ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

ถอดบทเรียนการใช้ "ไอซีที" เทคโนโลยีแค่ "เครื่องมือ"

เริ่มโดย ทีมงานบ้านเรา, 15:46 น. 16 ม.ค 55

ทีมงานบ้านเรา

ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

[attach=1]

ถอดบทเรียนการใช้ "ไอซีที" เทคโนโลยีแค่ "เครื่องมือ" มากกว่า "แท็บเลต" คือ "ครู"

เมื่อรัฐบาลประกาศนโยบายชัดว่าปีการศึกษาใหม่นี้จะแจกแท็บเลตให้เด็ก ป.1 ในโรงเรียนนำร่องเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ "สังคมไทยควรเตรียมการอย่างไรให้เด็กไทยเท่าทันเทคโนโลยี" จึงเป็นคำถามน่าคิดที่ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหลายควรมีคำตอบ

"ดร.เบญจ ลักษณ์ น้ำฟ้า" รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวว่า วัยของเด็กนักเรียนชั้น ป.1 เป็นช่วงที่ต้องฝึกพื้นฐาน การใช้มือ การสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับภาษา ทั้งเด็กและผู้ปกครองบางกลุ่มอยากได้ "แท็บเลต" เพราะคิดว่าจะช่วยสร้างพัฒนาการทำให้เด็กเรียนรู้ดีขึ้น แต่อีกกลุ่มไม่อยากได้เพราะคิดว่าแค่นี้เด็กก็หมกมุ่นกับอุปกรณ์เหล่านี้มาก เกินไปแล้ว สิ่งที่ สพฐ.ต้องทำคือพัฒนาคอนเทนต์ในแท็บเลตว่าจะใส่อะไรเข้าไปให้เด็กซึมซับได้ อาทิ การสร้างเนื้อหาแบบอินเตอร์แอ็กทีฟให้ดูได้ทั้งที่โรงเรียนและเรียนร่วมกัน กับที่บ้าน ร่วมถึงสร้างสำนึกด้านคุณธรรมเป็นตัวตั้งในการดีไซน์คอนเทนต์ที่เด็กจะได้ เรียนรู้ในช่วงวัยนี้ และเตรียมความพร้อมบุคลากรสำหรับเครื่องมือใหม่ ๆ

"เรา เคยมีประสบการณ์จากช่วง แรก ๆ ที่เริ่มมีนโยบายอยากให้ใช้ไอซีทีในการเรียนการสอน เรายกคอมพิวเตอร์ไปให้แต่ละโรงเรียน แต่เมื่อไปดูว่าเด็กใช้อะไรบ้างสิ่งที่เด็กบอกคือ ใช้หาความหมายของสัญลักษณ์ต่าง ๆ ทางคณิตศาสตร์ ซึ่งจริง ๆ แล้วทำไมไม่เปิดหนังสือแทนที่จะเสียบปลั๊กใช้พลังงานมากมายเพื่อหานิยามแค่ นั้น เราต้องการให้ใช้ค้นคว้าในสิ่งที่มากกว่านั้น ทำให้ได้บทเรียนว่าจำเป็นต้องพัฒนาครูให้พร้อมใช้ไอซีทีเพื่อการเรียนรู้ให้ มาก ให้ครูใช้แท็บเลตอย่างมีคุณภาพ"

ก่อนที่คอมพิวเตอร์จะมาต้องเตรี ยมเด็กให้พร้อมก่อนนั่นคือ สอนให้มีนิสัยใช้ข้อมูลในการเรียนรู้ เพื่อให้คอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือในการเข้าถึงข้อมูลให้รวดเร็วขึ้นไม่ใช่ แค่เล่นเกม ที่สำคัญคือต้องสร้างความตระหนักถึงผลกระทบและแนวทางการใช้งานอย่างเหมาะสม ให้ทั้งเด็ก ครู และผู้ปกครอง

"ยุคนี้ไม่สามารถปิดกั้นอะไรได้เลย ฉะนั้นโรงเรียนต้องสร้างภูมิคุ้มกันทางสติปัญญา อารมณ์ ผ่านการสร้างกระบวนการตัดสินใจรับสื่อของเด็กให้เพียงพอ เพราะเด็กคือคนที่ตัดสินใจคลิกรับสื่อ"

