ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

15ปีกบข.ถึงเวลาแก้กฎหมาย!

เริ่มโดย ทีมงานประชาสัมพันธ์, 11:39 น. 25 ก.ย 55

ทีมงานประชาสัมพันธ์

ที่มา คมชัดลึกออนไลน์วันที่ 25-09-2555

15ปีกบข.ถึงเวลาแก้กฎหมาย!
สัมภาษณ์พิเศษ : 15 ปี กบข.ถึงเวลาแก้กฎหมาย ปรับการจ่ายบำนาญ-หลักเกณฑ์ลงทุน : โดย...ณัฎฐ์ชิตา เกิดแดง
          จากกรณีที่กระทรวงการคลัง โดยกรมบัญชีกลางเตรียมแก้ไขการจ่ายเงินบำนาญให้ข้าราชการที่เป็นสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ตามข้อเรียกร้องของข้าราชการที่บรรจุก่อนวันที่ 27 มีนาคม 2540 ซึ่งไม่พอใจเงินก้อนที่ได้รับจาก กบข. หลังเกษียณ เนื่องจากเห็นว่าไม่เป็นไปตามสมมุติฐานเดิมที่ตั้งไว้ในช่วงแรกของการจัดตั้งกองทุน ดังนั้น เพื่อยุติปัญหาต่างๆ กรมบัญชีกลางจึงได้ข้อสรุปว่าจะให้สมาชิกที่รับราชการก่อนปี 2540 สามารถเลือกได้ว่าจะรับบำนาญสูตร กบข. ต่อไป หรือจะกลับไปใช้บำนาญสูตรเดิม ตาม พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญ 2494 โดยหากสมาชิกส่วนใหญ่เลือกกลับไปใช้บำนาญสูตรเดิม แน่นอนว่าภาครัฐต้องมีภาระงบประมาณเพิ่มขึ้นอย่างมากและอาจส่งผลกระทบต่อฐานะการคลังของประเทศในระยะยาว

ปรับสูตรบำนาญเปิดทางเลือก
          น.ส.โสภาวดี เลิศมนัสชัย เลขาธิการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ให้ความเห็นว่า แนวทางการเยียวยาตามข้อสรุปของกรมบัญชีกลางน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด เพื่อยุติปัญหาและข้อเรียกร้องของสมาชิกที่มีมาตลอดให้ปรับสูตรบำนาญใหม่ เพราะข้าราชการมองว่าสูตรเดิมของกรมบัญชีกลางทำให้ได้รับบำนาญรายเดือนใกล้เคียงกับเงินเดือนเดือนสุดท้ายและมากกว่าสูตรของ กบข. แต่ต้องไม่ลืมว่าการเป็นสมาชิกกบข. ยังมีเงินก้อนจากเงินสะสม 3% ของเงินเดือนจากสมาชิก และเงินสมทบ 3% จากรัฐบาล รวมทั้งเงินชดเชย 2% จากรัฐบาลสำหรับชดเชยสูตรบำนาญที่เปลี่ยนไปและผลประโยชน์จากเงินทุกก้อนที่กบข.นำไปลงทุน ส่วนข้าราชการที่บรรจุก่อนปี 2540 และสมัครใจเข้าเป็นสมาชิก กบข. รัฐบาลยังมอบเงินก้อนเป็นเงินประเดิมอีก 1 ก้อนเพื่อเป็นแรงจูงใจด้วย
          "เงินประเดิมก้อนแรกที่รัฐบาลให้แต่ละคนจะไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับอายุราชการ เมื่อรวมกับเงินสมทบและเงินชดเชยของภาครัฐก็ไม่น่าจะเสียเปรียบบำนาญแบบเดิม อีกทั้งยังได้เงินก้อนไปใช้นอกเหนือจากบำนาญรายเเดือนด้วย แต่ช่วงหลังที่มีผู้เกษียณไม่พอใจเงินก้อนที่ลดลงเพราะบางคนคิดว่าจะได้เป็นล้านแต่พอเหลือ 7-8 แสนก็รู้สึกว่าถูกหลอก ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการบริหารเงินที่ได้รับผลตอบแทนน้อยกว่าที่ตั้งสมมุติฐานไว้เดิมปีละ 9% ครั้งนี้จึงถือเป็นโอกาสสุดท้ายที่แต่ละคนจะตัดสินใจเลือกรูปแบบการรับบำนาญของตัวเอง" 
          เลขาฯ กบข. ให้ข้อมูลว่า ข้าราชการที่สมัครใจเข้า กบข. ก่อนปี 2540 ในปัจจุบันเหลือจำนวน 758,661 คน ซึ่งสมาชิกคนสุดท้ายของกลุ่มนี้จะเกษียณในปี 2589 จากจำนวนสมาชิกเริ่มต้นในปีแรก 1.069 ล้านคน จึงมีกลุ่มที่เกษียณอายุราชการไปแล้วประมาณ 3 แสนคน ขณะที่จำนวนสมาชิกล่าสุดสิ้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มีทั้งสิ้น 1.18 ล้านคน เนื่องจากมีข้าราชการเข้าใหม่ลดลงเรื่อยๆ
          ขณะที่มีข้าราชการเกษียณรวมกับเข้าโครงการออกก่อนเกษียณ และลาออกหรือเสียชีวิตจะมีประมาณปีละไม่เกิน 3 หมื่นคน ล่าสุดเดือนกันยายนปีนี้จะมีข้าราชการที่เกษียณและเข้าโครงการออกก่อนเกษียณประมาณ 2.7 หมื่นคน ใช้เงินในการจ่ายคืนให้สมาชิกประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาท หรือไม่เกิน 3 หมื่นล้านบาท ส่วนบำเหน็จบำนาญนั้น ยังคงรับจากกรมบัญชีกลาง ซึ่งข้าราชการส่วนใหญ่เลือกรับบำนาญมากกว่าบำเหน็จ เพราะรัฐจะจ่ายเงินเดือนให้ไปจนกว่าจะเสียชีวิตและยังได้รับสิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลเหมือนตอนเป็นข้าราชการ

