ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

ไขปริศนาภาพถ่าย"หาดใหญ่แต่แรก"ของ ดร.บอม

เริ่มโดย หม่องวิน มอไซ, 13:14 น. 19 มี.ค 53

หม่องวิน มอไซ

หลายท่านพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า อยากให้เมืองหาดใหญ่จัดงานย้อนยุคแบบงาน"สงขลาแต่แรก"บ้าง
ก็มาคิด ๆ ดูว่า เหตุใดหาดใหญ่ไม่มีใครจัดงานย้อนยุค

หรือเป็นเพราะขาดความรู้เรื่องประวัติศาสตร์ หาดใหญ่ไม่มีความเป็นมายาวนานพอหรือเปล่า
สงขลามีตำหนักเขาน้อย มีเขาตังกวน แหลมสมิหลา นางเงือก
มีกำแพงเมือง มีซากโบราณสถาน มีสถานีรถไฟเก่า
พระเจ้าอยู่หัวหลายพระองค์ เคยเสด็จฯ มาสงขลา

หาดใหญ่ไม่มีประวัติศาสตร์ ไม่มีโบราณสถานเลยหรือ ?
ผมเคยได้ยินเสียงพูดแรงกว่านี้ก็มี บอกว่า หาดใหญ่เป็นเมืองไร้ราก !

ก็พอดีกับพี่แอ๊ด เปิดประเด็นเรื่อง ร.๖ เสด็จมาสงขลา ประทับที่สโมสรแหลมทราย
ผมก็เริ่มศึกษาค้นคว้าดู อ.Singoraman บอกว่า ไม่ใช่สโมสรที่เชิงเขาน้อยแน่ เพราะสร้างปี ๒๔๗๕

ท่านคนเขารูปช้างก็เคยบอกว่า ปี พ.ศ.๒๔๕๘ ร.๖ เสด็จประทับที่สโมสรเช่นกัน
แต่เป็นสโมสรเสือป่า ที่ถนนสะเดา

แล้วนึกได้ว่า อ.วรชาติเคยให้ข้อมูลไว้ว่า ในปี พ.ศ. ๒๔๕๔ ร.๖ เคยเสด็จมาที่สงขลาด้วย
แต่คราวนั้นตำหนักเขาน้อยยังไม่เสร็จเรียบร้อย ท่านจึงประทับแรมในเรือพระที่นั่ง

ผมไปอ่านดูอีกทีก็ได้ความว่าดังนี้


หม่องวิน มอไซ

สังเกตเห็นประโยคที่บอกว่า
ทรงรถยนตร์ไปขึ้นรถไฟสายใต้ที่สถานีหลังศาลารัฐบาล เสด็จประพาศ
ตำบลน้ำน้อย
ประทับพลับพลาเสวยกลางวันที่นั้น แล้วทรงรถยนตร์
ไปประพาศหาดใหญ่ แล้วเสด็จกลับด้วยรถยนตร์มาประทับที่สโมสรสงขลา


นี่อาจถือได้ว่าเป็นเอกสารที่เก่าแก่ จะครบ ๑๐๐ ปี ในวันที่ ๑๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๔
หรืออีก ๑ ปีข้างหน้านี้แล้ว ที่กล่าวถึงหาดใหญ่
กล่าวถึงในฐานะที่ ร.๖ เสด็จประพาสอีกด้วย

หาดใหญ่จึงไม่ใช่ เมืองที่ไร้ความเป็นมาอย่างแน่นอน
ไม่นานมานี้ ท่านกิมหยงและท่านลูกแมวตาดำดำ ยังออกสำรวจขุดค้นทางโบราณคดี
พบซากวงเวียนกลับรถจักรของสถานีอู่ตะเภา ซากบ่อน้ำเติมรถจักรไอน้ำ
ที่คาดว่ามีอายุไม่ต่ำกว่า ๙๐ ปี

จึงนับว่าเป็นการดีที่น่าจะได้มีการศึกษาค้นคว้าประวัติศาสตร์เมืองหาดใหญ่อย่างจริงจัง
โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ท้องถิ่น หรือเกร็ดประวัติศาสตร์ที่ไม่ค่อยมีใครจดบันทึก
อย่างเช่น ห้างโรบินสันหลังสถานีรถไฟหาดใหญ่ สร้างปีไหน
สนามกีฬาประชาชน เหตุใดจึงยุบเลิกไป อย่างนี้เป็นต้นครับ

