ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

หม่อมเจ้าทองคำเปลว ทองใหญ่ ถึงชีพิตักษัยแล้ว ด้วยพระชนม์ 98 ปี

เริ่มโดย หม่องวิน มอไซ, 15:57 น. 28 ก.ค 53

หม่องวิน มอไซ

หม่อมเจ้าทองคำเปลว  ทองใหญ่ ประสูติเมื่อ 1 เมษายน 2455 เป็นพระโอรสลำดับที่ 25 ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ลำดับที่ 9 ที่ประสูติในหม่อมนวม ทองใหญ่ ณ อยุธยา ทรงมีพระเชษฐาและพระเชษฐภคินีร่วมพระมารดา 8 พระองค์   
   เษกสมรสกับหม่อมอรพินท์ ทองใหญ่ ณ อยุธยา มีบุตรธิดา ๓ คน คือ

        -ม.ร.ว.ชาลี ทองใหญ่ สมรสกับ นางอรณี (สายบัว) มีธิดา ๒ คน
               ม.ล.อรอำไพ พนานุรัตน์ สมรสกับนายประกิต พนานุรัตน์
               ม.ล.อณิชาล ทองใหญ่ สมรสกับ นายภัทรภูมิ เพ็ญเจริญ

         -ม.ร.ว.กัณหา ทองใหญ่ มีธิดา ๓ คน

         -ม.ร.ว.พิณทอง ทองใหญ่ มีบุตรธิดา ๒ คน

    หม่อมเจ้าทองคำเปลว ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการในหลายจังหวัด เช่น จังหวัดสงขลา เป็นต้น

    หม่อมเจ้าทองคำเปลว ถึงชีพิตักษัยเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2553 สิริพระชนม์ 98 ปี

ขอบคุณที่มาข่าว : คุณคนชุมพรนอนกรุงเทพ จากโต๊ะห้องสมุด พันทิปดอทคอม
http://www.pantip.com/cafe/library/topic/K9509276/K9509276.html

หม่องวิน มอไซ

- - - - - - * * * - - - - - - -
หลักฐานทางประวัติศาสตร์โปรดจำไว้

นายกเทศมนตรีเมืองสงขลา

มีความยินดีขอเชิญ

ไปเป็นเกียรติในพิธีเปิดรูปปั้น "เงือกทอง"

โดย

ม.จ.ทองคำเปลว ทองใหญ่ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ทรงเป็นประธานในพิธี

วันศุกร์ ที่ ๑ เมษายน ๒๕๐๙ เวลา ๑๕.๓๐ น.

ณ แหลมสมิหลา

- - - - - - * * * - - - - - - -

พี่แอ๊ด

อจ.หม่องวินฯ 
เคยอ่านประวัติของท่าน  แต่จำไม่ได้ว่าที่ไหนว่า   โรงเรียนวัดพระสามองค์
ต่อมาเปลี่ยนเป็น  โรงเรียนวัดเทพาไพโรจน์   ในสมัยที่ท่านเป็นผู้ว่าราชการ
จังหวัดสงขลา  ใช่หรือเปล่า   หรือจำผิด

หม่องวิน มอไซ

ขอบคุณพี่แอ๊ดมากครับ
ผมเองเคยเรียนชั้นประถมที่โรงเรียนบ้านเทพา พ.ศ. 2522 - 2526
ปั่นจักรยานไปเที่ยววัดพระสามองค์อยู่บ่อย ๆ
แต่ไม่เคยทราบมาก่อนครับ ว่าเปลี่ยนชื่อวัดเป็นวัดเทพาไพโรจน์นานแล้ว
เพราะชาวบ้านก็เรียกวัดพระสามองค์มาตลอด

ไปค้นข้อมูลตามที่พี่แอ๊ดบอก เจอที่นี่ครับ
http://thephanews.com.www.readyplanet5.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=538694269
--------------------------------------------------------------------
ตามหนังสือพระราชหัตถเลขา ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องเสด็จประพาสแหลมมะลายูเมื่อรัตนโกสินทร์ศก ๑๐๘,๑๐๙,๑๑๗,๑๒๐ รวม ๔ คราวพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทานในงานพระศพสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ามาลินีนพดารา ศิรินิภาพรรณวดี กรมขุนศรีสัชนาลัย ณ พระเมรุท้องสนามหลวง พ.ศ.๒๔๖๙ ได้กล่าวถึงการเสด็จไปเยี่ยมเมืองเทพาของในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ไว้ในราชหัตถเลขา ฉบับที่ ๓ ลงวันที่ ๔ สิงหาคม ร.ศ.๑๐๘ (พ.ศ.๒๔๓๒) ตอน ๑ ดังนี้

