ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

ม.อ. ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

เริ่มโดย ทีมงานบ้านเรา, 10:19 น. 25 ต.ค 55

ทีมงานบ้านเรา

ม.อ. ถวายปริญญาบริหารธุรกิจดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ แด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จแทนพระองค์ พระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ประจำปีการศึกษา 2554 ในระหว่างวันที่ 10 – 12 พฤศจิกายน 2555 ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖o ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่

ทั้งนี้สภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้มีมติทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาบริหารธุรกิจดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ แด่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ด้วยมีพระมหากรุณาธิคุณเกล้าล้นกระหม่อมที่ทรงช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพและทรงช่วยให้คนชนบทสามารถพึ่งพาตนเองได้ จากทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่น และทรงให้มีการสืบทอดศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านที่เป็นประดุจวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่นนั้น ๆ ให้เป็นมรดกแก่ลูกหลานไทย ซึ่งเป็นการยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
ปริญญาบริหารธุรกิจดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์


[attach=1]
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระราชดำริและพระราโชบายที่สอดคล้องกับ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในอันที่จะยกระดับฐานะความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของราษฎรให้ดีขึ้น พระองค์ท่านทรงริเริ่มโครงการศิลปาชีพ เพื่อให้ราษฎรในชนบทใช้เวลาว่างจากการทำนาทำไร่ มาทำหัตถกรรมเป็นอาชีพเสริมและได้พระราชทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นกองทุนก่อตั้งมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เพื่อรับซื้อผลิตภัณฑ์จากชาวบ้านมาจำหน่ายและโปรดเกล้าฯ ให้จัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมเผยแพร่ไปทั่วโลก ส่งเสริมสนับสนุนงานฝีมือ และฝึกอบรมให้ชาวบ้านทำงานฝีมือที่ตนเองไม่เคยทำมาก่อน ตลอดช่วงเวลาการดำเนินงานของมูลนิธิฯ จนถึงปัจจุบัน มีโครงการศิลปาชีพตามความเหมาะสมของแต่ละท้องถิ่น ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศในมูลนิธิมากถึง 34 โครงการ

นอกจากนี้สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างอาคารศูนย์ศิลปาชีพ เพื่อเป็นศูนย์กลางการเรียนการสอนศิลปาชีพแขนงต่าง ๆ ใช้เป็นศูนย์กลางการผลิตผลิตภัณฑ์ศิลปาชีพและเป็นศูนย์กลางเผยแพร่งานศิลปาชีพแก่ผู้สนใจ พระองค์ทรงคัดเลือกลูกหลานชาวไร่ชาวนาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และไม่ได้เป็นแรงงานหลักของครอบครัวมาฝึกฝนงานศิลปาชีพ เพื่อกลับไปประกอบอาชีพในถิ่นบ้านเกิดโดยพิจารณาจากความถนัดและภูมิลำเนา ทรงจัดสวัสดิการที่พักให้ครูและผู้เข้ารับการฝึกอบรม ทรงจัดเบี้ยเลี้ยงระหว่างฝึกอบรมทรงจ่ายเงินเดือนให้กับคนมีฝีมือ รวมถึงพระราชทานรางวัลกับงานฝีมือที่มีคุณภาพดี

นอกจากนี้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ยังได้ถวายปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาปรัชญาและศาสนา แด่พระไพศาล วิสาโล มอบปริญญาเศรษฐศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ แด่ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.อัมมาร สยามวาลา และปริญญาวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาชีววิทยาแด่ดร.พอล เจ เจ เบทส์ (Dr. Paul J. J. Bates)

พระไพศาล วิสาโล
ศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาปรัชญาและศาสนา


[attach=2]
พระไพศาล วิสาโล นามเดิม ไพศาล วงศ์วรสิทธิ์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสุคะโต เคยเป็นผู้บูรณะวัดป่าสุคะโต ซึ่งเป็นวัดที่ตั้งอยู่ท่ามกลางผืนป่าที่กำลังถูกบุกรุกทำลาย ด้วยการร่วมมือกับคณะสงฆ์วัดป่ามหาวัน ปกป้องดูแลอนุรักษ์ป่าภูหลง โดยนำหลักการทางพระพุทธศาสนามาโน้มน้าวจิตใจชาวบ้าน ให้ร่วมกับพระสงฆ์ในการอนุรักษ์ป่า นอกจากการต้องอุทิศแรงกายไปกับการรักษาผืนป่า และเทศนาให้กับชาวบ้านแล้ว พระไพศาล วิสาโล ยังอุทิศตนในการปลูกฝังแนวคิดแห่งสันติวิธี ให้กับชาวบ้าน เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา

พระไพศาล วิสาโล เป็นพระนักคิด นักธรรมวิทยากร นักวิชาการ นักเขียน นักปฏิบัติ และมีผลงานที่เป็นคุณูปถัมภ์ให้กับพระพุทธศาสนา งานเขียนของท่าน ก็จะถูกตีพิมพ์ในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งคอลัมน์ประจำในวารสาร หนังสือเล่ม เช่น "เป็นมิตรกับความเหงา" "สุขทุกลมหายใจ" "น้ำใส ใจเย็น เติมน้ำใจให้ชีวิตสงบเย็นและเป็นสุข" เป็นต้น หรือตอบปัญหาธรรมะทางสื่อเว็บไซต์ อีเมล์ จนได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติและเป็นที่ยอมรับในฐานะผู้ประยุกต์ใช้หลักธรรมของพระพุทธศาสนาให้เกิดเครือข่ายจิตอาสา รวมทั้งมีผลงานเป็นที่ยอมรับในวงวิชาการทางปรัชญาและศาสนา พระไพศาล วิสาโล ได้รับรางวัล "ชูเกียรติ์ อุทกะพันธุ์" สาขาปรัชญาและศาสนา จากผลงานหนังสือ "พุทธศาสนาไทยในอนาคต : แนวโน้มและทางออกจากวิกฤติ" ในปี พ.ศ. 2548 รางวัล "ศรีบูรพา" รางวัล "นักเขียนอมตะ" และรางวัลเกียรติยศ "คนค้นฅนอะวอร์ด" ในปี พ.ศ. 2553

