ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

กสิกรฯปั้น "นวัตกรรมรูดปรื๊ด" ติดปีกขึ้นเบอร์ 1 บัตรเครดิต

เริ่มโดย ทีมงานประชาสัมพันธ์, 12:53 น. 24 ต.ค 55

ทีมงานประชาสัมพันธ์

updated: 24 ต.ค. 2555 เวลา 12:16:24 น.
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

หลังจากเปิดตัวรูปแบบการชำระเงินใหม่ภายใต้ชื่อ K-Merchant on Mobile โดยจับมือกับสายการบินนกแอร์เป็นการประเดิมพันธมิตรรายแรก เมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา แต่จากนี้ไปจะเป็นจังหวะสำคัญของการรุกตลาดบัตรเครดิต โดยเจาะตรงที่ "ร้านค้ารับบัตร" ซึ่งถือเป็นเรือธงลำใหม่ในตลาดบัตรเครดิตของธนาคารกสิกรไทย ซึ่ง "ประชาชาติธุรกิจ" มีโอกาสพูดคุยกับ "ชาติชาย พยุหนาวีชัย" รองกรรมการผู้จัดการ แม่ทัพผู้ดูแลงานนี้โดยตรง ซึ่งจะเป็นผู้ตอบคำถามได้ดีที่สุดว่าแนวทางการเดินหน้าธุรกิจบัตรเครดิตของธนาคารจะเป็นอย่างไรต่อไป

"ชาติชาย" เล่าถึงระบบการชำระเงินรูปแบบใหม่ ที่เทคโนโลยีการสื่อสารเข้ามาผนวกกับบริการด้านการเงิน จะทำให้ร้านค้าต่าง ๆ สามารถรับชำระค่าสินค้าผ่านสมาร์ทโฟนหรือแท็บเลตได้อย่าง

ง่ายดาย โดยเรียกระบบนี้ว่า mPOS (Mobile Point-of-Sale) คล้ายกับเครื่องรูดบัตรเครดิตแบบเดิม (EDC) แต่จะมีขนาดเล็กกว่ามาก และพกพาสะดวก เพียงเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนหรือแท็บเลต ก็ใช้งานได้ทันที

นี่คือหนึ่งในแผนงานเชิงรุก เพื่อขยายฐานร้านค้ารับบัตรให้มากขึ้น เพราะต้นทุนอุปกรณ์เชื่อมต่อที่แสนจะถูก ประมาณ 2,000 บาท เปรียบเทียบกับเครื่องรับบัตรแบบเดิมที่ต้องเสียค่าเช่าเดือนละ 450-1,000 บาท แถมยังต้องรักษายอดรูดบัตรให้ถึงเดือนละ 50,000 บาทอีกด้วย

"เครื่อง EDC เรามีมาร์เก็ตแชร์อยู่ที่ 32% เป็นเบอร์หนึ่งในตลาด และยิ่งเรามี mPOS เข้ามาเพิ่ม จึงยิ่งมั่นใจว่าช่วยเพิ่มปริมาณร้านค้ารับบัตรและค่าธรรมเนียมยอดใช้จ่ายผ่านบัตร ซึ่งจะทำให้เรารักษามาร์เก็ตแชร์ได้ต่อเนื่อง"

ธุรกิจที่น่าจะตอบสนองต่อรูปแบบการชำระเงินแบบใหม่นี้คือร้านอาหาร ร้านเครื่องใช้ไฟฟ้า ธุรกิจบริการจัดส่ง (delivery) ธุรกิจขายตรง โรงเรียนสอนพิเศษ หรือแม้แต่ร้านขายของตามตลาดนัด นอกจากนี้ ยังสามารถกระจายฐานลูกค้าไปตามหัวเมือง 14 จังหวัดยุทธศาสตร์ของธนาคารได้อีกด้วย โดยเฉพาะร้านขายของฝากหรือของที่ระลึก ที่มีแนวโน้มจะให้ความสนใจกับ mPOS

ส่วนคำถามที่ตามมาคือความปลอดภัยของข้อมูลในบัตร ซึ่ง "ชาติชาย" รับประกันว่า mPOS จะไม่จดจำข้อมูลใดๆ ภายหลังจากทำรายการชำระเงินเสร็จสิ้นแล้ว เพราะข้อมูลจะถูกส่งไปที่เครื่องเซิร์ฟเวอร์ส่วนกลางของธนาคารทันที

และลูกค้าจะได้รับสลิปการชำระเงินผ่านจากอีเมล์หรือโทรศัพท์มือถือเท่านั้น หรือร้านค้าที่ซื้อเครื่องนี้ไปใช้ก็จะต้องสมัครและลงทะเบียนกับธนาคาร ซึ่งต้องผ่านการตรวจสอบตัวตน ลักษณะธุรกิจ การมีหน้าร้านไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ หรือสถานที่ตั้งก็ตาม รวมถึงยังสามารถกำหนดเพดานวงเงินในการรับชำระด้วยวิธีนี้ได้ด้วย ซึ่งจะทำให้ลูกค้าเกิดความมั่นใจยิ่งขึ้น