สำหรับการบริหารจัดการ "แท็บเลต" ของแต่ละโรงเรียนยังมีแนวทางที่หลากหลาย ต้องปรับตามพฤติกรรมของ ผู้ปกครองและนักเรียนของตนเอง โดยเฉพาะการสร้างความตระหนักว่าแท็บแลตคือเครื่องมือในการสร้างพัฒนาการของ เด็ก ซึ่งอาจต้องเพิ่มบุคลากรทางการศึกษาในโรงเรียนให้ทันยุคสมัย อาทิ อาจสร้างไอซีทีแมเนจเจอร์ตามกระแสโลกไอที เพื่อเป็นที่ปรึกษาและป้องกันปัญหาบางอย่าง

ด้าน "ชาญวิทย์ ทัพสุพรรณ" ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) กล่าวว่า หาก มองแท็บเลตเป็นตัวช่วยแบ่งเบาภาระครู และปล่อยให้เด็กเรียนรู้จากแท็บเลตโดยปราศจากครู ผลที่ได้คงไม่ต่างกับโรงเรียนบางแห่งในจังหวัดกระบี่ที่ปล่อยให้เด็กเรียน กับ "ครูตู้" (เรียนผ่านโทรทัศน์ทางไกล) มาตลอดทำให้เด็กยังอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ เพราะได้แต่นั่งฟังไม่มีครูมาคอยสรุปคอยแนะเพิ่มเติม

การใช้แท็บเลต ก็ไม่ต่างกัน หัวใจสำคัญคือครูต้องฝึกต้องแนะนำเพราะเด็ก ป.1 ต้องได้รับการฝึกทักษะทางเหตุผล ทางคณิต ทางภาษา ให้อ่านออกเขียนได้คิดเป็น ไม่เช่นนั้นจะได้แต่เด็กที่ถนัดจำ ทำไม่เป็นและเห็นแก่ตัว ขณะที่การใช้เทคโนโลยีมากเกินไปทำให้เด็กขาดทักษะ ขาดความอดทน เพราะชินกับการกด ๆ แล้วได้ผลลัพธ์ทันที ไม่เคยได้ฝึกสมาธิ ค่อย ๆ คิด ค่อย ๆ ฝึก การขาดความอดทนอีกมุมหนึ่งคือการขาดความยับยั้งชั่งใจด้วย

ดังนั้น จึงต้องมีการเตรียมพร้อมครูให้มาก เพราะครูชั้น ป.1 ต้องมีความอดทนสูง ส่วนใหญ่เป็นครูรุ่นเก่าสูงอายุแล้ว และไม่ถนัดใช้เทคโนโลยีจึงต้องเรียนรู้การใช้แท็บเลตเหมือนนักเรียน เพื่อเตรียมการเปลี่ยนผ่านกระบวนการเรียนรู้ ทั้งในส่วนของครู ผู้ปกครอง และนักเรียนไปสู่รูปแบบใหม่

"ธีรวุฒิ อุปฐาก" นักเรียนและตัวแทนเยาวชนกลุ่มระบัดใบจากจังหวัดระนองกล่าวว่า การได้แท็บเลตไปใช้เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นสำหรับนักเรียนและผู้ปกครอง เพราะเด็กในชนบทมีโอกาสน้อยในการเข้าถึง จึงหวังว่าจะเป็นโอกาสยกระดับการศึกษาให้เท่าเทียมเด็กในเมืองได้เข้าถึง ทั้งอุปกรณ์ และสื่อต่าง ๆ ต่างจากมุมมองของคุณครูใน โรงเรียนส่วนใหญ่กังวลว่าจะมีปัญหากับเด็กมากกว่าโดยเฉพาะปัญหาการใช้สื่อ อินเทอร์เน็ต อาทิ การใช้โซเซียลมีเดีย และการเข้าถึงเว็บไซต์ไม่เหมาะสม เพราะคุณครูไม่สามารถเข้าไปติดตามพฤติกรรมได้

"ที่โรงเรียนปล่อย สัญญาณ Wi-Fi ให้เล่นฟรีทั้งโรงเรียน มีโน้ตบุ๊ก 40 เครื่องให้เด็กยืมใช้ได้อยู่แล้ว ครูจึงเห็นปัญหาการใช้สื่อที่ไม่เหมาะสม และพยายามแก้ไขโดยให้นักเรียนจับกลุ่มสอดส่องดูแลเพื่อน ๆ หากปล่อยให้มีการใช้ไม่เหมาะสมแล้วคุณครูจับได้จะถูกลงโทษทั้งกลุ่ม เพื่อนที่ได้รับมอบหมายให้สอดส่องดูแลจะโดนลงโทษหนักสุด ทำให้เด็ก ๆ เกิดความยับยั้งชั่งใจมากขึ้น เพราะไม่อยากให้เพื่อนโดนลงโทษหนัก"

