ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

สพป.สตูล พัฒนา 2 โรงเรียนนำร่องใช้รูปแบบอาร์ทีไอ ลดปัญหาทางการเรียน

เริ่มโดย ทีมงานประชาสัมพันธ์, 10:20 น. 17 พ.ค 57

ทีมงานประชาสัมพันธ์

สพป.สตูล  พัฒนา 2 โรงเรียนนำร่องใช้รูปแบบอาร์ทีไอ  ลดปัญหาทางการเรียน

   เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2557   ที่ห้องประชุมสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสตูล   นายจักรพงษ์  ทองเพ็ชร์  รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสตูล   เป็นประธานเปิดการอบรมการนำรูปแบบอาร์ทีไอ ใช้จัดกระบวนการเรียนการสอนใน 2 โรงเรียนนำร่อง   โดยมีผู้บริหารโรงเรียนและครูผู้สอนทุกคน เข้ารับการอบรม  จำนวน  22  คน   ทั้งนี้   เพื่อช่วยเหลือเด็กที่มีปัญหาทางการเรียนและปัญหาพฤติกรรมได้อย่างทันการณ์  ลดปัญหาความล้มเหลวทางการเรียนและปัญหาพฤติกรรมของเด็กในอนาคต   


   นายจักรพงษ์  ทองเพ็ชร์   กล่าวว่า   รูปแบบการสอนอาร์ทีไอ (RTI :  Response To Intervention)  เป็นรูปแบบการสอนที่สามารถช่วยเหลือนักเรียนอย่างรวดเร็วที่สุด  เมื่อพบว่าเด็กมีความเสี่ยงต่อปัญหาการเรียนรู้   ซึ่งจะเป็นการป้องกัน และพัฒนาความสามารถทางการเรียนโดยเฉพาะในด้านการอ่าน  ลดปัญหาความเสี่ยง   ก่อนที่เด็กจะล้มเหลวทางการเรียนและเป็นปัญหาแก่สังคม   โดยจะนำร่องใน 2 โรงเรียน   คือ  โรงเรียนนิคมพัฒนาผัง 20   อ.มะนัง  และโรงเรียนบ้านในเมือง อ.ละงู   ซึ่งเป็นโรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษค่อนข้างมาก 

ทั้งนี้   ได้รับความช่วยเหลือจาก รศ.ดร.กุลยา  ก่อสุวรรณ  ม.ราชภัฎสงขลา   เข้ามาให้ความรู้แก่ผู้บริหารโรงเรียนและครูผู้สอน นอกจากนี้ จะร่วมกับศึกษานิเทศก์ สพป.สตูล   ออกติดตามการใช้อาร์ทีไอใน 2 โรงเรียนอย่างต่อเนื่อง      

สำหรับการสอนด้วยรูปแบบอาร์ทีไอ (RTI :  Response To Intervention)   เป็นระบบหรือแนวทางที่นำไปสู่การจัดการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับความต้องการของเด็กทุกคน   โดยให้การช่วยเหลือนักเรียน ประกอบด้วย  3 ขั้น  คือ   ขั้นที่ 1  การสอนเด็กคนโดยวิธีการสอนที่มีประสิทธิภาพ  ประเมินค้นหาเด็กที่มีปัญหาทางการเรียน เพื่อรีบให้การช่วยเหลือ    ขั้น 2 ช่วยเหลือเด็กกลุ่มไม่มีความก้าวหน้าทางการเรียนอย่างเข้มข้น   ขั้นที่ 3  พัฒนานักเรียนที่ยังไม่ตอบสนองต่อการสอนเป็นรายบุคคลและสอดคล้องกับความต้องการจำเป็นรายบุคคล