30 เมตร สร้าง พ.ศ. 2480 โครงสร้างไม้และคอนกรีตเสริมเหล็ก กุฎีสงฆ์จำนวน 7 หลัง โครงสร้างเป็นอาคารไม้และตึก อาคารห้องสมุดกว้าง 15 เมตร ยาว 25 เมตร สร้าง พ.ศ. 2520 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ศาลากว้าง 14 เมตร ยาว 53 เมตร สร้าง พ.ศ. 2514 โครงสร้างคอนกรีตเริมเหล็ก สำหรับปูชนียวัตถุมี พระประธานในอุโบสถ ปางสมาธิ เป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยสัมฤทธิ์ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2447 โดยพระอุปัชฌาหนู เจ้าอาวาสรูปที่ 2 ได้จ้างนายช่างชื่อ นายหมู พระพุทธรูปด้วยไม้ประทับยืนสูง 2 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2300 เจดีย์บนกำแพงแก้ว 4 มุม  วัดคูเต่าสร้างขึ้นเป็นวัดนับตั้งแต่ พ.ศ. 2299 ที่ดินเป็นของนายส้าม เดิมวัดตั้งอยู่ที่บ้านคลองหิน บริเวณโดยรอบวัดเป็นที่ลุ่ม ไม่สะดวกในการสัญจรในฤดูฝน ต่อมาจึงได้ย้ายเสนาสนะมาสร้างขึ้นริมคลองอู่ตะเภา ติดต่อกับวัดคูเต่าที่ชาวบ้านได้ขุดให้เรือผ่านไปได้  วัดคูเต่าได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ. 2433 เขตวิสุงคามสีมากว้าง 19 เมตร ยาว 32 เมตร ผูกพัทธสีมาประมาณ พ.ศ. 2432  เกี่ยวกับการศึกษา  ได้เปิดให้มีการเรียนการสอนพระปริยัติธรรมตั้งแต่ พ.ศ. 2483 เป็นต้นมา นอกจากนี้มีโรงเรียนประถมศึกษาของทางราชการตั้งอยู่ในวัดด้วย  เจ้าอาวาสมี 4 รูป คือ พระอุปัชฌาย์แก้ว พ.ศ. 2299-2395  รูปที่ 2 พระอุปัชฌาย์หนู พ.ศ. 2395-2467  รูปที่ 3 พระครูสุคนธศีลาจาร(หอม) พ.ศ. 2467-2505  รูปที่ 4 พระอธิการหวั่นเซี้ย คุณปาโล ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ พ.ศ. 2505 เป็นต้นมา วัดคูเต่ามีพระภิกษุจำพรรษา 10 รูป สามเณร 1 รูป

สอดคล้องใกล้เคียงกับที่  บรรจง  วงศ์วิเชียร  ได้ศึกษาเกี่ยวกับประวัติของวัดคูเต่าเอาไว้ใน  การศึกษาลวดลายหน้าบันอุโบสถในจังหวัดสงขลา(ระหว่าง พ.ศ. 2325- พ.ศ. 2475)  ปี พ.ศ. 2537 หน้า 39-40 ว่า วัดคูเต่า ตั้งอยู่ที่ เลขที่ 1 บ้านแม่ทอม  กิ่งอำเภอบางกล่ำ จังหวัดสงขลา สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย  วัดคูเต่าสร้างขึ้นเป็นวัดเมื่อ พ.ศ. 2299 ที่ดินเป็นของนายล้วน เดิมวัดตั้งอยู่ที่บ้านหนองหิน บริเวณโดยรอบวัดเป็นที่ลุ่ม ไม่สะดวกในการสัญจรในฤดูฝน ต่อมาจึงย้ายเสนาสนะมาสร้างขึ้นริมคลองอู่ตะเภา ติดต่อคูเต่าที่ชาวบ้านได้ขุดให้เรือผ่านไปมาได้  วัดคูเต่า ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2433 เขตวิสุงคามสีมากว้าง 19 เมตร ยาว 32 เมตร ผูกพัทธสีมาประมาณ พ. ส. 2434   วัดคูเต่ามีศาสนสถานที่สำคัญคือ อุโบสถ กว้าง 9 เมตร ยาว 14 เมตร สำหรับการก่อสร้างมีประวัติความจารึกที่ผนังอุโบสถกล่าวไว้ว่า พระอธิการแก้ว เป็นผู้สร้างเมื่อประมาณ พ.