ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

พระตำหนักเขาน้อยและสวนหม่อม (ปริก)

เริ่มโดย เณรเทือง, 08:45 น. 19 ต.ค 55

เณรเทือง

พระตำหนักเขาน้อย
"ในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ภายหลังที่ประทับอยู่ที่บ้านเจ้าพระยาวงษาฯ จนประมาณปลายปี พ.ศ. ๒๔๗๕ เมื่อสมเด็จฯ (หมายถึงสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ) ทรงเจริญขึ้นพอสมควร คุณท้าวยายได้นำสมเด็จ ไปประทับกับท่านย่าที่สงขลา (ผมเข้าใจว่าท่านย่าคือ ม.จ.อัปษรสมาน (เทวกุล) กิติยากร)   ระหว่างนี้ ท่านย่าได้ทรงใช้ให้ท่านอาหญิงนิด (หม่อมเจ้าจิตรบรรจง) ถวายการดูแลเลี้ยงกับพระนมและข้าหลวงของท่านอานิด ภายในตำหนักเดียวกับท่านย่าและท่านอาอีกหลายๆ องค์ ที่ช่วยท่านอานิดคือท่านอาเขียว (หม่อมเจ้ากิติมตี) ประมาณต้นปี ๒๔๗๖ ท่านย่าทรงอพยพกลับจากสงขลา เจ้าคุณตาและคุณยายคิดถึงสมเด็จฯมาก จึงขอท่านย่าไปถวายอภิบาลเองอีกระยะหนึ่ง

ในปี พ.ศ. ๒๔๗๖ ได้เกิดขบถวรเดชในเดือนตุลาคม ท่านย่าทรงอพยพเจ้านายลูกๆ และหลาน ตามเสด็จฯ สมเด็จพระพันวัสสา (หมายถึง พระศรีสวรินทราฯ)  และทูลกระหม่อมฟ้าหญิง (หมายถึงทูลกระหม่อมฟ้าหญิงวลัยอลงกรณ์) ไปเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้า ที่สงขลาอีก ส่วนสมเด็จฯนั้นคุณท้าวยายได้พาไปประทับกับท่านย่าอีกในภายหลัง ตอนนี้ท่านอาหญิงนิดก็ได้เป็นผู้ถวายการอภิบาลอีก ท่านย่าและท่านอาทั้งหลายต้องแยกกัน ท่านย่าประทับกับทูลกระหม่อมฟ้าหญิงวลัยอลงกรณ์ที่ตำหนักท่านลุงกลาง (หม่อมเจ้าอมรสมานลักษณ์ กิติยากร-ซึ่งในที่นี้ผมไม่แน่ใจว่าตำหนักนี้อยู่ที่ไหนระหว่าง ในเมืองสงขลากับสวนปาล์มของหม่อมเจ้าอมรฯ ที่อำเภอสะเดา สงขลา) ส่วนเจ้านายลูกหลานอยู่บ้านพระยานราฯ (ปู่นายกร ทัพรังสี สมัยนี้) เพราะเจ้าคุณนราฯ และคุณหญิงถวายตัวเป็นข้ากับเสด็จปู่(กรมพระจันทบุรีนฤนาถ) ตั้งแต่เป็นข้าราชการกระทรวงการคลัง ที่ประทับนั้นเป็นบ้านของคลังจังหวัด อยู่ริมทะเลสาบ "
ถ้าพลิกไปดูประวัติ พบว่า ตำหนักแห่งนี้ สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลฑิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ เมื่อครั้งเสด็จมาดำรงตำแหน่งสมุหเทศาภิบาล มณฑลนครศรีธรรมราช (พ.ศ.2453 - 2458) และต่อมาดำรงตำแหน่งสมเด็จอุปราชมณฑลปักษ์ใต้ (พ.ศ. 2458-2468)...

....สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ เสด็จประทับ ณ ตำหนักเขาน้อย ตั้งแต่ปี พ.ศ.2455 เป็นต้นมา จนถึงปลายเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2468 พรบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาณ กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ ได้เสด็จกลับไปยังเมืองหลวงร่วมในพระราชพิธีพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว เสร็จแล้วพระองค์ได้ประทับและดำรงตำแหน่งทางราชการในกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่บัดนั้น โดยมิได้เสด็จกลับมาประทับ ณ เมืองสงขลาอีกเลย  ในกาลต่อมาพระองค์ได้มอบตำหนักเขาน้อย ให้เป็นสมบัติของทางราชการอยู่ภายใต้การดูแลรักษาของจังหวัดสงขลา..