หม่องวิน มอไซ

ขณะที่กำลังศึกษาวิเคราะห์เรื่องกำแพงเมืองสงขลา และหาตำแหน่งในภาพถ่าย"ศาลาน้ำหน้าจวนเมืองสงขลา"นั้น
ท่าน"พี่"ก็บอกว่า นิตยสาร อบจ.สงขลา ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ ๕๓ เข้าเว็บอ่านได้แล้ว แต่ฉบับเดือนมีนาคม ๕๓ ยังอ่านได้เพียง ๔ หน้าเหมือนเดิม และไม่มีคอลัมน์สงขลา_สารคดี ให้อ่านเสียด้วย

ผมเลยเข้าไปอ่านคอลัมน์สงขลา_สารคดี เรื่อง จีนบ่อยาง ในฉบับเดือนกุมภาฯ ไปก่อน
ก็นึกขึ้นได้ว่า จีนหาดใหญ่ ก็มีคนทำวิจัยไว้แล้วมากต่อมาก น่าเอามาอ่านศึกษาประกอบกับจีนบ่อยาง
อาจจะได้แนวคิดเปรียบเทียบหาข้อแตกต่างของจุดกำเนิดแห่งการสร้างเมืองของชาวจีน
ที่มีต่อหาดใหญ่และสงขลาได้ แต่ตอนนี้ยังไม่มีเวลาพอที่จะเริ่มอ่านงานวิจัยหนาเตอะเหล่านั้น

อ.Singoraman บอกว่า ดร.บอม นักสัตววิทยาชาวเช็ก ที่เข้ามาในสงขลาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๒ ได้ถ่ายภาพสงขลาไว้หลายภาพ
ภาพหนึ่งในนั้นคือ ประตูเมืองหน้าศาล ผมจึงเข้าเว็บไซต์ภาพถ่ายของ ดร.บอม อีกครั้ง หลังจากไม่ได้เข้าไปหลายเดือนแล้ว

และผมก็ได้เห็นภาพนี้อีกครั้งครับ



ภาพนี้เคยสงสัยกันว่า ถ่ายที่ย่าน Chinatown ของสงขลา ตรงจุดไหนกันแน่
จนถึงบัดนี้ ก็ยังไม่ได้ข้อยุติ อยู่ในกระทู้นี้ โดยคุณ Big Mahad ครับ
http://www.gimyong.com/webboard/index.php/topic,31696.0.html

หม่องวิน มอไซ

ผมนั่งดูภาพถ่ายของ ดร.ยิชรี บอมทีละภาพ อย่างพินิจพิเคราะห์ เพื่อจะดูว่ายังพอมีภาพไหนที่ให้ร่องรอยเกี่ยวกับกำแพงเมืองสงขลาได้อีกไหม
นอกจากภาพประตูเมืองหน้าศาล
ที่เว็บไซต์นี้
http://www.baum.com.au/Dr_J_Baum/cgi/hledat?klic=siam&limit=200

ใช้โปรแกรมแปลภาษา Google Translate แปลคำบรรยายภาพจาก ภาษาเช็กเป็นภาษาอังกฤษ
แล้วก็มาสดุดกับภาพหนึ่งครับ คือภาพนี้

http://www.baum.com.au/Dr_J_Baum/archiv_foto/small/23/23149-Siam,_Hadzi,_6.VII.1929.jpg

ภาพนี้มีคำบรรยายเป็นภาษาเช็กว่า
Siam, Hadži, 6.VII.1929 - Siam - 1929 - F2



หม่องวิน มอไซ

ปรากฏว่าโปรแกรมแปลภาษา แปลคำว่า Hadži ในภาษาเช็ก เป็น Hadji ในภาษาอังกฤษ
ก็มานั่งงงอยู่สักพักครับ อะไรหนอ ฮัจยี
แล้วก็นึกได้ว่า อ๋อ Hadyai นั่นเอง  )55

ท่าน ดร.บอม ไปหาดใหญ่ด้วยก็ไม่บอก นึกว่าอยู่แต่ที่สงขลา
ย้อนกลับมาดูภาพอีกรอบ
เอ ห้องแถวแบบนี้ ลักษณะคล้าย ๆ กับภาพปริศนาที่คุณ Big Mahad เอามาถามเลยนี่นา