ศ. 2430 สร้างได้สูงเพียงแค่เอว(ประมาณ 1.00 เมตร) และค้างไว้เป็นเวลา 15 ปี จนต่อมาพระอธิการหนู ได้สร้างต่อจนเสร็จในปี ร.ศ. 121 (พ.ศ. 2446) โดยก่อสร้างต่อเติมอุโบสรหลังเดิม โครงสร้างก่ออิฐถือปูนล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว  หน้าบันเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ(หน้าบันทางทิศตะวันตก ปัจจุบันไม่มีแล้ว จากคำบอกเล่าของพระครูคุณสารพิสุทธิ์ ทราบว่า หน้าบันด้านนี้ชำรุดและพังลงในปี พ.ศ. 2522) และเทวดาทรงหงส์มีลายกนกและรูปบุคคล รูปสัตว์ประกอบ ภายในอุโบสถมีจิตรกรรมฝาผนังเรื่องพระเวสสันดรชาดก
              นอกจากนี้ องค์การบริหารส่วนตำบลแม่ทอม (www.maetom.go.th ) วันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2551 ยังได้กล่าวสรุปถึงประวัติความเป็นมาของวัดคูเต่าเอาไว้ในหน้า  ประวัติวัดคูเต่า สรุปเนื้อความได้ว่า    เดิมวัดคูเต่าตั้งอยู่หมู่ที่ 3  ต.แม่ทอม อ.บางกล่ำ จ.สงขลา และเมื่อปี พ.ศ. 2529 ได้เปลี่ยนมาอยู่ในเขตการปกครองของอำเภอบางกล่ำ วัดคูเต่าเป็นวัดโบราณวัดหนึ่ง ตั้งอยู่ริมคลองอู่ตะเภา ก่อนออกสู่ทะเลสาบ ก่อสร้างก่อนปี พ.ศ. 2399 (ไม่มีหลักฐานที่แน่ชัด) โดยพระอุปัชฌาแก้ว และเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2399 พระอุปัชฌาแก้วมรณภาพเสียก่อน หลังจากนั้นได้หยุดการก่อสร้างไประยะหนึ่ง ในปี พ.ศ. 2445 พระอุปัชฌาหนู ได้ทำการก่อสร้างเพิ่มเติมโดยในอุโบสถมีจิตกรรมฝาผนังพระเวสสันดรชาดก โดยช่างภูมิปัญญาท้องถิ่นในสมัยนั้น และภายในวัดยังมีใบเสมา มณฑปบัว ศาลาการเปรียญ ศาลาท่าน้ำ หอระฆัง กูมไม้ทรงไทย วัดคูเต่าตั้งอยู่ในพื้นที่ 15 ไร่ 3 งาน 13 ตารางวา บริจาคโดย นายสร้าง (ไม่ทราบนามสกุล) ซึ่งเป็นชาวจีนมาตั้งฐิ่นฐานอยู่ในตำบลคูเต่า  ต่อมา พระอุโบสถวัดคูเต่า ได้รับการขึ้นทะเบียนจากกรมศิลปากร โดยได้มีการปฏิสังขรณ์ใหม่เมื่อปี พ.ศ. 2538 นับได้ว่าวัดคูเต่าเป็นโบราณสถานที่เชิดหน้าชูตาอย่างภาคภูมิใจของชาวตำบลแม่ทอม ซึ่งหากมีผู้สนใจที่จะเยี่ยมชนจิตกรรมฝาผนังในอุโบสถวัดคูเต่าก็สามารถเข้าเยี่ยมชมได้ ณ วัดคูเต่า หมู่ที่ 3 ตำบลแม่ทอม อำเภอบางกล่ำ จังหวัดสงขลา
