ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

สาระธรรมไตรภพ

เริ่มโดย กัมมุนาวัฏตีโลโก, 21:49 น. 01 ต.ค 55

กัมมุนาวัฏตีโลโก

ภิกษุณีสาวิกา ผู้ตรัสรู้เร็ว บรรลุพระอรหัตในเวลาจบคาถาเพียง ๔ บท

--------------------------------------------------------------------------------

พระภัททากุณฑลเกสาเถรี ถือปฏิสนธิในสกุลเศรษฐี กรุงราชคฤห์ บิดามารดาตั้งชื่อนางว่า ภัททา แปลว่า เจริญ หรือ น่ารัก วันนั้นเหมือนกัน บุตรปุโรหิตก็เกิดในพระนครนั้น เวลาที่บุตรปุโรหิตเกิด อาวุธทั้งหลายก็ลุกโพลงไปทั่วพระนครตั้งแต่พระราชนิเวศน์เป็นต้นไป ปุโรหิตก็ไปเข้าเฝ้าแต่เช้าตรู่ ทูลถามพระราชาตามราชประเพณีถึงการบรรทมของพระราชาในคืนที่ผ่านมาว่าเป็นสุขหรือไม่

พระราชาตรัสว่า เราจะนอนเป็นสุขได้แต่ที่ไหนเล่า อาจารย์ เราเห็นอาวุธ ทั้งหลายในราชนิเวศน์ลุกโพลงตลอดคืนยังรุ่ง ในวันนี้ จะต้องประสบภัยกันหรือ ?

ปุโรหิตกราบทูลว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า พระองค์โปรดอย่าทรงพระดำริเพราะข้อนั้นเป็นปัจจัยเลย อาวุธทั้งหลาย มิใช่ลุกโพลงแต่ในพระราชนิเวศน์ของพระองค์เท่านั้น ทั่วพระนครก็เป็นอย่างนี้ พระเจ้าข้า

พระราชาตรัสถามว่า เพราะเหตุไรเล่า อาจารย์

ปุโรหิตกราบทูลว่า ในเรือนข้าพระองค์ เด็กชายเกิดโดยฤกษ์โจร เขาเกิดเป็นศัตรูทั่วพระนคร นั่นเป็นบุพนิมิตของเขา แต่พระองค์ไม่มีอันตรายดอก พระเจ้าข้า แต่ถ้าจะทรงพระประสงค์ ก็โปรดให้ฆ่าเขาเสีย

พระราชาตรัสว่า เมื่อไม่เบียดเบียนเราก็ไม่ต้องฆ่าดอก

ปุโรหิตจึงตั้งชื่อ เขาว่า สัตตุกะ (ผู้เป็นศัตรู) ภัททาก็เติบโตในเรือนเศรษฐี สัตตุกะก็เติบโตในเรือนปุโรหิต ตั้งแต่เขาสามารถเล่นวิ่งมาวิ่งไปได้ เขาจะนำทุกสิ่งที่เขาพบในที่เที่ยวไป มาไว้เต็มเรือนบิดามารดา บิดาแม้จะหว่านล้อม ห้ามปรามโดยอ้างแม้ตั้ง ๑,๐๐๐ เหตุ ก็ห้ามปรามเขาไม่ได้ ต่อมา บิดารู้ว่าห้ามเขาไม่ได้โดยอาการทั้งปวง จึงให้ผ้าเขียวแก่เขา ๒ ผืน ให้เครื่องอุปกรณ์ตัดช่อง และ สีฆาตกยนต์ [กลไกรูปกระจับ] ไว้ในมือ แล้วไล่ให้เขาออกจากตระกูลไป ด้วยกล่าวว่า เจ้าจงเลี้ยงชีพด้วยงานชนิดนี้ ตั้งแต่วันนั้นมา เขาก็ใช้กลไกกระจับ พาตัวขึ้นไปบนปราสาทของสกุลทั้งหลาย ตัดช่องที่ต่อเรือน แล้วขโมยทรัพย์สิ่งของที่เขาเก็บไว้ในสกุลผู้อื่น เหมือนของตัวเอง เก็บไว้แล้วก็ไป ทั่วทั้งพระนครขึ้นชื่อว่าเรือนหลังที่เขาไม่เคยย่องเบา ไม่มีเลย

วันหนึ่ง พระราชาเสด็จเที่ยวไปในพระนครโดยราชรถ จึงตรัสถามสารถีว่า

ทำไมหนอ ในเรือนหลังนั้น ๆ ในพระนครนี้ จึงปรากฏมีช่อง(โขมย) ทั้งนั้น

สารถีกราบทูลว่า ข้าแต่เทวะ ในพระนครนี้มีโจรชื่อสัตตุกะ ตัดฝาเรือน ลักทรัพย์ของสกุลทั้งหลาย พระเจ้าข้า

พระราชาจึงรับสั่งให้หาเจ้าหน้าที่นครบาลมาแล้ว ตรัสถามว่าเขาว่าในพระนครนี้มีโจรชื่ออย่างนี้ เหตุไรเจ้าจึงไม่จับมัน

เจ้าหน้าที่นครบาลกราบทูลว่า ข้าแต่เทวะ พวกข้าพระองค์ไม่อาจพบโจรนั้นพร้อมทั้งของกลาง พระเจ้าข้า

ตรัสสั่งว่า ถ้าวันนี้เจ้าพบโจรนั้น จงจับ ถ้าไม่จับ เราจักลงอาชญาเจ้า

เจ้าหน้าที่นครบาลทูลรับว่า พระเจ้าข้า เทวะ

เจ้าหน้าที่นครบาลสั่งให้มนุษย์ทั่วพระนคร เที่ยวสืบสวนจนจับตัวโจรผู้ตัดฝาเรือนลักทรัพย์เขา พร้อมทั้งของกลางนั้นได้ นำไปแสดงแก่พระราชา

พระราชาตรัสสั่งว่า จงนำโจรนี้ออกทางประตูด้านทิศใต้แล้วประหารเสีย เจ้าหน้าที่นครบาลรับสนองพระราชโองการแล้ว โบยโจรนั้นครั้งละ ๔ ที ๑,๐๐๐ ครั้ง ให้จับตัวพาไปทางประตูด้านทิศใต้.

นางภัททาเห็นผิดเป็นชอบ

สมัยนั้น ภัททา ธิดาเศรษฐีนี้ นางมีบริวารมาก เปิดหน้าต่างดู เห็นโจรชื่อสัตตุกะ บุตรปุโรหิต ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่นครบาลจับตัว ในความผิดมหันตโทษ พร้อมทั้งของกลาง กำลังควบคุมตัวมายังที่ประหาร เพื่อฆ่าให้ตายตามพระราชอาชญา นางมีจิตปฏิพัทธ์ ก็นอนคว่ำหน้าบนที่นอน คร่ำครวญว่า ถ้าเราได้เขา จึงจะมีชีวิตอยู่ ถ้าไม่ได้ก็จักตายเสีย.

ก็นางเป็น ธิดาคนเดียวของสกุลนั้น ด้วยเหตุนั้น พวกญาติของนางจึงไม่อาจทนเห็นหน้าอันหม่นหมองแม้เล็กน้อยได้ ครั้งนั้นมารดาเห็นนางนอนบนที่นอน จึงถามนางว่า
ลูกเอ๋ย เจ้าเป็นอะไรไป

นางตอบตรง ๆ ว่า แม่จ๋า ดิฉัน พบโจรที่เขากำลังนำไปฆ่าจ้ะ เมื่อได้เขามาจึงจะเป็นอยู่ได้ เมื่อดิฉันไม่ได้ ตายเสียเท่านั้นประเสริฐ

บิดามารดาปลอบโดยประการต่าง ๆ ก็ไม่อาจให้นางยินยอมได้ จึงคิดว่า ทำให้นางอยู่ ดีกว่าปล่อยให้นางตาย ครั้งนั้นบิดาของนาง จึงหาเจ้าหน้าที่นครบาล ติดสินบน ๑,๐๐๐ กหาปณะ แล้วบอกว่า ธิดาของเรามีจิตติดพันในโจร โปรดจงปล่อยโจรนี้ ด้วยอุบายวิธีอย่างใดอย่างหนึ่งเสีย เจ้าหน้าที่นครบาลรับปากเศรษฐี แล้วพาโจรไปโดย หน่วงเหนี่ยวให้ชักช้า ไปทางโน้นบ้าง ทางนี้บ้างจนพระอาทิตย์ตก เมื่อพระอาทิตย์ตกแล้วก็ให้นำเอาโจรคนหนึ่งออกมาจากคุก ทำเป็นโจรขึ้นแทนสัตตุกะ แล้วแก้สัตตุกะโจรออกจากเครื่องจองจำ พาไปส่งยังเรือนเศรษฐี แล้วเอาเครื่องจองจำนั้นพันธนาการโจรที่นำมาจากคุกนั้น นำตัวออกไปทางประตูด้านทิศใต้ แล้วประหารชีวิตแทนเสีย พวกทาสของเศรษฐีต่างพาตัวสัตตุกะโจรมายังเรือนของเศรษฐี เศรษฐีเห็นเขาแล้วคิดว่า เราจักทำให้สมใจของธิดาเราเสียที จึงให้พวกทาสเอาน้ำหอมอาบสัตตุกะโจร แล้วให้ตกแต่งประดับประดาด้วยเครื่องอาภรณ์ทุกชนิด พาไปส่งตัวยังปราสาท

นางภัททาคิดว่า ความดำริของเราเต็มที่แล้ว จึงแต่งตัวให้เพริศพริ้งด้วยเครื่องอลังการนานาชนิดคอยบำเรอเขา.

สัตตุกะคิดฆ่านางภัททาเพื่อเอาทรัพย์

ครั้นพอล่วงมาได้ ๒-๓ วัน สัตตุกะโจรก็คิดว่า สิ่งของเครื่องประดับ ของนางจักเป็นของเรา เราควรจะถือเอาเครื่องอาภรณ์นี้ด้วยอุบายบางประการเสีย ดังนี้แล้ว พอถึงเวลานั่งใกล้ชิดกันอย่างมีความสุขจึงพูดกะนางภัททาว่า เรามีเรื่องที่จะพูดสักเรื่องหนึ่ง

ธิดาเศรษฐีปลาบปลื้มใจประหนึ่งว่าได้ลาภตั้งพันจึงตอบว่า พี่ท่าน เราสนิทสนมกันแล้ว พี่ท่าน จงบอกมาเถิด

โจรกล่าวว่า เธอคิดว่าเรานี้ได้ชีวิตมาเพราะอาศัยเธอ แต่เราพอถูกจับเท่านั้น ได้อ้อนวอนเทวดาผู้สิงสถิตอยู่ที่เขาทิ้งโจรว่า ถ้าข้าพเจ้าจักได้ชีวิต ข้าพเจ้าจักถวายพลีกรรมแด่ท่าน เราได้ชีวิตเพราะอาศัยเทวดานั้น ขอเธอจงรีบให้จัดเครื่องพลีกรรมเถิด

นางภัททาคิดว่า เราจักทำให้เขาเต็มใจเสียที สั่งให้จัดแจงเครื่องพลีกรรม ประดับประดาเครื่องประดับทุกชนิด ขึ้นนั่งในรถคันเดียวกันไปยังเหวทิ้งโจรพร้อมกับสามี เมื่อถึงแล้วก็เริ่มไต่ภูเขาขึ้นไปด้วยคิดว่า เราจักทำพลีกรรมแก่เทวดาประจำภูเขา

สัตตุกะโจรคิดว่า เมื่อขึ้นไปกันหมดแล้วเราจักไม่มีโอกาส ถือเอาเครื่องอาภรณ์ของนางได้ จึงให้นางภัททานั้นนั่นแหละถือภาชนะ เครื่องเซ่นสรวง แล้วขึ้นภูเขาไป เขาพูดถ้อยคำทำทีเป็นพูดกับ นางภัททา พูดคุยกันไป ด้วยเหตุนั้นนั่นเอง นางจึงไม่รู้ความประสงค์ของโจร ทีนั้น โจรจึงพูดกะนางว่า น้องภัททา เธอจงเปลื้องผ้าห่ม ของเธอออก แล้วเอาเครื่องประดับที่ประดับอยู่รอบกายทำเป็นห่อไว้ ณ ที่นี้.

นาง นายจ๋า ดิฉันมีความผิดอะไรหรือ.

โจร แม่นางผู้เขลา เธอคิดว่า เรามาเพื่อทำพลีกรรมหรือ ความจริงเราจะควักตับถวายแก่เทวดานี้ แต่เรามีประสงค์จะถือเอาเครื่องอาภรณ์ของเธอโดยอ้างพลีกรรม จึงได้พาเธอมาที่นี่.

ผู้ฉลาดย่อมแก้ไขสถานะการณ์ได้ฉับพลัน

นาง นายจ๋า เครื่องประดับเป็นของใคร ตัวฉันเป็นของใคร.

โจร เราไม่รับรู้ ของของเธอก็เป็นส่วนหนึ่ง ของของเราก็เป็นส่วนหนึ่ง.

นาง ดีแล้วจ้ะพี่ท่าน แต่ขอให้พี่ท่านจงทำความประสงค์ของน้องอย่างหนึ่งให้บริบูรณ์ทีเถิด ขอพี่ท่านให้น้องได้สวมกอดพี่ทั้งด้านหน้าและด้านหลังโดยทำนองที่แต่งตัวอยู่อย่างนี้นี่แหละ.

โจรก็รับปากว่า ได้สิจ๊ะ.

นางทราบว่า โจรรับปากแล้ว ก็สวมกอดข้างหน้าแล้วก็ทำเป็นทีสวมกอดข้างหลัง เมื่อเขาเผลอ จึงผลักเขาตกเหวไป เขาเมื่อตกลงไปก็แหลกละเอียดไปในอากาศนั่นแหละ. เทวดาผู้สิงสถิตอยู่ที่ภูเขา เห็นความที่นางทำให้โจรแหลกละเอียดไป จึงได้กล่าวคาถาด้วยประสงค์จะสรรเสริญ มีดังนี้ว่า

ผู้ชายนั้นมิใช่จะเป็นบัณฑิตไปเสียในที่ทุกสถาน
แต่ผู้หญิงผู้มีวิจารณญาณในที่นั้น ๆ ก็เป็นบัณฑิตได้
ผู้ชายนั้นนะ มิใช่จะเป็นบัณฑิตไปเสียในที่ทุกสถาน
แต่ผู้หญิงคิดอ่านแม้ครู่เดียว ก็เป็นบัณฑิตได้.