เขาบอกว่า ขณะนี้ธนาคารกำลังสร้าง "แอปพลิเคชั่น" ที่จะมาสนับสนุนกับระบบ mPOS ได้โดยตรง เพื่อให้ธุรกิจที่นำไปใช้งานสามารถสร้างหน้าต่างสำหรับชำระเงินที่เป็นของตนเองได้ เช่นธุรกิจร้านอาหารอาจจะถ่ายรูปอาหารแต่ละเมนูเข้าไปเป็นรายการในระบบ ในการคิดเงินก็สามารถกดรายการอาหารที่ลูกค้าสั่งจากหน้าเมนูที่ป้อนเอาไว้ ระบบจะคำนวณเงิน และถ้าลูกค้าเลือกชำระด้วยบัตรเครดิตก็สามารถรูดจากเครื่องได้ทันทีเลย

ยิ่งกว่านั้น เพื่อให้ง่ายสำหรับลูกค้าธุรกิจที่จะนำระบบนี้ไปใช้กับร้านค้าได้เร็วขึ้น ธนาคารก็กำลังทำแพ็กเกจนี้ร่วมกับผู้จำหน่ายโทรศัพท์สมาร์ทโฟนบางรายให้สามารถจำหน่ายโทรศัพท์สมาร์ทโฟน พร้อมกับอุปกรณ์ต่อเชื่อมสำหรับชำระเงินและซิมการ์ดไปด้วยเลย ทั้งหมดนี้ในราคาเท่ากับค่าเครื่องโทรศัพท์

"เราเชื่อมั่นว่า อุปกรณ์เชื่อมต่อสำหรับการชำระเงินผ่านสมาร์ทโฟนและแท็บเลต จะได้รับความนิยมสูงในอนาคต ทั้งธนาคารผู้ให้บริการ ซึ่งปัจจุบันมี 2 แห่งในไทย และธุรกิจร้านค้า ทั้งรายใหญ่และรายเล็ก ซึ่งจะสามารถเพิ่มเม็ดเงินหมุนเวียนผ่านบัตรเครดิตให้มากกว่า 9 แสนล้านบาท อย่างในสหรัฐอเมริกา เริ่มใช้ mPOS ในปี 2552 ปัจจุบันมีเม็ดเงินหมุนเวียนเพิ่มขึ้นถึง 8 เท่าตัว จาก 1,000 ล้านเหรียญเป็น 8,000 ล้านเหรียญ"

ชาติชายยังเล่าถึงแผนเกี่ยวกับธุรกิจบัตรเครดิตเพิ่มเติมอีกว่า ธนาคารเตรียมจะนำเทคโนโลยีเพย์เวฟ (pay wave)

ให้กลับมาโปรโมตอีกครั้ง ซึ่งเป็นระบบชำระเงินแบบไร้สัมผัส เพียงแค่ยื่นบัตรไว้ใกล้ ๆ เครื่องรับสัญญาณก็จะทำธุรกรรมชำระเงินได้ภายในไม่กี่วินาที ซึ่งธนาคารมีบัตรเครดิต K-Wave อยู่แล้วก็จะโปรโมทการทำธุรกรรมแบบ touch and go

ยิ่งกว่านั้น โปรเจ็กต์นี้จะมาพร้อมกับการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ ที่ชื่อ Near Field Communication (NFC) หรือก็คือนำวิธีระบบ touch and go ให้มีอยู่ในโทรศัพท์มือถือเกือบทุกรุ่นและฝังลง

ในบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิต ซึ่งจะเปลี่ยนไลฟ์สไตล์การชำระเงินยุคใหม่ให้ง่ายยิ่งขึ้น

"Touch and Go น่าจะเริ่มบูมในปีหน้า เพราะมีอุปกรณ์รองรับเยอะ และเป็นระบบเดียวกับบัตรสแกนบนรถไฟฟ้า BTS หรือ MRT ซึ่งมีหลายธุรกิจเริ่มหันมาใช้ระบบชำระเงินแบบนี้ และร้านค้าหลายรายมีเครื่องรับชำระเงินแบบสแกนด้วย"

นี่คือสัญญาณการปรับโฉมของธนาคารกสิกรไทย เพื่อรับมือการแข่งขันทั้งจำนวนบัตรเครดิตและร้านค้ารับบัตร เพื่อกรุยทางสู่การเป็นเบอร์ 1 ในตลาดบัตรเครดิตอย่างครบถ้วนรอบด้าน ปีหน้าคงเห็นการเปลี่ยนแปลงในตลาดนี้อีกมากมาย ต้องจับตาดูต่อไป...