                 ในเอกสารบันทึก ที่ดินของวัดคูเต่า ซึ่งผู้เขียนทำการสืบค้นได้จากความกรุณาของ พระอธิการถาวร ถาวโร เจ้าอาวาสวัดคูเต่า รูปที่ 6 มีบันทึกเกี่ยวกับเรื่อง "ที่ดินของวัดคูเต่า" เอาไว้ดังนี้  ที่ดินของวัดคูเต่า 
ที่ดินแปลงที่ 1 เป็นที่ธรณีสงฆ์ ของวัดคูเต่า เลขที่ ส.ค. 1 //  193 วันที่ 30 พ.ค. 98
ทิศเหนือ  ยาว 3 เส้น 10 วา จดที่ดินนายพรหม
ทิศใต้  ยาว 6 เส้น 6 วา จดที่ดินนายแจ้ง นายเหมือน
ทิศตะวันออก  ยาว 4 เส้น 10 วา จดที่ดินนายหนูแก้ว
ทิศตะวันตก  ยาว 2 เส้น 1 วา จดที่ดินนายพรหม
(จำนวนที่ดิน  14 ไร่ 3 งาน 71 วา)
ที่ดินแปลงที่ 2 เป็นที่ตั้งวัดคูเต่า มีพระสงฆ์อยู่ประจำ เลขที่ ส.ค. 1  194  วันที่ 30 พ.ค. 98
ทิศเหนือยาว 3 เส้น 18 วา จดที่แม่น้ำ
ทิศใต้ยาว 3 เส้น 18 วา จดที่ดินนายชุม
ทิศตะวันออก ยาว 4 เส้น 4 วาจดแม่น้ำ
ทิศตะวันตกยาว 3 เส้น 19 วา
(จำนวนเนื้อที่ดิน 15 ไร่ 3 งาน 18 วา)

นิรันดร์  พีระเสถียร  ได้ศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับประวัติของวัดคูเต่า เอาไว้ใน  บทความชุดพระครูสุคนธศีลาจาร(หอม ปุญญมาโน) ใน นิตยสารกระแสพระ ฉบับที่ 49 เดือนตุลาคม พ.ศ. 2549 หน้า 41-42  พอที่จะสรุปได้ว่า  วัดคูเต่า ตั้งอยู่ที่เลขที่ 1 หมู่ที่ 3 ตำบลแม่ทอม อำเภอบางกล่ำ จังหวัดสงขลา นับว่าเป็นวัดเก่าแก่อีกวัดหนึ่งของภาคใต้ โดยมีเจ้าอาวาสรูปแรกชื่อ หลวงพ่อช้าง เป็นผู้บุกเบิกร่วมกับชาวบ้านตำบลแม่ทอม อำเภอบางกล่ำ สร้างวัดคูเต่าขึ้น  เดิมสร้างอยู่ใกล้ป่าช้าหนองหินชื่อ "วัดสระเต่า" ลักษณะวัดเป็นที่ราบลุ่ม เป็นที่อยู่อาศัยของเต่าเป็นจำนวนมาก หลวงพ่อช้างได้ย้ายวัดสระเต่า มาตั้งในที่ใหม่ ในพื้นที่อยู่อาศัยของชาวจีน และชาวจีนได้บริจาคที่ดินถวายหลวงพ่อช้าง  ท่านได้ร่วมกับชาวจีนและคนไทยช่วยกันสร้าง วัดคูเต่าขึ้นมา ในปี พ.ศ. 2299 ในชื่อและที่มาของ "คูเต่า" นี้เองพอที่จะสืบประวัติความเป็นมาได้ว่า ในขณะที่ชาวบ้านได้ถางป่า ขุดตอไม้เพื่อปลูกผลไม้  ส้มจุ ไม่มีไม้ใช้ต้องขุดคูล่องเรือไปตัดไม้เสม็ดมาทำ เป็นไม้ค้ำต้นส้มจุก ล้อมรั้วรอบสวนส้มจุก  บรรดาเต่าจากสระน้ำได้ไต่ขึ้นลงตามสายคูน้ำ ออกมาวางไข่ตลอดสายคูน้ำ ซึ่งมีความยาวลายสิบกิโลเมตร คูน้ำแห่งนี้จึงมีชื่อว่า "คูเต่า" เป็นที่มาของชื่อ "วัดคูเต่า"