เรือพระที่นั่งอุบลบรุทิศ
ลงวันที่ ๔ สิงหาคม รัตนโกสินทร์ศก ๑๐๘
ถึงท่านกลาง และกรมหลวงเทววงศ์วโรปการ

ด้วยจดหมายระยะทางฉบับที่ ๒ บอกแจ้งความมาเพียงวันที่ ๒๙ บัดนี้ขอบอกระยะทางรายวันต่อไป
เวลา บ่าย ๔ โมง ๔๐ มินิต ถึงเมืองเทพาที่ฝั่งแลเห็นภูเขาลูกหนึ่ง หลังหาดทรายขาวแลเห็นแหลมที่ต่อแดนกับเมืองจะนะเป็นภูเขาติดต่อกันเป็นเทือกเขายาว เวลาที่มาถึงเป็นหมอกคลุมไปตามฝั่งเหมือนอย่างฝนตก มีลมพัดหนาวออกมาจนถึงเรือพระยาสุนทรานุรักษ์ พระดำรงเทวฤทธิ์ พระยาหนองจิก ตามขึ้นมาหาที่เรือด้วย เวลาเย็นค่ำเสียแล้วจึงไม่ได้ขึ้นบกวันนี้เป็นวันที่ได้รับหนังสือเมล์ซึ่งมาถึงด้วยเรือ "นฤเบนทรบุตรี" จึงได้หยุดทำหนังสืออยู่ดึก

วันที่ ๓ เวลาเช้าโมงหนึ่งกับ ๔๐ มินิต ลงเรือกระเชียงขึ้นไปตามลำน้ำเทพาที่หาดทรายปากช่องมีกองฟืนมากเพราะใช้ทั้งที่เตรียมการรับเสด็จด้วย สงขลาก็ใช้ฟืนเมืองเทพาด้วย มีเรือนโรงสองฝั่งประมาณ ๔๐ หลัง มีต้นมะพร้าว ต้นตาลเล็กน้อย เป็นบ้านคนทำปลา คนพวกนี้เป็นแขกเมืองกลันตันมาก

ต่อนั้นก็เข้าไปเป็นป่าไม้โกงกาง ไม้เสม็ด ลำน้ำเข้าไปข้างในยิ่งกว้างขึ้น มีบ้านอีกหมู่หนึ่งประมาณ ๑๑-๑๒ หลังคาเรือนอยู่ฝั่งข้างขวา ฝั่งข้างซ้ายมีไร่ยาหลายไร่มีคลองแยกแต่ลงเฝือกทำปลา พ้นจากนั้นเลี้ยวหนึ่งถึงกลางเกาะแม่น้ำ เป็นเกาะใหญ่มาก ถึงเกาะใหญ่เป็นเกาะอยู่ตรงหน้าบ้านพระเทพา แม่น้ำที่ตรงนั้นกว้างใหญ่ทั้งสองข้าง ที่เกาะนี้เป็นที่นกชันชุม (นกชัน ชื่อภาษาอังกฤษว่า Slaty breasted Rial ภาษาศาสตร์ว่า Ralluis striat) นกชันนั้นมีรูปพรรณสัญฐานคล้ายนกคุ่มแต่ขายาวสีแดงตลอดจนนิ้วเท้า สีที่คอเป็นสีน้ำตาลเจือแดง แต่สีที่ขนปีกเหมือนนกกระทานกคุ่ม ดวงตาสีแดงเป็นสีทับทิม นกพวกนี้สันดานเป็นค้างคาวกลางคืนตื่นขึ้นมาหากิน กลางวันนอน ถ้าฤดูเดือน ๖ เดือน ๗ เป็นเวลาที่มีเนื้อมีชุมมาก นัยว่าดักได้วันละ ๓๐๐-๔๐๐ ตัว แต่จะควรหารบ้างหรือประการใดนั้นตามใจ พระยาสุนทรานุรักษ์เป็นผู้พูดก่อนแต่มีผู้รับยืนยันว่าจริงหลายปาก