ลำดับนั้น นางภัททาจึงคิดว่า เราไม่สามารถจะกลับไปบ้านได้แล้ว เราไปจากที่นี้แล้วจักบวชสักอย่างหนึ่ง จึงได้ไปยังอารามของพวกนิครนถ์ขอบรรพชากะพวกนิครนถ์
ทีนั้นพวกนิครนถ์เหล่านั้นกล่าวกะนางว่า จะบวชโดยทำนองไหน.

สิ่งใดเป็นของสูงสุดในบรรพชาของท่าน ขอท่านจงกระทำสิ่งนั้นนั่นแหละ.

พวกนิครนถ์รับว่า ดีแล้ว จึงเอาก้านตาลทิ้งถอนผมของนางแล้วให้บวช ผมเมื่อจะงอกขึ้นอีกก็งอกขึ้นเป็นวงกลมคล้ายตุ้มหู โดยเป็นกลุ่มก้อนขึ้นมา เพราะเหตุนั้นนางจึงเกิดมีชื่อว่า กุณฑลเกสา

นางเรียนศิลปะทุกอย่างในที่ที่ตนบวชแล้ว ครั้นทราบว่าคุณวิเศษยิ่งกว่านี้ของพวกนิครนถ์เหล่านี้ไม่มี จึงเที่ยวไปยังคามนิคมราชธานี บัณฑิตมีในที่ใด ๆ ก็ไปในที่นั้น ๆ แล้วเรียนศิลปะที่บัณฑิตเหล่านั้นรู้ทุกอย่างหมด ต่อมา ก็ไม่มีคนทั้งหลายผู้ที่สามารถจะโต้วาทะตอบแก่นางได้ เพราะนางเป็นผู้ได้ศึกษามามาก นางมิได้มองเห็นใครที่สามารถจะกล่าวกับตนได้ เข้าไปสู่บ้านใดก็ดี นิคมใดก็ดี ก็ทำกองทรายไว้ที่ประตูบ้านหรือนิคมนั้น แล้วปักกิ่งต้นหว้าไว้บนกองทรายนั้นนั่นแหละ ให้สัญญาแก่พวกเด็ก ๆ ที่ยืนอยู่ในที่ใกล้ด้วยพูดว่า

ผู้ใดสามารถที่จะโต้ตอบวาทะของเราได้ ผู้นั้นจงเหยียบกิ่งไม้นี้

แม้ตลอดตั้งสัปดาห์นั้นก็หามีคนเหยียบไม่ แล้วนางก็ถือเอากิ่งไม้นั้นหลีกไป.

ในสมัยนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าของเราเสด็จอุบัติขึ้นแล้วในโลก ทรงอาศัยกรุงสาวัตถี เสด็จประทับอยู่ที่พระเชตวัน ฝ่ายนางกุณฑลเกสาก็ไปถึงกรุงสาวัตถีตามลำดับ เมื่อเข้าไปภายในนครแล้ว ก็ปักกิ่งไม้ไว้บนกองทรายทำนองเดิมนั่นแหละ แล้วให้สัญญาแก่พวกเด็กแล้วจึงเข้าไป. ในสมัยนั้น เมื่อภิกษุสงฆ์เข้าไปแล้ว พระธรรมเสนาบดี (พระสารีบุตร) จึงเข้าไปสู่นครเพียงรูปเดียวเท่านั้น เห็นกิ่งต้นหว้าที่เนินทรายแล้วถามว่า

เพราะเหตุไร เขาจึงปักกิ่งต้นหว้านี้ไว้ พวกเด็กก็บอกเหตุนั้นโดยตลอด

พระสารีบุตรจึงกล่าวว่า นี่แน่ะ หนูทั้งหลาย เมื่อเป็นเช่นนั้นพวกเธอจงจับเอากิ่งต้นหว้านี้ออกมาเหยียบย่ำเสีย บรรดาเด็กเหล่านั้น บางพวกฟังคำพระเถระแล้วไม่กล้าที่จะเหยียบย่ำได้ บางพวกก็เหยียบย่ำทันทีทีเดียว กระทำให้ แหลกละเอียดไป นางกุณฑลเกสาบริโภคอาหารแล้วเดินออกไป เห็นกิ่งไม้ถูกเหยียบย่ำ จึงถามว่า นี้เป็นการกระทำของใคร พวกเด็กจึงบอกการที่พระธรรมเสนาบดีให้พวกเขากระทำแก่นาง นางจึงคิดว่า พระเถระนี้ถ้าไม่รู้กำลังของตน ก็จักไม่กล้าให้เหยียบย่ำกิ่งไม้นี้ พระเถระนี้จำต้องเป็นผู้ยิ่งใหญ่แน่นอน

ฝ่ายพระเถระกระทำภัตกิจเสร็จแล้ว จึงนั่งที่โคนต้นไม้แห่งหนึ่ง ทีนั้น นางกุณฑลเกสานี้ มีมหาชนห้อมล้อมเดินไปยังสำนักของพระเถระกระทำปฏิสันถารแล้ว ยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ถามว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ พระคุณเจ้าให้เหยียบย่ำกิ่งไม้นี้หรือ.

พระสารีบุตร – ใช่แล้ว เราให้เหยียบย่ำเอง

นาง - เมื่อเป็นเช่นนั้น ขอดิฉันกับพระคุณเจ้ามาโต้วาทะกันนะ พระคุณเจ้า

พระสารีบุตร – ได้สิ น้องนาง.

นาง - ใครจะถาม ใครจะกล่าวแก้ เจ้าข้า.

พระสารีบุตร - ความจริงคำถามตกแก่เรา แต่ท่านจงถามสิ่งที่ท่านรู้เถิด นางถามลัทธิตามที่ตนรู้มาทั้งหมดทีเดียว ตามที่พระเถระยินยอม พระเถระก็กล่าวแก้ได้หมด

นางครั้นถามแล้วถามอีก จนหมดจึงได้นิ่งอยู่

ลำดับนั้น พระเถระจึงกล่าวกะนางว่า ท่านถามเราหมดแล้ว เราก็จะถามท่านข้อหนึ่ง.

นางกุณฑล : ถามเถิด เจ้าข้า

พระสารีบุตร - ที่ชื่อว่าหนึ่งคืออะไร.

นางกุณฑลเกสาเรียนว่า ดิฉันไม่ทราบ เจ้าข้า.

พระสารีบุตร- เธอไม่ทราบแม้เหตุเพียงเท่านี้ เธอจักทราบอะไร อย่างอื่นเล่า.

นางหมอบแทบเท้าทั้งสองของพระเถระ เรียนว่า ดิฉันขอถึงพระคุณเจ้าเป็นสรณะ เจ้าข้า.

พระสารีบุตร จะทำการถึงเราเป็นสรณะไม่ได้ บุคคลผู้เลิศ ในโลกพร้อมทั้งเทวโลก ประทับอยู่ที่วิหารใกล้ๆ นี่เอง ขอเธอ จงถึงพระองค์ท่านเป็นสรณะเถิด.

นาง - ดิฉันจักกระทำเช่นนั้น เจ้าข้า.

พอตอนเย็น ในเวลาที่พระศาสดาทรงแสดงธรรม จึงไปยังสำนักของพระศาสดา ถวายบังคมด้วยเบญจางคประดิษฐ์แล้วได้ยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระศาสดาตรัสพระคาถาในธรรมบทตามความเหมาะสมกับจริยาของนาง ที่เคยพิจารณาเห็นสังขารอันทุกข์บีบคั้นแล้ว ต่อไปว่า

หากคาถาที่ไม่ประกอบด้วยบทอันมีประโยชน์
แม้จะมีตั้ง ๑,๐๐๐ คาถาก็ตาม คาถาเดียวที่
บุคคลฟังแล้วสงบระงับได้ ยังประเสริฐกว่า ดังนี้.

ในเวลาจบพระคาถา นางก็ได้บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งที่ยืนอยู่นั่นเอง จึงทูลขอบรรพชา พระศาสดาทรงรับให้นางบรรพชาแล้ว นางไปยังสำนักภิกษุณีบวชแล้ว
ในกาลต่อมาเกิดสนทนากันขึ้น ในท่ามกลางบริษัท ๔ ว่า นางภัททากุณฑลเกสานี้ใหญ่ยิ่งจริงหนอ บรรลุพระอรหัตในเวลาจบคาถาเพียง ๔ บท

พระศาสดาทรงกระทำ เหตุนั้นให้เป็นอัตถุปปัตติ เหตุเกิดเรื่องแล้วทรงสถาปนาพระเถรีไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นเลิศกว่าภิกษุณีสาวิกา ผู้ตรัสรู้เร็ว ด้วยประการฉะนี้
บุพกรรมของท่านในอดีตชาติ ได้ยินว่า พระภัททากุณฑลเกสานี้ ครั้งพระพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ บังเกิดในเรือนสกุล กรุงหังสวดี ฟังธรรมของพระศาสดาแล้ว เห็นพระศาสดากำลังทรงสถาปนาภิกษุณีรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นเลิศกว่าพวกภิกษุณีสาวิกาผู้ตรัสรู้เร็ว จึงทำกุศลให้ยิ่งยวดขึ้นไป ปรารถนาตำแหน่งนั้น

ครั้งพระกัสสปพุทธเจ้า ก็ถือปฏิสนธิในพระราชมณเฑียรของพระเจ้ากาสี พระนามว่า กิงกิ กรุงพาราณสี เป็นพระราชธิดาองค์หนึ่ง ระหว่างพระพี่น้องนาง ๗ พระองค์ คือ นางสมณี นางสมณคุตตา นางภิกขุนี(ภิกขุณี) นางภิกขุทาสิกา นางธัมมา(ธรรมา) นางสุธัมมา(สุธรรมา) และนางสังฆทาสี ครบ ๗ พระราชธิดาเหล่านั้น ในบัดนี้ [ครั้งพุทธกาลชาติปัจจุบัน] คือพระเขมาเถรี พระอุบลวรรณาเถรี พระปฏาจาราเถรี พระนางกุณฑลเกสีเถรี (พระภัททากุณฑลเกสาเถรี) พระกิสาโคตมีเถรี พระธรรมทินนาเถรี และนางวิสาขา ครบ ๗.สมาทานศีล ๑๐ ประพฤติกุมารีพรหมจรรย์อยู่ถึง ๒๐,๐๐๐ ปีสร้างบริเวณถวายสงฆ์ เวียนว่ายอยู่ในเทวดาและมนุษย์พุทธันดรหนึ่ง จนได้เกิดในชาติปัจจุบันดังกล่าวมาแล้วข้างต้น.

#องฺ.อ ๑/๒/๓๗-๔๖; เถรี.อ ๒/๔/๑๗๐-๑๘๓; ขุ.อป ๙/๕๙๘-๖๐๙

ประวัติ พระภัททากุณฑลเกสาเถรี (กุณฑลเกสี)
เอตทัคคมหาสาวิกาผู้เลิศด้านตรัสรู้ได้เร็วพลัน
(ท่านได้ตรัสรู้ก่อนบวชเป็นภิกษุณี)
คัดลอกจากสารานุกรม พระไตรปิฎกฉบับธรรมทาน

กัมมุนาวัฏตีโลโก

๓๐. ฆ่าสัตว์ถวายพระพุทธเจ้าเป็นบาปไหม
          ถาม  ฆ่าสัตว์ถวายพระพุทธเจ้าบาปไหม

          ตอบ  ในชีวกสูตร มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ข้อ ๕๖ ซึ่งมีข้อความว่า

          ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ ข้าพเจ้าคือท่านพระอานนท์ ท่านได้สดับมาแล้วอย่างนี้ว่า สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ อัมพวัน คือสวนมะม่วงของหมอชีวกโกมารภัจ เขตพระนครราชคฤห์
          ครั้งนั้น หมอชีวกโกมารภัจได้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ครั้นถวายบังคมแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
          "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้าได้ฟังคำนี้ว่า ชนย่อมฆ่าสัตว์เจาะจงพระสมณโคดม พระสมณโคดมทรงทราบข้อนั้นอยู่ยังเสวยเนื้อที่เขาทำเฉพาะตน อาศัยตนทำดังนี้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้าใคร่จะทราบว่าชนทั้งหลายที่กล่าวอย่างนั้น ชื่อว่ากล่าวตรงกับที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ หรือว่ากล่าวตู่พระพุทธเจ้าด้วยคำไม่จริง พระพุทธเจ้าข้า"
          พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า
          "ดูก่อนชีวก ชนเหล่าใดกล่าวอย่างนี้ว่า ชนทั้งหลายย่อมฆ่าสัตว์เจาะจงพระสมณโคดม พระองค์ทรงทราบข้อนั้นอยู่ ก็ยังเสวยเนื้อสัตว์ที่เขาทำเจาะจงเฉพาะตน อาศัยตนทำดังนี้ ชนเหล่านั้นไม่ชื่อว่ากล่าวตรงกับที่เรากล่าว แต่ชื่อว่ากล่าวตู่เราด้วยคำไม่จริง
          ดูก่อนชีวก เรากล่าวเนื้อว่าเป็นของไม่ควรบริโภคด้วยเหตุ ๓ ประการ คือเนื้อที่ตนเห็น ๑ เนื้อที่ตนได้ยิน ๑ เนื้อที่ตนรังเกียจ ๑
          ดูก่อนชีวก เรากล่าวเนื้อว่าเป็นของไม่ควรบริโภคด้วยเหตุ ๓ ประการนี้
          ดูก่อนชีวก เรากล่าวเนื้อว่าเป็นของควรบริโภคด้วยเหตุ ๓ ประการคือ เนื้อที่ตนไม่ได้เห็น ๑ เนื้อที่ตนไม่ได้ยิน ๑ เนื้อที่ตนไม่รังเกียจ ๑
          ดูก่อนชีวก เรากล่าวเนื้อว่าเป็นของควรบริโภคด้วยเหตุ ๓ ประการนี้"