                ซึ่งในเรื่องที่มาของคำว่า "คูเต่า" นี้เอง  อุษณีย์  ทองลิ้มป์  ได้ศึกษาเพิ่มเติมเอาไว้ใน  การศึกษาประวัติชื่อหมู่บ้านในอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา  ปี พ.ศ. 2537 หน้า 52-83  โดยเป็นการกล่าวอ้างจากคำพูดของ  นายทองชุม สุขสว่าง  หมู่ที่ 6 บ้านคูเต่า ตำบลคูเต่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ว่า "บ้านคูเต่า" เดิมมีคูเล็กๆ มีเต่าชุกชุมมาก ตั้งอยู่ทางด้านตะวันออกของคลองอู่ตะเภา  ได้มีคนจีนกลุ่มหนึ่งเข้ามาบุกเบิกที่ดินทำมาหากินที่นี่ ชาวบ้านจึงเรียกว่า "คูเต่า" ต่อมาคูแห่งนี้ได้มีผู้คนเข้ามาอยู่มากขึ้น เต่าซึ่งแต่เดิมมีอยู่มากก็ค่อยๆหมดไป คือลงไปอยู่ในทะเลสาบสงขลา ซึ่งการเรียกชื่อหมู่บ้าน หรือวัดในลักษณะดังกล่าวมานี้จัดอยู่ในประเภท "ประวัติชื่อหมู่บ้านที่มีสภาพแวดล้อมตามชื่อของสัตว์"

ประวัติวัดคูเต่าในทรรศนะของ พระอธิการถาวร ถาวโร เจ้าอาวาสวัดคูเต่า รูปที่ 6 (สัมภาษณ์ วันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2551 ที่วัดคูเต่า)ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าไปขอสัมภาษณ์พระอธิการถาวร ถาวโร  เจ้าอาวาสวัดคูเต่า รูปที่ 6 (รูปปัจจุบัน) ถึงประวัติความเป็นมาของวัดคูเต่าในความเห็นของท่านพอที่จะสืบทราบความเป็นมาได้ดังนี้คือ เดิมทีวัดคูเต่า มีชื่อว่า "วัดสระเต่า" เนื่องด้วยมีเต่าอาศัยอยู่ในบริเวณสระของวัดเป็นจำนวนมาก  และวัดมิได้ตั้งอยู่ในบริเวณสถานที่ตั้งในปัจจุบัน(เลขที่ 1 หมู่ที่ 3 ตำบลแม่ทอม อำเภอบางกล่ำ จังหวัดสงขลา) แต่วัดคูเต่าเดิม หรือวัดสระเต่า นั้นตั้งอยู่ในบริเวณผืนดินตรงข้ามป่าช้าหนองหิน หรือโคกวัดในปัจจุบัน  เหตุที่ต้องย้ายสถานที่ตั้งวัดนี่เพราะบริเวณเดิมเป็นที่ราบลุ่มมักมีน้ำหลากในฤดูฝน จึงทำให้สภาพของวัดไม่ต่างอะไรกับจมอยู่ในทะเล  สิ่งก่อสร้างต่างๆรวมถึงพระ  ภิกษุ ชาวบ้านต่างได้รับความเดือดร้อนเป็นอันมาก   ประการหนึ่งเชื่อกันว่าแต่เดิมคนในพื้นที่คูเต่าเป็นชาวจีนส่วนหนึ่งซึ่งเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาจากผืนแผ่นดินใหญ่ตั้งแต่ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ และชาวไทยในพื้นที่อีกส่วนหนึ่งต่างช่วยกันร่วมมือร่วมใจในการสร้างวัดคูเต่าขึ้น  ครั้งหนึ่งชาวจีนซึ่งส่วนใหญ่มีอาชีพในการทำสวนส้มโอ  ส้มเขียว  ส้มเช้ง  ส้มแป้นจุก(ส้มจุก) ต้องการไม้มาเพื่อเป็นวัสดุอุปกรณ์สำหรับค้ำยันต้นส้ม  เนื่องด้วยเชื่อกันว่าดินที่ทำการปลูกส้มชนิดต่างๆที่ถือเป็นดินดีที่สุดในจังหวัดสงขลานั้นต้องเป็นดินที่บ้านคูเต่า จึงไม่แปลกที่ชาวบ้านคูเต่า(จีน)จะสามารถกอบโกยผลผลิตจากการทำสวนส้มได้ผลกำไรเป็นที่น่าพอใจยิ่ง  เนื่องด้วยเป็นดินดีปุ๋ยดีต้นส้มของที่นี่จึงมีลำต้นและให้ผลผลิตที่สูง ส้มมีผลใหญ่และแต่ละช่อมีปริมาณหลายผล  