ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

อบจ.ทั่วประเทศเฮ 1ต.ค.ปั๊มรายได้เพิ่ม รีดภาษีน้ำมัน-ยาสูบ

เริ่มโดย ทีมงานประชาสัมพันธ์, 10:29 น. 01 ต.ค 55

ทีมงานประชาสัมพันธ์

updated: 29 ก.ย. 2555 เวลา 19:30:37 น.
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

76 อบจ.ตีปีก 1 ต.ค.นี้ จัดเก็บภาษีน้ำมัน-ยาสูบทั้งระบบเอง หลังกรมสรรพสามิตส่งคืนภารกิจพร้อมถ่ายโอนฐานข้อมูลให้ เป็นแค่ที่ปรึกษา กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นสั่ง 21 จังหวัด ทำหน้าที่พี่เลี้ยงช่วงรอยต่อ จี้ อบจ.ออกข้อบัญญัติ-ระเบียบรองรับเร่งด่วน มั่นใจใช้คนรู้สภาพพื้นที่ทำงานรีดภาษีน้ำมัน-ยาสูบได้เพิ่มเท่าตัวแน่

แหล่งข่าวจากกระทรวงมหาดไทยเปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า วันที่ 1 ตุลาคมนี้ กรมสรรพสามิตจะส่งคืนงานจัดเก็บภาษีสรรพสามิตจากการค้าน้ำมัน และยาสูบ ให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) แต่ละพื้นที่จัดเก็บภาษี 2 รายการดังกล่าวเอง จากเดิมกรมสรรพสามิตทำหน้าที่จัดเก็บและนำส่งให้ อบจ.อีกทอดหนึ่งมาตลอด อย่างไรก็ตามในช่วงรอยต่อปีงบประมาณ 2556 นี้ กรมสรรพสามิตยังให้ความร่วมมือช่วยเหลือในการดำเนินการ โดยถ่ายโอนฐานข้อมูลด้านการจัดเก็บภาษี โดยเฉพาะรายชื่อร้านค้าหรือเอเย่นต์บุหรี่ และสถานีบริการน้ำมันให้แต่ละ อบจ.

ขณะที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล อบจ. ได้เตรียมความพร้อมรองรับภารกิจนี้ไว้แล้ว และมั่นใจว่าจะสามารถเพิ่มรายได้จากการจัดเก็บภาษีน้ำมันและยาสูบได้เพิ่มขึ้นกว่าเดิมนับเท่าตัว จากปัจจุบันจัดเก็บภาษีน้ำมันได้ปีละ 200-300 ล้านบาท ขณะที่ภาษียาสูบจัดเก็บได้กว่า 3,000 ล้านบาทต่อปี

ขณะเดียวกันกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้สั่งการให้ อบจ.ที่มีความพร้อม 21 อบจ. ให้ความร่วมมือ ส่งเสริม และสนับสนุน อบจ.แห่งอื่น ๆ ในลักษณะเป็นพี่เลี้ยงในการจัดเก็บภาษีบำรุง อบจ.จากการค้าน้ำมันและยาสูบ โดยแบ่งเป็นภาคตามเขตพื้นที่ของกรมสรรพสามิต

ดังนี้ ภาค 1 จ.พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี ภาค 2 จ.ปราจีนบุรี สระแก้ว ระยอง ฉะเชิงเทรา ภาค 3 จ.นครราชสีมา อุบลราชธานี สุรินทร์ ภาค 4 อุดรธานี ขอนแก่น ภาค 5 จ.แพร่ เชียงใหม่ ลำพูน ภาค 6 จ.พิษณุโลก ภาค 7 จ.สมุทรสงคราม สุพรรณบุรี ภาค 8 จ.สุราษฎร์ธานี กระบี่ และภาค 9 จ.ตรัง และสงขลา

แหล่งข่าวกล่าวว่า เพื่อให้การจัดเก็บภาษีน้ำมันและยาสูบเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและป้องกันแก้ไขปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น วันที่ 25 ก.ย.ที่ผ่านมา นายวีระยุทธ เอี่ยมอำภา อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้ทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดทั่วประเทศ ซักซ้อมแนวทางการจัดเก็บภาษีบำรุง อบจ. จากการค้าน้ำมันและยาสูบ สาระสำคัญคือ 1.ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเร่งรัดให้ อบจ.ที่ยังไม่ได้ออกหรือชะลอออกข้อบัญญัติเพื่อรองรับการจัดเก็บภาษีบำรุง อบจ.น้ำมันและยาสูบ พิจารณาออกข้อบัญญัติโดยเร่งด่วน