          ในอรรถกถาแก้ว่า หมอชีวกผู้นี้เป็นพระโสดาบัน หลังจากที่ได้ถวายพระโอสถอ่อนๆ ระบายพระกายที่มากไปด้วยโทษของพระพุทธเจ้า แล้วพระพุทธเจ้าทรงอนุโมทนา แล้วได้ถวายผ้าคู่หนึ่งที่ได้มาจากแคว้นกาสีแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า
          หมอชีวกคิดว่าเราต้องเฝ้าพระพุทธเจ้าวันละ ๒ หรือ ๓ ครั้ง พระวิหารเวฬุวันอยู่ไกลเกินไป สวนมะม่วงของเราอยู่ใกล้กว่า ดังนั้นจึงได้สร้างที่เร้น กุฎีและมณฑป ที่พักสำหรับกลางวันหรือกลางคืน สร้างพระคันธกุฎีอันสมควรแก่พระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วได้อังคาสเลี้ยงดูพระผู้มีพระภาคเจ้าและภิกษุสงฆ์ด้วยภัตตาหาร ถวายจีวรแล้วหลั่งน้ำทักษิโณทก มอบถวายวิหารแด่สงฆ์
          พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่สวนมะม่วงของหมอชีวกนี้แหละ และหมอชีวกได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้า เรื่องการบริโภคเนื้อดังที่ได้เล่ามาแล้ว ซึ่งอรรถกถาอธิบายว่า ความเชื่อถือของคนพวกหนึ่งมีว่า ผู้ใดบริโภคเนื้อที่เขาทำเจาะจงผู้ใด ผู้นั้นบริโภคเนื้อนั้น ผู้นั้นก็ต้องรับผลของกรรมคือการฆ่าสัตว์นั้นด้วย นี่เป็นความเชื่อถือของคนบางพวก แต่พระพุทธเจ้ามิได้เสวยเนื้อที่เขาทำเจาะจงพระองค์ ด้วยว่าพระองค์และภิกษุสงฆ์ไม่เสวยเนื้อที่ตนเห็น ไม่เสวยเนื้อที่ตนได้ยิน และไม่เสวยเนื้อที่ตนรังเกียจ ด้วยว่าเนื้อที่ตนเห็น ที่ตนได้ยิน และที่ตนรังเกียจ เป็นเนื้อที่ไม่ควรบริโภค เป็นอกัปปิยะมังสะ สำหรับเนื้อที่ตนเห็นนั้น คือได้เห็นว่าเขาฆ่าสัตว์แล้วเอาเนื้อสัตว์นั้นทำอาหารถวายตน เนื้อที่ตนได้ยินนั้น คือได้ยินว่าเขาให้ฆ่าเนื้อสัตว์แล้วนำมาทำอาหารถวาย เนื้อทั้งสองชนิดนี้เป็นเนื้อต้องห้าม ไม่สมควรที่ภิกษุจะฉัน เพราะเห็นอยู่ ได้ยินอยู่ว่าเขาฆ่าหรือให้ฆ่าเพื่อตน
          ในเรื่องนี้ที่ตนรังเกียจหรือที่ตนสงสัยนั้น อรรถกถาอธิบายว่า ภิกษุในศาสนานี้ เห็นคนทั้งหลายถือตาข่ายและแหเป็นต้น กำลังออกจากบ้านหรือกำลังเที่ยวเข้าไปในป่า ครั้นเมื่อภิกษุเหล่านั้นเข้าไปบิณฑบาตยังบ้านนั้น คนเหล่านั้นที่ท่านได้เห็นถือข่ายถือแหเป็นต้นเมื่อวานนี้ นำอาหารที่มีปลาและเนื้อมาถวาย ท่านก็สงสัยว่า ปลาและเนื้อนี้เป็นปลาและเนื้อที่ท่านได้เห็นเขาไปฆ่ามาเมื่อวานนี้ เพื่อถวายภิกษุสงฆ์กระมังหนอ เมื่อท่านสงสัยโดยอาศัยการเห็นเช่นนั้น ท่านก็ไม่ฉันปลาและเนื้อนั้น เพราะไม่แน่ใจว่า เขาทำเพื่อท่านหรือไม่
          ครั้นคนเหล่านั้นถามว่า "เหตุไรพระคุณเจ้าจึงไม่รับอาหารของพวกกระผม"
          ภิกษุท่านก็เล่าความสงสัยของท่านให้คนเหล่านั้นฟัง
          คนเหล่านั้นก็บอกว่า "พวกเรามิได้ทำเพื่อประโยชน์แก่ภิกษุทั้งหลาย คือไม่ได้ทำเจาะจงภิกษุทั้งหลาย แต่ทำเพื่อประโยชน์ของพวกเราเอง หรือเพื่อประโยชน์แก่พวกอำมาตย์ทั้งหลายเป็นต้นต่างหาก"
          ภิกษุทั้งหลายทราบแล้วจึงรับอาหารปลาและเนื้อนั้นฉัน นี้เป็นคำอธิบายในเรื่องภิกษุรังเกียจเพราะได้เห็นเข่าฆ่าสัตว์แล้วไม่แน่ใจ สงสัยว่าเขาทำเจาะจงตน จึงไม่รับเนื้อ ไม่ฉันเนื้อที่ตนสงสัย เพราะได้เห็นนั้น
          ในเรื่องที่ภิกษุสงสัยเพราะได้ยินนั้น อรรถกถาขยายความว่า ภิกษุทั้งหลายมิได้เห็น แต่ได้ยินว่าเขาเป็นคนถือตาข่ายและแหเป็นต้นออกจากบ้านไป วันรุ่งขึ้น เมื่อภิกษุเหล่านั้นเข้าไปบิณฑบาตในบ้านนั้น คนเหล่านั้นก็นำเอาอาหารที่มีปลาและเนื้อมาถวาย ภิกษุทั้งหลายเห็นแล้วก็สงสัยเพราะได้ยินมาว่าเมื่อวานนี้ว่า คนเหล่านี้หาปลาและเนื้อมาเพื่อประโยชน์แก่พวกท่านใช่หรือไม่หนอ จึงไม่รับอาหารนั้น ครั้นคนเหล่านั้นถามว่า เหตุไรพระคุณเจ้าจึงไม่รับอาหารของพวกเรา คนเหล่านั้นก็บอกว่า พวกเรามิได้ทำเพื่อประโยชน์แก่ภิกษุทั้งหลายดอก แต่พวกเราทำเพื่อประโยชน์แก่ตนเอง หรือเพื่อประโยชน์แก่พวกอำมาตย์เป็นต้น ภิกษุเหล่านั้นฟังแล้วเห็นว่าอาหารนั้นสมควรแก่ตน จึงรับอาหารนั้น
          อีกประการหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายเห็นก็ไม่ได้เห็น ได้ยินก็ไม่ได้ยิน เมื่อภิกษุเหล่านั้นเข้าไปบิณฑบาตยังบ้านนั้น คนทั้งหลายก็รับบาตรไป แล้วจัดอาหารที่มีปลาและเนื้อลงในบาตร แล้วถวาย ภิกษุเหล่านั้นถึงแม้ไม่ได้เห็นและไม่ได้ยินมาก่อน ถึงกระนั้นก็อดสงสัยไม่ได้ว่า อาหารปลาและเนื้อเหล่านี้เขาทำเพื่อพวกตนหรือไม่หนอ เมื่อสงสัยก็ไม่รับอาหารนั้น เมื่อชาวบ้านถามว่า เหตุไรจึงไม่รับอาหารของพวกตน ท่านก็บอกให้ทราบ ชาวบ้านเหล่านั้นจึงว่า อาหารปลาและเนื้อนี้พวกเรามิได้ทำเพื่อประโยชน์แก่พระคุณเจ้าทั้งหลายดอก แต่พวกเราทำเพื่อประโยชน์แก่ตนเอง หรือเพื่ออำมาตย์ทั้งหลายเป็นต้น เมื่อภิกษุทั้งหลายเห็นว่าอาหารนั้นสมควรแก่ท่าน ท่านก็รับ
          นอกจากนั้น ถ้าชาวบ้านบอกว่า อาหารปลาและเนื้อนั้นเป็นของที่มีอยู่แล้ว หรือเป็นของที่เขาซื้อหามาจากตลาดเป็นวัตตมังสะ อาหารและเนื้อเช่นนี้ภิกษุรับได้ แม้ในอาหารที่เขาทำอุทิศแด่คนตายหรือทำเพื่องานมงคล ถ้าภิกษุไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน หรือมิได้สงสัยเคลือบแคลงใจแล้ว ก็รับอาหารนั้นได้ทุกอย่าง แต่ถ้าอาหารปลาและเนื้อนั้นทำอุทิศภิกษุในวัดแห่งหนึ่ง ภิกษุบางพวกไม่รู้ว่าเขาทำเจาะจงตน ส่วนภิกษุบางพวกรู้ ภิกษุพวกใดรู้ ภิกษุพวกนั้นไม่ควรรับอาหารนั้น ภิกษุพวกที่ไม่รู้สมควรรับ แต่ถ้าภิกษุทั้งหมดเขาทำเพื่อพวกท่าน อาหารนั้นก็ไม่สมควรแก่ภิกษุทั้งหมดนั้น หากภิกษุทั้งหมดไม่รู้ว่าเขาทำเจาะจงพวกท่าน อาหารนั้นก็ควรแก่ภิกษุทั้งหมดนั้น
          ท่านยังอธิบายต่อไปอีกว่า บรรดาสหธรรมิก ๕ รูป อาหารที่เขาทำอุทิศภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ย่อมไม่ควรแก่ภิกษุสหธรรมิกทั้ง ๕ รูป ส่วนบางคนฆ่าสัตว์เจาะจงภิกษุรูปหนึ่ง แล้วบรรจุอาหารที่เต็มด้วยเนื้อสัตว์นั้นจนเต็มบาตรถวาย และภิกษุนั้นก็รู้อยู่ว่าเขาทำอุทิศคือเจาะจงตน ดังนั้นเมื่อรับแล้วก็ไม่ฉันถวายแก่ภิกษุรูปอื่นแทน ภิกษุรูปนั้นก็ฉันด้วยความเชื่อใจในภิกษุนั้น คือฉันโดยปราศจากความสงสัย ถ้าเป็นเช่นนั้น อาบัติย่อมไม่มีแม้แก่ภิกษุทั้งสองนั้น เพราะรูปที่รู้ก็มิได้ฉัน รูปที่ฉันก็ไม่รู้ ส่วนภิกษุรู้ว่าเป็นอุทิศมังสะ คือมังสะที่เขาทำเพื่อเจาะจงท่าน ท่านฉันเข้าไปเป็นอาบัติ แม้ภิกษุไม่รู้ว่าเขาทำเจาะจงท่าน ฉันเข้าไปก็เป็นอาบัติเช่นกัน เพราะฉะนั้น ภิกษุที่กลัวอาบัติ จึงถามก่อนฉันหรือก่อนรับ ทั้งนี้เพราะขึ้นชื่อว่าเนื้อสัตว์แล้ว เมื่อปรุงสำเร็จแล้วก็คล้ายๆ กัน ดูด้วยตาธรรมดาก็เหมือนๆ กัน เพราะฉะนั้นจึงควรถามก่อนแล้วจึงรับ
          สรุปว่า ภิกษุในพระศาสนานี้ ย่อมฉันปลาและเนื้อที่บริสุทธิ์โดยส่วน ๓ คือโดยไม่เห็น ๑ โดยไม่ได้ยิน ๑ และโดยไม่สงสัย ๑ กับไม่ฉันเนื้อที่ต้องห้าม ๑๐ อย่าง คือเนื้อมนุษย์ เนื้อช้าง เนื้อม้า เนื้อสุนัข เนื้องู เนื้อราชสีห์ เนื้อเสือโคร่ง เนื้อเสือเหลือง เนื้อหมี และเนื้อเสือดาว รูปใดฉันเนื้อที่ไม่บริสุทธิ์โดยส่วน ๓ เป็นอาบัติทุกกฎ รูปใดฉันเนื้อมนุษย์เป็นอาบัติถุลลัจจัย รูปใดฉันเนื้อต้องห้าม ๙ อย่างที่เหลือ เป็นอาบัติทุกกฎ
          ส่วนข้อความในพระสูตรมีต่อไปว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "ดูก่อนชีวก ภิกษุในธรรมวินัยนี้อยู่ในบ้านหรือคามนิคมใดๆ ก็แผ่เมตตาไปทั่วทิศ ตลอดโลกทั้งปวงแก่สัตว์ทุกหมู่เหล่า ด้วยใจประกอบด้วยเมตตาอันยิ่งใหญ่หาประมาณมิได้ ก็เมื่อคฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีเข้าไปหาภิกษุนั้น นิมนต์ให้รับภัตตาหารในวันรุ่งขึ้น ขณะที่คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีอังคาสเธอด้วยบิณฑบาตอันประณีต เธอไม่เคยคิดเลยว่าคนเหล่านั้นอังคาสเธอด้วยอาหารที่ประณีต และไม่เคยคิดที่จะให้เขาถวายอาหารเช่นนั้นอีก เธอไม่ได้ยินดียินร้ายในอาหารเหล่านั้น เป็นผู้มีปกติเห็นโทษ มีปัญญาเป็นเครื่องถอนตน บริโภคอยู่
          ดูก่อนชีวก ภิกษุนั้นย่อมคิดเพื่อเบียดเบียนตน เพื่อเบียดเบียนผู้อื่น หรือเพื่อเบียดเบียนทั้งตนหรือผู้อื่นบ้างหรือไม่"
          หมอชีวกกราบทูลว่า "ไม่เบียดเบียน พระพุทธเจ้าข้า"
          พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสต่อไปว่า "ภิกษุนั้นชื่อว่าฉันอาหารอันไม่มีโทษใช่หรือไม่"
          หมอชีวกกราบทูลว่า "ใช่ พระพุทธเจ้าข้า" แล้วทูลถามว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้าได้ทราบมาว่า พรหมมีปกติอยู่ด้วยเมตตา ข้าพระองค์เพียงแต่ได้ยินได้ฟังมา บัดนี้ข้าพระองค์ประจักษ์ชัดแล้วว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมีปกติอยู่ด้วยเมตตา"
          พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า
          "ดูก่อนชีวก บุคคลที่มีความพยาบาท เพราะราคะ โทสะ โมหะใด ราคะ โทสะ โมหะนั้นตถาคตละแล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำให้เหมือนตาลยอดด้วน ถึงความไม่มี มีอันไม่เกิดต่อไปเป็นธรรมดา
          ดูก่อนชีวก ถ้าท่านกล่าวหมายเอาการละราคะ โทสะ โมหะเป็นต้นนี้ เราอนุญาตการกล่าวเช่นนั้นแก่ท่าน"
          หมอชีวกทูลรับว่า "ข้าพระองค์หมายเอาการละราคะ โทสะ โมหะ เป็นต้นนั้น"
          แล้วพระผู้มีพระภาคเจ้าก็ตรัสต่อไปอีกถึงภิกษุในธรรมวินัยนี้ว่า เมื่ออยู่ที่ใดก็มีใจประกอบด้วยกรุณา ประกอบด้วยมุทิตา ประกอบด้วยอุเบกขาในสัตว์ทั้งปวง ทั่วทุกทิศ ตลอดโลก ตามลำดับดังที่เล่าไปแล้ว กล่าวคือ เมื่อภิกษุนั้นรับนิมนต์ของผู้ใดแล้ว แม้ได้อาหารที่ประณีตท่านก็ไม่เคยคิดเลยว่า ขอให้ผู้นั้นจงถวายอาหารที่ประณีตอย่างนี้อีก แต่ท่านเป็นผู้ไม่ยินดียินร้ายในอาหารเหล่านั้น เป็นผู้บริโภคด้วยปัญญาเป็นเครื่องถอนตน เพราะฉะนั้น ภิกษุนั้นจะชื่อว่าเบียดเบียนตนและผู้อื่นได้หรือไม่ และจะชื่อว่า ภิกษุนั้นฉันอาหารอันมีโทษได้หรือไม่
          หมอชีวกทูลว่าไม่ได้ แล้วทูลต่อไปว่า "ข้าพระพุทธเจ้าได้สดับมาว่า พระพุทธเจ้าทรงมีปกติอยู่ด้วยกรุณา มุทิตา อุเบกขา คำนั้นสมจริงแล้ว เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเป็นพยานในเรื่องนี้ด้วยว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมีปกติอยู่ด้วยเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา"
          พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "ถ้าท่านหมายเอาการละราคะ โทสะ โมหะแล้ว เราอนุญาตการกล่าวเช่นนั้นแก่ท่าน"
          หมอชีวกทูลว่า "ข้าพระองค์หมายเอาเช่นนั้นพระเจ้าข้า"
          ก็เพราะเหตุที่พระพุทธเจ้าตรัสแล้วว่า พระองค์และภิกษุสาวกของพระองค์เป็นผู้มีอยู่ด้วยเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขาต่อสัตว์ทุกชนิด ทุกประเภท ทั่วโลกหาประมาณมิได้
          เหตุไฉน จึงจะเป็นอย่างที่คนทั้งหลายกล่าวหาพระองค์ว่าพระองค์รับและฉันปลาและเนื้อที่เขาฆ่าเจาะจงพระองค์
          เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า
          "ดูกรชีวก ผู้ใดฆ่าสัตว์เจาะจงตถาคตหรือสาวกตถาคต ผู้นั้นย่อมประสพบาปมิใช่บุญเป็นอันมาก ด้วยเหตุ ๕ ประการคือ
          ๑. ผู้นั้นกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลายจงไปนำสัตว์ชื่อโน้นมาดังนี้ ชื่อว่าย่อมประสพบาปมิใช่บุญเป็นอันมาก ด้วยเหตุประการที่ ๑ นี้
          ๒. สัตว์นั้นเมื่อถูกเขาผูกคอนำมา ได้เสวยทุกข์โทมนัส ชื่อว่าย่อมประสพบาปมิใช่บุญเป็นอันมาก ด้วยเหตุประการที่ ๒ นี้
          ๓. ผู้นั้นพูดอย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลายจงไปฆ่าสัตว์นี้ ชื่อว่าย่อมประสพบาปมิใช่บุญเป็นอันมาก ด้วยเหตุประการที่ ๓ นี้
          ๔. สัตว์นั้นเมื่อเขากำลังฆ่าย่อมเสวยทุกข์โทมนัส ชื่อว่าย่อมประสพบาปมิใช่บุญเป็นอันมาก ด้วยเหตุประการที่ ๔ นี้
          ๕. ผู้นั้นย่อมยังตถาคตและสาวกตถาคต ให้ยินดีด้วยเนื้อเป็นอกัปปิยะ ชื่อว่าย่อมประสพบาปมิใช่บุญเป็นอันมาก ด้วยเหตุประการที่ ๕ นี้
          ดูกรชีวก ผู้ใดฆ่าสัตว์เจาะจงตถาคตหรือสาวกของตถาคต ผู้นั้นย่อมประสพบาปมิใช่บุญเป็นอันมาก ด้วยเหตุ ๕ ประการนี้"
          จากชีวกสูตรนี้ ท่านจะทราบว่า การฆ่าสัตว์เพื่อถวายพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์สาวกของพระองค์นั้นบาปมาก คือบาปตั้งแต่สัตว์นั้นถูกนำตัวมาทีเดียว ไม่เพียงแต่ผู้ฆ่าหรือผู้สั่งให้ฆ่าจะเกิดบาปเท่ากัน แม้สัตว์ที่ถูกนำมาฆ่าก็เกิดบาป คือเกิดอกุศลจิตคิดกลัวภัย กลัวตาย ได้รับทุกข์โทมนัสมาก ทั้งในเวลาที่ถูกนำตัวมาและในเวลาที่ถูกฆ่า และด้วยอกุศลจิตที่เกิดขึ้นในขณะนั้น อาจทำให้สัตว์นั้นไปเกิดในอบายได้อีกด้วย นับว่าน่าสงสารมาก เพราะฉะนั้นอย่าฆ่าเองหรือใช้ให้ผู้อื่นฆ่าเลย ไม่ว่าฆ่าเล่น ฆ่าเอามากิน หรือฆ่าเพื่อทำบุญ เพราะแทนที่จะได้บุญกลับได้บาปมากทีเดียว ชีวิตใครใครก็รัก เรารักตัวกลัวตายกลัวถูกฆ่าอย่างไร สัตว์ทั้งหลายก็รักตัวกลัวตาย กลัวถูกฆ่าอย่างนั้นเหมือนกัน
          เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนั้น
          หมอชีวกโกมารภัจก็กราบทูลว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญน่าอัศจรรย์ไม่เคยมี ในการที่ภิกษุทั้งหลายย่อมฉันอาหารที่ไม่มีโทษ อันสมควรแก่สมณะ"
          ครั้นแล้วได้กล่าวต่อไปว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำเปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืด ด้วยหวังว่า ผู้มีจักษุจักเห็นรูปได้ฉันใด พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงประกาศธรรมโดยเอนกปริยายฉันนั้นเหมือนกัน ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า พระธรรมและพระภิกษุสงฆ์ ว่าเป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป"
          ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมแจ่มแจ้งอย่างนี้แหละ หมอชีวกท่านจึงได้เป็นพระอริยสาวกของพระพุทธเจ้าด้วยท่านหนึ่ง
          จากพระสูตรนี้แสดงว่า ฆ่าสัตว์ถวายพระพุทธเจ้าบาปแน่นอน