ปัญหาหนึ่งที่ตามมาของชาวสวนที่นี่ก็คือ ปัญหาในเรื่องที่ต้นส้มมักจะกิ่งหักเพราะผลที่ดกเป็นพิเศษ เป็นประจำ  วิธีแก้ปัญหาของชาวบ้านก็คือการไปตัดไม้ในบริเวณใกล้เคียงกับสวนส้มของพวกเขานำมาทำเป็นไม้ค้ำยันซึ่งก็ได้ผลในระดับหนึ่ง  แต่ต่อมาในระยะหลังเมื่อมีการทำสวนส้มกันมากขึ้นๆ จึงเป็นเหตุให้ไม้ที่นำมาทำเป็นตัวค้ำยันหมดลง ครั้งชาวบ้านส่วนหนึ่งเดินทางไปตัดไม้ในป่าซึ่งเป็นไม้เสม็ด ที่บริเวณทุ่งเกาะไหล ขากลับมักประสบความลำบาก พบปัญหาคือไม่สามารถนำพาไม้เสม็ดจำนวนมากกลับมาได้ทั้งหมด  ทำให้เสียเวลาในการเดินทางไกลโดยใช่เหตุและได้ไม้เสม็ดไม่คุ้มกับห้วงเวลาที่สูญเสียไป  มีชาวจีนในพื้นที่หลายกลุ่มเล่าว่าขาไปในช่วงเช้ามักไม่มีปัญหา แต่ตอนช่วงขากลับมักเจอสัตว์ร้ายต่างๆอาทิ เสือ งู หมี เสือ และอื่นๆซึ่งถือเป็นสัตว์มีอันตรายเข้ามาทำร้ายได้ เป็นต้น อนึ่ง มีความเชื่อเดิมของคนในพื้นที่เล่าว่าอีกเหตุผลที่มีความต้องการขุดสระ และย้ายวัดสระเต่ามาเป็นวัดคูเต่าในปัจจุบันนั้นเชื่ออยู่เรื่องหนึ่งว่าอาจจะเป็นเพราะความกลัวสถานที่ตั้งเดิมซึ่งมีอาณาบริเวณเป็นป่ารกทึบมีสัตว์ร้ายนานาพันธุ์ บ้างก็เล่าสืบทอดกันมาว่าเคยมี "เสือสมิง" อาศัยอยู่ใกล้บริเวณวัดได้เข้าทำร้ายสามเณรมรณภาพ 1 รูป คือสามเณรถูกกัดจนศีรษะขาดและถูกกินเป็นอาหารเป็นที่เล่าลืออย่างสยดสยองต่างๆนานา(เสือสมิง คือ เสือร้ายที่เชื่อกันว่าเกิดจากอิทธิฤทธิ์ของวิญญาณร้ายที่แปลงร่างขึ้นมา)    ช่วงนั้นเองประจวบเหมาะกับที่ชาวบ้านต้องการจะย้ายวัดคูเต่าเดิม(วัดสระเต่า)ไปอยู่ในบริเวณตั้งวัดในปัจจุบันเพื่อหนีปัญหาน้ำท่วมในหน้าฤดูน้ำหลาก  ทั้งชาวจีน และชาวไทยจึงร่วมแรงร่วมใจกันขุดคูขึ้นมาแห่งหนึ่งทอดยาวไปยังสถานที่ตั้งวัดในปัจจุบัน ซึ่งในตอนที่ขุดคูนี้เองส่งผลให้เต่าที่แต่เดิมอาศัยอยู่ในบริเวณสระของวัดสระเต่าได้เคลื่อนย้ายอพยพหาทำเลที่อยู่อาศัยใหม่คือย้ายไปที่วัดคูเต่าปัจจุบันและค่อยๆหมดไป ซึ่งชาวบ้านหลายคนเชื่อว่าพวกเต่าได้ย้ายทำเลที่อยู่อาศัยคือย้ายไปลงทะเลแล้ว(สันนิษฐานว่าอาจเป็นเต่าน้ำกร่อย)  นับแต่เริ่มมีการขุดคูจนแล้วเสร็จชาวบ้านจึงมีเส้นทางคมนาคมทางน้ำที่ดีขึ้น  มีเส้นทางลำเลียงไม้เสม็ดจากทุ่งเกาะไหลมายังสวนส้มได้ง่ายขึ้น  ทำให้มีผลผลิตส้มที่เสียหายจากกรณีกิ่งหักในปริมาที่ลดลง เพื่อระลึกถึงบรรดาเต่าทั้งหลายที่เคยมีมากในพื้นที่ดังกล่าวชาวบ้านจึงพร้อมใจกันตั้งชื่อคูที่ขุดใหม่ว่า "คูเต่า" และร่วมแรงร่วมใจกันสร้างวัดขึ้นมาแทนวัดสระเต่า  จนแล้วเสร็จให้ชื่อว่า "วัดคูเต่า"  ดังปัจจุบัน ผลพลอยได้จากการขุดคูเต่านอกจากจะได้เส้นทางลำเลียงไม้จากทุ่งเกาะไหล และได้สถานที่สร้างวัดคูเต่าที่น้ำไม่ท่วมเหมือนวัดเดิมแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ได้ตามมาก็คือตลาดน้ำคูเต่าซึ่งได้รับการตกทอดมาจนถึงชนรุ่นปัจจุบัน ชาวบ้านจะนำสินค้าต่างๆขนถ่ายลงเรือจากสถานที่ต่างๆนำมาซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้ากันที่ตลาดน้ำแห่งนี้ซึ่งมีอาณาบริเวณอยู่ที่ท่าน้ำของวัดคูเต่า  ตลาดน้ำในยุคแรกๆหรือในราวปี พ.ศ. 2299 นั้นถือว่ามีความเจริญรุ่งเรืองในระดับหนึ่ง และรุ่งเรืองสูงสุดในระหว่างปี พ.ศ. 2451-2505 ซึ่งมีพระครูสุคนธศีลาจาร(หลวงพ่อหอม ปุญญาโน)เป็นเจ้าอาวาส ถือเป็นศูนย์กลางตลาดน้ำที่ใหญ่เป็นอันดับต้นๆของจังหวัดสงขลา  จวบจนในยุคหลังๆหรือประมาณปี พ.ศ. 2520 (ในยุค พระคุณสารพิสุทธิ์ หรือหลวงพ่อหวั่นเซี้ย คุณปาโล)ได้เริ่มมีการใช้เรือยนต์ในการคมนาคมเพิ่มมากขึ้น  การค้าขายในตลาดน้ำคูเต่าเริ่มซบเซาลง  ประจวบกับการค้าขายในตลาดที่โคกเสม็ดชุน กลับดีวันดีคืนจึงเป็นผลทำให้ตลาดน้ำที่คูเต่าเริ่มเสื่อมลงเรื่อยๆจนกลายเป็นตลาดที่ไม่ใหญ่มากนักในปัจจุบัน   

ย้อนอดีตเจ้าอาวาสวัดคูเต่า
                รูปที่ 1 หลวงพ่อช้าง ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสราว ปี พ.ศ. 2299-2348  หลวงพ่อช้างเป็นผู้ริเริ่มบุกเบิก และถือเป็นศูนย์รวมทางจิตใจของชาวบ้านคูเต่าทั้งชาวจีนจากผืนแผ่นดินใหญ่ รวมถึงชาวไทยในพื้นที่เดิม ให้มีความผสมผสานแนวแน่นสามัคคีกลมเลียวเป็นปึกแผ่นกัน  ร่วมกันขุดคูเต่าขึ้นมา จวบจนทำการย้ายวัดสระเต่า(เดิม) มาสร้างเป็นวัดคูเต่าในผืนดินใหม่บริเวณปัจจุบันขึ้น 
                รูปที่ 2 พระอาจารย์แก้ว ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส ปี พ.ศ. 2348-2399 ท่านได้เข้ามามีบทบาทในการพัฒนาวัดคูเต่าจนเป็นที่เคารพศรัทธาของชาวบ้าน
           รูปที่ 3 พระอุปัชฌาย์หนู ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส ปี พ.ศ. 2399-2451 พระอุปัชฌาหนูถือเป็นทวดของ พระอธิการถาวร ถาวโร(เจ้าอาวาสวัดคูเต่ารูปปัจจุบัน) กล่าวกันว่าพระอุปัชฌาย์หนู ถือเป็นพระที่ชาวบ้านในพื้นที่ชาวคูเต่าให้การนับถือศรัทธาเป็นอันมาก และในยุคของท่านนี่เองที่เริ่มมีการออกแบบสร้างโรงเรียนประถมศึกษาขึ้นมา  ชาวบ้านเชื่อว่าท่านเป็นผู้มีวาจาสิทธิ์ คือ หากท่านพูดหรือว่ากล่าวสิ่งใด สิ่งนั้นก็จะเป็นจริงขึ้นมา ประการหนึ่งเชื่อกันว่าท่านมักใช้การปกครองคนโดยยึดหลัก  "การปกครองคนโดยอิทธิฤทธิ์"  ซึ่งก็คือการใช้วาจาสิทธิ์ในการปกครองนั่นเอง
