ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

ตั้งรับเศรษฐกิจไทยปี 2556 แรงกดดัน "เงินเฟ้อ-ว่างงาน" สูงขึ้น

เริ่มโดย ทีมงานประชาสัมพันธ์, 13:16 น. 24 ก.ย 55

ทีมงานประชาสัมพันธ์

updated: 23 ก.ย. 2555 เวลา 18:17:38 น.
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

ขณะที่เศรษฐกิจไทยยังเผชิญความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยอย่างหนัก จนทำให้ส่งออกของไทยในไตรมาส 3 หดตัว 1.9% และคำสั่งซื้อไตรมาสสุดท้ายยังอ่อนแรง โดยบริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ได้ปรับลดคาดการณ์ส่งออกไทยเหลือ 5% ขณะที่การนำเข้าขยายตัว 8% ส่งผลให้ไทยจะขาดดุลบัญชีเดินสะพัดครั้งแรกประมาณ 700 ล้านเหรียญสหรัฐ

นางพิมลวรรณ มหัจฉริยวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ประเมินทิศทางเศรษฐกิจไทยช่วงปลายปี 2555 ว่ายังคงกรอบการเติบโตไว้ 5% โดยได้รับแรงส่งจากการใช้จ่ายในประเทศโดยเฉพาะการใช้จ่ายของภาคเอกชน ขณะที่ภาครัฐยังต้องรักษาบทบาทในการประคองเศรษฐกิจ เช่น การชะลอการปรับราคาพลังงาน หรือการดูแลราคาสินค้าเกษตร

สำหรับปี 2556 ภายใต้เงื่อนไขที่เศรษฐกิจประเทศผู้นำทั้งสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาไม่เผชิญวิกฤตร้ายแรง คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะรักษาระดับการเติบโตที่ 5% ใกล้เคียงกับปี 2555 โดยภาคการส่งออกมีโอกาสฟื้นตัวตั้งแต่ไตรมาสแรก ซึ่งเป็นผลมาจากการเศรษฐกิจจีนที่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ และจะส่งผ่านความต้องการสินค้าไทยมากขึ้น ตลอดจนราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่คาดว่าจะสูงขึ้น แต่ยังคงมีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเพิ่มขึ้นเป็น 3.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ จากการนำเข้าที่ขยายตัว 15%

เงินเฟ้อ-ว่างงาน ขยับขึ้น

อย่างไรก็ตามศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ในปี 2556 มีแรงกดดันจาก "เงินเฟ้อ" ที่เร่งตัวสูงขึ้น โดยเงินเฟ้อทั่วไป (Headline inflation) ขยับขึ้นไปอยู่ที่ 3.8% จากปี 2555 อยู่ที่ 3.3% ซึ่งเป็นผลมาจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาททั่วประเทศ รวมทั้งราคาพลังงาน และราคาอาหารปรับตัวสูงขึ้นจากปัญหาผลผลิตการเกษตรของโลกที่มีแนวโน้มลดลง

อัตราการว่างงานจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 0.9% แม้ว่าจะเป็นระดับที่ไม่น่ากังวล และต้องจับตาผลสะท้อนของผู้ประกอบการหลังการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ

แม้ว่าเศรษฐกิจไทยยังมีปัจจัยบวกจากการเติบโตของการบริโภค และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ แต่การบริโภคก็จะชะลอตัวกว่าปี 2555 เพราะมาตรการกระตุ้นของรัฐบาลส่วนใหญ่สิ้นสุดลง ขณะที่ปัจจัยลบที่ต้องติดตามคือ แรงกดดันของเงินเฟ้อ การขาดดุลบัญชีเดินสะพัด อัตราการว่างงานที่มีแนวโน้มสูงขึ้น

ห่วงเงินทุนทะลัก-ตลาดเงินผันผวน

นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บล.ภัทร กล่าวว่า ประมาณการเติบโตเศรษฐกิจปี 2556 อยู่ที่ 4.5% ภายใต้ความเสี่ยงที่มาจากทั้งภายนอกและภายในประเทศ หากเกิดพัฒนาการในทางที่เลวร้ายลงทั้งในสหรัฐและยุโรป จะกระทบต่อเศรษฐกิจจีนที่ส่งออกไปทั้ง 2 เศรษฐกิจนี้ในสัดส่วนสูง และจะกระทบกับภาคส่งออกไทยอย่างมาก นอกจากนี้ ปัญหาความขัดแย้งระหว่างจีนกับญี่ปุ่นก็ไม่อาจมองข้าม หากความขัดแย้งดำเนินไปสู่จุดที่หยุดนำเข้าส่งออกจะส่งผลต่อการค้าระหว่างประเทศรวมถึงการส่งออกไทยมากยิ่งขึ้น