วิธีดักนั้นกลางคืนไปนั่งอยู่ที่เกาะไม่ว่าคนมากน้อยเท่าใดไม่เป็นเหตุตื่นเต้นหลบหนี ห้ามอย่างเดียวแต่ไม่ให้สูบบุหรี่ มีหมอที่สำหรับทำเลียนเสียง พระยาสุนทรานุรักษ์บอกว่าร้อง แกร๊ก ๆ แกร๊ก ๆ ดูเสียงไม่น่านกลงเลย แต่ครั้นเมื่อได้ฟังร้องวันนี้ ดูเสียงฉ่ำเฉื่อยเยือกเย็นเป็นนก เวลาร้องนั้นร้องสองคนประสานกันไป คนหนึ่งร้องเสียงนางนก ก๊อก ๆ ๆ ๆ คนหนึ่งร้องเสียงนกผู้ กิ้ว ปรื้อ แต่ปรื้อ นั้นลมออกริมฝีปากลากยาวไปแล้วมีปรื้อขึ้นมานิด ๆ ลากต่อไปอีกสองคราวจึงหมดโน้ตครั้นหนึ่ง นัยว่าถ้าไปเรียกเช่นนี้ นกพวกนี้ที่บินอยู่ในอากาศก็ลงมาสู่พื้นแผ่นดินใกล้ ๆ ตัวคนบ้าง นัยว่าถึงจับศีรษะคนต้องร้องล่อไว้จนสว่าง พอแสงสว่างขึ้นแล้วจะบินไปไหนไม่ได้ด้วยตาฟางมืด หรือเป็นเวลานอน แต่ถ้าทิ้งไว้จนถึง ๕ โมงเศษหรือเที่ยงเป็นเวลาตื่นก็ไปได้ วิธีที่จะจับนั้นต้องเรียกมาไว้จนรุ่งเช้าแล้วจึงไล่ต้อนให้เข้าไซเหมือนดังเช่นดักปลา มิต้องยิงมิต้องจับแต่อย่างใดเลยเห็นเป็นการน่าดูอยู่เช่นนี้ จึงให้พระยาสุนทรานุรักษ์ลงมาคอยอยู่ที่เมืองเทพา ครั้นเมื่อคืนนี้มาถึง ได้ถามพระยาสุนทรานุรักษ์ พระยาหนองจิก พระเทพาซึ่งรับรองสมคำกันมาแต่เดิมนั้นแจ้งว่าฤดูนี้ตกมาถึงเดือนเก้านกเหล่านี้น้อยไปไม่ชุมเหมือนเดือน ๖-๗ เป็นเวลาตกฟองใหม่ ๆ กำลังผอม พระยาสุนทรานุรักษ์ได้ลองไปเรียกดูสองคืน แยกเรียกหลายแห่งด้วยกัน ได้แต่เพียงแห่งละเก้านกสิบนกไม่ตั้งร้อยเช่นว่า แต่คงจะมีตัวนกที่ทดลองได้ เดิมฉันคิดว่าจะขึ้นไปในเวลาค่ำดูเมื่อนกลงจีงได้รีบมาให้ถึงเมืองเทพาแต่วานนี้ ครั้นได้ทราบว่านกไม่ลงมามากเหมือนอย่างเช่นว่าแต่ก่อนและเกลื่อนกลุ้มถึงจังหวัดดังเช่นว่า จึงให้เขาเรียกเสียเวลาเช้าวันนี้ จึงขึ้นมาดูที่ซึ่งจะต้องให้นกเข้าไซนั้น เอาไม้ทำเป็นเคร่าสระใบไม้ทำเป็นปีกกา เอาไซดักไว้ที่ปากช่อง เวลาที่จะไล่นกก็ร้องเสียงเบา ๆ เอาใบไม้ไล่ฟาด ๆ นกนั้นก็วิ่งเข้ามาประสงค์แต่ที่จะหลบเข้าซุกรกอย่างเดียว ตะครุบจับก็ได้ง่าย ๆ เมื่อไล่ให้เข้าไซก็วิ่งไปถึงหน้าไซเห็นใบไม้ที่สระรก ๆ ก็ลอดเข้าไปในไซ แต่ที่ต้อนวันนี้ก็ได้ ๕ ตัวเท่านั้น ตะครุบเอาตัวหนึ่งมาพิเคราะห์ดูก็อยู่ข้างผอมจริงแต่ง่วงงุยงายไม่สู้ดิ้นรนนัก ถ้าจับไว้ในมือนิ่ง ๆ ประเดี๋ยวหนึ่งก็หลับตาท่าทางอยู่ข้างครึมครำ นกที่พระยาสุนทรานุรักษ์ดักไว้แต่ก่อนนั้นก็เรียกมาไว้แล้ว ฉันคิดว่าจะเลี้ยงเข้าให้ไปถึงกรุงเทพฯ เห็นว่าคงจะเลี้ยงรอดได้ด้วยดูไม่เปรียวเลยอาหารก็อย่างนกกระทาหรือลูกไก่กินนั้นเอง นกเช่นว่าถ้าเป็นฤดูชุมขายในตลาดเมืองสงขลาตัวละไพ เราฟังดูไม่สู้น่าเชื่อแต่ไปเอ่ยกับคนสงขลาดูรู้กันซึมซาบไม่เป็นอัศจรรย์อันใด