________________________________________
ที่มา อ้างอิง และแนะนำ :-
          พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๓  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๕
          มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์
          ชีวกสูตร
http://www.84000.org/tipitaka/book/v.php?B=13&A=950&Z=1043

          พระไตรปิฏก เล่มที่ ๕  พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๕ มหาวรรค  ภาค ๒
          พระพุทธบัญญัติห้ามฉันเนื้อมนุษย์ เป็นต้น
http://www.84000.org/tipitaka/book/v.php?B=5&A=1372&Z=1508

          พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม
          พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)
          คำว่า พรหมวิหาร 4
http://www.84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=พรหมวิหาร_4

supermen

 พระยาธรรมมิกราช คือ กุญแจ  ส.อ่านหลังสือ

ศรีอริยะเมตตรัย


ฅ ฅนหลง

.

...ขอบคุณครับ

จะพยายามอ่าน... ส.หัว ส.ก๊ากๆ ส.โบยบิน

อรหันต์5ขวบ

อรหันต์ 5 ขวบ
ในอดีตกาลยุคของพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า พระอโนมทัสสีพุทธเจ้า
ทุกวันจะมีสาธุชนเดินทางไปฟังธรรมที่พระวิหาร และพากันสร้างบุญเป็นหมู่
เป็นคณะ ในยุคนั้นมีชายยากจนคนหนึ่ง มีชีวิตอยู่อย่างแร้นแค้น หาเช้า
กินค่ำ ต้องทำงานรับจ้างเลี้ยงชีวิต เมื่อได้ฟังธรรมแล้ว เกิดจิตเลื่อมใส
อยากหาโอกาสถวายสังฆทานบ้าง ชายหนุ่มพยายามเจียดอาหารที่ไม่
ประณีตของตนเอง ให้ทานตามวาระต่างๆเสมอ วันหนึ่งเขาคิดว่า " เราใช้
ชีวิตรับจ้างไปวันๆ ทรัพย์จะทำทานก็ไม่มี มีแต่อาหารที่ไม่ประณีตเล็กๆ
น้อยๆเท่านั้น เราควรหาวิธีสร้างบุญอื่นเพิ่มเติมให้มากกว่านี้ "
เนื่องจากท่านเป็นผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร คิดดังนี้แล้ว จึงเข้าไปสนทนาธรรม
กับพระนิสภเถระ กราบเรียนถามว่า ทำอย่างไรตนจึงจะได้บุญมากๆ
พระเถระก็ชวนให้ออกบวช เพราะเป็นทางตรงสู่การบรรลุมรรค ผล นิพพาน
ใจจริงของชายยาจกท่านนั้นอยากจะบวช แต่ไม่สามารถทำได้ เพราะมี
ภาระครอบครัว จึงขอตั้งใจสมาทานศีลห้ากับพระเถระ พระเถระได้ให้
โอวาทว่า " การรักษาศีล มีอานิสงส์ยิ่งใหญ่ไพศาล สามารถปิดประตู
อบายภูมิ เปิดประตูสวรรค์และนิพพานได้ ขอให้โยมตั้งใจรักษาศีลให้ดี
อย่าให้ขาด อย่าให้ด่างพร้อย จะได้เป็นบุญใหญ่ติดตัวไปทุกภพทุกชาติ "
ตั้งแต่นั้นมา แม้ว่าจะต้องทำงานรับจ้างเหน็ดเหนื่อย เมื่อยล้าเพียงใดก็ตาม
ท่านจะนึกถึงศีลที่ได้ประคองรักษาอย่างบริสุทธิ์ผุดผ่อง จนเวลาล่วงมาถึง
หนึ่งแสนปี เมื่อวาระสุดท้ายแห่งชีวิตมาถึง ท่านก็ได้ระลึกถึงศีลของตนเอง
ทำให้เกิดมหาปิติว่า " ศีลที่เราสมาทาน และรักษาอย่างบริสุทธิ์บริบูรณ์
แม้นอนป่วยอยู่บนเตียง เราก็มีใจชื่นบาน ไม่หวั่นไหวต่อมรณภัยเลย "
เทวดาที่อยู่บนสวรรค์ทั้ง 6 ชั้น ต่างมาอัญเชิญท่านให้ไปบังเกิดในชั้นของ
ตน แต่ท่านยังมีความผูกพันกับครอบครัว จึงเลือกไปเกิดสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
ด้วยอานุภาพบุญที่เกิดจากการรักษาศีล 5 อย่างดีแล้วนั้น ส่งผลให้ท่านมี
ความสุขอยู่ในสุคติสวรรค์ยาวนานมาก ได้เกิดเป็นท้าวสักกะ 30 ครั้ง
เกิดเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์ ผู้สมบูรณ์ด้วยสมบัติจักรพรรดิ์ตักไม่พร่องถึง 75
ครั้ง และได้เป็นพระราชาประเทศราช เป็นมหาเศรษฐี เป็นเศรษฐี อีกนับ
ชาติไม่ถ้วน
หลังจากเสวยสุขใน 2 ภพภูมิยาวนานแล้ว ท่านได้มาบังเกิดในสมัยของ
พระโคดมพุทธเจ้า ในตระกูลพราหมณ์ที่มั่งคั่ง ร่ำรวย สมบูรณ์ด้วยมนุษย์
สมบัติ เป็นตระกูลที่มีชื่อเสียงในเมืองเวสาลี ท่านเป็นที่รักของมารดา บิดา
และหมู่ญาติทั้งหลาย จนกระทั่งอายุได้ 5 ขวบ บุญในตัวก็ตักเตือนท่าน
ให้แสวงหาสาระที่แท้จริงของชีวิต
วันหนึ่ง เป็นช่วงเข้าพรรษา แม้มารดา บิดาอยู่ในวรรณะพราหมณ์ แต่ท่าน
ก็มีความศรัทธาในพระพุทธศาสนา ได้พาลูกน้อยสุดที่รักไปที่พระวิหาร
ด้วยความคิดว่า จะปลูกฝังคุณธรรมในพระพุทธศาสนาให้กับลูกน้อยตั้งแต่
ยังเยาว์วัย ในขณะที่มารดา บิดา นั่งรับศีลจากพระเถระรูปหนึ่ง หนูน้อยก็
ได้สมาทานศีลนั้นด้วย ด้วยอานุภาพบุญที่ท่านได้รักษาศีลมาอย่างดีตลอด
แสนปีในอดีตชาติ ทำให้ท่านระลึกถึงศีลอันบริสุทธิ์ของตนเองได้ แล้วยัง
สามารถทำความบริสุทธิ์เข้าสู่ภายในไปตามลำดับ จนกระทั่งบรรลุอรหัตผล
ณ ที่ตรงนั้นเอง
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบเรื่องราวของ อรหันต์ 5 ขวบ ด้วยพุทธานุภาพ
ได้ตรัสเรียกหนูน้อยให้เข้ามาหา และทรงประกาศคุณของพระอรหันต์5ขวบ
ท่ามกลางพระอริยสาวก และพุทธบริษัททั้งหลาย แล้วพระองค์ก็ประทาน
อุปสมบทให้เป็นกรณีพิเศษ เรื่องราวของพระเถระน้อยผู้บรรลุอรหัตผลตั้ง
แต่เยาว์วัยนี้ ได้แพร่ขยายขจรขจายไปทั่ว ทำให้สาธุชนทั้งหลายต่างปลื้ม
ปิติ และเชื่อมั่นในผลแห่งบุญมากยิ่งขึ้น ก่อให้เกิดกระแสแห่งการทำความดี
ต่่างพากันตั้งใจรักษาศีลให้บริสุทธิ์ และเกิดกำลังใจในการสร้างบารมียิ่งๆ
ขึ้นไป
พระเถระน้อยผู้ทรงคุณวิเศษ ได้ย้อนระลึกดูบุพกรรมของตนเอง
ได้ประกาศอานิสงส์แห่งการรักษาศีลของท่านให้ทุกคนมั่นใจได้ว่า
" ด้วยอานุภาพแห่งศีลที่รักษาอย่างดีแล้ว ทำให้เราไม่เคยไปสู่ทุคติเลย
มีแต่ท่องเที่ยวอยู่ใน 2 ภูมิ คือมนุษย์และเทวโลกเท่านั้น และมหาสมบัติ
ทั้งหลายที่เป็นโลกียะและอริยะ ได้บังเกิดขึ้นกับเราแล้ว "
ที่มา : - ปัญจสีลสมาทานิยเถราปทาน
พระไตรปิฎก เล่มที่ 32 หน้าที่ 139 - 141
ฉบับ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
( เรียบเรียงจากหนังสือ " อยู่ในบุญ " ฉบับที่ 125 )


