ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

การเมืองสุดร้อนแรง! ถึงเวลารัฐต้องคิด อย่าให้ภาพเก่าๆ ตามกลับมาหลอกหลอน

เริ่มโดย itplaza, 10:55 น. 28 พ.ย 56

itplaza


แล้วก็มาถึงวันที่ 28 พ.ย. 2556 ที่เหล่าคอการเมือง ต้องจับตาให้ดี ว่า รัฐบาลยิ่งลักษณ์ จะตัดสินใจดำเนินการอย่างไร กับการแก้ปัญหาปมการเมืองร้อนแรง จาก ม็อบมวลชน ที่นำโดย "กำนันเทพ" นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีต ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ ​ที่กระจายกำลังผู้ชุมนุมร่วมกับแกนนำม็อบอีก 8 คน เข้ายึดสถานที่ราชการ ทั้งกระทรวงต่างๆ ศูนย์ราชการฯ สำนักงบประมาณ เพื่อยกระดับการชุมนุม มีเป้าหมายทำให้อำนาจการบริหารงานของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กลายเป็นอัมพาต โดยนายกรัฐมนตรี จะต้องตัดสินใจอะไรซักอย่างหนึ่ง เพื่อแก้ปัญหาคลี่คลายลงไปในทิศทางที่ดี

ถึงนาทีนี้ หลังศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจจบลงเมื่อกลางดึกคืนที่ผ่านมา วันนี้ (28 พ.ย.) สภาฯจะมีการลงมติการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ประเด็นไม่ใช่อยู่ที่ว่า รัฐบาลจะสามารถผ่านพ้น ได้รับการไว้วางใจจาก ส.ส. ในการลงมติในสภาฯ หรือไม่ แน่นอนว่า ก็คงจะได้รับการลงมติไว้วางใจ อยู่แล้ว เนื่องจากฝ่ายรัฐบาลมีเสียงในสภาฯแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดมากกว่าฝ่ายค้าน



แต่ประเด็น กลับมาอยู่ที่ เมื่อรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ผ่านการลงมติไว้วางใจในสภาผู้แทนราษฎรแล้ว จะดำเนินการแก้ปัญหาการเมืองร้อนแรง ที่เกิดมาจากปมการผ่าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แบบลักหลับ ของสภาผู้แทนราษฎร และปมถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย การแก้รธน. ประเด็นที่มา ส.ว. ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 68 อย่างไรมากกว่า ซึ่งรัฐบาล โดยพรรคแกนนำ เพื่อไทย ยังออกแถลงการณ์ไม่ยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ เป็นการซ้ำเติมสถานการณ์อีก 

ดังนั้น ที่น่าสนใจที่สุด คือ หลังผ่านการลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ และพรรคเพื่อไทย จะตัดสินใจดำเนินการอย่างไรต่อ ซึ่งรัฐบาล มีทางออก 3 ทางตามกฎหมาย (ไม่รวมถึงแนวทางพิเศษ)  คือ 1. ยุบสภา 2.ลาออก และ 3.รัฐบาลยังจะสู้กับแรงกดดันทางการเมืองจากม็อบต่อไป



ที่น่าสนใจ คือ แนวทางแรก นั่นเพราะที่ผ่านมา มีหลายฝ่ายออกมาให้ความเห็น และสนับสนุนให้รัฐบาลตัดสินใจ "ยุบสภา" เพื่อคืนอำนาจให้ประชาชน ไปเลือกตั้งกันใหม่มากที่สุด แม้ถึงตอนนี้ จะมีความคิดจาก คนหลายกลุ่มองค์กรการเมือง ก้าวข้ามตรงนั้นไปมากแล้ว ถึงขั้นหวัง ขับไล่รัฐบาลและล้มระบอบทักษิณ

แต่เมื่อสถานการณ์การเมืองภายในประเทศ ไหลมาถึงจุดนี้ ดูไปก็ช่างคลับคล้ายคลับคลา กับเหตุการณ์ เมื่อปี 2549 ช่วงก่อนการปฏิวัติยึดอำนาจ ของ คมช. วันที่ 19 ก.ย. 2549 หากยังจำกันได้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ตัดสินใจยุบสภาเพราะเจอแรงกดดันอย่างมหาศาลทางการเมือง คล้ายกับยิ่งลักษณ์ในตอนนี้ เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2549 แล้วประกาศให้มีการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งกำหนดให้ใช้เวลาเพียง 37 วัน โดยที่กฎหมาย ระบุว่า ให้จัดเลือกตั้งภายใน เวลา 60 วัน

