ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

มรภ.สงขลา จัดแข่งแทงต้ม จัดหมฺรับ ชวน นศ. สืบสานประเพณีสารทเดือนสิบ

เริ่มโดย ทีมงานประชาสัมพันธ์, 14:28 น. 24 ก.ย 57

ทีมงานประชาสัมพันธ์

ประเพณีวัฒนธรรม เป็นสิ่งที่สะท้อนความความเชื่อ และวิถีชีวิตของคนแต่ละภูมิภาค เช่นเดียวกับที่ประเพณีวันสารทเดือนสิบ คือเอกลักษณ์ที่สะท้อนตัวตนของชาวใต้ ซึ่ง มรภ.สงขลา ได้ปลูกฝังให้นักศึกษามีส่วนร่วมในการสืบสานประเพณีวันสารทเดือนสิบ ไม่ให้สูญหายไปตามยุคสมัย

[attach=1]

โครงการสืบสานและอนุรักษ์ประเพณีวันสารทเดือนสิบ จัดขึ้นโดยกองพัฒนานักศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) โดยมีตัวแทนนักศึกษาทั้ง 7 คณะ เข้าร่วมแข่งขันแกงกะทิกุ้ง การแทงต้ม และการหมฺรับ เพื่อให้นักศึกษาได้สืบทอดประเพณีอันเป็นเอกลักษณ์ของชาวใต้ ในการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว สอดคล้องกับพันธกิจของมหาวิทยาลัยที่มุ่งส่งเสริม สืบสาน และสร้างสรรค์ศิลปะและวัฒนธรรมท้องถิ่น

น.ส.กมลรัตน์  กุลบุตร (น้องเตย) น.ส.ลดาวัลย์  เป้าทอง (น้องแมว) และ น.ส.สุชาดา  โหดสุบ (น้องมา) นักศึกษาชั้นปีที่ 4 โปรแกรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร คณะเทคโนโลยีการเกษตร เป็นตัวแทนของคณะฯ เข้าแข่งขันแกงกะทิกุ้ง กล่าวว่า แกงกะทิกุ้งเป็นแกงที่นิยมปรุงกันในวันสารทเดือนสิบ  โดยแกงกะทิจะกินคู่กับขนมต้ม ซึ่งก่อนการแข่งขันทีมของตนได้นำสูตรแกงกะทิของแต่ละครอบครัวมาปรับให้รสชาติลงตัวมากที่สุด และมีการเพิ่มฟักทองลงไป เพื่อให้รสชาติของแกงกลมกล่อมยิ่งขึ้น 

[attach=9]

ทีมนักศึกษาจากคณะเทคโนโลยีการเกษตร กล่าวถึงสิ่งที่ได้รับจากการแข่งขันในครั้งนี้ว่า ความสมัครสมานสามัคคีในทีม ร่วมกันคิดช่วยกันทำ อีกทั้งยังฝึกความอดทน เนื่องจากกว่าจะได้สูตรที่ลงตัวก็ต้องปรุงและปรับแก้กันหลายครั้ง ซึ่งทีมตนเองมีความหลากหลายที่ลงตัว คือมีทั้งนักศึกษาไทยพุทธและไทยมุสลิม แม้จะแตกต่างกันทางศาสนา แต่ก็สามารถเรียนรู้ซึ่งกันและกัน บนความหลากหลายทางศาสนาและวัฒนธรรมได้

ในขณะที่ น.ส.ณัฐวรานาท  ใหมตีบ (น้องเมย์) นักศึกษาชั้นปีที่ 4 โปรแกรมวิชาคหกรรมศาสตร์  คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นตัวแทนเข้าแข่งขันแทงต้ม กล่าวถึงประเพณีวันสารทเดือนสิบที่ตนเองคุ้นเคยมาตั้งแต่เด็กว่า เป็นประเพณีที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อของชาวภาคใต้ ที่แสดงออกถึงความกตัญญู โดยการทำบุญอุทิศส่วนกุศลแด่บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว และนับเป็นวันรวมญาติเพื่อร่วมทำบุญที่บ้านเกิด นับเป็นช่วงเวลาที่ตนเองมีความสุขมาก เพราะทุกคนในครอบครัวได้กลับมาอยู่พร้อมหน้า

น้องเมย์ กล่าวถึงขนมต้ม ที่เรียกได้ว่าเป็นขนมไทยที่คู่กับประเพณีวันสารทเดือนสิบว่า เห็นคุณแม่ทำขนมต้มตั้งแต่เมื่อครั้งตนเองยังเด็ก เมื่อก่อนคิดว่าเป็นขนมที่ทำยาก เพราะมีหลายขั้นตอน แต่เมื่อโตขึ้นเริ่มจากการสังเกต ซึมซับและฝึกปฏิบัติมาเรื่อยๆ จนชำนาญ สามารถทำได้อย่างคล่องแคล่ว อีกทั้งขนมต้ม ในความคิดของตนเอง เปรียบเสมือนความเหนียวแน่นของเครือญาติ ที่จะกลับรวมตัวกันในวันสารทเดือนสิบของทุกๆ ปี

ในตอนท้าย น้องเมย์ ยังฝากถึงเพื่อนๆ และน้องๆ เยาวชนว่า อยากให้ช่วยกันสืบทอดประเพณีวันสารทเดือนสิบ เพราะเป็นวัฒนธรรมท้องถิ่นของคนภาคใต้ที่มีเอกลักษณ์ แสดงถึงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ และความสามัคคีของเครือญาติ 

สำหรับผลการแข่งขันแต่ละประเภท ปรากฏว่า คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ชนะเลิศการแข่งขันแกงกะทิและการแทงต้ม ส่วนคณะเทคโนโลยีการเกษตร ชนะเลิศการแข่งขันจัดหมฺรับ

ผลการแข่งขันเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่ง แต่สิ่งที่เป็นหัวใจของโครงการในครั้งนี้ คือ การที่นักศึกษาที่เปรียบดังตัวแทนคนรุ่นใหม่ ได้มีส่วนร่วมสืบสานศิลปวัฒนธรรม อันเป็นเอกลักษณ์ท้องถิ่น ให้คงอยู่คู่สังคมต่อไป

ข่าวโดย/ ลัดดา เอ้งเถี้ยว และปริญภรณ์ ชุมมณี (นักประชาสัมพันธ์ มรภ.สงขลา)

w_2005


บานไม่รู้โรย