                รูปที่ 4 พระครูสุคนธศีลาจาร หรือหลวงพ่อหอม ปุญญมาโน ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส ปี พ.ศ. 2451-2505 กล่าวกันว่าพระครูสุคนธศีลาจาร หรือหลวงพ่อหอม นั้นท่านเป็นพระที่ไม่ค่อยพูด  บ้างก็ว่าท่านนั้นเป็นพระที่มีความนิ่งสูง เป็นที่ศรัทธาของชาวบ้านไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเจ้าอาวาสรูปอื่นๆ  เนื่องด้วยท่านเป็นพระที่ไม่ค่อยพูดจึงมักเห็นท่านแก้ปัญหาต่างๆให้ชาวบ้านด้วยสติปัญญาและความนิ่งมานักต่อนัก โดยเฉพาะการแก้ปัญหาเรื่องลักเล็กขโมยน้อย ท่านมักจะชอบพูดว่ากล่าวเทศนาธรรมเป็นประจำเกี่ยวกับเรื่องทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว  ส่งผลให้โจรหลายคนกลับใจมาเป็นคนดี  บ้างก็ว่าท่านนั้นมีวาจาสิทธิ์ มีเรื่องเล่าสืบทอดมาว่าครั้งสมัยหนึ่งมีโจรมาขโมยเรือของทางวัดคูเต่า  หลวงพ่อหอม ท่านพูดออกมาประโยคหนึ่งว่า "ไม่ต้องกลัว เดี๋ยวเขาจะเอา เรือมาคืนเอง" ปรากฏว่าอีกเพียงไม่กี่วันท่านก็ได้เรือของท่านคือสมดังวาจาที่ท่านกล่าวไว้ 
                รูปที่ 5 พระคุณสารพิสุทธิ์ (หลวงพ่อหวั่นเซี้ย คุณปาโล) ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส ปี พ.ศ. 2505-2547  สถานะเดิมชื่อ หวั่นเซี้ย แซ่ตัน เกิด 1 กันยายน ปี พ.ศ. 2462 บ้านเดิมอยู่ที่ บ้านคูเต่า ตำบลคูเต่า อำเภอบางกล่ำ จังหวัดสงขลา บิดาชื่อ ขั้น แซ่ตัน  มารดาชื่อ เห้ง แซ่ตัน ประกอบอาชีพกสิกรรม  พระคุณสารพิสุทธิ์ หรือหลวงพ่อหวั่นเซี้ย ถือเป็นผู้ที่ชาวบ้านเคารพศรัทธาในด้านการเป็นพระนักพัฒนา ตลอดเวลาที่ท่านดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสท่านได้ชักชวนชาวบ้านให้ร่วมกันทะนุบำรุงศาสนสถานภายในวัดคูเต่าเป็นอันมาก อาทิ ร่วมกับชาวบ้านสร้างสะพาน กุฏิพระ  ศาลาพักร้อน  กุฏิเจ้าอาวาส  โรงครัว  เจดีย์  ซุ้มประตู  เมรุเผาศพ  และงานซ่อมแซมด้านต่างๆ เป็นต้น  นอกจากนี้ท่านยังถือเป็นผู้ทรงซึ่งพุทธาคมไสยเวท  อันสืบทอดมาจากพระคุณสารพิสุทธิ์ (หลวงพ่อหวั่นเซี้ย คุณปาโล) และเกจิผู้มีชื่อของทางภาคใต้อีกหลายรูป  พระคุณสารพิสุทธิ์ ได้มรณภาพด้วยอาการสงบลงเมื่อวันที่ 14 กันยายน ปี พ.ศ. 2547 สิริรวมอายุได้ 85 ปี 65 พรรษา

               พระอธิการถาวร ถาวโร เจ้าอาวาสวัดคูเต่ารูปที่ 6 (รูปปัจจุบัน)
