ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

คณะการจัดการสิ่งแวดล้อม ม.อ. จัดประชุมรับมือกับการเปลี่ยนของสภาพอากาศ

เริ่มโดย ทีมงานประชาสัมพันธ์, 13:24 น. 10 ก.ย 55

ทีมงานประชาสัมพันธ์

คณะการจัดการสิ่งแวดล้อม ม.อ. จัดประชุมกลุ่มย่อยเพื่อระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับการปรับตัว เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

วันนี้(10ก.ย.55) ที่ ศูนย์บริหารจัดการประมงทะเลภาคใต้ตอนล่าง สงขลา อ.สิงหนคร จ.สงขลา คณะการจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์(ม.อ.) จัดประชุมกลุ่มย่อยเพื่อระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับการปรับตัว เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมีเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมกว่า 30 คน

รศ.ดร.ฉัตรไชย รัตนไชย ที่ปรึกษาโครงการพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาอย่างยั่งยืน ม.อ. เปิดเผยว่า ในช่วงศตวรรษที่ผ่านมาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาเริ่มได้รับผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศของโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง ก่อให้เกิดฝนที่ผิดฤดูกาล ความผิดปกติของฝนในแต่ละพื้นที่ พายุที่มีความรุนแรงและบ่อยขึ้น ส่งผลกระทบต่อทั้งระบบนิเวศ ความหลากหลายทางชีวภาพ การผลิตอาหารโดยเฉพาะธัญพืช ความมั่นคงทางอาหาร สภาพเศรษฐกิจ ความเป็นอยู่ ชีวิตและทรัพย์สิน ฯลฯ ดังจะเห็นได้จากอุทกภัยและวาตภัยที่มีความถี่และความรุนแรงเพิ่มขึ้นในพื้นที่ จากเหตุดังกล่าว สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงได้มอบหมายให้ ม.อ. เป็นผู้ดำเนินโครงการพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาอย่างยั่งยืน เพื่อศึกษาและประเมินพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศดังกล่าว และได้จัดการประชุมในครั้งนี้ขึ้น เพื่อรวบรวมความรู้ที่สืบทอดตามประเพณี และวิธีปฏิบัติที่ดีที่สุดที่ชุมชนท้องถิ่นดำเนินวิถีชีวิตอยู่ และที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการในการปรับตัว รวมทั้งเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับชุมชนท้องถิ่น และกำหนดข้อเสนอแนะแนวทางการจัดทำกรอบแผนการปรับตัวเพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศต่อไป

การจัดประชุมในครั้งนี้ เป็นการประชุมกลุ่มย่อย ครั้งที่ 2 มีการเสวนาเรื่อง "การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและผลกระทบต่อทรัพยากรประมงในระดับพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา แนวทางการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดย อ.ศักดิ์อนันต์ ปลาทอง และการแบ่งกลุ่มย่อยเพื่อระดมความคิดเห็นในการเสนอแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติในระดับพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ทั้งนี้ ตัวอย่างของการประชุมในครั้งที่แล้ว(ครั้งที่ 1) เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหลายอย่างส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตมนุษย์ทั่วไปรวมถึงบริเวณชายฝั่งและพื้นที่เกษตรกรรม โดยประชาชนที่ตำบลคูขุดได้มีการจัดตั้งกองทุนช่วยแหลือ เมื่อมีเหตุประสบภัยรวมไปถึงการอนุรักษ์สัตว์ทะเล ส่วนหน่วยงานราชการให้การช่วยเหลือในการปล่อยพันธุ์ปลาและกุ้ง เพื่อเพิ่มปริมาณอาหารทะเลบริเวณทะเลสาบอีกทางหนึ่งด้วย