...ตำหนักเขาน้อย เคยใช้เป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว 2 ครั้ง ครั้งแรกพระองค์เสด็จประพาสเมืองสงขลา และทรงเป็นองค์ประธานในพระราชพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาเสือป่ามณฑลนครศรีธรรมราช ระหว่าง 13-19 มิถุนายน พ.ศ. 2458
พ.ศ. 2460 พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนิน มาเป็นองค์ประธาน พิธีวิสาขบูชาที่วัดพระบรมธาตุ นครศรีธรรมราช ซึ่งถือว่าเป็นงานนักขัตฤกษ์ที่สำคัญของมณฑลนครศรีธรรมราช ในคราวนั้น กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ โปรดให้มีกการสมโภชพระบรมธาตุเป็นการเฉลิมฉลองเป็นประเพณี รวม 3 วัน 3 คืน เป็นช่วงที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จมาประทับ ณ ตำหนักเขาน้อย

...ขณะที่เกิดกบฎบวรเดช (11-24 ตุลาคม) ก็ไม่ต้องพระราชประสงค์ที่จะให้ผู้ใดอ้างว่าทำอะไรเพื่อราชบัลลังค์
ราชเลขาฯ (ม.จ.วิบูลย์สวัสดิ์วงศ์ สวัสดิวัตน์) กราบบังคมทูลให้แปรพระราชฐานไปประทับที่บางปะอิน ขณะที่หลวงพิบูลสงครามก็จะส่งรถไฟมาทูลเชิญเสด็จกลับกรุงเทพฯ  จึงรับสั่งให้หลวงศรสุรการไปแจ้งว่า "พระองค์ไม่ทรงยอมเข้ากับใครทั้งสองข้างไม่ว่าข้างไหน จะเป็นกลางอยู่เฉยๆ "

ประกอบกับทรงได้ข่าวว่า ทางกรุงเทพฯ ได้ส่งเรือหลวงสุโขทัยมาที่พระตำหนักฯ ที่หัวหินด้วย ก็ทรงเกรงว่าจะมาจับเป็นองค์ประกันเหมือนครั้งที่เปลี่ยนแปลงการปกครอง จึงตัดสินพระราชหฤทัยเสด็จฯ ประทับเรือยนต์หลวง มุ่งไปทางใต้..

อีกตอน จากพระราชดำรัสสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ที่พระราชทานแก่คณะกรรมการสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย

...ตอนนั้นเรามีเรือยนต์พระที่นั่งอยู่ ขนาดเล็ก ตกลงออกเรือกันตอนกลางคืน มีทหารรักษาวังไปด้วย...ข้าราชบริพารตอนนั้นเท่าที่จำได้ก็มีอย่างท่านประสบศรี (พันตรีหม่อมเจ้าประสบศรี จิรประวัติ ราชองครักษ์ ท.บ.) ท่านครรชิต (นาวาเอกหม่อมเจ้าครรชิตพล อาภากร ราชองครักษ์ ท.ร.) มีพ่อมีแม่ฉัน (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ และพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงอาภาพรรณี) แล้วก็มีน้องชายอีกคน มีท่านกมลีสาน (หม่อมเจ้ากมลีสาน ชุมพล)
หม่อมราชวงศ์สมัครสมาน กฤดากร...

สำหรับเจ้านายพระองค์อื่นๆ ที่ตามเสด็จฯ ไปประทับแรมที่หัวหิน ในเวลานั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ ให้หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน์  เป็นหัวหน้าดูแล ติดต่อหาทางนำเสด็จโดยรถไฟตามไปเฝ้าฯ ที่จังหวัดสงขลา..

ซึ่งหม่อมเจ้ารัสสาทิศ กฤดากร ผู้ทรงอยู่ร่วมในเหตุการณ์เวลานั้นได้ทรงเล่าว่า

...ในรถไฟขบวนนั้น จำได้ว่ามีสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท และหม่อมเสมอ รวมทั้งพระธิดา...

...รถไฟไปถึงสงขลาประมาณ 08.00 นาฬิกาของวันรุ่งขึ้น เมื่อบรรดาเจ้านายเสด็จไปถึงพระตำหนักเขาน้อยของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีราเมศร์ ก็พากันทรงวิตกไปตามๆ กัน เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินี ยังเสด็จมาไม่ถึง จวบจนกระทั่งถึงตอนเย็นวันนั้น จึงได้เสด็จฯ มาถึงและประทับแรมอยู่ที่พระตำหนักนั้น โดยประทับอยู่ที่ชั้น 2 ของพระตำหนัก ส่วนเจ้านายฝ่ายในอื่นๆ ประทับอยู่บนชั้น 3...

...ทั้งสองพระองค์ประทับอยู่ที่พระตำหนักเข้าน้อยอยุ่เป็นเวลาเกือบสองเดือนจึงได้เสด็จพระราชดำเนินกลับพระนครโดยทางเรือ....