ศีลแสนปี


ท้าวพกาพรหม

ท้าวพกาพรหม ต่อกร พระพุทธเจ้า
สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับอยู่โคนต้นรังใหญ่ในสุภควัน ใกล้เมืองอุกกัฏฐา ทรงตรวจดูด้วยสัพพัญญุตาญาณ ก็เห็นว่าท้าวพกาพรหมมีมิจฉาทิฎฐิ หลงเชื่อว่า พรหมโลกนี้เที่ยง ยั่งยืน มั่นคง มีความไม่เคลื่อนเป็นธรรมดา และพระพรหมนี้ไม่ต้องเกิด ไม่แก่ ไม่จาย ไม่จุติ ไม่เคลื่อน ไม่อุบัติ การได้เกิดเป็นพรหมนี้พ้นทุกข์

          เหตุที่ท้าวพกาพรหมมีมิจฉาทิฏฐินี้ ก็เนื่องจากสมัยท่านเกิดเป็นมนุษย์ ได้บวชเป็นพระดาบส ประกอบกุศลกรรมและรักษาฌาณสมาบัติ เมื่อสิ้นชีวิตแล้วจึงมาอุบัติในพรหมโลก

          เมื่อแรกมาอุบัติในพรหมโลกนั้น ท้าวพกาพรหมอุบัติในพรหมโลกชั้นที่10คือ เวหัปผลาพรหมภูมิ มีอายุ500กัป เมื่อจุติจากเวหัปผลาพรหมภูมิก็ไปอุบัติยังพรหมโลกชั้นที่9คือสุภกิณหาพรหมภูมิ มีอายุได้64กัป เมื่อจุติจากสุกิณหาพรหมภูมิ ก็อุบัติยังพรหมโลกชั้นที่6คือชั้นอาภัสราพรหมมีอายุอีก8กัป

          รวมแล้ว ท้าวพกาพรหมอุบัติเป็นพรหมมาแล้วมากกว่า500กัปด้วยเวลาอันยาวนานมากจนไม่อาจจดจำ อดีตของตนว่าได้กระทำกรรมอะไรจึงได้เป็นพรหม แล้วหลงเข้าใจอีกว่าตนนั้นมีมาอยู่ก่อนสิ่งใด พรหมนี้เที่ยง ไม่มีเกิด แก่ ดับ สุขอื่นยิ่งกว่าพรหมอีกไม่มี

          เมื่อพระพุทธเจ้าทรงทราบวาระจิตของท้าวพกาพรหมแล้ว พระองค์จึงหายไปจากโคนต้นรังใหญ่ เสด็จถึงพรหมโลกเพียงครู่เดียว เหมือนบุรุษมีกำลังเหยียดแขนออกแล้วคู้แขนเข้าฉะนั้น

          ท้าวพกาพรหมเห็นพระโลกเชษฐ์เสด็จมา ก็กราบทูลพระพุทธองค์ว่า

"ดูกร ท่านผู้มิรทุกข์ เชิญท่านมาสู่พรหมโลกนี้เถิด พรหมโลกนี้เที่ยง ยั่งยืน มั่นคง แข็งแรง มีความไม่เคลื่อนเป็นธรรมดา พรหมโลกนี้ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่จาย ไม่จุติ ไม่อุบัติ สุขอื่นกว่าพรหมโลกนี้ไม่มีอีกแล้ว"

พระพุทธเจ้าจึงตรัสตอบว่า

"ดูกร พรหมผู้เจริญ ท่านกล่าวว่าสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยง กล่าวว่าสิ่งที่ไม่ยั่งยืนว่ายั่งยืน กล่าวว่าสิ่งที่ไม่มั่นคงว่ามั่นคง กล่าวว่าสิ่งที่ไม่แข็งแรงว่าแข็งแรง กล่าวว่าสิ่งที่มีความเคลื่อนเป็นธรรมดาว่ามีความไม่เคลื่อน พรหมโลกนี้มีทั้งเกิด ทั้งแก่ ทั้งตาย ทั้งจุติ ทั้งอุบัติอยู่เป็นปกติ แต่ท่านกลับกล่าวว่าพรหมโลกนี้ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่อุบัติ ดูกร ท่านผู้เจริญท่านกำลังหลงในอวิชชาแล้วหนอ"

ท้าวพกาพรหมกล่าวแย้งว่า

"ข้าแต่พระโคดม พวกข้าพระองค์มี72คน ล้วนได้ทำบุญมาดีแล้ว มีอำนาจเหนือคนเหล่าอื่น ก้าวล่วงพ้นจากความเกิดและความแก่ การเกิดเป็นพรหมนี้ชื่อว่าถึงพระเวทแล้ว ข้าแต่พระโคดม การเกิดเป็นพรหมนี้ เป็นการเกิดครั้งสุดท้าย ความสุขยิ่งกว่าพรหมนี้ไม่มีอีกแล้ว"

ครั้งนั้น มารก็เข้าสิงกายของพรหมบริวารผู้หนึ่ง กล่าวกับพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า

"ดูกรสมณะ ท่านอย่ารุกรานท้าวพกาพรหมนี้เลย พกาพรหมผู้นี้เป็นมหาพรหม เป็นพรหมผู้เป็นใหญ่ปกครองพรหมโลก เป็นผู้สร้างโลกและสรรพสัตว์ เป็นบิดาของสรรพสิ่งทั้งหลาย

ดูกรสมณะ สมณะและพราหมณ์เหล่าใด เป็นผู้ติเตียนดินเกลียดดิน เป็นผู้ติเตียนน้ำ เกลียดน้ำ เป็นผู้ติเตียนไฟ เกลียดไฟ เป็นผู้ติเตียนลม เกลียดลม เป็นผู้ติเตียนสัตว์เกลียดสัตว์ เป็นผู้ติเตียนเทวดา เกลียดเทวดา เป็นผู้ติเตียนพรหม เกลียดพรหม ว่าพรหมนี้ไม่เที่ยง สมณะและพราหมณ์เหล่านั้นเมื่อกายแตกดับไปแล้ว ล้วนต้องไปเกิดในอบาย

ดูกรสมณะ สมณะและพราหมณ์เหล่าใด เป็นผู้สรรเสริญดินชมเชยดิน เป็นผู้สรรเสริญน้ำ ชมเชยน้ำ เป็นผู้สรรเสริญไฟ ชมเชยไฟ เป็นผู้สรรเสริญลม เกลียดลม เป็นผู้สรรเสริญสัตว์ชมเชยสัตว์ เป็นผู้สรรเสริญเทวดา ชมเชยเทวดา เป็นผู้สรรเสริญพรหม ชมเชยพรหม ว่าพรหมนี้เที่ยง สมณะและพราหมณ์เหล่านั้นเมื่อกายแตกดับไปแล้วก็ได้ไปอุบัติในพรหมโลก

ดูกรสมณะ เพราะเหตุนั้น ท่านจงทำตามคำที่พกาพรหมบอกแก่ท่านเท่านั้น ท่านอย่าฝ่าฝืนคำของพกาพรหมเลย"

พระชินสีห์ทรงทราบว่ามารเข้าสิงสู่ในพรหมผู้นั้น จึงมีพุทธดำรัสตอบโต้มารว่า

"นี่แน่ะมาร ท่านอย่าเข้าใจว่าเราไม่รู้จักท่าน เรานี้รู้จักท่าน และไม่อยู่ในอำนาจของท่านดังเช่นพรหมที่ท่านครอบงำอยู่"

มารฟังคำของพระทศพลแล้วจึงหนีไป

ส่วนท้าวพกาพรหมนั้น ได้เจรจาอวดอ้างมหิทฤทธานุภาพของตนว่าเหนือกว่าผู้ใด ตนนั้นเป็นผู้สร้างทุกสรรพสิ่งและไม่มีสิ่งใดในสากลจักรวาลซ่อนเร้นทิพยจักษุของเราได้ มีดำริคิดต่อกรท้าทายพระพุทธเจ้าว่า จะหายตัวไปไม่ให้พระพุทธเจ้าทรงมองเห็นได้  พระพุทธองค์ทรงรับคำท้าแล้ว พกาพรหมก็หายตัวไปเพียงครู่เดียว

ครั้งแรกท้าวพกาพรหมจำแลงตนเป็นนก เพียงครู่เดียวพระพุทธเจ้าก็มีพุทธดำรัสว่า พกาพรหมท่านต้องการเป็นนกหรือ

ครั้งที่สองก็จำแลงตนเป็นผึ้ง เพียงครู่เดียวพระพุทธเจ้าก็มีพุทธดำรัสว่า พกาพรหมท่านต้องการเป็นผึ้งหรือถึงได้เที่ยวตอมดมดอกไม้อยู่

ครั้งสุดท้ายพกาพรหมได้จำแลงตนให้ละเอียดลงถึงขั้นกลายเป็นเม็ดสอดแทรกในมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ ถึงกระนั้นเพียงครู่เดียวก็มีพระพุทธดำรัสว่า พกาพรหมท่านไม่ต้องการเสวยสุขบนสวรรค์แล้วหรือจึงได้ไปแฝงตัวซ่อนเร้นอยู่ในเม็ดทรายในมหาสมุทร

พกาพรหมนั้น ยังไม่ละทิฎฐิ ท้าทายให้พระพุทธองค์ทรงายตัวบ้าง พระทศพลญาณก็หายตัวไปทันใด พกาพรหมนั้นก็ได้เข้าฌาณส่องทิพยจักษุญาณไปยังโลกธาตุต่างๆ เข้าไปยังนิคม ในบ้าน ในราชฐาน ในภูเขา ในแผ่นดินฝากโน้น แผ่นดินฝากนี้ ในแอ่งน้ำ แม่น้ำ ในมหาสมุทร ในโลกมนุษย์ ครั้นไม่พบก็ ส่องทิพยจักษุญาณไปยังโลกธาตุอื่น ในอบายภูมิ ในเทวโลกทั้ง6ชั้น ส่องไปในพรหมโลกทั้งหลาย ตลอดจนโลกธาตุและธาตุอันละเอียด ก็หาพระจอมไตรไม่พบ จึงยอมพ่ายแพ้ กล่าวขอให้พระผู้มีพระภาคเจ้าปรากฎตัวออกมา

ทันใดนั้น พระโลกนาถก็ตรัสขึ้นว่า "พกาพรหม ตลอดเวลาที่ท่านหาเราอยู่นั้น เราเดินจงกรมอยู่เหนือเศียรของท่าน"และพระพุทธเจ้าก็ทรงแสดงพระสัทธรรมด้วยพระสุรเสียงอันไพเราะยิ่ง 

พระพุทธเจ้าทรงแสดงกุศลธรรมของท้าวพกาพรหมว่า

"ดูก่อนท่านผู้เจริญ เรานี้รู้อดีตของท่าน ก่อนนี้ในกัปหนึ่ง ท่านเกิดเป็นดาบสอยู่ในทะเลทรายที่กันดาร ได้เนรมิตน้ำให้พ่อค้าเกวียน500เล่มที่หลงทาง นี้เป็นกุศลของท่าน

          ก่อนนี้ท่านเป็นดาบสอาศัยอยู่ชายป่า มีโจรลงมาจากเขา มาปล้นชาวบ้านแล้วจับเอาคนจำนวนมากขึ้นไปบนเขา ท่านแปลงกายเป็นพระราชพร้อมกองทหาร ขับไล่โจรไป แล้วช่วยชีวิตชาวบ้านเอาไว้ นี่เป็นกุศลของท่าน

          ก่อนนี้ท่านเป็นดาบสอยู่ริมฝั่งน้ำ ชาวเรือทิ้งเศษอาหารลงไปในน้ำทำให้พระยานาคโกรธ ขึ้นมาจะทำลายเรือ ท่านแปลงเป็นครุฑขับไล่ พระยานาคไป นี้เป็นกุศลของท่าน

ดูกรพรหมผู้เจริญ เรารู้บุญกรรมของท่านดุจนอนหลับแล้วตื่นขึ้น"

พระพุทธเจ้าทรงแสดงความไม่เที่ยงต่อไปว่า

"ดูก่อนพกาพรหม ความจริงอายุของท่านไม่มากเลย ท่านอย่าสำคัญว่าอายุของท่านมาก อายุของท่านเหลือเพียงหนึ่งแสนนิรพุทเท่านั้น"

ในที่สุดท้าวพกาพรหมจึงยอมจำนน เมื่อนั้น เหล่าพรหมทั้งหลายกล่าว่า องค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าชนะท้าวพกาพรหมแล้ว

การพ่ายแพ้ของท้าวพกาพรหมครั้งนี้ดุจหิงห้อยที่ด้อยแสงคิดขันแข่งพระสุริยันย่อมย่อยยับอัปราเป็นแน่แท้

เมื่อจบการเทศนาญาณแล้ว พรหมทั้งหลายจำนวนหนึ่งหมื่นองค์ก็บรรลุธรรม มีโสดาปัตติผลเป็นต้น

ฅ ฅนหลง

.