หม่องวิน มอไซ

ย้อนกลับไปดูภาพปริศนาอีกครั้ง คำบรรยายภาพบอกเป็นภาษาเช็กว่า

Siam, ulice v Singoře, 4.VII.1929 - Siam - 1929 - F2

แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า

Siam, the streets in Singoře, 4.VII.1929 - Siam - 1929 - F2

ผมสังเกตเห็นว่า ดร.บอมถ่ายภาพในตลาดเมืองสงขลาในวันที่ ๔ ก.ค. ๒๔๗๒
แต่ภาพที่ถ่ายที่หาดใหญ่นั้น ถ่ายในวันที่ ๖ ก.ค. ๒๔๗๒

มีความเป็นไปได้ว่า ภาพปริศนานั้น อาจไม่ได้ถ่ายที่"ถนนในซิงกอเรอะ" แต่ถ่ายใน"ฮัจไย"
และตอนจัดภาพเข้าเว็บไซต์ (หรือเข้าอัลบั้ม) เผลอเอาภาพที่ถ่ายที่หาดใหญ่มารวมกับภาพที่ถ่ายที่สงขลา เพราะดูเป็นจีน ๆ เหมือนกัน

หม่องวิน มอไซ

เพื่อพิสูจน์ว่าภาพปริศนานั้น ถ่ายที่หาดใหญ่จริง ๆ ผมจึงไปค้นหาภาพเก่าของเมืองหาดใหญ่
แล้วก็ได้พบความจริงว่า ภาพถ่ายบ้านเมืองหาดใหญ่ ก่อนปี พ.ศ. ๒๔๙๐ นั้นหาได้ยากจริง ๆ

ที่ผมมีอยู่ คือภาพสถานีหาดใหญ่ ที่ได้รับความเอื้อเฟื้อจากท่านคนเขารูปช้าง
ซึ่งก็เป็นเพียง ๑ ในไม่กี่ภาพที่ถ่ายก่อนยุค ๒๕๐๐

ผมไปค้นในหนังสือมรดกเมืองสงขลา มหาวชิราวุธ ของพี่เอนก นาวิกมูล ก็พบกับภาพนี้ครับ อยู่ในหน้า ๑๗๔

เป็นภาพจาก อ.จรัส จันทร์พรหมรัตน์ ข้างหลังมีลายมือเก่าเขียนปากกาว่า "รูปตลาดโคกเสม็ดชุน อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ส่วนหนึ่งของร้านค้าภายในตลาด ๓๑/พ.ค.๘๐ เวียน ปัญจะสุวรรณ"

หม่องวิน มอไซ

บรรยากาศคล้ายกับภาพปริศนาเลยครับ
เป็นห้องแถวเรือนไม้ มีป้ายแนวตั้งขาว ๆ อยู่หน้าร้าน

ที่สำคัญ มุมนี้ เห็นเสาไฟฟ้า แบบเดียวกับในภาพปริศนาเลยครับ


หม่องวิน มอไซ

ลองเปรียบเทียบกับภาพปริศนาดูครับ


หม่องวิน มอไซ

จากภาพ ทำให้ทราบว่า ตากล้องหันหลังให้สถานีรถไฟหาดใหญ่ มองไปทางทิศตะวันออก ตามถนนธรรมนูญวิถีในปัจจุบัน
(สังเกตเห็นเขาคอหงส์ เป็นฉากหลัง)

ตำแหน่งของตากล้อง คงใกล้กับสถานีรถไฟมาก เพราะเห็นเสาที่ทำจากไม้หมอน  เอามาปักแสดงขอบเขตที่ดินรถไฟไว้ครับ

หม่องวิน มอไซ

เห็นภาพเขาคอหงส์ข้างหลัง แล้วนึกขึ้นได้ว่ามีภาพในมุมเดียวกัน แต่เก่ากว่า
ถ่ายในปี พ.ศ. ๒๔๖๗ อยู่ในหนังสือสมุดภาพสงขลา มหาวชิราวุธ ของพี่เอนก นาวิกมูลครับ

หม่องวิน มอไซ

จากปี ๒๔๖๗ ถึงปี ๒๔๘๐ บรรยากาศเปลี่ยนไปมากขนาดนี้เชียวหรือ เพียงแค่ ๑๓ ปี
หาดใหญ่โตเร็วจริง ๆ ครับ เปลี่ยนจากร้านหลังคามุงจาก เป็นห้องแถวไม้
(และเป็นห้างขนาดใหญ่อย่างโรบินสันในปัจจุบัน)