รัฐแบกภาระเงินบำนาญขรก.เพิ่ม

          น.ส.โสภาวดี กล่าวอีกว่า หากกรมบัญชีกลางให้สิทธิสมาชิกก่อนปี 2540 เลือกกลับไปรับบำนาญแบบเดิม ก็จะครอบคลุมไปถึงข้าราชการเก่าที่เกษียณไปแล้ว 3 แสนคนด้วย แม้จะยุ่งยากอยู่บ้างแต่ก็ยังดีกว่าการใช้แนวทางปรับสูตรจ่ายบำนาญของ กบข.ใหม่ เพราะจะไม่เป็นธรรมกับคนที่เกษียณไปแล้ว ซึ่งที่มองว่ายุ่งยากอาจเป็นเรื่องของการติดตาม เพราะข้าราชการที่เกษียณไปแล้วอาจย้ายที่อยู่หรือบางรายอาจจะใช้เงินก้อนหมดไปแล้วจึงอาจไม่มีเงินก้อนมาคืนหลวง  เนื่องจากตามข้อกำหนดเบื้องต้นเห็นว่ากลุ่มที่เลือกกลับไปใช้บำนาญสูตรเดิมจะต้องคืนเงินประเดิม เงินชดเชย เงินสมทบของรัฐบาลพร้อมทั้งดอกผลทั้งหมด จะได้รับเฉพาะเงินสะสม 3% ของตัวเองพร้อมดอกผลส่วนนี้เท่านั้น 
          อย่างไรก็ตาม ระหว่างการแก้ไขกฎหมายการจ่ายบำนาญใหม่ก็มีเวลาให้สมาชิกได้ตัดสินใจประมาณ 1 ปี ว่าจะเลือกรูปแบบใดหลัง จากนั้นจะถือว่ายอมรับกับหลักเกณฑ์ใหม่ ส่วนผู้จะเกษียณในปีนี้ซึ่งจะมีสิทธิเลือกได้ด้วยนั้น อยากแนะนำให้ออมเงินกับ กบข.ต่อไปก่อน เผื่ออยากจะกลับไปรับบำนาญแบบเดิมจะได้มีเงินก้อนคืนหลวง ซึ่ง กบข. มีแผนรองรับการออมต่อไว้หลายแผนทั้งออมต่อทั้งก้อนหรือจะออมต่อบางส่วนก็ได้ ทั้งนี้ หากทั้ง 7 แสนกว่าคนเลือกกลับไปใช้บำนาญแบบเดิม กรมบัญชีกลางคงต้องประเมินภาระการจ่ายเงินบำนาญในแต่ละปีใหม่ที่จะต้องเพิ่มสูงขึ้นอย่างแน่นอน ซึ่งจากการประเมินในปี 2578 อาจจะต้องใช้เงินงบประมาณจ่ายบำนาญสูงถึง 7-8 แสนล้านบาท
          หากข้าราชการก่อนปี 2540 กลับไปเลือกแนวทางรับบำนาญแบบเดิม ในส่วนของกบข. ก็ไม่ได้มีผลกระทบหรือมีภาระมากขึ้น เพราะกว่าจะถอนเงินออกไปก็ต้องรอให้เกษียณอายุราชการก่อน แต่รัฐบาลจะต้องมีภาระสูงขึ้นมาก เพราะจากที่ประเมินกันไว้พบว่า รายจ่ายหมวดเงินเดือน ค่าจ้างและบำเหน็จบำนาญนั้น คิดเป็นสัดส่วนถึง 40% ของงบประมาณรายจ่ายแต่ละปี หรือคิดเป็น 7% ของจีดีพี จากที่กรมบัญชีกลางประเมินรัฐอาจต้องใช้งบประมาณสูงถึงปีละ 9.3 แสนล้านบาททีเดียว