ดูนกเข้าไซแล้วจึงได้ข้ามฟากไปที่พลับพลาหน้าหมู่บ้านที่เป็นเมืองเทพานั้นมีเรือนเจ้าเมืองและราษฎรประมาณ ๓๐ หลัง ปลายแหลมวัดที่เกาะสีชังอยู่ข้างแน่นหนามาก มีวัดอยู่วัดหนึ่งเป็นของเก่าแต่พระเทพาเรืองคนนี้มาปฏิสังขรณ์ขอที่วิสุงคามสีมา ได้ให้ใบอนุญาตแลเติมชื่อท้ายเดิมซึ่งชื่อ วัดเทพา ให้มี "เรือง" อีกคำหนึ่ง เป็นชื่อวัดเทพาไพโรจน์ ได้ออกเงินในการช่วยวัด ๒ ชั่ง เมืองเทพานี้อยู่ข้างขัดสนกันดารมากเพราะพื้นที่ไม่ดีเองลำคลองเทพาปลายขึ้นไปถึงเหมืองดีบุก แขวงเมืองยะลาตะวันออกเฉียงเหนือต่อเมืองจะนะ ตะวันตกเฉียงเหนือต่ออำเภอจะแหนขึ้นสงขลา ตะวันตกต่อเมืองไทร ตะวันตกเฉียงใต้ต่อเมืองยะลา ทิศใต้ต่อเมืองหนองจิก คนมีอยู่เรี่ยรายประมาณสักพันเรือนเป็นแขกมาก ไทยก็มี จีนมีน้อย สิ่งซึ่งเป็นที่เสียของเมืองนั้นคือพื้นที่แผ่นดินลุ่ม น้ำเหนือท่วมอยู่นาน ๆ น้ำทะเลขึ้นถึงแผ่นดินเค็มอยู่เสมอ ทำนาไม่ได้ ทำแต่ข้าวไร่ใกล้ ๆ เขา แต่ไม้มีมาก หวายต่าง ๆ และชันก็มีแต่ไม่มีผู้ใดทำ ไม่ได้เป็นสินค้าออกจากเมืองเพราะราษฎรภายในเมืองไม่ข้าวพอกิน คนที่อยู่ในเมืองนี้ต้องเสียแต่ค่าเข้าที่ เรียกว่า "ค่าน้ำมันดิน" เห็นจะเป็นค่าน้ำค่าดิน แต่น้ำเสียงชาวนอกเมื่อเรียกติดกับคำอื่นน่าจะมีมะขึ้นได้แล้วจึงกลายเป็นมันไป เสียสิบลดหนึ่งหรือลดสองกับเกณฑ์ให้ตัดฟืน คนหนึ่งปีละ ๑๐๐ดุ้นเฉลี่ยเกณฑ์พอให้ได้ครบห้าหมื่นดุ้น นอกนั้นไม่ต้องเกณฑ์อันใด ฉันได้ว่ากับพระยาสุนทรนุรักษ์ว่า ถ้าคิดซื้อเครื่องจักรเลื่อยไม้มาตั้งจ้างราษฎรตัดไม้พอมีทางหากิน คนจะติดมาก เขาก็เห็นด้วยแต่ยังครางออดแอดจะต้องหาหุ้นส่วนต่อไป

จากหลักฐานสำเนาพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฉบับที่ ๓ เป็นหลักฐาน ให้นายธำรง ถึงสุข นายอำเภอเทพาได้นำเรื่องทูลหม่อมเจ้าทองคำเปลว ทองใหญ่ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาขอเปลี่ยนชื่อ "โรงเรียนวัดเทพาไพโรจน์" แต่เดิมชื่อวัดพระสามองค์ เปลี่ยนในสมัยหม่อมเจ้าทองคำเปลว ทองใหญ่ ตามหนังสือที่ จ.สข๐๐๒/๖๘๑ ลงวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๑๔ ตามชื่อวัดที่พระราชทานในรัชกาลที่ ๕ ด้วยและได้รับอนุมัติเรียบร้อยเมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๑๔

Singoraman

ผมเรียนระดับประถม ในช่วงที่ท่านเป็น ผวจ.สงขลา
ยังท่องจำนามของท่านจนขึ้นใจ
ขอร่วมไว้อาลัย ณ ที่นี้ด้วยครับ

Singoraman

เอกสารที่เกี่ยวกับท่านอีกชิ้นหนึ่ง (จากแฟ้ม อ.จรัส จันทร์พรหมรัตน์)
ขออนุญาตนำเสนอครับ

