ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

ม.อ.ร่วมกับธนาคารโลก(World Bank) สัมมนา“ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน"

เริ่มโดย ทีมงานประชาสัมพันธ์, 09:23 น. 21 ก.ย 55

ทีมงานประชาสัมพันธ์

ม.อ.ร่วมกับธนาคารโลก(World Bank) สำนักงานประเทศไทย จัดสัมมนาเรื่อง "ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน : ผลกระทบต่อประเทศไทย"

วันนี้(20ก.ย.55) เวลา 09.30 น. ที่ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์(ม.อ.) อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับ ธนาคารโลก(World Bank)  สำนักงานประเทศไทย จัดสัมมนาเรื่อง "ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน : ผลกระทบต่อประเทศไทย" โดยได้รับเกียรติจาก ดร.กิริฎา เภาพิจิตร นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก สำนักงานประเทศไทยเป็นวิทยากร และมี ดร.ศักดิ์ชัย คีรีพัฒน์ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.อ. ร่วมให้การต้อนรับ ซึ่งมีผู้สนใจเข้าร่วมรับฟังการสัมมนา จำนวนกว่า 200 คน ดร.กิริฎา เภาพิจิตร นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก สำนักงานประเทศไทย กล่าวว่า การที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC (Asean Economic Community) ในปี 2558 นั้น จุดมุ่งหมายของสมาชิกทั้ง 10 ประเทศ  คือ การที่ประชาชนของประเทศสมาชิกมีการค้าขายระหว่างกันมากขึ้น พร้อมทั้งมีการไปมาหาสู่กันได้อย่างสะดวก และมีศักยภาพในการแข่งขันกับโลกภายนอกได้ โดยมีกรอบความร่วมมือการเปิดเสรี 5 ด้าน ประกอบด้วย การเปิดเสรีด้านการค้า (การลดภาษีเหลือร้อยละ 0 ในปี 2553 ยกเว้นประเทศ CLMV : กัมพูชา,ลาว,พม่าและเวียดนาม ปี 2558) , การเปิดเสรีบริการเร่งรัด 4 สาขา ( e-Asean  , สุขภาพ , ท่องเที่ยวและโลจิสติกส์) ซึ่งต่างชาติสามารถเข้ามาถือหุ้นได้สูงสุดถึงร้อยละ 70 , การเคลื่อนย้ายแรงงานมีฝีมืออย่างเสรี (การลงนามวิชาชีพ 7 สาขา : วิศวกร พยาบาล สถาปนิก นักสำรวจ แพทย์ ทันตแพทย์ และนักบัญชี) , เปิดเสรีการลงทุน ส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนระหว่างประเทศอาเซียน ภายใต้หลัก National Treatment และการเปิดเสรีการเคลื่อนย้ายเงินทุน ซึ่งเป็นการส่งเสริมการเชื่อมโยงตลาดทุนระหว่างกันและการพัฒนาตลาดพันธบัตร มาตรการการเปิดเสรีบัญชีทุน จากกรอบดังกล่าวในประเทศไทย ยังคงพบปัญหาหรือช่องว่างสำคัญของแรงงานทักษะในด้านความคิดสร้างสรรค์ความเป็นผู้นำ เทคโนโลยีสารสนเทศและภาษาอังกฤษ และขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะความสามารถเป็นข้อจำกัดต่อการสร้างสรรค์นวัตกรรมในประเทศไทย เช่น การปรับปรุงเครื่องจักรให้ทันสมัย กระบวนการหรือขั้นตอนการผลิตในรูปแบบใหม่ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ การตั้งบริษัทร่วมทุนหรือร่วมค้า การสร้างตราสินค้า เพราะฉะนั้นประเทศไทยจะต้องมีการพัฒนาคนในเรื่องดังกล่าวให้มากขึ้น เพื่อที่ประเทศไทยจะได้รับประโยชน์สูงสุดจากการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนปี 2558 ต่อไป