ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

มรภ.สงขลา วิจัยความหลากหลายแมลงวันผลไม้-แมลงเบียนภาคใต้

เริ่มโดย ทีมงานประชาสัมพันธ์, 09:45 น. 24 ก.พ 57

ทีมงานประชาสัมพันธ์

อาจารย์คณะวิทย์ฯ มรภ.สงขลา ผุดงานวิจัยความหลากหลายทางนิเวศวิทยาและพันธุศาสตร์แมลงวันผลไม้และแมลงเบียนในภาคใต้ ศึกษาการสร้างสายสัมพันธ์ทางวิวัฒนาการ ตรวจสอบความสัมพันธ์ทางภูมิศาสตร์

นายวีรยุทธ ทองคง อาจารย์โปรแกรมวิชาชีววิทยาและชีววิทยาประยุกต์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยถึงงานวิจัยความหลากหลายทางนิเวศวิทยาและพันธุศาสตร์ของแมลงวันผลไม้และแมลงเบียนในภาคใต้ของประเทศไทย (Ecological and genetic diversity of fruit flies and their parasitoids in southern Thailand) ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกับ ศาสตราจารย์ ดร.สังวรณ์ กิจทวี ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับงบประมาณการทำวิจัย ภายใต้โครงการส่งเสริมการวิจัยในอุดมศึกษา (สกอ.) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2557

เพื่อศึกษาความหลากหลายทางพันธุกรรม การจัดจำแนก รวมทั้งหาความสัมพันธ์ความหลากหลายทางชีวภาพของกลุ่มประชากร แมลงวันผลไม้ และแมลงเบียนในเขตภาคใต้ของประเทศไทย สร้างสายสัมพันธ์ทางวิวัฒนาการ (phylogeny) และวิวัฒนาการร่วม (co-evolution) ระหว่างแมลงวันผลไม้กับแมลงเบียน และตรวจสอบความสัมพันธ์ทางภูมิศาสตร์ (phylogeography) หรือความสัมพันธ์กับถิ่นอาศัยของทั้งแมลงวันผลไม้และแมลงเบียน

นายวีรยุทธ กล่าวว่า ขอบเขตของโครงการวิจัยนั้น เป็นการสำรวจและเก็บตัวอย่างแมลงวันผลไม้และแมลงเบียน โดยเก็บผลไม้ที่มีร่องรอยการทำลายจากแมลงวันผลไม้จากท้องที่ต่างๆ เพื่อตรวจสอบการแพร่กระจายในระบบนิเวศ และเก็บข้อมูลความสัมพันธ์ของแมลงเบียนกับแมลงวันผลไม้

ตลอดจนตรวจสอบสปีชีส์ในกลุ่มแมลงวันผลไม้ และแมลงเบียนกลุ่มซับซ้อน (complex species) โดยเทคนิคต่างๆ เช่น สัณฐานวิทยา การศึกษาเปรียบเทียบการแบ่งแยกทางนิเวศวิทยา, การผสมข้ามสายพันธุ์ตรวจสอบความแตกต่างผันแปรทางฟีโนไทป์ (phenotypic variation) หรือความหลากหลายทางสัณฐานวิทยา (morphological variation) ด้วยเทคนิค morphometrics ของเส้นปีก ตรวจสอบความหลากหลายทางพันธุกรรม (genetic diversity) หรือความผันแปรทางพันธุกรรม (genetic variation) ซึ่งศึกษาด้วยเทคนิคทางพันธุศาสตร์ รวมทั้งสร้างสายสัมพันธ์ทางวิวัฒนาการ (phylogeny) ของแมลงวันผลไม้และแมลงเบียน             

ข้อมูลและที่มา
ข่าว โดย/ ลัดดา เอ้งเถี้ยว (นักประชาสัมพันธ์ มรภ.สงขลา)