ทั้งหมดนี้ก็สรุปเรื่องราวได้ชัดเจนครับ เพียงแต่ยังสรุปไม่ได้ว่า สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถองค์ปัจจุบัน ในครั้งนั้นประทับที่ใด ระหว่างพระตำหนักเขาน้อย หรือ ตำหนักหม่อมเจ้าอมรสมานลักษณ์ กิติยากร (ซึ่งก็ไม่แน่ว่าเป็นในเมืองสงขลา หรือที่สวนปาล์มตำบลปริก อำเภอสะเดา) หรือจะเป็นที่บ้านพระนราฯ
เขียนโดย พีรณัฐ ทองหล่อ ที่ 2:03

เณรเทือง

ภาพในอดีตของ "โรงหนังโอเดียน" ซึ่งตั้งอยู่ที่ถนนเยาวราช ที่เห็นอยู่นี้ เป็นภาพที่ถ่ายขึ้นหลังปี ๒๕๐๒ (อันเป็นปีที่สร้างน้ำพุที่วงเวียนโอเดียน)
และคงจะต้องก่อนปี ๒๕๑๘ ที่หนังสือ "การ ออกแบบ และตกแต่งสวน" (เทศบาลกรุงเทพมหานคร, โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่น กรมการปกครอง กระทรวง มหาดไทย,
พ.ศ. ๒๕๑๘.) อันเป็นที่มาของภาพเก่าภาพนี้, จะพิมพ์ขึ้น

โรงหนังโอเดียนจะสร้างขึ้นเมื่อใดยังหาข้อมูลใดๆ มากล่าวอ้างไม่ได้ คงทำได้เพียงสันนิษฐานว่า น่าจะสร้างขึ้นในระหว่างสมัยปลายรัชกาลที่ ๖ ถึงในสมัยรัชกาลที่ ๗
นอกจากนี้ก็เป็นเพียงหลักฐานเกี่ยวกับโรงหนังโอเดียนภายหลังที่สงครามโลก ครั้งที่ ๒ สงบลง จากข้อเขียนของ หนังสือ "เรื่องของ หม่อมเจ้าอมรสมานลักษณ์ กิติยากร ตจ."
(นายณรงค์ กองบุญมา เจ้าของโรงพิมพ์จันหว่า พิมพ์ถวายในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้าอมรสมานลักษณ์ กิติยากร ตจ. ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์
วัดเทพศิรินทราวาส, ๑๑ กันยายน ๒๕๑๑, หน้า ๑๒.) ว่า

"... พ.ศ. ๒๔๘๘ คุณเพ็ญ ปัญญาพล เดินยิ้มตแคงๆ หลิ่วตาข้างหนึ่งเข้ามาบอกว่า สงครามเลิกแล้ว ต้องร้องว่า 'ฮ้า คุณเพ็ญอย่ามาหลอกให้ดีใจเลย'
เพราะคุณเพ็ญชอบพูดตลกๆ เล่นเสมอ พอดีคุณศรีภรรยาคุณเพ็ญตามเข้ามาบอกว่า จริงๆ เพคะ คราวนี้คุณพี่ไม่ได้พูดเล่นหรอกเพคะ เลยรู้สึกดีใจ โล่งใจอย่างบอกไม่ถูก
คุณเพ็ญกับคุณศรีเวลามีอะไรดีๆ ก็นำมาแสดงที่พัฒนากรเสมอจึงรักใคร่สนิทสนมกันมาก


"นายโฮลก แห่งแหลมมลายู เขาเช่าโรงหนังโอเดียนไว้เป็นประจำ ตอนสงครามเขาเข้ามาไม่ได้พอเสร็จสงครามเขาก็มาหา ขอตกลงทำสัญญาเป็นหุ้นส่วนกัน
รายได้โรงหนังโอเดียนและพัฒนากรเอามารวมกัน เมื่อได้กำไรเท่าไรก็แบ่งครึ่งกัน เขาเป็นคนหาหนัง เจ้าพี่ (หม่อมเจ้าอมรสมานลักษณ์ : ป.บุนนาค) เป็นฝ่าย
จัดการโรงหนังทั้งสองโรงเขาทำสัญญากับบริษัทหนังไว้หมดแล้ว ตอนนี้ค่อยหายใจคล่องหน่อย ไม่ต้องปิดๆ เปิดๆ อีก

"เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๘ และพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ปัจจุบัน พร้อมด้วยสมเด็จพระราชชนนี เสด็จนิวัติพระนคร เจ้าพี่ (หม่อมเจ้าอมรสมานลักษณ์ :
ป.บุนนาค) ได้ไปกราบบังคมทูลเชิญเสด็จมาทอดพระเนตรหนังที่โรงพัฒนากรครั้งหนึ่ง และที่โรงโอเดียนครั้งหนึ่ง ได้ทรงพระกรุณาเสด็จทั้งสามพระองค์ และทั้ง
สองแห่ง และทรงพอพระราชหฤทัย..."