...ตามมาอ่านของดี ขอบคุณครับ ส.หัว ส.ยกน้ิวให้

กัมมุนาวัฏตีโลโก

กัมมุนาวัฏตีโลโก

Gummunawattateelogo

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๘ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒๐ ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๒

มหานิบาตชาดก
๑. เตมิยชาดก
พระเจ้าเตมีย์ทรงบำเพ็ญเนกขัมมบารมี
             [๓๙๔]    ท่านจงอย่าแสดงตนเป็นคนฉลาด  จงให้คนทั้งปวงรู้ว่าตนเป็นคนโง่
                          คนทั้งหมดนั้นจะได้ดูหมิ่นท่านว่า เป็นคนกาฬกัณณี ความประสงค์ของ
                          ท่านจะสำเร็จด้วยอาการอย่างนี้.
             [๓๙๕]    ดูกรแม่เทพธิดา ข้าพเจ้าจะทำตามคำที่ท่านกล่าว  ท่านเป็นผู้ปรารถนา
                          ประโยชน์ ปรารถนาจะเกื้อกูลแก่ข้าพเจ้า.
             [๓๙๖]    ดูกรนายสารถี ท่านจะรีบขุดหลุมไปทำไม เราถามแล้ว ขอท่านจงบอก
                          ท่านจักทำประโยชน์อะไรด้วยหลุม.
             [๓๙๗]    พระราชโอรสของพระราชาเป็นใบ้ เป็นง่อยเปลี้ย ไม่มีจิตใจ พระราชา
                          ตรัสสั่งข้าพเจ้าว่า พึงฝังลูกเราเสียในป่า.
             [๓๙๘]    ดูกรนายสารถี เรามิได้เป็นคนหนวก มิได้เป็นคนใบ้ มิได้เป็นง่อยเปลี้ย
                          มิได้มีอินทรีย์วิกลการ ถ้าท่านพึงฝังเราในป่า ท่านก็ชื่อว่าพึงกระทำสิ่งที่
                          ไม่เป็นธรรม เชิญท่านดูขาและแขนของเรา และเชิญฟังคำภาษิตของเรา
                          ถ้าท่านพึงฝังเราเสียในป่า ท่านก็ชื่อว่าพึงกระทำสิ่งที่ไม่เป็นธรรม.
             [๓๙๙]    ท่านเป็นเทวดา เป็นคนธรรพ์ หรือเป็นท้าวสักกปุรินททะ ท่านเป็นใคร
                          หรือว่าเป็นบุตรของใคร เราทั้งหลายจะรู้จักท่านอย่างไร.
             [๔๐๐]    เราไม่ใช่เป็นเทวดา ไม่ใช่เป็นคนธรรพ์ ไม่ใช่เป็นท้าวสักกปุรินททะ
                          เราเป็นโอรสของพระเจ้ากาสีผู้ที่ท่านอาศัยบารมีเลี้ยงชีพอยู่ ดูกรนายสารถี
                          ถ้าท่านพึงฝังเราเสียในป่า ท่านก็ชื่อว่าพึงกระทำสิ่งที่ไม่เป็นธรรม บุคคล
                          พึงนั่งหรือนอนที่ร่มเงาต้นไม้ใด ไม่พึงหักรานกิ่งต้นไม้นั้น  เพราะว่า
                          ผู้ประทุษร้ายมิตร เป็นคนเลวทราม พระราชาเป็นเหมือนต้นไม้ เราเป็น
                          เหมือนกิ่งไม้  ท่านสารถีเป็นเหมือนคนอาศัยร่มเงา ดูกรนายสารถี
                          ถ้าท่านพึงฝังเราเสียในป่า ท่านก็ชื่อว่าพึงกระทำซึ่งสิ่งที่ไม่เป็นธรรม.
             [๔๐๑]    ผู้ใดไม่ประทุษร้ายมิตร  ออกจากเรือนของตน ไปในที่ไหนๆ ย่อมมี
                          อาหารมากมาย คนเป็นอันมากย่อมอาศัยผู้นั้นเป็นอยู่ ผู้ใดไม่ประทุษร้าย
                          มิตร ผู้นั้นไปยังชนบท นิคม ราชธานีใดๆ ย่อมเป็นผู้อันชนทั้งหลาย
                          ในชนบท นิคม ราชธานีนั้นๆ บูชา ผู้ใดไม่ประทุษร้ายมิตร ผู้นั้นโจร
                          ทั้งหลายไม่ข่มเหง พระมหากษัตริย์ ก็ไม่ทรงดูหมิ่น  และผู้นั้นย่อมข้าม
                          พ้นศัตรูทั้งปวงได้ ผู้ใดไม่ประทุษร้ายมิตร ผู้นั้นไม่ได้โกรธเคืองใครๆ
                          มายังเรือนของตน  ย่อมเป็นผู้อันมหาชนยินดีต้อนรับในสภา  ทั้งเป็น
                          ผู้สูงสุดในหมู่ญาติ ผู้ใดไม่ประทุษร้ายมิตร ผู้นั้นสักการะคนอื่นแล้ว
                          ย่อมเป็นผู้อันคนอื่นสักการะตอบ เคารพคนอื่นแล้ว ย่อมเป็นผู้อันคนอื่น
                          เคารพตอบ ทั้งเป็นผู้อันบุคคลกล่าวสรรเสริญเกียรติคุณ ผู้ใดไม่ประทุษ
                          ร้ายมิตร บูชาผู้อื่น  ย่อมได้บูชาตอบ  ไหว้ผู้อื่น ย่อมได้ไหว้ตอบ
                          ทั้งย่อมถึงอิสริยยศและเกียรติยศ  ผู้ใดไม่ประทุษร้ายมิตร ผู้นั้นย่อม
                          รุ่งเรืองเหมือนกองไฟ ย่อมไพโรจน์เหมือนเทวดา เป็นผู้อันสิริไม่ละแล้ว
                          ผู้ใดไม่ประทุษร้ายมิตร  โคของผู้นั้นย่อมเกิดมากมูล พืชในนาย่อม
                          งอกงาม ผู้นั้นย่อมได้บริโภคผลที่หว่านลงแล้ว นรชนใดไม่ประทุษร้าย
                          มิตร นรชนนั้น พลาดจากภูเขา หรือพลาดตกจากต้นไม้ ย่อมได้ที่พึ่ง
                          ผู้ใดไม่ประทุษร้ายมิตร  ศัตรูทั้งหลายย่อมไม่ข่มขี่ผู้นั้น เหมือนต้นไทร
                          ที่มีรากหยั่งลงมั่นแล้ว ลมประทุษร้ายไม่ได้ฉะนั้น.
             [๔๐๒]    ข้าแต่พระราชโอรส เชิญเสด็จเถิด เกล้ากระหม่อม จักนำพระองค์
                          เสด็จกลับยังพระราชมณเฑียร เชิญพระองค์เสวยราชสมบัติ พระองค์
                          จงทรงพระเจริญ  จะทรงหาประโยชน์อะไรอยู่ในป่าเล่า.
             [๔๐๓]    ดูกรนายสารถี เราไม่ต้องการด้วยราชสมบัติ พระประยูรญาติ หรือทรัพย์
                          สมบัติ ที่เราจะพึงได้ด้วยการประพฤติธรรม.
             [๔๐๔]    ข้าแต่พระราชโอรส  พระองค์เสด็จกลับจากที่นี้แล้ว  จะทำให้เกล้า-
                          กระหม่อมได้รางวัลที่น่ายินดี เมื่อพระองค์เสด็จกลับแล้ว พระชนกและ
                          พระชนนีพึงพระราชทานรางวัลแก่เกล้ากระหม่อม ข้าแต่พระราชโอรส
                          เมื่อพระองค์เสด็จกลับแล้ว นางสนม พวกกุมาร พ่อค้า และพวก
                          พราหมณ์ จะพึงดีใจ ให้รางวัลแก่เกล้ากระหม่อม ข้าแต่พระราชโอรส
                          เมื่อพระองค์เสด็จกลับแล้ว  กองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ และ
                          กองพลราบ จะพึงดีใจให้รางวัล แก่เกล้ากระหม่อม ข้าแต่พระราชโอรส
                          เมื่อพระองค์เสด็จกลับแล้ว ชาวชนบท และชาวนิคม  ผู้มีธัญญาหาร
                          มากมาย จะมาประชุมกันให้เครื่องบรรณาการแก่เกล้ากระหม่อม.
             [๔๐๕]    เราเป็นผู้อันพระชนกและพระชนนี  ชาวแว่นแคว้น ชาวนิคม และ
                          กุมารทั้งปวงสละแล้ว เราไม่มีเรือนของตน เราอันพระชนนีทรงอนุญาต
                          แล้ว และพระชนกก็ทรงยินดี สละอยู่ในป่าแต่ผู้เดียว ไม่พึงปรารถนา
                          กามทั้งหลาย เราจะบวช.
             [๔๐๖]    ความปรารถนาผลของบุคคลผู้ไม่รีบร้อน ย่อมสำเร็จแน่นอน เราเป็น
                          ผู้มีพรหมจรรย์อันสำเร็จแล้ว ดูกรนายสารถี ท่านจงรู้อย่างนี้ ประโยชน์
                          โดยชอบของบุคคลผู้ไม่รีบร้อน ย่อมสำเร็จโดยแท้ เราเป็นผู้มีพรหมจรรย์
                          อันสำเร็จแล้ว เราออกบวชแล้ว เป็นผู้ไม่มีภัยแต่ที่ไหนๆ.
             [๔๐๗]    พระองค์เป็นผู้มีพระวาจาอันไพเราะ สละสลวยอย่างนี้ เพราะเหตุไร
                          พระองค์จึงไม่ตรัสในสำนักพระชนกและพระชนนีในกาลนั้น.
             [๔๐๘]    เราเป็นคนง่อยเปลี้ยเพราะไม่มีเครื่องต่อก็หาไม่  เป็นคนหนวกเพราะ
                          ไม่มีช่องหูก็หาไม่  เป็นคนใบ้เพราะไม่มีลิ้นก็หาไม่ ท่านอย่าเข้าใจว่า
                          เราเป็นใบ้  เราระลึกชาติก่อนที่เราเสวยราชสมบัติได้ เราได้เสวย
                          ราชสมบัติในกาลนั้นแล้ว ต้องไปตกนรกอันกล้าแข็ง  เราได้เสวย
                          ราชสมบัติในกาลนั้นยี่สิบปีแล้วต้องหมกไหม้อยู่ในนรก ๘๐,๐๐๐ ปี เรา
                          กลัวจะต้องเสวยราชสมบัตินั้น  จึงตั้งจิตอธิษฐานว่า ขอชนทั้งหลาย
                          อย่าได้อภิเษกเราในราชสมบัติเลย เพราะเหตุนั้น เราจึงไม่พูดในสำนัก
                          ของพระชนก และพระชนนีในกาลนั้น พระชนกทรงอุ้มเรา  ให้นั่ง
                          บนพระเพลา แล้วตรัสสั่งข้อความว่า  จงฆ่าโจรคนหนึ่ง จงขังโจร
                          คนหนึ่งไว้ในเรือนจำ จงเอาหอกแทงโจรคนหนึ่ง  แล้วราดด้วยน้ำแสบ
                          ที่แผล จงเสียบโจรคนหนึ่งบนหลาว พระชนกตรัสสั่งข้อความแก่มหาชน
                          ด้วยประการดังนี้ เราได้ฟังพระวาจาอันหยาบคาย ที่พระชนกตรัสนั้น จึง
                          กลัวต่อการเสวยราชสมบัติ เรามิได้เป็นใบ้ ก็ทำเหมือนเป็นใบ้ มิได้เป็น
                          คนง่อยเปลี้ย ก็ทำเหมือนเป็นคนง่อยเปลี้ย  เราแกล้งนอนเกลือกกลิ้งอยู่
                          ในอุจจาระปัสสาวะของตน  ชีวิตเป็นของฝืดเคือง เป็นของน้อย
                          ทั้งประกอบไปด้วยทุกข์ ใครเล่าอาศัยชีวิตนี้แล้ว พึงก่อเวรกับใครๆ ใคร
                          เล่าได้อาศัยชีวิตนี้แล้ว พึงก่อเวรกับใครๆ เพราะไม่ได้ปัญญา และเพราะ
                          ไม่เห็นธรรม ความหวังผลของบุคคลผู้ไม่รีบร้อน ย่อมสำเร็จแน่นอน
                          เราเป็นผู้มีพรหมจรรย์อันสำเร็จแล้ว  ดูกรนายสารถี  ท่านจงรู้อย่างนี้
                          ประโยชน์โดยชอบของบุคคลผู้ไม่รีบร้อน ย่อมสำเร็จโดยแท้ เราเป็นผู้
                          มีพรหมจรรย์อันสำเร็จแล้ว  เราออกบวชแล้วเป็นผู้ไม่มีภัยแต่ที่ไหนๆ.
             [๔๐๙]    ข้าแต่พระราชโอรส แม้เกล้ากระหม่อม ก็จักบวชในสำนักของพระองค์
                          ขอพระองค์ได้โปรดตรัสอนุญาตให้เกล้ากระหม่อมบวชด้วยเถิด ขอพระ
                          องค์จงทรงพระเจริญ เกล้ากระหม่อมก็ชอบบวช.
             [๔๑๐]    ดูกรนายสารถี เรามอบรถให้ท่านไว้ ท่านจงเป็นผู้ไม่มีหนี้มา จริงอยู่
                          การบรรพชา ของบุคคลผู้ไม่มีหนี้ ท่านผู้แสวงหาทั้งหลายสรรเสริญ.
             [๔๑๑]    ขอพระองค์จงทรงพระเจริญ เมื่อใด เกล้ากระหม่อมได้ทำตามพระดำรัส
                          ของพระองค์แล้ว เมื่อนั้น เกล้ากระหม่อมทูลวิงวอนแล้ว ขอพระองค์
                          ได้ทรงโปรดกระทำตามคำของเกล้ากระหม่อม  ขอพระองค์จงประทับรอ
                          อยู่ ณ ที่นี้จนกว่าเกล้ากระหม่อมจะเชิญเสด็จพระราชามา เมื่อพระชนก
                          ของพระองค์ ทอดพระเนตรเห็นแล้ว จะพึงทรงมีพระปีติโสมนัสเป็นแน่.
             [๔๑๒]    ดูกรนายสารถี เราจะทำตามคำที่ท่านกล่าวกะเรา แม้เราก็ปรารถนาจะได้
                          เห็นพระชนกของเราเสด็จมา ณ ที่นี้ เชิญท่านกลับไปเถิด ท่านได้ทูล
                          พระประยูรญาติด้วยก็เป็นความดี ท่านเป็นผู้อันเราสั่งแล้ว พึงกราบทูล
                          ถวายบังคมพระชนนีและพระชนกของเรา.
             [๔๑๓]    นายสารถีจับพระบาทของพระโพธิสัตว์ และกระทำประทักษิณแล้ว ขึ้น
                          รถบ่ายหน้าเข้าไป ยังพระทวารพระราชวัง.
             [๔๑๔]    พระราชชนนีทอดพระเนตรเห็นรถเปล่า  นายสารถีกลับมาแต่ผู้เดียว
                          ทรงกรรแสง มีพระเนตรชุ่มด้วยน้ำอัสสุชล ทอดพระเนตรดูนายสารถี
                          นั้นอยู่ ทรงเข้าพระทัยว่านายสารถีฝังลูกของเราเสร็จแล้วกลับมา ลูก
                          ของเราอันนายสารถีฝังในแผ่นดิน ถมแผ่นดินแล้วเป็นแน่ ศัตรูทั้งหลาย
                          ย่อมพากันยินดี  คนมีเวรทั้งหลายย่อมพากันอิ่มใจแน่แท้ เพราะเห็นนาย
                          สารถีกลับมา เพราะนายสารถีฝังลูกของเรา พระราชชนนีทอดพระเนตร
                          เห็นรถเปล่า  และนายสารถีกลับมาแต่ผู้เดียว จึงทรงกรรแสง มีพระเนตร
                          ชุ่มด้วยน้ำอัสสุชล  ตรัสถามนายสารถีระร่ำระรักว่า ลูกของเราเป็นใบ้
                          หรือ เป็นง่อยเปลี้ยจริงหรือ ลูกของเราขณะเมื่อท่านจะฝังในแผ่นดิน พูด
                          อะไรบ้างหรือเปล่า  ดูกรนายสารถี ขอได้บอกเนื้อความนั้นแก่เราเถิด ลูก
                          ของเราเป็นใบ้ ง่อยเปลี้ย  เมื่อท่านจะฝังลงแผ่นดิน กระดิกมือและเท้า
                          อย่างไร เราถามแล้ว ขอท่านจงบอกเนื้อความนั้นแก่เรา.
             [๔๑๕]    ขอเดชะพระแม่เจ้า ขอได้โปรดพระราชทานอภัยแก่ข้าพระพุทธเจ้า ข้า-
                          พระพุทธเจ้าขอกราบทูลตามที่ได้ยินและได้เห็นมา ในสำนักพระราชโอรส.
             [๔๑๖]    ดูกรนายสารถีผู้สหาย เราให้อภัยแก่ท่าน อย่ากลัวเลย  จงพูดไปเถิด
                          ตามที่ท่านได้ฟัง หรือได้เห็นมาในสำนักพระราชโอรส.
             [๔๑๗]    พระราชโอรสนั้น มิได้ทรงเป็นใบ้ มิได้เป็นง่อยเปลี้ย มีพระวาจาสละ-
                          สลวย ทราบว่า พระองค์ทรงกลัวต่อการครองราชสมบัติ จึงได้ทรง
                          กระทำการลวงเป็นอันมาก พระองค์ทรงระลึกถึงชาติก่อนที่พระองค์ได้
                          เสวยราชสมบัติได้ พระองค์ได้เสวยราชสมบัติในกาลนั้นแล้ว  ต้องไป
                          ตกนรกอันกล้าแข็ง  พระองค์ได้เสวยราชสมบัติในกาลนั้น ๒๐ ปี   แล้ว
                          ต้องหมกไหม้อยู่ในนรก ๘๐๐๐๐  ปี พระองค์ทรงกลัวจะต้องเสวยราช-
                          สมบัตินั้น จึงทรงตั้งจิตอธิษฐานว่า ขอชนทั้งหลายอย่าอภิเษกเราใน
                          ราชสมบัติเลย เพราะฉะนั้น พระองค์จึงไม่ตรัสในราชสำนัก ของ
                          พระชนกและพระชนนีในกาลนั้น พระราชโอรสทรงสมบูรณ์ด้วยอังคา-