เตือนเตรียมพร้อมรับสังคมสูงวัย

          น.ส.โสภาวดี ชี้แจงว่า รัฐบาลยังมีเงินส่วนหนึ่งที่ได้คืนจากสมาชิกจำนวนไม่น้อย ส่วนนี้ก็จะฝากให้ กบข. บริหารต่อไปเพื่อหาผลประโยชน์มาเป็นเงินสำรองไว้จ่ายบำนาญให้ข้าราชการหลังเกษียณ  ซึ่งจะเป็นเงินส่วนที่นอกเหนือจากเงินสำรองที่รัฐบาลฝากไว้กับกบข.เพื่อเป็นหลักประกันการจ่ายเงินบำเหน็จบำนาญ โดยขณะนี้มีประมาณ 1.5 แสนล้านบาท ถือว่ายังไม่เพียงพอในการจ่ายเงินให้ผู้เกษียณในอนาคตที่จะมีมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่สมาชิก กบข.จะลดลงเรื่อยๆ
          "อีก 10 ปีไทยก็จะเข้าสู่สังคมของผู้สูงอายุเหมือนกับประเทศญี่ปุ่น ที่ขณะนี้มีคนสูงอายุมากกว่าวัยทำงานและส่วนใหญ่มีอายุยืน หลายประเทศมองเห็นปัญหานี้ จึงยกเลิกระบบบำนาญหรือใช้วิธีเดียวกับกบข.คือปรับสูตรบำนาญใหม่ เพราะการเอาเงินคนใหม่มาจ่ายให้คนเก่านั้น เหมือนแชร์ลูกโซ่จะไม่ยั่งยืน ของประเทศอื่นสูตรใหม่ใช้กับข้าราชการใหม่ทั้งหมด คนเก่าก็รับบำนาญแบบเดิมไป ทำให้ไม่มีปัญหาเหมือนของไทย และระหว่างการออมภาครัฐกับเอกชนก็มีความเหลื่อมล้ำเช่นกัน เราไม่เคยมองทั้งระบบ"
          เลขาฯ กบข.กล่าวว่า การที่ประเทศพัฒนาแล้วยังสามารถจ่ายบำนาญแบบเดิมได้ เพราะมีการเก็บภาษีมากและมีเงินกองทุนขนาดใหญ่ประมาณ 60% ของจีดีพี เทียบกับของไทยรวมทุกกองทุนที่เป็นการออมระยะยาวแล้วยังมีเม็ดเงินไม่ถึง 17% ของจีดีพี อย่างไรก็ตาม หลายประเทศมีความจำเป็นต้องตัดรายจ่ายส่วนของเงินเดือนข้าราชการ สวัสดิการของข้าราชการ ยกเลิกการจ่ายบำนาญ เพราะประสบปัญหาหนี้สินและฐานะทางการคลังที่อยู่ในขั้นล้มละลาย ส่วนของไทยยังไม่ถือว่ามีปัญหาแต่ก็ต้องเตรียมพร้อมรับกับปัญหาที่อาจตามมาในอนาคต