หม่องวิน มอไซ

เห็นเอกสารโรเนียว ลายเซ็นลงกระดาษไขที่อาจารย์ Singoraman นำมาให้ชมแล้วคลาสสิกจริง ๆ ครับ
ตอนอยู่โรงเรียนบ้านเทพา ชอบไปรื้อ ๆ กองขยะของโรงเรียน
เผื่อมีใครเผลอเอากระดาษไขที่โรเนียวเสร็จแล้ว ไปทิ้งไว้
เผื่อเจอข้อสอบไล่ครับ
แต่ก็ไม่เคยเจอสักที

ม.จ.ทองคำเปลว ทองใหญ่ เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ตั้งแต่ 1 ต.ค. 2507 - 30 ก.ย. 2515
ดังนั้นเอกสารที่อาจารย์ Singoraman นำมาให้ชม
ถือเป็นช่วงท้าย ๆ ของการเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาของท่านครับ

ผมเข้าเรียนที่โรงเรียนบ้านเทพา สมัยที่นายเจริญจิตต์ ณ สงขลา เป็นผู้ว่าฯ
ท่องจำขึ้นใจเหมือนกัน และชอบตรงนามสกุล ณ สงขลา และเป็นผู้ว่าฯ สงขลาด้วย
หมดวาระของนายเจริญจิตต์ ณ สงขลา ก็ต่อด้วย นายเอนก โรจนไพบูลย์ครับ

พี่แอ๊ด

ภาพข่าวจากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ   ในงาน มจ.ทองคำเปลวฯ  ถึงชีพิตักษัย
ซ้ายมือนั่ง    นายเจริญจิตต์   ณ  สงขลา    อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา
ยืนกลาง    นายพระนาย   สุวรรณรัฐ    บุตร   ของนายพ่วง   สุวรรณรัฐ
และนายพ่วง   สุวรรณรัฐ   ซึ่งเป็นอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาเช่นกัน

ขอบคุณครับ

ขอแสดงความขอบคุณทุกท่านที่ร่วมกันไว้อาลัยแด่ท่าน ผมเป็นหลานคนหนึ่งซึ่งเพิ่งกลับมาจากงานพระราชทานเพลิงพระศพในวันนี้ รู้สึกใจหายที่ท่านได้มาจากไป ก่อนหน้านี้ท่านยังแข็งแรงมาก 2-3ปีก่อนท่านยังชับรถเองได้อยู่เลย ผมเองยังนึกว่าท่านจะอยู่ได้เป็น 100ปี แต่คนเราก็ไม่สามารถฝืนลิขิตไปได้ ท่านจากไปอย่างสบายหลังจากทานข้าวเช้า อาบน้ำและบรรทม และหลับไปอย่างสงบครับ ท่านเป็นบุคคลที่มีแต่คนรัก ชอบพอ ด้วยนิสัยที่ไม่ถือตัว สนุกสนาน ขอให้ท่านจงไปสู่สรวงสวรรค์ครับ

แซนด์ มุตตามระ

ขอร่วมใว้อาลัยแด่ท่านด้วยครับ ผมเคยไปเที่ยวกับท่านตอนเป็นเด็กๆกับคุณยาย จำได้ว่าท่านเอาลูกหนามแดงมาให้ทาน ท่านคุยสนุกมาก ขอให้ท่านไปสู่สรวงสวรรค์ครับ คิดถึงท่านเสมอครับ จากผมและยาย

ป๋าไก่ สมาร์ทตี้-จี

 ถึงแม้นจะเกิดไม่ทันตอนที่ท่านดำรงตำแหน่ง แต่ไงก็ขอระลึกนึกถึงท่านในการทำความเจริญและสร้างรากฐานให้กับสงขลาบ้านเราครับ

tita

ภาพ ม.จ.ทองคำเปลว ทองใหญ่ กับ ทีมผู้บริหารเทศบาลหาดใหญ่ ในพิธี...  ขณะดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา

tita

ภาพ ม.จ.ทองคำเปลว ทองใหญ่ กับ ทีมผู้บริหารเทศบาลหาดใหญ่ ในพิธี...  ขณะดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา

ศิริวรรรณ ภู่สุวรรณ

ได้เคยพบกันท่านครั้งนึงสมัยเด็กเนื่องจากเรียนที่ รร.สตรีวิทยา ห้องเดียวกับพระธิดาของท่าน คือ มรว.พิณทอง ทองใหญ่ หลายสิบปีมาแล้ว ท่านเป็นคนมีพระเมตตาอย่างมากเลยค่ะ