ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

เปิดปม "ปฏิรูปแบงก์รัฐ" คลังสบช่องโยกเงินโปะประชานิยม

เริ่มโดย ทีมงานประชาสัมพันธ์, 11:17 น. 16 ต.ค 55

ทีมงานประชาสัมพันธ์

updated: 16 ต.ค. 2555 เวลา 07:53:34 น.
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

ปมร้อนของธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ หรือแบงก์รัฐ ซึ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมาถูกลากเข้ามาเป็นเครื่องมือของรัฐบาลในการหนุนนโยบายประชานิยมและโครงการต่าง ๆ ให้กับรัฐบาล และนำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์ความไม่โปร่งใสในการดำเนินงานและการปล่อยสินเชื่อที่ถูกโจมตีว่า เอื้อประโยชน์กลุ่มนักการเมือง นักธุรกิจพวกพ้องตนเอง จนกลายเป็นปัญหาหนี้เสียเรื้อรังและฉุดฐานะความมั่นคงทางการเงินของแบงก์รัฐ

ในยุค "ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล" เข้ามาเป็น รมว.คลังได้มีการหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และรายงานผลการตรวจสอบการดำเนินงานของแบงก์รัฐที่พบว่าการปล่อยสินเชื่อของแบงก์รัฐหลายแห่งมีความเสี่ยงเป็นหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) สูง กระทั่งมีการตั้งกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงหลายกรณี พร้อมกับเกิดการเปลี่ยนแปลงภายในของแบงก์รัฐหลายแห่ง และผู้บริหารบางรายที่ถูกกล่าวหาถึงการบริหารงานไม่โปร่งใส

ขณะที่เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์แบงก์รัฐเข้ามาแย่งพื้นที่ทำธุรกิจกับแบงก์พาณิชย์ โดยที่การกำกับดูแลผ่อนปรนกว่าแบงก์พาณิชย์ ทำให้แบงก์พาณิชย์เสียเปรียบ โดยเฉพาะการถูกเรียกเก็บเงินนำส่ง 0.47% ของแบงก์พาณิชย์ จนทำให้ที่สุดต้องมีการประกาศเรียกเก็บค่าต๋งจากแบงก์รัฐด้วย

ทำให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง เดินหน้าศึกษาบทบาทของแบงก์รัฐและเตรียมเสนอแผนปฏิรูปสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) ให้ "กิตติรัตน์ ณ ระนอง" รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลังพิจารณา โดยจะปฏิรูป 3 ด้าน คือ การปรับปรุงบทบาทด้านการให้สินเชื่อ เน้นให้เข้าถึงรายย่อยมากยิ่งขึ้น การปรับปรุงระบบกำกับดูแลและการตรวจสอบการทำงานเพื่อปิดช่องโหว่ที่จะนำไปสู่การทุจริตและปล่อยสินเชื่ออย่างไม่ระมัดระวัง และการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ที่จะมีการโยกสภาพคล่องส่วนเกินของแบงก์รัฐแห่งหนึ่งไปให้อีกแห่งที่มีความต้องการนั้น

ปัดฝุ่นแผนปฏิรูปแบงก์รัฐ

ในช่วงที่ร่าง พ.ร.บ.กองทุนเพื่อการสนับสนุนและพัฒนาสถาบันการเงินเฉพาะกิจยังไม่ผ่าน ยังไม่มีการบังคับให้แบงก์รัฐต้องกันเงิน 0.47% และเป็นไปได้ว่ากฎหมายดังกล่าวอาจไม่ผ่าน และรัฐบาลกำลังต้องการแหล่งเงินสภาพคล่อง ที่จะนำมาใช้สำหรับโครงการประชานิยม โดยเฉพาะการพักชำระหนี้เกษตรกรและผู้มีรายได้น้อยที่มีหนี้คงค้างไม่เกิน 5 แสนบาท และการรับจำนำผลผลิตทางการเกษตรที่ต้องใช้เม็ดเงินจำนวนมาก แผน "การปฏิรูป SFIs" จึงถูกปัดฝุ่นขึ้นมาอีกครั้ง และ สศค.มองว่าน่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่าการให้มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม 0.47%

ทั้งนี้ คงต้องจับตาว่า แผนปฏิรูป SFIs จะช่วยขจัดสารพัดปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งในอดีตและที่จะเกิดในอนาคตได้หรือไม่ เพราะรัฐบาลยังคงมุ่งหน้าทำนโยบายประชานิยมโดยไม่ฟังเสียงทัดทานจากใคร

เงินนอกงบประมาณ ขยะใต้พรม

ที่ผ่านมาการใช้กลไกการปล่อยสินเชื่อของ SFIs อันเป็นการใช้จ่าย "นอกงบประมาณ" เพื่อนโยบายประชานิยมนั้น เรียกกันว่า "กิจกรรมกึ่งการคลัง" ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์จากบรรดานักวิชาการมาโดยตลอดว่า รัฐบาลต้องการหลีกเลี่ยงการตรวจสอบที่เข้มข้นในระบบงบประมาณ เสี่ยงต่อการถูกตัดงบฯ แล้วหันไปใช้กลไกที่ตรวจสอบได้ยากกว่า แถมยังใช้จ่ายได้สบายมือกว่า