ดันแก้เพดานการลงทุนให้ยืดหยุ่น

          น.ส.โสภาวดี กล่าวด้วยว่า การออมเงินเป็นหน้าที่ของสมาชิกต้องตัดสินใจเองว่า อยากมีเงินก้อนหลังเกษียณมากน้อยแค่ไหน บางคนหากเห็นว่า 3% น้อยไปก็สามารถออมได้ถึง 12% และยังได้การชดเชยและสมทบจากรัฐอีก 5% ทำให้หลังเกษียณอย่างน้อยจะได้เงินก้อนเป็นล้าน เพราะมีส่วนของดอกผลที่เกิดขึ้นด้วย ส่วนการลงทุนจะให้สมาชิกเลือกเองว่าจะเอาแบบเสี่ยงบ้าง แต่ยอมรับว่าสมาชิกจำนวนไม่น้อยที่ไม่ค่อยเข้าใจ จึงอยากแนะนำว่าหากเป็นข้าราชการใหม่ๆ ยังมีเวลาเหลืออีกมาก ควรเลือกลงทุนแบบเสี่ยงไปก่อน เพราะสุดท้ายจะได้ผลตอบแทนไม่ต่ำกว่า 9% ซึ่งระหว่างปีอย่าไปดูผลการลงบันทึกบัญชีที่อาจมีขึ้นๆ ลงๆ บ้างตามภาวะตลาด
          อย่างไรก็ตาม มองว่า พ.ร.บ.กบข.นั้น ใช้มานาน 15 ปีแล้วน่าจะถือโอกาสปรับปรุงแก้ไขส่วนอื่นๆ นอกเหนือจากการจ่ายเงินบำนาญข้างต้นไปในคราวเดียวกันเลย ซึ่งอยากเสนอให้แก้ข้อบังคับเรื่องของการลงทุน โดยขอให้ตัดประเด็นที่กำหนดให้ลงทุนในหลักทรัพย์ไม่มีความเสี่ยงอย่างน้อย 60% ออกไป และให้คณะกรรมการเป็นผู้กำหนดเองตามสถานการณ์ของตลาดเพื่อให้มีความคล่องตัวมากขึ้น 
          "การบริหารเงินลงทุนยังถูกจำกัดด้วยข้อกฎหมาย หากแก้ไขให้เปิดกว้างและคล่องตัวมากขึ้น จะทำให้มีผลตอบแทนสูงขึ้น โดยคณะกรรมการมีหน้าที่ดูแลและระมัดระวังเรื่องความเสี่ยงในการลงทุนอยู่แล้วจึงไม่น่าห่วง จริงๆ อยากให้มีแผนการลงทุนหลักที่จะปรับลดสัดส่วนการลงทุนตามอายุของสมาชิกแบบอัตโนมัติไปเลยด้วยซ้ำ"
          เลขาฯ กบข. ยอมรับว่า ตั้งแต่ก่อตั้ง กบข. มาจนถึงขณะนี้ผลตอบแทนเฉลี่ยจากการลงทุนอยู่ที่ 7% เหตุที่ต่ำกว่า 9% ตามสมมุติฐานเดิม เพราะ 15 ปีก่อน คงไม่มีใครคิดว่าผลตอบแทนของดอกเบี้ยจากที่เคยมีตัวเลข 2 หลักจะลดฮวบมาเหลือ 1% กว่า ส่วนตราสารหนี้ตอนนี้มีผลตอบแทนเพียง 2-3% ขณะที่ปัจจุบัน กบข.เน้นลงทุนในตราสารหนี้ในประเทศมากสุดถึง 63.88% หรือเป็นเงินกว่า 2.7 แสนล้านบาท สำหรับตราสารทุนหรือหุ้น ซึ่งผลตอบแทนสูงที่สุดลงทุนได้แค่ 8-10% ซึ่งจะทำเรื่องเสนอไปยังกระทรวงการคลังในเร็วๆ นี้ เพื่อจะได้แก้ไขในพ.ร.บ.ไปในคราวเดียวกัน