                เดิมชื่อ ถาวร กุลนิล บ้านเดิมอยู่ที่ เลขที่ 33 หมู่ 2 ตำบลแม่ทอม อำเภอบางกล่ำ จังหวัดสงขลา มีพี่น้อง 6 คน โดยท่านเป็นคนที่ 5 จวบจนจบการศึกษาในระดับชั้นประถมศึกษาชั้นปีที่ 4 จากโรงเรียนวัดคูเต่า ตำบลแม่ทอม อำเภอบางกล่ำ จังหวัดสงขลา ก็เข้าศึกษาต่อในระดับชั้นมัธยมที่โรงเรียนศึกษาผู้ใหญ่จนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่3จากนั้นจึงสอบเข้าโรงเรียนนายสิบทหารบก กรุงเทพมหานครจนได้ติดยศสิบเอก กาลเวลาล่วงเลยผ่านมาจนเข้าวัย 35 ขวบปีก็เริ่มเบื่อหน่ายทางโลกมุ่งเสาะแสวงหาทางธรรมสุขสว่างให้แก่ตน โดยเข้าสู่พิธีอุปสมบทเพื่อทดแทนพระคุณโยมบิดา-มารดา เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน ปี พ.ศ. 2540  ที่วัดหน้าพระลาน อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช  โดยมีพระครูคุณสารพิสุทธิ์(หลวงพ่อหวั่นเซี้ย คุณปาโล)เป็นพระอุปัชฌาย์ จำพรรษาที่วัดคูเต่า ตำบลแม่ทอม อำเภอบางกล่ำ จังหวัดสงขลาเรื่อยมา  พระอธิการถาวร ถาวโร ยังเป็นผู้ฝึกและศึกษาปริยัติธรรมอย่างเคร่งครัด ท่านสอบนักธรรม ตรี โท เอก ได้ในห้วงเวลาต่อมา  ในทางวิชาพุทธาคม และไสยเวท เชื่อกันว่าพระอธิการถาวร ถาวโร เป็นผู้สืบทอดทางวิชาพุทธาคม และไสยเวทมาจากอดีตเจ้าอาวาสรูปที่ 5 (หลวงพ่อหวั่นเซี้ย คุณปาโล)รวมทั้งจากพระเกจิอาจารย์ผู้ทรงไปด้วยสรรพวิชาจากทั่วภาคใต้ จนท่านเป็นผู้ชำนาญด้านเมตตามหานิยม และแคล้วคลาด  มิใช่เพียงแค่ชาวไทยในพื้นที่  หรือชาวไทยจากต่างถิ่นเท่านั้นที่เลื่อมใสศรัทธาท่าน  แต่ยังรวมไปถึงชาวมาเลเซียเชื้อสายไทย อันเรียกตนว่า "ไทยสยาม" อันมีแหล่งพำนับในรัฐทางตอนเหนือของประเทศมาเลเซีย(ไทรบุรี  กลันตัน  และปะลิต)ยังให้ความนับถือท่านเป็นอันมากอีกด้วย  โดยพระเทพวีราภรณ์ เจ้าคณะจังหวัดสงขลา ได้แต่งตั้งให้ท่านได้รับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดคูเต่าเมื่อวันที่ 14 กันยายน ปี พ.ศ. 2547 จวบจนปัจจุบัน


ข้อมูล.......... http://www.siamsouth.com/smf/index.php/topic,47.0.html

เขียน/เรียบเรียง.........คุณาพร  ไชยโรจน์
ถ่ายภาพประกอบ........กิตติพร  ไชยโรจน์
www.siamsouth.com

four

ปล.   เนื่องจากบทความชุด "ชมจิตรกรรมที่วัดคูเต่า"  นี้มีเนื้อหาที่ยาวมาก เเละมีภาพประกอบกว่า 20 ภาพ ไม่สามารถเอามาลงได้หมด 

***หากใครต้องการอ่านฉบับเต็มให้เข้าไปอ่านได้ที่นี่ค่ะ...... http://www.siamsouth.com/smf/index.php/topic,47.0.html

***ส่วนนี่เป็นลิ้งห้องศิลปวัฒนธรรมภาคใต้(ส่วนตัว)ที่นี่ค่ะ..... http://www.siamsouth.com/smf/index.php/board,11.0.html