ซึ่งหม่อมเจ้าอมรสมานลักษณ์ กิติยกร คือ ท่านที่ผู้ได้รับโรงหนังพัฒนากร เป็นมรดกสืบมาจากท่านแม่ของท่าน เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๒ และได้ให้หม่อมเจ้าสมัยเฉลิม กฤดากร
ทรงเป็นผู้ออกแบบ และควบคุมก่อสร้างขึ้นมาใหม่แทนโรงหนังพัฒนากรหลังเดิมที่ทรุดโทรมมาก และผู้เช่ารายเดิมได้หมดสัญญาเช่าลง และหม่อมเจ้าอมรสมานลักษณ์
ได้ทรงบริหารกิจการโรงหนังพัฒนากร และโอเดียนด้วยพระองค์เองอยู่ระยะหนึ่ง

ครั้นต่อมานายโฮลกได้ไปสร้างหนังศรีอยุธยา และได้คัดเอาหนังดีๆ ไปฉายที่โรงหนังศรีอยุธยาทั้งหมด คงเหลือแต่หนังปานกลางกับหนังชั้นเลวมาฉายที่โอเดียน
และพัฒนากร พอดีกับนายโฮลกหมดสัญญากับโอเดียนส่งคืนโรงหนังให้เจ้าของเดิมไป และบอกเลิกหุ้นส่วนกับพัฒนากร

โรงหนังโอเดียนได้ดำเนินกิจการต่อมา จนกระทั่งได้เปลี่ยนชื่อเป็น "โรงหนังนิวโอเดียน" และได้เลิกกิจการไปเมื่อประมาณไม่เกิน ๒๐ ปีที่ผ่านมานี้เอง ส่วนวงเวียนน้ำพุ
ที่มีชื่อมาแต่เดิมว่า "น้ำพุประสานงาน" หน้าาโรงหนังโอเดียน ได้ถูกรื้อไปในปี พ.ศ. ๒๕๔๑ เพื่อสร้างซุ้มประตูจีนที่เรียกกันว่า "ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ ๖ รอบพระชันษา"
ขึ้นมาแทนที่

เณรเทือง


"เมื่อข้าพเจ้าเป็นเด็กและอยู่ต่างประเทศ มีความรู้สึกว่ามีพี่น้องมากเหลือเกิน จนจำไม่ได้ว่าใครเป็นใคร ได้รบกวนแม่อยู่เสมอด้วยคำถาม เช่น "พี่องค์นี้เป็นลูกใคร" ครั้นได้รับหนังสือ "มหามงกุฎราชสันตติวงศ์" ก็ได้ใช้เป็นคู่มือตลอดไป ต่อมาได้เคยนึกอยากจะรวบรวมลำดับสันตติวงศ์พระราชวงศ์จักรี โดยไม่ละทิ้งพระนามเจ้านายที่สิ้นพระชนม์ไปแล้ว แต่ไม่ทราบว่าจะเริ่มต้นตอนไหน และไม่มีความเพียรพอ เพราะเป็นเรื่องใหญ่เกินกำลัง เมื่อกลางปีนี้ได้ทราบว่า หม่อมเจ้าอมรสมานลักษณ์ กิติยากร จะฉลองพระชันษาครบ 60 ปี ในวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2500 จึงได้พยายามรวบรวมบัญชีพระราชโอรส พระราชธิดา และพระราชนัดดา ในพระบาท สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว"พระนิพนธ์เล่มนี้ลำดับพระราชสันตติวงศ์ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทั้งพระราชโอรส และพระราชธิดา เรียงลำดับตามปีประสูติ เป็นบัญชีพระราชโอรสและพระราชธิดาที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงสรุปเป็นข้อมูลสถิติคือพระราชโอรส 32 พระองค์ พระราชธิดา 44 พระองค์ สิ้นพระชนม์ในพระครรภ์ 1 พระองค์รวมทั้งสิ้น 77 พระองค์ นับได้ว่าพระนิพนธ์เล่มนี้ มีคุณค่าเป็นอย่างยิ่งต่อผู้ที่สนใจในประวัติศาสตร์ไทยในสมัยรัชกาลที่ 5 และเป็นเอกสารสำคัญที่ลำดับราชสกุลวงศ์ไทย


ข้อมูลประกอบบรรณานุกรม: นราธิวาสราชนครินทร์, สมเด็จฯ เจ้าฟ้า กรมหลวง. จุฬาลงกรณราชสันตติวงศ์ พระนามพระราชโอรส พระราชธิดาและพระราชนัดดา. กรุงเทพฯ : บรรณกิจ 1991, 254