                          พยพ มีพระรูปสมบัติงดงามสมส่วน มีพระวาจาสละสลวย  มีพระ
                          ปัญญาเฉียบแหลม ทรงสถิตอยู่ในทางสวรรค์ ถ้าพระแม่เจ้าทรงปรารถนา
                          พระราชโอรสของพระองค์ ข้าพระพุทธเจ้าขอทูลเชิญเสด็จพระแม่เจ้า
                          เสด็จไปให้ถึงสถานที่ ซึ่งพระเตมีย์ราชโอรสประทับอยู่เถิด พระพุทธ-
                          เจ้าข้า.
             [๔๑๘]    เจ้าหน้าที่ทั้งหลายจงเทียมรถ จงเทียมม้า จงผูกเครื่องประดับช้าง จง
                          กระทั่งสังข์และบัณเฑาะว์ จงตีกลองหน้าเดียว  จงตีกลองสองหน้า
                          และรำมะนาอันไพเราะ  ขอชาวนิคม จงตามเรามา เราจักไปให้โอวาท
                          พระราชโอรส นางสนม พวกกุมาร  พวกพ่อค้า และพวกพราหมณ์
                          จงรีบตระเตรียมยาน เราจักไปให้โอวาทพระราชโอรส พวกกองพลช้าง
                          กองพลม้า กองพลรถและกองพลราบ จงรีบเทียมยาน เราจักไปให้
                          โอวาทพระราชโอรส ชาวชนบท และชาวนิคม จงมาพร้อมกัน จงรีบ
                          ตระเตรียมยาน เราจักไปให้โอวาทพระราชโอรส.
             [๔๑๙]    พวกสารถี จูงม้าที่เทียมรถและม้าสินธพ ซึ่งเป็นพาหนะว่องไว  มายัง
                          ประตูพระราชวัง  แล้วกราบทูลว่า ม้าทั้งสองนี้เทียมไว้เสร็จแล้วพระเจ้าข้า.
             [๔๒๐]    ม้าอ้วนไม่มีความว่องไว ม้าผอมไม่มีเรี่ยวแรง จงเว้นม้าผอมและม้า
                          อ้วนเสีย เลือกเทียมแต่ม้าที่สมบูรณ์.
             [๔๒๑]    ลำดับนั้น พระราชารีบเสด็จขึ้นประทับสินธพ อันเทียมแล้ว ได้ตรัส
                          กับนางชาววังว่า จงตามเรามาทุกคน พระราชาตรัสสั่งว่า จงตระเตรียม
                          เครื่องปัญจราชกกุธภัณฑ์ คือ พัดวาลวีชนี อุณหิส พระขรรค์ เศวต-
                          ฉัตร และฉลองพระบาททอง ให้ขนขึ้นรถไปด้วย ลำดับนั้นแล พระ
                          ราชาตรัสสั่งให้นายสารถีนำทางเสด็จเคลื่อนขบวนเข้าไปถึงสถานที่ ที่
                          พระเตมีย์ ราชฤาษีประทับอยู่โดยพลัน.
             [๔๒๒]    ส่วนพระเตมีย์ราชฤาษี  ทอดพระเนตรเห็นพระชนกนาถกำลังเสด็จมา
                          ทรงรุ่งเรืองด้วยพระเดชานุภาพ ทรงแวดล้อมด้วยหมู่อำมาตย์  จึงถวาย
                          พระพรว่า ขอถวายพระพรมหาบพิตร ทรงปราศจากพระโรคาพาธหรือ ทรง
                          พระสำราญดีหรือ ราชกัญญาทั้งปวง และโยมพระมารดาของอาตมภาพ
                          ไม่มีพระโรคพาธหรือ.
             [๔๒๓]    ดูกรพระลูกรัก ดิฉันไม่มีโรคาพาธ สุขสำราญดี พระราชกัญญาทั้งปวง
                          และโยมพระมารดาของพระลูกรักไม่มีโรคาพาธ.
             [๔๒๔]    ขอถวายพระพร มหาบพิตรไม่เสวยน้ำจัณฑ์ หรือ ไม่ทรงโปรดปราน
                          น้ำจัณฑ์หรือ พระหฤทัยของมหาบพิตรทรงยินดีในสัจจะ ในธรรม
                          และในทานหรือ.
             [๔๒๕]    ดูกรพระลูกรัก ดิฉันไม่ดื่มน้ำจัณฑ์ ไม่โปรดปรานน้ำจัณฑ์ ใจของดิฉัน
                          ยินดีในสัจจะ ในธรรมและในทาน.
             [๔๒๖]    ขอถวายพระพร พาหนะมีม้าเป็นต้นของมหาบพิตรที่เขาเทียมแล้วไม่มี
                          โรคหรือ นำอะไรๆ ไปได้หรือ มหาบพิตรไม่มีพยาธิที่เข้าไปแผดเผาพระ
                          สรีระแลหรือ.
             [๔๒๗]    ดูกรพระลูกรัก พาหนะมีม้าเป็นต้นของดิฉันที่เทียมแล้ว ไม่มีโรค นำ
                          อะไรๆ ไปได้ ดิฉันไม่มีพยาธิเข้าไปแผดเผาสรีระ.
             [๔๒๘]    ขอถวายพระพร ปัจจันตชนบทของมหาบพิตรยังเจริญดีอยู่หรือ คาม-
                          นิคมในท่ามกลางรัฐสีมาของมหาบพิตรยังแน่นหนาดีหรือ ฉางหลวง
                          และท้องพระคลังของมหาบพิตรยังบริบูรณ์ดีอยู่หรือ.
             [๔๒๙]    ดูกรพระลูกรัก  ปัจจันตชนบทของดิฉันยังเจริญดีอยู่ คามนิคมในท่าม
                          กลางรัฐสีมาของดิฉันยังแน่นหนาดี  ฉางหลวงและท้องพระคลังของ
                          ดิฉันทั้งหมดยังบริบูรณ์ดี.
             [๔๓๐]    ขอถวายพระพร มหาบพิตรเสด็จมาดีแล้ว  มหาบพิตรเสด็จไม่ร้าย ขอ
                          ราชบุรุษทั้งหลายจงจัดตั้งบัลลังก์ถวายให้พระราชาประทับเถิด.
             [๔๓๑]    ขอเชิญประทับนั่ง ณ เครื่องลาดใบไม้ที่เขาปูลาดไว้ถวายมหาบพิตร ณ
                          ที่นี้ จงทรงตักน้ำจากภาชนะนี้ล้างพระบาทของมหาบพิตรเถิด.
             [๔๓๒]    ขอถวายพระพร ใบหมากเม่าของอาตมภาพนี้เป็นของสุก (นึ่งแล้ว) ไม่
                          มีรสเค็ม  มหาบพิตรผู้เป็นแขกของอาตมภาพเสด็จมาถึงแล้วเชิญเสวย
                          เถิด ขอถวายพระพร.
             [๔๓๓]    ดิฉันไม่บริโภคใบหมากเม่า ใบหมากเม่านี้ไม่ใช่อาหารสำหรับดิฉัน ดิฉัน
                          บริโภคข้าวสุกแห่งข้าวสาลี ซึ่งปรุงด้วยมังสะอันสะอาด.
             [๔๓๔]    ความอัศจรรย์ย่อมแจ่มแจ้งกะดิฉัน เพราะได้เห็นพระลูกรักอยู่ในที่ลับแต่
                          ผู้เดียว บริโภคอาหารเช่นนี้ เหตุไรผิวพรรณ (ของผู้บริโภคอาหารเช่นนี้)
                          จึงผ่องใส.
             [๔๓๕]    ขอถวายพระพร อาตมภาพนอนผู้เดียวบนเครื่องลาดใบไม้ที่ปูลาดไว้แล้ว
                          เพราะการนอนผู้เดียวนั้น ผิวพรรณของอาตมภาพจึงผ่องใส ใครๆ มิได้
                          ตั้งการรักษาทางราชการที่ต้องผูกเหน็บดาบสำหรับอาตมภาพ  เพราะการ
                          นอนผู้เดียวนั้นผิวพรรณของอาตมภาพจึงผ่องใส ขอถวายพระพร อาตม-
                          ภาพไม่ได้เศร้าโศกถึงอารมณ์ที่ล่วงไปแล้ว ไม่ปรารถนาอารมณ์ที่ยังไม่มา
                          ถึง  ยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยสิ่งที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า เพราะเหตุนั้น ผิว
                          พรรณของอาตมภาพจึงผ่องใส  คนพาลทั้งหลายย่อมเหือดแห้ง เพราะ
                          ปรารถนาอารมณ์ที่ยังไม่มาถึง  เพราะเศร้าโศกถึงอารมณ์ที่ล่วงไปแล้ว
                          เปรียบเหมือนไม้อ้ออันเขียวสด ถูกถอนขึ้นทิ้งไว้ที่แดด ฉะนั้น.
             [๔๓๖]    ดูกรพระลูกรัก ดิฉันขอมอบกองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ กอง
                          พลราบ กองโล่ห์และพระราชนิเวศน์อันเป็นสถานที่รื่นรมย์แก่พระลูกรัก
                          ดิฉันขอมอบนางสนมกำนัลผู้ประดับด้วยเครื่องอลังการทุกอย่าง  ขอ
                          พระลูกรักจงปกครองนางสนมกำนัลเหล่านั้น  จงเป็นพระราชาของดิฉัน
                          ทั้งหลาย  หญิง ๔ คน เป็นผู้ฉลาดในการฟ้อนรำและการขับร้อง ศึกษา
                          ดีแล้วในหน้าที่ของหญิง จักยังพระลูกรักให้รื่นรมย์ในกาม พระลูกรัก
                          จักทำประโยชน์อะไรในป่า  ดิฉันจักนำราชกัญญาจากพระราชาเหล่าอื่นผู้
                          ประดับประดาดีแล้ว  พระลูกรักให้พระโอรสเกิดในหญิงเหล่านั้นหลาย
                          คนแล้วภายหลังจึงบวชเถิด พระลูกเจ้ายังทรงพระเยาว์หนุ่มแน่น ตั้งอยู่
                          ในปฐมวัย พระเกศายังดำสนิท จงเสวยราชสมบัติก่อนเถิด พระลูก
                          เจ้าจงทรงพระเจริญ จักกระทำประโยชน์อะไรในป่า.
             [๔๓๗]    ขอถวายพระพร คนหนุ่มควรประพฤติพรหมจรรย์ ผู้ประพฤติพรหมจรรย์
                          ควรจะเป็นคนหนุ่ม เพราะว่าการบวชของคนหนุ่ม ท่านผู้แสวงหาคุณ-
                          ธรรมมีพระพุทธเจ้าเป็นต้นสรรเสริญคนหนุ่มควรประพฤติพรหมจรรย์ ผู้
                          ประพฤติพรหมจรรย์ควรจะเป็นคนหนุ่ม อาตมภาพจักประพฤติพรหม-
                          จรรย์ อาตมภาพไม่ต้องการด้วยราชสมบัติ อาตมภาพเห็นเด็กชายของ
                          ท่านทั้งหลาย ผู้เรียกมารดาบิดา ซึ่งเป็นบุตรที่รักอันได้มาด้วยยากยิ่งนัก
                          ยังไม่ทันถึงแก่ก็ตายเสียแล้ว  อาตมภาพเห็นเด็กหญิงของท่านทั้งหลาย
                          ซึ่งสวยสดงดงามน่าดูน่าชม มีอันสิ้นไปแห่งชีวิตเหมือนหน่อไม้ไผ่ที่ถูก
                          ถอน ฉะนั้น จริงอยู่ จะเป็นชายหรือหญิงก็ตามแม้จะยังหนุ่มสาวก็ตาย
                          เพราะเหตุนั้น ใครเล่าจะพึงวางใจในชีวิตนั้นว่า  เรายังเป็นหนุ่มสาว
                          อายุของคนเป็นของน้อยนัก เพราะวันคืนล่วงไปๆ เปรียบเหมือนอายุ
                          ของฝูงปลาในน้ำน้อย  ความเป็นหนุ่มสาวในวัยนั้นจักทำอะไรได้
                          สัตว์โลกถูกครอบงำและถูกห้อมล้อมอยู่เป็นนิตย์  เมื่อสิ่งที่ไม่เป็น
                          ประโยชน์เป็นไปอยู่ มหาบพิตรจะอภิเษกอาตมภาพในราชสมบัติทำไม.
             [๔๓๘]    สัตว์โลกอันอะไรครอบงำไว้ และอันอะไรห้อมล้อมไว้ อะไรชื่อว่าสิ่ง
                          ไม่เป็นประโยชน์เป็นไปอยู่ ดิฉันถามแล้ว  ขอพระลูกเจ้าจงบอกข้อนั้น
                          แก่ดิฉัน.
             [๔๓๙]    สัตว์โลกอันความตายครอบงำไว้ อันความแก่ห้อมล้อมไว้ วันคืนชื่อว่าสิ่ง
                          ไม่เป็นประโยชน์เป็นไป มหาบพิตรจงทรงทราบอย่างนี้ ขอถวายพระพร
                          เมื่อด้ายที่เขากำลังทอ ช่างหูกทอไปได้เท่าใด ส่วนที่จะต้องทอก็ยัง
                          เหลืออยู่น้อยเท่านั้น แม้ฉันใด ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายก็ฉันนั้น แม้น้ำ
                          ที่เต็มฝั่งย่อมไม่ไหลไปสู่ที่สูง ฉันใด อายุของมนุษย์ทั้งหลาย ย่อมไม่
                          กลับมาสู่ความเป็นเด็กอีก ฉันนั้น แม่น้ำที่เต็มฝั่ง ย่อมพัดพาเอาต้นไม้
                          ที่เกิดอยู่ริมฝั่งให้หักโค่นไป ฉันใด สัตว์ทั้งปวงย่อมถูกชราและมรณะพัด
                          พาไป ฉันนั้น.
             [๔๔๐]    ดูกรพระลูกรัก ดิฉันขอมอบกองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ กอง
                          พลราบ กองพลโล่ห์ และพระราชนิเวศน์อันเป็นสถานที่รื่นรมย์แก่พระ
                          ลูกรัก ดิฉันขอมอบนางสนมกำนัลผู้ประดับด้วยเครื่องอลังการทุกอย่าง
                          ขอพระลูกจงปกครองนางสนมกำนัลเหล่านั้น  จงเป็นพระราชาของดิฉัน
                          ทั้งหลาย  หญิง ๔ คน เป็นผู้ฉลาดในการฟ้อนรำและการขับร้อง ศึกษา
                          ดีแล้วในหน้าที่ของหญิง จักยังพระลูกรักให้รื่นรมย์ในกาม พระลูกรัก
                          จักทำประโยชน์อะไรในป่า  ดิฉันจักนำราชกัญญาจากพระราชาเหล่าอื่น ผู้
                          ประดับประดาดีแล้ว  มาให้แก่พระลูก  พระลูกรักให้พระโอรสเกิดใน
                          หญิงเหล่านั้นหลายคนแล้ว ภายหลังจึงบวชเถิด พระลูกเจ้ายังทรงพระ-
                          เยาว์หนุ่มแน่น ตั้งอยู่ในปฐมวัยพระเกศายังดำสนิท จงเสวยราชสมบัติ
                          ก่อนเถิด พระลูกเจ้าจงทรงพระเจริญ จักกระทำประโยชน์อะไรในป่า ดูกร
                          พระลูกรัก ดิฉันขอมอบฉางหลวง พระคลัง  พาหนะ พลนิกายและนิเวศน์
                          อันน่ารื่นรมย์ แก่พระลูกรัก พระลูกรักจงแวดล้อมด้วยราชกัญญาอันงด
                          งามเป็นมณฑล จงห้อมล้อมด้วยหมู่นางทาสี เสวยราชสมบัติก่อนเถิด
                          พระลูกรักจงทรงพระเจริญ จักกระทำประโยชน์อะไรในป่า.
             [๔๔๑]    มหาบพิตรจะให้อาตมภาพเสื่อมไปเพราะทรัพย์ทำไม บุคคลจักตายเพราะ
                          ภรรยาทำไม ประโยชน์อะไรด้วยความเป็นหนุ่มสาวซึ่งต้องแก่ ทำไมจะ
                          ต้องให้ชราครอบงำในโลกพิศวาสอันมีชราและมรณะเป็นธรรมดานั้น จัก
                          เพลิดเพลินไปทำไม จะเล่นหัวไปทำไม จะยินดีไปทำไม จะมีประโยชน์
                          อะไรด้วยการแสวงหาทรัพย์  จะมีประโยชน์อะไรด้วยลูกและเมียแก่
                          อาตมภาพ อาตมภาพหลุดพ้นแล้วจากเครื่องผูก ขอถวายพระพร มัจจุราช
                          ย่อมไม่ย่ำยีอาตมภาพซึ่งรู้ชัดอย่างนี้ว่า เมื่อบุคคลถูกมัจจุราชครอบงำแล้ว
                          จะยินดีไปทำไม  จะประโยชน์อะไรด้วยการแสวงหาทรัพย์ ผลไม้ที่สุก
                          แล้ว  ย่อมเกิดภัยแก่การหล่นเป็นนิตย์ ฉันใด สัตว์ทั้งหลายที่เกิดแล้ว
                          ย่อมมีภัยแต่ความตายเป็นนิตย์  ฉันนั้น คนเป็นอันมากได้พบกันในเวลา
                          เช้าพอเวลาเย็นก็ไม่เห็นกัน คนเป็นอันมากได้พบกันในเวลาเย็น พอ
                          ถึงเวลาเช้าก็ไม่ได้เห็นกัน  ควรรีบทำความเพียรเสียแต่ในวันนี้ทีเดียว
                          ใครเล่าจะพึงรู้ความตายว่าจะมีในวันพรุ่งนี้  เพราะความผัดเพี้ยนกับ
                          มัจจุราชผู้มีเสนาใหญ่นั้นไม่มีเลย  โจรทั้งหลายย่อมปรารถนาทรัพย์
                          อาตมภาพเป็นผู้พ้นจากเครื่องผูก ขอถวายพระพร เชิญมหาบพิตรเสด็จ
                          กลับเถิด อาตมภาพไม่มีความต้องการด้วยราชสมบัติ.
จบ เตมิยชาดกที่ ๑

