ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

นักวิจัย มรภ.สงขลา สร้างโมเดลทางคณิตฯ ลดมลภาวะจากการสังเคราะห์ยูเรีย

เริ่มโดย ทีมงานประชาสัมพันธ์, 10:16 น. 12 ธ.ค 56

ทีมงานประชาสัมพันธ์

นักวิจัย มรภ.สงขลา สร้างโมเดลทางคณิตฯ ลดมลภาวะจากการสังเคราะห์ยูเรีย-ฟอร์มาลดีไฮด์เรซิน

คณะวิทยาศาสตร์ฯ มรภ.สงขลา ผุดงานวิจัยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม  ใช้โมเดลคณิตศาสตร์และการประมวลผลโดยคอมพิวเตอร์ ลดมลภาวะจากการสังเคราะห์ยูเรีย-ฟอร์มาลดีไฮด์เรซิน

ผศ.ดร.พลพัฒน์ รวมเจริญ อาจารย์ประจำโปรแกรมวิชาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยถึงงานวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมว่า ทั่วโลกกำลังประสบปัญหาสิ่งแวดล้อม เนื่องจากการขยายตัวของอุตสาหกรรม โดยเฉพาะฟอร์มาลดีไฮด์เป็นสารเคมีชนิดหนึ่งที่ก่อให้เกิดมลพิษกับสิ่งแวดล้อม ฟอร์มาลดีไฮด์เป็นก๊าซไม่มีสี มีกลิ่นฉุนและมีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดมะเร็งในมนุษย์ได้ แหล่งของฟอร์มาลดีไฮด์ที่สำคัญแหล่งหนึ่งคือยูเรีย-ฟอร์มาลดีไฮด์เรซิน ซึ่งสารเคมีชนิดนี้ใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตกาวไม้อัด ทั้งที่มีปัญหาสิ่งแวดล้อมดังที่ได้กล่าวมาแล้ว


แต่ปัจจุบันส่วนใหญ่ไม้อัดที่ใช้กันปัจจุบันทั่วโลกยังคงใช้ยูเรีย-ฟอร์มาลดีไฮด์เรซินเป็นกาว เนื่องจากมีต้นทุนการผลิตต่ำ และให้สมบัติที่ดีในแง่ของความแข็งแรง จึงเป็นเหตุทำให้มีรายงานวิจัยในหลาย ๆ ปีที่ผ่านมา ว่ามลพิษทางอากาศจากการแพร่ของฟอร์มาลดีไฮด์ (formaldehyde emission) ที่เกิดขึ้นทั้งในบ้านและสำนักงาน มาจากการใช้วัสดุก่อสร้างเฟอร์นิเจอร์ที่มีกาวยูเรีย-ฟอร์มาลดีไฮด์เป็นองค์ประกอบ 

[attach=1]


จากปัญหาดังกล่าว ทำให้ประเทศในยุโรปมีการกำหนดมาตรฐานควบคุมปริมาณฟอร์มาลดีไฮด์ที่ตกค้างอยู่ในผลิตภัณฑ์ไม้อัดและเฟอร์นิเจอร์ และขณะนี้ประเทศสหรัฐอเมริกาได้ออกมาตรการควบคุมมลพิษที่ลอยในอากาศ เพื่อลดการแพร่กระจายของฟอร์มาลดีไฮด์จากผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของไม้ ตนและทีมวิจัย ซึ่งได้แก่ น.ส. กรกวรรณ เบี้ยวสถิตย์ และ น.ส.พรทิพย์ เอียดชูทอง ศิษย์เก่าโปรแกรมเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ ซึ่งเคยอยู่ในทีมวิจัยขณะกำลังศึกษาใน มรภ.สงขลา จึงได้คิดค้นงานวิจัยเพื่อลดมลภาวะในสิ่งแวดล้อม

โดยใช้การสร้างโมเดลจลนพลศาสตร์ของปฏิกิริยาการสังเคราะห์ยูเรีย-ฟอร์มาลดีไฮด์เรซิน ขึ้น โมเดลจลนพลศาสตร์เป็นสมการคณิตศาสตร์ที่สร้างขึ้นจากจากกลไกปฏิกิริยาและใช้คอมพิวเตอร์ช่วยประมวลผลเพื่อทำนายปริมาณฟอร์มาลดีไฮด์ที่เปลี่ยนแปลงระหว่างการเกิดปฏิกิริยาได้ และปรากฏว่าผลการทำนายสอดคล้องกับผลการทดลองจริง

โมเดลจลนพลศาสตร์ดังกล่าวยังสามารถใช้ทำนายว่าภายใต้สภาวะที่สังเคราะห์ในแต่ละสภาวะจะมีฟอร์มาลดีไฮด์ตกค้างอยู่เท่าใด ซึ่งช่วยทำให้ผู้ผลิตเลือกสภาวะที่เหมาะสมในการผลิตให้ได้ผลิตภัณฑ์ตามต้องการ และวางแผนเพื่อควบคุมปริมาณฟอร์มาลดีไฮด์ที่หลงเหลืออยู่ในผลิตภัณฑ์ได้อย่างถูกต้อง งานวิจัยนี้ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากงบประมาณแผ่นดิน ผ่านสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และได้นำเสนอในที่ประชุมวิชาการระดับนานาชาติ (International Conference of Key Engineering Materials 2013) ณ ประเทศมาเลเซีย และได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Advanced Materials Research ในปีเดียวกัน


ภาพและข่าว โดย/ ลัดดา เอ้งเถี้ยว (นักประชาสัมพันธ์ มรภ.สงขลา)

wpc

อยู่ราชภัฏไปไหนอายครับ
เพราะโครงสร้างการบริหารเหมือนเทคนิดอาชีวะ ยังใช้โปรแกรมวิชาอยู่ครับ
เซ็นชื่อรายวันเหมือนครูประถมมัธยม อาจารย์มหาวิทยาลัยเขาเซ็นกันรายเดือนรายปี
ยังใช้คาบเรียน 50 นาที เหมือนโรงเรียน มหา'ลัยเขาใช้เป็นชั่วโมงเรียน
ห้องเรียนหนึ่งห้องนักศึกษา 40-50 คน อาจารย์สอนกันคนละ 15-18 คาบต่อสัปดาห์
ช่วยบอกทีซิว่ามันคือโรงเรียนขนาดใหญ่หรือเปล่า........
หรือคำว่ามหาวิทยาลัยเป็นเพียงแค่ชื่อเท่านั้นเอง.........