แต่เอ๊ะ เดี๋ยวก่อน ลองเอาสองภาพมาเปรียบเทียบกันดู พบสิ่งที่น่าสนใจมากครับ

ยอดแหลมของจั่วหลังคา ในภาพปี ๒๔๖๗ ยังปรากฏอยู่จนถึงปี ๒๔๘๐ ครับ


หม่องวิน มอไซ

ด้วยความอยากรู้ว่าบ้านหลังนี้ คืออะไร เห็นมีป้ายขาวๆ ใหญ่โตเขียนไว้
ผมจึงขยายภาพถ่ายปี ๒๔๖๗ ดูครับ

:o

พอซูมดูป้าย ผมถึงกับขนลุกซู่เลยครับ
ไม่ใช่ป้ายผีสิง

แต่ป้ายนี้ อ่านว่า 南生旅館 หรือ หน่ำแซลู่ก๊วน
คือป้ายโรงแรมหน่ำแซ ที่เห็นในภาพปริศนาของ ดร.บอมนั่นเองครับ !!

หม่องวิน มอไซ

ลองเปรียบเทียบดูสิครับ
ซ้ายมือเป็นป้ายในภาพปริศนาของ ดร.บอม พ.ศ.๒๔๗๒
ขวามือ เป็นป้ายในภาพ พ.ศ. ๒๔๖๗
ห่างกัน ๕ ปี

ป้ายชื่อเดียวกันครับ คือ 南生旅館 โรงแรมหน่ำแซนั่นเอง

ถ่ายคนละทิศกันแค่นั้นครับ
ดร.บอม ถ่ายไปทางทิศตะวันตก (สถานี) ส่วนภาพปี ๒๔๖๗ ถ่ายไปทางตะวันออก(เขาคอหงส์)
รูปร่างอาคารก็สอดคล้องกัน เสาไฟฟ้า(ในภาพถ่ายปี ๒๔๘๐) ก็เป็นแบบเดียวกันครับ  )55


หม่องวิน มอไซ

คราวนี้ก็ต้องพิสูจน์ครับ ว่าโรงแรมหน่ำแซ อะไรนี่ มีอยู่จริงหรือเปล่า
ก่อนหน้านี้พยายามค้นข้อมูลของสงขลาแล้ว ก็ไม่พบว่ามีโรงแรมนี้อยู่

ผมไปเปิดหนังสือ "นำเที่ยวสงขลา" พิมพ์ปี ๒๕๐๔
ดูแผนผังตำแหน่งโรงแรมในหาดใหญ่ในยุคนั้น ก็ไม่พบชื่อโรงแรมหน่ำแซ

แต่เอ๊ะ เดี๋ยวก่อน
ตรงถนนธรรมนูญวิถี ตำแหน่งเดียวกับโรงแรมหน่ำแซ กลับมีชื่อโรงแรมศรีทักษิณโผล่ขึ้นมาครับ

ที่สำคัญ ยังมีโฆษณาของโรงแรมศรีทักษิณอยู่ในหนังสือเล่มนี้ด้วย ดังนี้ครับ

หม่องวิน มอไซ

ผมใช้ Google Translate อีกครั้ง
南 = South
生 = แปลได้หลายความหมายมาก
旅館 = Hotel

ได้การแล้วครับ 南 = South
แต่ South = ใต้
ใต้ ก็คือ ทักษิณ นั่นเอง

ส่วน 生 นั้น มีคำคำหนึ่งในภาษาจีน คือ 先生 = ซินแส
หรือเซ็นเซ ในภาษาญี่ปุ่น หมายถึง อาจารย์ หรือ หมอ หรือผู้อาวุโส

ดังนั้น โรงแรมหน่ำแซ คือ โรงแรมแสทักษิณ
แสทักษิณ คือ ศรีทักษิณ นั่นเอง  )55

หม่องวิน มอไซ

เมื่อทราบแล้วว่า ภาพถ่ายปริศนาของ ดร.บอม คือภาพถ่ายห้องแถวในปี ๒๔๗๒ หลังสถานีรถไฟหาดใหญ่
และโรงแรมนี้คือ โรงแรมศรีทักษิณ ที่ปรากฏอยู่ในภาพถ่ายปี ๒๔๖๗ ด้วย
ก็ทำให้เข้าใจได้ว่า โรงแรมนี้เปิดขึ้นเพื่อรับนักเดินทางมาตั้งแต่ยุคแรก ๆ
หลังจากย้ายชุมทางมาจากชุมทางอู่ตะเภาในปี พ.ศ. ๒๔๖๕