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๘ บรรทัดที่ ๒๖๐๗ - ๒๘๗๐. หน้าที่ ๑๐๒ - ๑๑๒. http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=28&A=2607&Z=2870&pagebreak=0              ศึกษาอรรถกถาชาดกนี้ ได้ที่ :- http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=28&i=394              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๘ http://www.84000.org/tipitaka/read/?สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่_๒๘ http://www.84000.org/tipitaka/read/?index_28

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า ในกรณี :- บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พระไตรปิฎก ฉบับสยามรัฐ. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ DhammaPerfect@yahoo.com
   

ฅ ฅน


moccullana suggatevarach

ประสูตร ตรัสรู้ ปรินิพพาน

คุณหลวงสบายดีบ่

.


...ม่ายมีไร

คิดถึงคุณหลวง สบายดี ส.ก๊ากๆ ส.หัว ส.โบยบิน

คุณหลวง

อ้างจาก: คุณหลวงสบายดีบ่ เมื่อ 09:51 น.  26 มิ.ย 57
.


...ม่ายมีไร

คิดถึงคุณหลวง สบายดี ส.ก๊ากๆ ส.หัว ส.โบยบิน
สะบายดีข่ะรับท่าน มาสอยตอบนควน เหนื่อยบ้างล่ะ555
หวังว่าท่านเองและทุกๆท่านก็สบายดีกันนะครับ ตอบทางโทรศัพท์ไม่มีลงท้ายสะบายดีสีเขียวแต่เป็นตัวจริงข่ะรับ
ขอบคุณที่ยังไม่ลืมกันครับ มีความสุขกับความทุกข์ของโลกนะครับ555

สะบายดี...
สิ่งที่ไม่เหลือคือ  ความสงสัยในวิถีตน
สิ่งที่เหลือคือ  เดินทางต่อไป และต่อไป

ฅ ฅน

.

...คงเปงเจ้าของสวยสะตอ รวยน่าดู

อย่าเพิ่งตัดช่องน้อยแต่พอตัว นะขอรับ

มาแบ่งปันธรรมะให้กับผู้ด้อยกันก่อน

ส-เหอเหอ

งดเล่า

อย่าลืม งดเหล้า งดเบียร์ ช่วงเข้าพรรษานะขอรับ ส.หัว

คุณหลวง

แค่พอได้กินบ้างเท่านั้นครับ
ปีนี้สะตอดกมากทุกเจ้า โจรลักไปก็มาก คนบ้านผมจับโจรได้คาต้นวันก่อน แกกะเอาเรื่องสุดๆเชียวเพราะหายมาเยอะ แม้โจรจะเป็นสายเครือญาติไม่ไกลกันเท่าไหร่ก็ตาม

แปลกใจ เราขึ้นตอมาสี่ห้าร้อยฝัก พ่อค้าไม่รับซื้อเพราะมากเกินไป หาคนซื้อไม่ได้เลยดองไว้กินเองทั้งเพเลย แต่โจรมันขึ้นไปขายไม่เคยแจ้งล่วงหน้า มันขายได้ทุกที มันยังไงนิ  ส.หลกจริง ส.หลกจริง

สะบายดี...
สิ่งที่ไม่เหลือคือ  ความสงสัยในวิถีตน
สิ่งที่เหลือคือ  เดินทางต่อไป และต่อไป

ฅ ฅนหลง

.

..ดีใจที่คุณหลวงมา

เรื่องโจรลักตอนั้น อย่าเอาเรื่องเลย

ชาติหน้าจะได้เป็นพระเวชสันดอน ส.หลก ส.หลก

สัมมาอะระหัง พุทธโธ

 ส.อ่านหลังสือ