ใน แง่การใช้เพื่อค้นคว้าข้อมูล ช่วงแรกมีปัญหามากจากการให้ใช้ อินเทอร์เน็ตค้นคว้าทำรายงานพบว่า เด็กมีงานส่งแต่ไม่เข้าใจเนื้อหาที่ส่งมา เพราะใช้แบบตัดแปะ จนในที่สุดต้องแก้ด้วยการเปลี่ยนรูปแบบการทำรายงาน โดยให้นำข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตมาใช้ได้แต่ต้องเขียนส่งด้วยลายมือตนเอง เท่านั้น

นอกจากนี้ การนำไอซีทีมาใช้เพื่อการศึกษาในพื้นที่พบว่า ปัญหาส่วนใหญ่คือโครงข่ายอินเทอร์เน็ตไม่ครอบคลุมและมีราคาแพง หากอยากใช้อินเทอร์เน็ตผ่านมือถือเพื่อทำการบ้านหรือเข้าถึงเว็บต้องขี่ มอเตอร์ไซค์ไปปากทางหมู่บ้านเพื่อหาสัญญาณ เพราะเป็นพื้นที่ชายขอบ และการติดตั้งอินเทอร์เน็ตในบ้านยังไม่ได้รับความนิยมเนื่องจากมีราคาแพง ร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่จึงเป็นทางออกที่ได้รับความนิยมมาก มีร้านเกิดใหม่ขึ้นมากมาย และบรรดาร้านพวกนี้กลายเป็นช่องทางในการเรียนรู้การเข้าถึงคอนเทนต์ต้องห้าม ต่าง ๆ ทำให้เกิดปัญหาในอนาคตได้ เพราะ ผู้ปกครองส่วนใหญ่ไม่รู้เท่าทัน

"หาก เกิดปัญหาไม่มีทางที่เด็ก ๆ จะไปปรึกษา เพราะเกิดจากการทำผิดของตนเองยิ่งผลักให้เด็กไม่มีทางออก ยิ่งเวลานี้ อบต.มีแผนเปิด Wi-Fi ให้บริการทั่วทั้งหมู่บ้าน ต่อไปเด็ก ๆ จะมีแท็บเลต เดี๋ยวนี้มือถือเชื่อม Wi-Fi ได้ราคาไม่แพงจะเกิดการเชื่อมต่อเข้าถึงสื่อที่ผู้ปกครองไม่มีทางควบคุมได้ เลย"

ด้าน "ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา" กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมกล่าวว่า ไอซีทีเป็นแค่ช่องทาง จะเลือกไปทางร้ายหรือดีก็ได้ สังคมออนไลน์มีหมดทั้งการพนัน การขายยาผิดกฎหมาย ฉะนั้นจะทำอย่างไรให้เยาวชนใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ ปัญหาคือการเลือกว่าจะใช้ประโยชน์ได้เท่าใดขึ้นอยู่กับทักษะตามอายุของผู้ ใช้

ดังนั้น การให้แท็บเลตไม่ใช่แค่เครื่องมือสอนเนื้อหาวิชาการ แต่หมายถึงการเรียนรู้การใช้ไอซีทีให้ปลอดภัย เรียนรู้วิธีหาความรู้ด้วยตนเอง สิ่งนี้จะเป็นประโยชน์มหาศาลในการใช้ชีวิต แต่ต้องอาศัยการคิดวิเคราะห์ข้อมูลอย่างเหมาะสมด้วย

สนับสนุนการขับเคลื่อนโดย
- ฮอนด้าพิธานพาณิชย์-อริยะมอเตอร์ www.phithan.co.th/hondaphithan
- ปาล์มสปริงส์ & ซิตี้รีสอร์ท บ้านและคอนโดคุณภาพจากเครืองศุภาลัย www.hatyainakarin.com
- ธีระการช่าง หาดใหญ่ (เยื้องบิ๊กซีคลองแห) โทร 086-4910345 www.facebook.com/teerakarnchanghy
- เอนกการช่าง ผู้นำการพัฒนาเครื่องจักรกลเกษตร โทร 081-7382622 www.an-anek.com/contact.php
รีวิวธุรกิจ เกาะติดบ้านเมือง ร้อยเรื่องท้องถิ่น TLP 0897384215

ตอบกลับอย่างรวดเร็ว

ชื่อ:
การยืนยัน:
กรุณาเว้นช่องนี้ว่างไว้:
พยัญชนะไทยตัวแรก:
shortcuts: กด alt+s เพื่อตั้งกระทู้ หรือ alt+p แสดงตัวอย่าง