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.อัมมาร สยามวาลา
เศรษฐศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์


[attach=3]
ศาสตราจารย์(พิเศษ) ดร.อัมมาร สยามวาลา เป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่มีผลงานดีเด่นเป็นที่ประจักษ์ เป็นปูชนียบุคคลที่ได้รับการยอมรับนับถือทั้งในระดับประเทศและนานาชาติโดยเฉพาะทางด้านเศรษฐศาสตร์ เป็นผู้เชี่ยวชาญในทางวิชาการที่โดดเด่นทางเศรษฐศาสตร์ในด้านการพัฒนาและเกษตรกรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่อง กลไกการผลิตและการค้าในตลาดข้าวและพืชผลสำคัญต่างๆ รวมถึงการศึกษาผลกระทบจากนโยบายของภาครัฐที่มีต่อการพัฒนาภาคการเกษตรในชนบท เคยดำรงตำแหน่งทางวิชาการทางด้านเศรษฐศาสตร์ และเป็นนักบริหารในมหาวิทยาลัยชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ เป็นผู้อำนวยการฝ่ายการเกษตรและพัฒนาชนบท สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย(TDRI) ประธานสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย และนักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย

ศาสตราจารย์(พิเศษ)ดร.อัมมาร สยามวาลา มีผลงานทางวิชาการที่มีคุณภาพชั้นนำในระดับนานาชาติ ซึ่งมีคุณประโยชน์เป็นที่ประจักษ์ต่อสังคมจำนวนมากกว่าหนึ่งร้อยผลงาน ได้รับการยกย่องจากสถาบันต่างๆ อาทิ ศาสตราจารย์พิเศษ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาเศรษฐศาสตร์ จากสภาวิจัยแห่งชาติ รางวัล Sir John Crawford Exchange Award สาขาเศรษฐศาสตร์เกษตร จาก Australian Agriculture Economics Society และ Australian Council for International Agricultural Research รางวัลผลงานวิจัยดีเยี่ยม(ร่วมกับวิโรจน์ ณ ระนอง) สาขาเศรษฐศาสตร์ เรื่อง "ประมวลความรู้เรื่องข้าว" จากสภาวิจัยแห่งชาติ

ดร. พอล เจ เจ เบทส์ (Dr. Paul J.J. Bates)
วิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์


[attach=4]
ดร.พอล เจ เจ เบทส์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการของสถาบัน Harrison Institute เป็นผู้นำองค์กรและดำเนินงานตามภารกิจหลักของสถาบันในการส่งเสริมงานวิจัยด้านความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อการอนุรักษ์สิ่งมีชีวิตในกลุ่มประเทศในเขตร้อน เป็นนักอนุกรมวิธานระดับโลกและเป็นหนึ่งในจำนวนไม่กี่คนของโลกที่เป็นนักอนุกรมวิธานแอลฟ่า ดร.พอล เบทส์ มุ่งมั่นที่จะพัฒนาบุคลากรในด้านอนุกรมวิธาน โดยการทุ่มเทเพื่อพัฒนาการศึกษาด้านนี้ทั้งระดับชาติและนานาชาติ ด้วยการฝึกอบรมบุคลากรและนักศึกษาในสถาบันของประเทศต่างๆทั่วโลก ในงานอนุกรมวิธานของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ได้ดำเนินการวิจัยและสร้างเครือข่ายความร่วมมือ ประสานงานกับกลุ่มอนุรักษ์ และถ่ายทอดความรู้ด้านอนุกรมวิธานผ่านสื่อต่างๆ มีผลงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติกว่า 100 เรื่อง และหนังสือ 2 เล่ม ซึ่งถูกใช้อ้างอิงอย่างกว้างขวาง

ที่ผ่านมา ดร.พอล เบทส์ ได้จัดการประชุมนานาชาติและการประชุมเชิงปฏิบัติการจำนวนมาก รวมถึงร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์และมหาวิทยาลัย Texas Tech ประเทศสหรัฐอเมริกา จัดประชุมนานาชาติด้านค้างคาวเป็นครั้งแรกในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งและเป็นผู้ประสานงานเครือข่าย Afro-Asian Taxonomy ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 150 คนจาก 46 ประเทศ กระทั่งปี 2543 ดร.พอล เบทส์ ได้เริ่มความร่วมมือกับพิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา 50 พรรษา สยามบรมราชกุมารี และภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และได้ลงนามความร่วมมือทางวิชาการอย่างเป็นทางการ เมื่อปี 2548
สนับสนุนการขับเคลื่อนโดย
- ฮอนด้าพิธานพาณิชย์-อริยะมอเตอร์ www.phithan.co.th/hondaphithan
- ปาล์มสปริงส์ & ซิตี้รีสอร์ท บ้านและคอนโดคุณภาพจากเครืองศุภาลัย www.hatyainakarin.com
- ธีระการช่าง หาดใหญ่ (เยื้องบิ๊กซีคลองแห) โทร 086-4910345 www.facebook.com/teerakarnchanghy
- เอนกการช่าง ผู้นำการพัฒนาเครื่องจักรกลเกษตร โทร 081-7382622 www.an-anek.com/contact.php
รีวิวธุรกิจ เกาะติดบ้านเมือง ร้อยเรื่องท้องถิ่น TLP 0897384215