นักเศรษฐศาสตร์จาก บล.ภัทรมองว่า อีกปัจจัยเสี่ยงสำคัญกับเศรษฐกิจไทยคือ การไหลเข้าของเงินทุนที่จะมากและผันผวนสูงขึ้น เนื่องจากประเทศขนาดใหญ่พร้อมใจทำนโยบายการเงินผ่อนคลาย ซึ่งต้องติดตามว่า ธปท.จะดูแลตลาดอย่างไร เพราะถ้าปล่อยให้เคลื่อนไหวผันผวนมากขึ้น ผู้ส่งออกก็จะเผชิญทั้งความเสี่ยงด้านยอดขายและอัตราแลกเปลี่ยน

นอกจากนี้ ยังต้องติดตามว่าการลงทุนภาครัฐจะเริ่มดำเนินการและเข้ามาทดแทนการชะลอตัวของต่างประเทศได้เพียงใด เพราะหากไม่คืบหน้าจะทำให้ไม่มีการลงทุนตามที่คาดไว้ โดยเฉพาะเงินลงทุนมูลค่า 3.5 แสนล้านบาท ตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ ที่กระบวนการประมูลโครงการจะเสร็จสิ้นภายในเดือน มิ.ย. 2556

ระวังเจอปัญหา Stagflation

ด้าน นางสาวอุสรา วิไลพิชญ์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) กล่าวว่า ผลจากการที่ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่คือ สหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่น (G3) ดำเนินนโยบายการเงินยืดหยุ่น จะทำให้ปี 2556 เศรษฐกิจทั่วเอเชียรวมถึงไทยต้องเจอกับความกดดันของสภาพคล่องที่ทำให้ค่าเงินแข็งค่า ตลอดจนการเริ่มก่อตัวของเงินเฟ้อที่มาจากราคาสินทรัพย์ที่ปรับตัวขึ้น (asset price inflation) ตั้งแต่ปีนี้

ส่วนของประเทศไทยที่น่ากังวลคือ เงินที่จะไหลเข้ามาในตลาดหุ้น เพราะน่าจะมีเงินไหลเข้ามากกว่าตลาดพันธบัตร และเมื่อไหร่ที่ราคาหุ้นสูงขึ้นเร็วกว่าพื้นฐานนั่นคือการมีฟองสบู่ จะเป็นการสร้างความผันผวนทั้งในตลาดหุ้นและตลาดเงิน และจะสร้างความเสียหายให้นักลงทุนมากเวลาตลาดปรับฐาน

"การดูแลเงินไหลเข้าและออกจะเป็นประเด็นที่ธนาคารกลางทั่วเอเชียให้ความสำคัญ เพราะถ้าปล่อยให้เกิด asset price inflation จะสร้างปัญหาต่อการเติบโตของเศรษฐกิจจริงได้ และมีโอกาสที่เศรษฐกิจเอเชียจะเจอกับปัญหา stagflation คือมีเงินเฟ้อสูงแต่เศรษฐกิจโตต่ำ เพราะนอกจากจะเจอกับปัญหาการส่งออกที่จะต่ำลงแล้ว ยังมีผลข้างเคียงจากนโยบายของประเทศ G3 จะทำให้มีเงินไหลเข้าไปลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ น้ำมัน หุ้น จนราคาสินทรัพย์เพิ่มขึ้น ซึ่งเมื่อเกิดเงินเฟ้อลักษณะนี้ขึ้นย่อมไม่เป็นประโยชน์กับการเติบโต" นางสาวอุสรากล่าวและว่า

จับตาเบิกจ่ายลงทุนภาครัฐล่าช้าฉุด ศก.

