ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

58อุตสาหกรรมผ่าวิกฤตแรงงาน รง.ใหญ่ผุดโปรเจ็กต์จ้างเรียนอาชีพแข่งขึ้นค่าแรง

เริ่มโดย ทีมงานประชาสัมพันธ์, 14:48 น. 26 ก.ย 55

ทีมงานประชาสัมพันธ์

updated: 26 ก.ย. 2555 เวลา 11:18:21 น.
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

นายถาวร ชลัษเฐียร รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และประธานกิตติมศักดิ์กลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้นักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศที่เข้ามาพัฒนากิจการในไทยทั้ง 58 อุตสาหกรรม กำลังแย่งชิงแรงงานระดับล่างและแรงงานฝีมือ ซึ่งเป็นผลจากไทยได้รับความนิยมจากนักลงทุนทั่วโลกขยายกิจการต่อเนื่องปีละกว่า 6 แสนล้านบาท จนสร้างความปั่นป่วนกับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ตอนนี้ ส.อ.ท.วางแผนหาทางออกโดยนำร่องทำโครงการโรงงานกับโรงเรียน โดยนำร่องกับสถาบันอาชีวะศึกษาทั่วประเทศชุดแรก 80 แห่ง และผู้ประกอบการโรงงานอีก 50 แห่ง

ทั้ง 3 ฝ่าย คือสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรม สถาบันการศึกษาสายอาชีพ ต้องร่วมกันปรับโครงสร้างระบบการผลิตบุคลากรเข้าสู่โรงงานอุตสาหกรรม ด้วยการจัดระเบียบหลักสูตรการศึกษาใหม่โดยใช้เยอรมนีเป็นต้นแบบ เร่งผลิตนักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ภายในอีก 2 ปีข้างหน้า จะต้องเข้ามาทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมปีละ 20,000 คน

"เมื่อวันที่ 24 กันยายนที่ผ่านมา ได้ระดมผู้บริหารสถาบันอาชีวศึกษาและตัวแทนโรงงานอุตสาหกรรมประชุมพบปะแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน ตกลงที่จะเดินหน้าพัฒนาบุคลากรสายอาชีพป้อนภาคอุตสาหกรรมทั้งระบบ เพราะขณะนี้ความต้องการจ้างแรงงานมีมากถึงปีละกว่า 100,000 คน แต่ผลปรากฏว่าแทบจะไม่มีแรงงานให้จ้าง แถมบริษัทขนาดใหญ่ กลาง เล็ก ต่างก็ต้องแย่งซื้อตัวแรงงานกันอุตลุด ถึงจะสร้างแรงจูงใจยอมจ่ายค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำวันละ 300 บาทขึ้นไป"

นายถาวรกล่าวว่า ขณะนี้กลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ทั้งยานยนต์และชิ้นส่วน อิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนอุปกรณ์ รวมถึงกลุ่มสาขาอื่น ๆ ที่มียอดขายสูงเป็นอันดับต้น ๆ ทั้งตลาดในประเทศและส่งออก พร้อมที่จะเปิดให้นักเรียนอาชีวศึกษาทุกสถาบันที่เข้าร่วมโครงการเรียนไปทำงานไปเข้ามาเป็นลูกจ้าง โดยพร้อมจ่าย ปวช.เดือนละ 9,000 บาท ปวส.12,000 บาท และสนับสนุนให้ศึกษาต่อปริญญาตรีสาขาวิชาชีพ เพื่อกลับมารับตำแหน่งผู้บริหารในโรงงานได้ โดยทุกฝ่ายเห็นพ้องที่จะใช้แผนพัฒนาแรงงานในระยะยาว เนื่องจากไทยต้องก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางการผลิตภาคอุตสาหกรรมสาขาต่าง ๆ ทั้งปัจจุบันและอนาคตอีกเป็นจำนวนมาก เพื่อสนับสนุนการส่งออกปีละกว่า 10 ล้านล้านบาท

นอกจากนี้ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยยังได้ร่วมกับกระทรวงแรงงานจัดทำร่างมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ และสำรวจค่าจ้างมาตรฐานฝีมือนำร่องภาคอุตสาหกรรม 11 กลุ่ม อาทิ ยานยนต์เฟอร์นิเจอร์ เหล็ก รวมทั้งหมดราว 44 สาขางาน ต่อเนื่องจากก่อนหน้านี้ได้พิจารณาเสร็จไปแล้ว 214 สาขา และผลจากการแย่งแรงงานระดับล่างส่งผลให้กลุ่มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มียอดขายสูงอย่างรถยนต์และชิ้นส่วนที่ตั้งเป้าผลิตปีละ 2.2 ล้านคัน อิเล็กทรอนิกส์และไฟฟ้า ต่างต้องใช้วิธีเพิ่มค่าจ้างให้เกินวันละ 300 บาท แบ่งเป็นบริษัทขนาดกลางจะจ่ายเพิ่มวันละ 40-50 บาท/คน ขนาดใหญ่เพิ่มวันละ 100 บาทขึ้นไป/คน

ด้านนายอิทธิพล ช้ำหลำ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการประกอบกิจการต่างด้าว กล่าวว่า ที่ประชุมมีมติอนุมัติให้ใบอนุญาตนักลงทุนต่างด้าวประกอบธุรกิจในไทยช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ ระหว่างมกราคม-กันยายนนี้ รวม 251 ราย เพิ่มขึ้น 27% มูลค่าการลงทุน 10,761 ล้านบาท เฉพาะเดือนกันยายนปีนี้การลงทุนเพิ่มขึ้นถึง 2,743 ล้านบาท จากกลุ่มการลงทุนธุรกิจบริการ 20 ราย รวม 2,578 ล้านบาท ธุรกิจค้าส่งที่เกี่ยวข้องกับภาคอุตสาหกรรมสายไฟรถยนต์ แบตเตอรี่ มิเตอร์วัดความเร็วรถยนต์ อุปกรณ์ความร้อน แผ่นฉนวนกันไฟรั่ว ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 5 ราย รวม 1,573 ล้านบาท กลุ่มธุรกิจสำนักงานตัวแทน 6 ราย 22 ล้านบาท

ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) รายงานผลส่งเสริมการลงทุนระหว่างมกราคม-สิงหาคม 2555 มีสูงถึง 691,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 115% มาจากุตสาหกรรมหลัก คือบริการและสาธารณูปโภค 367 โครงการ 183,000 ล้านบาท ปิโตรเคมี กระดาษ พลาสติก 195 โครงการ 169,000 ล้านบาท ยานยนต์ เครื่องจักร และโลหะ 346 โครงการ 140,000 ล้านบาท เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ 228 โครงการ 101,000 ล้านบาท