การที่เครื่องมือดังกล่าวถูกตั้งคำถามอยู่ตลอด เนื่องด้วยหลายต่อหลายครั้งมีผลเสียในเชิงประจักษ์ ซึ่งสะท้อนผ่านผลการขาดทุนของ SFI จนต้องนำไปสู่การเพิ่มทุนโดยใช้งบประมาณซึ่งก็มาจากภาษีประชาชนในที่สุด

มีข้อมูลจาก "รายงานความเสี่ยงทางการคลัง" ของ สศค.ฉายภาพถึง "ความเสี่ยงทางด้านการคลังจากการดำเนินนโยบายรัฐ" ของบรรดา SFIs ทั้ง 8 แห่ง (ธ.ก.ส. ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย (บตท.) บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย หรือไอแบงก์

โดยพบว่าช่วงปี 2552 ถึงไตรมาส 3/2554 รัฐบาลต้องชดเชยงบประมาณให้ SFIs จากการปล่อยกู้ตามนโยบายรัฐบาลเป็นจำนวน 25,869 ล้านบาท สำหรับโครงการรับจำนำผลผลิตทางการเกษตรและโครงการประกันรายได้เกษตรกร ตั้งแต่ปีการผลิต 2547/48 จนถึงปี 2553/54 รัฐบาลมีภาระชดเชยความเสียหายและดอกเบี้ยให้แก่ ธ.ก.ส.สูงถึง 202,917.8 ล้านบาท นอกจากนี้ในปี 2554 ยังมีหนี้ที่รัฐบาลค้ำประกันให้กับแบงก์รัฐเพื่อดำเนินนโยบายรัฐบาลอีก 156,942 ล้านบาท

ขณะที่สัดส่วนหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ต่อสินเชื่อคงค้าง ในภาพรวมของแบงก์รัฐลดลง แต่ปริมาณ NPL กลับไม่ได้ลดลงไปด้วย สาเหตุมาจากการเร่งขยายสินเชื่อและค้ำประกันสินเชื่อ

ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากโครงการตามนโยบายรัฐ ทำให้สัดส่วน NPL สูงกว่าธนาคารพาณิชย์ เพราะกลุ่มลูกค้าของ SFIs เป็นกลุ่มที่มีความสามารถในการชำระหนี้ต่ำ และมีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้สูงกว่าปกติ

รัฐแบกภาระเพิ่มทุนป้องแบงก์เจ๊ง

จากรายงานพบว่า ภาระการเพิ่มทุนและการจัดสรรงบประมาณอุดหนุนเพื่อชดเชยความเสียหายของ SFIs ที่เกิดจากนโยบายรัฐในแต่ละปีมีแนวโน้มว่าสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยในปี 2552 มีภาระทั้งสิ้น 15,513 ล้านบาท ปี 2552 เพิ่มเป็น 23,036 ล้านบาท ปี 2554 เพิ่มเป็น 58,881 ล้านบาท ขณะที่ปี 2555 ภาระยังอยู่ในระดับสูงที่ 49,431.6 ล้านบาท

เมื่อเจาะลึกไปในรายละเอียดในช่วงปีหลัง ๆ พบว่ารัฐบาลใช้วิธีลดการเพิ่มทุนลง แต่หันไปเพิ่มในรูปเงินอุดหนุนแทน ยกตัวอย่างกรณี ธ.ก.ส.ที่มีการเพิ่มทุนในปี 2552-2553 ปีละ 2,000 ล้านบาท โดยช่วงปี 2554-2555 ไม่มีการเพิ่มทุน ทว่าในปีงบประมาณ 2555 รัฐจ่ายเงินอุดหนุนให้ ธ.ก.ส.ถึง 46,393.2 ล้านบาท จากปี 2552 ที่จ่ายเงินอุดหนุนเพียง 9,922 ล้านบาท

วิธีการดังกล่าวทำให้เกิดความเสี่ยงทางการคลังอย่างมีนัยสำคัญ ผ่านทั้งทางการเพิ่มทุนและการชดเชยความเสียหายให้แก่สถาบันการเงินเฉพาะกิจ

ล่าสุด ในปีงบประมาณ 2556 รัฐบาลได้จัดสรรงบเพิ่มทุนให้ SFIs รวม 3 แห่ง เป็นเงิน 1,755 ล้านบาท ได้แก่ ธ.ก.ส. 750 ล้านบาท ธพว. 555 ล้านบาท และไอแบงก์ 445 ล้านบาท โดย ธพว.และไอแบงก์กำลังประสบปัญหาขาดทุนอย่างหนัก เนื่องจาก NPL อยู่ในระดับสูง

ขณะที่งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2556 พบว่า ธ.ก.ส.ได้รับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายทั้งสิ้น 61,332.09 ล้านบาท แบ่งเป็น 1.แผนงานยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน 2,175.07 ล้านบาท แผนงานเสริมสร้างเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตร 33,309.51 ล้านบาท แผนงานสนับสนุนสินเชื่อเพื่อการเกษตร 1,090.70 ล้านบาท และแผนงานส่งเสริมประสิทธิภาพการผลิตและสร้างมูลค่าภาคการเกษตร 24,756.81 ล้านบาท ซึ่งล้วนแต่ต้องนำมาสนองนโยบายรัฐบาลทั้งสิ้น

ทั้งหมดนี้จึงเป็นคำตอบว่าเหตุใดจึงต้อง "ปฏิรูป" แบงก์รัฐ