ขณะที่ นางสุชาดา กิระกุล รองผู้ว่าการ ด้านสเถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยยังคงมาจากต่างประเทศเป็นหลัก ทั้งสหรัฐและยุโรปที่ทำให้ภาคการส่งออกจะยังคงมีปัญหาสำหรับปีหน้า ขณะที่การบริโภคในประเทศจะการเติบโตชะลอลง เพราะการให้ซอฟต์โลนของ ธปท.ก็หมดแล้ว รวมถึงมาตรการรถคันแรก อย่างไรก็ตามการลงทุนเอกชนจะยังคงต่อเนื่องได้ ส่วนที่จะเป็นปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจไทยมากที่สุดในปี 2556 คือการลงทุนภาครัฐ แต่หากการเบิกจ่ายยังคงล่าช้าไม่สามารถลงทุนได้ตามกรอบเวลา ก็อาจจะกลายเป็นความเสี่ยงที่ไม่มีแรงกระตุ้นเศรษฐกิจได้

อย่างไรก็ตาม รองผู้ว่าการ ธปท.เห็นว่า เงินเฟ้อจะยังไม่ใช่ประเด็นใหญ่สำหรับปีหน้า เพราะเศรษฐกิจโลกยังแผ่วทำให้ไม่มีแรงกดดันจากด้านอุปสงค์ เว้นแต่จะเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองในประเทศผู้ผลิตน้ำมัน ก็อาจจะเห็นปัญหาเงินเฟ้อสูงท่ามกลางเศรษฐกิจไม่ดีได้

puiey

ไม่มีใครช่วยเราได้แล้วหละ คงต้องหวังพี่งตนเองนะแหละดีที่สุด
โกธรกับแฟน ขึ้นสเตตัส "โสด" ถ้าวันนึง แม่มึงโกธร มึงไม่ขึ้นสเตตัส "กำพร้า" เลยเหรอ

แฟร์

เตรียมตัวไว้ได้เลย มีสัญญาณหลายอย่าง บ่งบอกว่าเศรษฐกิจจะทรุดตัวแน่ ในปีงบประมาณ 2556
1. 3 กรมจัดเก็บรายได้ เก็บได้ต่ำกว่าเป้า
2. ส่งออก ต่ำกว่าเป้า  แล้ว
3. มีแต่ กู้ ๆๆๆๆๆๆๆๆๆ
4. กู้มาแล้ว แจก ๆๆๆๆๆๆๆๆ ( แจกแต่ พวกพ้อง เพราะไม่ใช่เงินตนเอง เงินตนเองไม่เคยช่วยสังคม )
5. แจกแล้ว ทำเมกกะโปรเจ็ก มีแต่ โกง ๆๆๆๆๆๆๆ
6. นโยบายมีแต่เอื้อ นายทุน อย่างรถคันแรก บ้านหลังแรก นโยบายแก้น้ำท่วม  ฯลฯ ( ชาวบ้านทั่วไป รู้หรือ เปล่า นายทุนคนไหนทำธุรกิจรถยนต์ นายทุนคนไหนทำบ้านจัดสรร พราะฉะนั้นจงโง่ต่อไป เหลือแต่กระดูก ความเดือดร้อนมาถึง ค่อยรู้กัน
7. ต่อไปจะทำอย่างไร รัฐ มีรายได้ไม่พอจ่าย กู้หนี้สินมาล้นพ้นตัวแล้วทำอย่างไร จะก็เพิ่มเอาอะไรค้ำล่ะครับ ก็จำเป็นต้อง ขึ้นภาษีต่าง ๆ อันดับแรกหนีไม่พ้น  Vat จาก 7 % เป็น 10 %  อันดับ 2 เพิ่ม ภาษี เหล้า บุหรี่ อาบอบนวด น้ำหอม น้ำมันเชื้อเพลิง แก๊ส  ก๊าซ สินค้าฟุ่มเฟือยทั้งหลายแหล่  แล้วต่อมาก็จะกระทบภาคครัวเรือนแล้วล่ะครับ  สินค้าแพง ค่าครองชีพสูง เงินเฟ้อ เงินเยอะซื้อของได้นิดเดียว ในขณะที่เงินหายากเย็นแสนเข็ญ  ก้มหน้ารับกรรมไปก็แล้วกัน เตือนให้เตรียมพร้อม ทำใจไว้ก่อน