3 ปีทำงานบนความท้าทาย

          สุดท้าย เลขาฯ กบข. กล่าวถึงการทำงานตลอดระยะ 3 ปีที่ผ่านมา ว่าในช่วงแรกถือเป็นงานที่ท้าทายมาก เพราะเข้ามาในช่วงที่มีปัญหาหนักต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2551 ที่ กบข.มีการบริหารเงินลงทุนติดลบครั้งแรก จากนั้นปี 2552 ก็มีเรื่องการตรวจสอบการทำงานของผู้บริหาร ทำให้งานสะดุด และมีสมาชิกส่วนหนึ่งไม่พอใจ จึงไม่แปลกที่จะมีม็อบคอยต้อนรับอยู่บ่อยครั้ง บางครั้งในการประชุมก็จะมีคำถามที่แสดงถึงความไม่พอใจอยู่บ้าง จึงต้องพยายามเดินสายชี้แจงข้อมูลและทำความเข้าใจกับสมาชิกอย่างต่อเนื่อง ซึ่งช่วงหลังสมาชิกเริ่มมีความเข้าใจมากขึ้น ว่าประเด็นปัญหานั้นมีส่วนที่เกี่ยวพันกันหลายหน่วยงาน ส่วนในแง่ข้อกำหนด กฎหมายต่างๆ นั้น ต้องเป็นการพิจารณาระดับนโยบาย
          อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าก่อนเข้ามารับหน้าที่ก็ไม่ได้มีความเข้าใจเรื่องการจ่ายบำนาญของข้าราชการมากนัก เพราะมีรายละเอียดปลีกย่อยแตกต่างกันอยู่มาก อีกทั้งก่อนหน้านี้ กบข.เองไม่ได้มีการสื่อสารให้สมาชิกทั้งหมดรับทราบ บางครั้งจึงอาจเกิดความเข้าใจผิดขึ้น และมีการกระพือข่าวไปในทางลบ อย่างกรณีการบริหารเงินลงทุนติดลบเมื่อปี 2551 ก็เป็นการขาดทุนทางบัญชีไม่ได้มีผลให้ขาดทุนจริง เพราะปีถัดมาที่ติดลบก็เป็นบวก หรือโดยรวมแล้วยังคงมีผลกำไรอยู่ เพียงแต่อาจจะปรับลดลงบ้างในส่วนของดอกผลแต่เงินต้นยังอยู่เหมือนเดิม แต่พอกระจายข่าวออกไปว่าขาดทุนก็ทำให้สมาชิกส่วนใหญ่เข้าใจผิดว่ากินทุนที่สะสมอยู่ทั้งก้อนจึงไม่พอใจ
          "ช่วงที่บริหารขาดทุนมีสมาชิกฟ้องศาลปกครองทั้งแบบเดี่ยวแบบกลุ่ม รวมแล้ว 600 คดี ตอนนี้เคลียร์ไปแล้ว 400 กว่าคดี และเริ่มมีคนเข้าใจ เห็นใจ กบข.มากขึ้น ในช่วงเวลาที่เหลือปีกว่านี้ก็อยากวางพื้นฐานด้านบุคลากรให้มีความรู้ ความสามารถเรื่องการลงทุน เพราะทุกวันนี้ตลาดเงินตลาดทุนเปลี่ยนแปลงรวดเร็วจึงต้องตามให้ทัน" เลขาฯ กบข. กล่าวทิ้งท้าย


----------
(สัมภาษณ์พิเศษ : 15 ปี กบข.ถึงเวลาแก้กฎหมาย ปรับการจ่ายบำนาญ-หลักเกณฑ์ลงทุน : โดย...ณัฎฐ์ชิตา เกิดแดง)