โรงแรมนี้ตั้งมาตั้งแต่เมื่อใด ยังค้นไม่ได้ครับ แต่ ปี ๒๔๖๗ ก็ปรากฏเป็นเรือนไม้อยู่ท่ามกลางบ้านหลังคามุงจากแล้วครับ

ท่าน"เบื่อคนเจ้าเล่ห์" ยังได้พูดถึงตำแหน่งที่ตั้งโรงแรมศรีทักษิณในอดีต ไว้ในกระทู้ "สงขลารำลึก"ด้วยครับ ดังนี้
http://www.gimyong.com/webboard/index.php/topic=6746.135

ที่ผมเล่า ราวปี 2521 -22 ประมาณนี้ครับ  สมัยนี้ โรงแรมรถไฟ คือโรงแรมที่อยู่ในอาคารสถานีรถไฟแล้ว และต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น โรงแรมราชธานี

ถ้าเรายืนหันหน้ามองไปเขาคอหงส์ หันหลังให้เสาธงชาติ หลังสถานีรถไฟ ซ้ายมือคือแนวอาคารพาณิชย์ มีตั้งแต่ร้านขายอาหาร,ร้านสิริสิน...ไปจนถึงสุดบล๊อก เป็นร้านจำหน่ายเครื่องไม้จากทางเหนือ

ส่วนด้านขวา มองไป 13 นาฬิกา จะเห็น เจ้าสูงเนิน 32 จอดอยู่ใต้ร่มหางนกยูง ถัดไปอีกราว 14 นาฬิกา เป็นศาลาไทย ที่หันไปทิศตะวันออก

ตรงสี่แยกแรก นับจากหน้าสถานีนั้น ซ้ายมือเป็นร้านขายเครื่องไม้เชียงใหม่ ถ้าเลี้ยวซ้ายเข้าไปก็เป็นแนวบ้านพักรถไฟ (ในนี้มีร้านขายมันเดือย เจ้าดั้งเดิม ขายอร่อยมาก..เสียชีวิตไปแล้ว)

ถ้าเลี้ยวขวา หัวมุมขวา ชั้นล่างเป็นร้านอาหารมุสลิมชือ ร้าน"ดวง"   ส่วนชั้นบนและติดกันเป็นเนื้อที่ของโรงแรมศรีทักษิณ

ลองดูภาพที่ผม สเกตซ์ประกอบนะครับ...



Singoraman

๑. บอกอย่างจริงใจและจากใจจริงครับว่า  "นับถือ"
๒. ส่วนงานวิจัยเรื่อง "จีนหาดใหญ่" นั้น เป็นของ อ.ศุภการ ศิริไพศาล ม.ทักษิณ
หนุ่มจีนจากย่านเยาวราชที่มา  "หลงเสน่ห์จีนหาดใหญ่ และ หลงใหลจีนบ่อยาง"
๓. ขอคารวะทุกท่าน ๑ จอก

หม่องวิน มอไซ

ท่านใดทราบเรื่องราวของ โรงแรมศรีทักษิณ ในอดีต
และบริเวณนี้ ปัจจุบันเป็นอย่างไร รื้อไปเมื่อใด
ช่วยเล่าให้ฟังกันบ้างนะครับ

ขอขอบคุณทุกท่านที่ติดตามชมครับ

ในที่สุด ปริศนาภาพถ่ายห้องแถวใน Chinatown ก็ได้คำตอบครับ
แม้จะผิดหวังอยู่บ้าง ที่ไม่ใช่สถานที่ในสงขลา

แต่ก็ดีใจที่พิสูจน์ให้เห็นว่า หาดใหญ่ไม่ใช่เมืองไร้ประวัติศาสตร์ครับ  ;)

หม่องวิน มอไซ

ขอขอบคุณมากครับ อ.Singoraman
ยินดีมากครับ ที่ไขปริศนาไปได้อีก 1 ภาพแล้ว
เป็นอีก 1 เรื่องราวของ "หาดใหญ่แต่แรก" ที่น่าสืบค้นต่อไปครับ

พี่แอ๊ด

ภาพทางหาดใหญ่ - สงขลา ในสมัย ร.6

พี่แอ๊ด

บริเวณสถานีรถไฟหาดใหญ่  ปัจจุบันเป็นธนาคารนครหลวงไทย  ประเดี๋ยวกลับไปถามพ่ออีกครั้ง