ซึ่งก็ทำให้พรรคการเมืองฝ่ายค้าน 3 พรรค ในขณะนั้น "ประชาธิปัตย์-ชาติไทย-มหาชน" ต่างประกาศ "บอยคอต" การเลือกตั้งในครั้งนั้น ทำให้พรรครัฐบาลไทยรักไทย ลงเลือกตั้งเพียงพรรคการเมืองเดียว จนสุดท้ายนำมาสู่การที่ ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย ให้การเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2549 เป็นโมฆะเพราะมีหลักฐานชัดเจนว่า มีการจ้างพรรคเล็กลงสมัครรับเลือกตั้งในที่สุด




การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จัดขึ้นในวันที่ 2 เม.ย. พ.ศ. 2549 โดยมีสาเหตุเนื่องมาจาก พ.ต.ท. ทักษิณ ได้ประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 เพื่อหนีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่ฝ่ายค้านยื่นอภิปรายฯ ซึ่งตนเคยให้สัญญาไว้ ก่อนเลือกตั้งว่า พร้อมแบ่งคะแนนเสียงให้ฝ่ายค้านทุกเมื่อหากต้องการนำไปใช้ ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจตนเอง แต่เมื่อถึงเวลาดังกล่าว กลับเจอมรสุมการเมืองรุมเร้ามากมาย รวมทั้งรัฐมนตรีของตนไม่สามารถตอบคำถามที่ชัดเจนต่อประชาชนได้ จึงจำเป็นต้องประกาศยุบสภา เพื่อมิให้ข้อมูลต่างๆ ที่ถูกตรวจสอบถูกเผยแพร่ออกไปสู่สาธารณชนมากขึ้น อันจะเป็นผลเสียต่อตนเอง จึงต้องจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปภายใน 60 วันตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540

ขณะเดียวกัน วันที่ 27 ก.พ. 2549 ด้าน 3 พรรคฝ่ายค้านทั้งสาม ประกอบด้วย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย และพล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ หัวหน้าพรรคมหาชน ได้ประชุมหารือกันอย่างรอบคอบ และมีมติคว่ำบาตรการเลือกตั้ง ไม่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งลงแข่งขัน โดยระบุว่าเพื่อยึดถือผลประโยชน์ของประเทศชาติและระบอบประชาธิปไตยเป็นสำคัญ



พรรคการเมืองทั้งสามเห็นว่า การปฏิรูปการเมืองที่เป็นทางออกที่เหมาะสมที่สุดคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้มีคนกลางที่มีความน่าเชื่อถือ เป็นผู้ดำเนินการยกร่าง อีกทั้งการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นจึงไม่มีคำตอบในการแก้ไขปัญหาของประเทศ แต่จะเป็นเพียงเครื่องมือสนองตอบต่อแนวทางที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ขีดเส้นไว้ ซึ่งรังแต่จะทำให้สถานการณ์ก่อนการเลือกตั้งลุกลามบานปลาย จนก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศอย่างใหญ่หลวงได้

ท้ายที่สุด เมื่อเลือกตั้งเสร็จสิ้นแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญได้ตัดสินให้การเลือกตั้งในครั้งนี้เป็นโมฆะ จึงทำให้ต้องมีการเลือกตั้งใหม่อีกครั้ง ซึ่งกำหนดให้มีขึ้นในในวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2549




ก็หวังเพียงว่า เหตุการณ์เช่นนั้น คงไม่ตามกลับมาหลอกหลอน รัฐบาลยิ่งลักษณ์อีก หากรัฐบาลเพื่อไทย ตัดสินใจใช้แนวทาง "ยุบสภา" แก้ปัญหาความขัดแย้งที่รุนแรงในประเทศจริง แต่การเมืองที่เดินมาจนถึงจุดนี้ ก็ต้องยอมรับว่า รัฐบาลนายกรัฐมนตรีหญิง ยากนักที่จะคิดแก้ปัญหาด้วยแนวทางอื่นที่เหลือ เพราะมันสุ่มเสี่ยง ที่เหตุรุนแรง ยากที่จะควบคุมได้...

และนั่นคือสิ่งที่ นายกฯยิ่งลักษณ์ และ พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องคิดให้ดี... อย่าให้กลายเป็น "เดินหมากผิดตัวเดียว ล้มทั้งกระดาน" เพราะต้องยอมรับว่า ถึงนาทีนี้โอกาสรัฐบาล เหลือไม่มากแล้ว ถ้าต้องการลงแบบนุ่มนวล...อย่าให้ต้องถึงขั้นต้อง "เสียเลือดเสียเนื้อ" กันอีกเลย...



ที่มา http://www.itplaza.co.th/update_details.php?type_id=1&news_id=31&page=1




ที่มา : ไทยรัฐ

ซัมเบ้ Note 7 Jr.

ขอเป็นข้ารองพระบาททุกชาติไป