2.ให้ อบจ.ที่อยู่ระหว่างการเลือกตั้งซึ่งไม่สามารถออกข้อบัญญัติจัดเก็บภาษี ออกประกาศหรือระเบียบปฏิบัติกำหนดให้ อบจ.เป็นสถานที่รับจดทะเบียนสถานการค้า 3.ให้ อบจ.ประสานการจัดเก็บภาษีกับสรรพสามิตพื้นที่ 4.ให้ อบจ.ที่มีความพร้อมในการจัดเก็บภาษีทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้ อบจ.ที่ยังไม่มีความพร้อม 5.ให้ อบจ.ที่ออกข้อบัญญัติแล้วจัดส่งข้อบัญญัติให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น โรงงานยาสูบผู้ประกอบการ รวมทั้งแจ้งให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีทราบด้วย

สาเหตุที่กรมสรรพสามิตคืนงานจัดเก็บภาษีมาให้ อบจ.จัดเก็บเอง เป็นเพราะต้องการปรับบทบาทการทำงานตามยุทธศาสตร์ในการพัฒนาหน่วยงานของกรมสรรพสามิต โดยกรมสรรพสามิตจะเปลี่ยนบทบาทเป็นที่ปรึกษา ให้ความรู้ด้านภาษี และกฎระเบียบต่าง ๆ แทน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปีงบประมาณปัจจุบันการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันอยู่ในระดับกว่า 1 แสนล้านบาท/ปี ภาษียาสูบประมาณ 4-5 หมื่นล้านบาท/ปี โดยปีงบฯ 2554 กรมสรรพสามิตจัดเก็บภาษีน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันได้ 117,914 ล้านบาท ลดลงจากปีงบฯ 2553 ที่จัดเก็บได้ 152,825 ล้านบาท ขณะที่ 9 เดือนแรกปีงบประมาณ 2555 (1 ก.ย. 2554-30 มิ.ย. 2555) จัดเก็บได้แล้ว 45,360 ล้านบาท

ส่วนภาษียาสูบ ปีงบฯ 2554 จัดเก็บได้ 57,195 ล้านบาท เพิ่มจากปีงบประมาณ 2553 ที่จัดเก็บได้ 53,367 ล้านบาท ส่วนยอดจัดเก็บในปีงบฯ 2555 ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 2555 จัดเก็บได้แล้ว 45,270 ล้านบาท

ขณะที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง รายงานสถิติตัวเลขยอดจัดเก็บรายได้ของ อบจ.จากภาษีน้ำมันและยาสูบดังนี้ ปีงบฯ 2554 จัดเก็บภาษีน้ำมันได้ 478 ล้านบาท ปีงบฯ 2555 ณ สิ้นเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา จัดเก็บได้ 142 ล้านบาท ภาษียาสูบปีงบฯ 2554 จัดเก็บได้ 3,200 ล้านบาท ปีงบฯ 2555 ณ สิ้นเดือน มิ.ย. จัดเก็บได้ 1,563 ล้านบาท

นางเบญจา หลุยเจริญ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า ตาม พ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 และ พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนกระจายอำนาจฯ พ.ศ. 2542 วางแนวทางให้ อบจ.เติบโตและเข้มแข็ง โดยให้มีรายได้จากภาษีบำรุง อบจ. สำหรับน้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซลและน้ำมันที่คล้ายกัน ก๊าซปิโตรเลียม และยาสูบ แต่ในทางปฏิบัติ อบจ.ส่วนใหญ่ไม่ได้จัดเก็บเอง แต่ออกข้อบัญญัติและมอบอำนาจให้กรมสรรพสามิตจัดเก็บแทนตั้งแต่ปี 2542

"เรื่องนี้พอถึงเวลาแล้วแต่ละ อบจ.ต้องออกข้อบัญญัติ แต่ที่ผ่านมาบางแห่งก็ยังไม่ได้ออก มีบางแห่งที่จัดเก็บเองได้แล้ว แยกเป็น 3 กลุ่มคือ ที่เก็บเองแล้วมี 4 จังหวัดคือ แพร่ อยุธยา ร้อยเอ็ด และเลย ที่ยังไม่มีการจัดเก็บเลย 23 จังหวัดคือ ยังไม่มีการออกข้อบัญญัติ และที่ออกข้อบัญญัติแล้วและให้กรมสรรพสามิตเก็บแทน 48 จังหวัด" นางเบญจากล่าว