ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

สิ่งแวดล้อม ม.อ.แนะรับมือ 8 พื้นที่เสี่ยง ด่วน !

เริ่มโดย ทีมงานประชาสัมพันธ์, 11:09 น. 06 พ.ย 55

ทีมงานประชาสัมพันธ์

นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เดินหน้าเสริมสร้างความเข้าใจด้านการปรับตัวเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ใน 8 พื้นที่เสี่ยง ระหว่างวันที่ 5 กันยายน – 16 ตุลาคม 2555 ประกอบด้วย

[attach=3]

1.เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย ตำบลทะเลน้อย อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง  เสี่ยงภัยน้ำท่วม   
2.พื้นที่ศูนย์บริหารจัดการประมงทะเลภาคใต้ตอนล่าง อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา เสี่ยงผลกระทบจากลมพายุและน้ำจืดจากแผ่นดินที่ถูกผลักดันมาลงทะเลสาบสงขลา ส่งผลแก่สัตว์น้ำที่เลี้ยงในกระชัง
3.อำเภอบางแก้ว จังหวัดพัทลุง เสี่ยงพื้นที่นาข้าวถูกเปลี่ยนไปสู่พื้นที่สวนยางสูงมาก จนสูญสิ้นข้าวพันธุ์พื้นเมือง
4.ชายหาดแหลมโพธิ์ ตำบลคูเต่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เสี่ยงการถูกกัดเซาะ
5.ทะเลน้อย อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง ทรัพยากรกำลังถูกคุกคาม จนส่งผลให้สิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์ที่หายากและอยู่ในภาวะเสี่ยงอาจจะสูญพันธุ์
6.อุทยานแห่งชาติเขาปู่เขาย่า ตำบลเขาปู่ อำเภอศรีบรรพต จังหวัดพัทลุง มีการแผ้วถางป่า เพื่อปลูกยางพารา และปาล์มน้ำมัน ทำให้ไม่มีรากต้นไม้ยึดหน้าดิน เสี่ยงการเกิดดินถล่ม
7.วัดพะโคะ อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ทำอาจทำให้สูญเสียมรดกทางวัฒนธรรม
8.ชุมชนเมืองหาดใหญ่  จ.สงขลา เสี่ยงภัยน้ำท่วม


แกนนำนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมและทีมงาน และทีมงาน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เร่งเดินหน้าจัดประชุมกลุ่มย่อยครั้งที่ 2 ใน 8 พื้นที่ ตามโครงการพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาอย่างยั่งยืน เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับการปรับตัวเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แก่ตัวแทนประชาชน ตัวแทนภาครัฐ และเอกชน ที่ให้ความสนใจเข้าร่วมมากกว่าครั้งละ 30 คน ระหว่างวันที่ 5 กันยายน – 16 ตุลาคม 2555 ถึงวิธีการปรับตัวดังนี้

พื้นที่ 1 เมื่อวันพุธ ที่ 5 กันยายน 2555 ณ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย ตำบลทะเลน้อย อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง โดยอาจารย์ศักดิ์อนันต์ ปลาทอง ผู้เชี่ยวชาญด้านชีววิทยา บรรยายเพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ผู้เข้าร่วมถึงความหลากหลายทางชีวภาพของพื้นที่ เช่น ต้นกง และต้นแพงพวย ซึ่งเป็นพืชเฉพาะถิ่นพบได้ในทะเลน้อยเท่านั้น ซึ่งพืชเหล่านี้จะปรับตัวได้เองตามการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่วนชุมชนที่อาศัยอยู่บริเวณรอบๆ ทะเลน้อย มีภูมิปัญญาท้องถิ่นในการปรับตัวกับการอาศัยอยู่กับน้ำมาเนิ่นนาน ได้แก่ การสร้างบ้านยกพื้น การมีเรือเพื่อสัญจรช่วงน้ำท่วม การมีพื้นสูงเก็บสิ่งของ รวมไปถึงการประกอบอาชีพที่หลากหลาย เพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงทางอาชีพ

   พื้นที่ 2 เมื่อวันจันทร์ ที่ 10 กันยายน 2555 โดยอาจารย์ศักดิ์อนันต์ ปลาทอง ผู้เชี่ยวชาญด้านชีววิทยาทางทะเล บรรยายถึงผลกระทบจากลมพายุและน้ำจืดจากแผ่นดินที่ถูกผลักดันมาลงทะเลสาบสงขลาแก่ชาวประมงของลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำที่เลี้ยงในกระชัง และสัตว์ทะเลที่หนีน้ำจืดออกไปยังทะเลลึก ชาวประมงต้องคอยติดตามข่าวสารจากหน่วยงานที่เชื่อถือได้ และปฏิบัติตามคำเตือนอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน มีการร่วมแลกเปลี่ยนถึงตัวอย่างของการลดความเสียหายแก่ทรัพย์สิน จากลมพายุที่รุนแรงด้วยแนวป่าชายเลน ณ บริเวณพื้นที่ศูนย์บริหารจัดการประมงทะเลภาคใต้ตอนล่าง อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา

   พื้นที่ 3 เมื่อวันจันทร์ ที่ 17 กันยายน 2555 ณ แหล่งเรียนรู้ฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริฯ อำเภอบางแก้ว จังหวัดพัทลุง โดย รศ.ดร.สายัณห์ สดุดี และ รศ.ดร. บัญชา สมบูรณ์สุข สองนักวิชาการด้านทรัพยากรการเกษตร บรรยายถึงความเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยง (Risk)  แก่เกษตรกร ต่อการสูญสิ้นเกษตรกรชาวนาและข้าวพันธุ์พื้นเมือง เนื่องจากฤดูกาลที่ไม่แน่นอน ทำให้เกษตรกรชาวนาคาดการณ์การทำนาได้ยาก  นอกจากนี้ พื้นที่ดังกล่าวยังมีความอ่อนไหว (Sensitivity) ในการเปลี่ยนจากพื้นที่นา ไปสู่พื้นที่สวนยางสูงมาก เนื่องจาก รัฐบาลมักให้การสนับสนุนการทำสวนยางมากกว่านาข้าว ดังนั้น หากรัฐบาลต้องการให้มีผลผลิตของข้าวพันธุ์พื้นเมืองต่อไป รัฐบาลต้องให้การสนับสนุนเกษตรกรชาวนาเทียบเท่า เกษตรกรชาวสวนยางเช่นกัน เช่น ข้าวพันธุ์สังข์หยดเป็นข้าวที่มีคุณค่าทางโภชนาการของธาตุเหล็ก ฟอสฟอรัส และไนอาซีนสูง

   พื้นที่ 4 เมื่อวันศุกร์ ที่ 21 กันยายน 2555 ณ อาคารอเนกประสงค์ ชายหาดแหลมโพธิ์ ตำบลคูเต่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โดย ผศ. พยอม รัตนมณี และคุณอดุลย์ เบ็ญนุ้ย สองนักวิชาการด้านการกัดเซาะชายฝั่ง เสนอแนะมาตรการการปรับตัวในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งอย่างเหมาะสม โดยการผสมผสานมาตรการแบบใช้โครงสร้าง และมาตรการที่ไม่ใช้โครงสร้าง เนื่องจากไม่มีมาตรการใดที่จะดีที่สุดสมบูรณ์แบบในพื้นที่ที่มีสถานการณ์การกัดเซาะชายฝั่งที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ ควรมีการศึกษาและสำรวจชนิดพันธุ์พืชท้องถิ่นที่ช่วยลดการกัดเซาะชายฝั่ง ลักษณะดิน และน้ำที่ใช้ปลูกเป็นสำคัญ

   พื้นที่ 5 เมื่อวันอังคาร ที่ 25 กันยายน 2555 ณ สถานีพัฒนาและส่งเสริมการอนุรักษ์สัตว์ป่าทะเลน้อย ตำบลทะเลน้อย อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง โดย ผศ. ดร. ปาริชาติ วิสุทธิสมาจาร นักวิชาการด้านการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ บรรยายถึงความสำคัญทางชีวภาพของพรุควนขี้เสียน ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย (พื้นที่ชุ่มน้ำระดับนานาชาติแห่งแรกของประเทศไทย) พื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย จังหวัดพัทลุง และเทือกเขาสันการาคีรี จังหวัดสงขลา ทั้งนี้ ชุมชนในบริเวณดังกล่าวมีการพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติและคุณค่าของระบบนิเวศเพื่อการประกอบอาชีพด้านประมง การทำกระจูด รวมทั้งการท่องเที่ยว หากแต่ทรัพยากรดังกล่าวกำลังถูกคุกคามอย่างหนัก จนส่งผลให้สิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์ที่หายากและอยู่ในภาวะเสี่ยงอาจจะสูญพันธุ์ไปได้ในอนาคต เช่น การเก็บเกี่ยวต้นกระจูด เพื่อนำมาทำผลิตภัณฑ์กระจูดต่างๆ เพื่อขายแก่นักท่องเที่ยว ซึ่งปัจจุบันการตัดกระจูด เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มีรากกระจูดหลงเหลือเป็นเชื้อเพลิงได้ดีในยามภาวะร้อน และแห้งแล้ง บริเวณป่าพรุได้ ดังนั้น ประชาชนจึงมีการปรับตัวด้วยการถอนกระจูด เพื่อลดสาเหตุหนึ่งของการเป็นเชื้อเพลิงเผาไหม้ในบริเวณป่า

   พื้นที่ 6 เมื่อวันพุธ ที่ 26 กันยายน 2555 ณ อุทยานแห่งชาติเขาปู่เขาย่า ตำบลเขาปู่ อำเภอศรีบรรพต จังหวัดพัทลุง โดย รศ. ดร. ดนุพล ตันนโยภาส นักวิชาการด้านดินถล่ม แจ้งเตือนประชาชนให้มีการปรับตัวด้วยการละเว้นการบุกรุกแผ้วถางป่า เพื่อปลูกยางพารา และปาล์มน้ำมันในพื้นที่ลาดชัน ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ไม่มีรากต้นไม้ยึดหน้าดิน และเกิดดินถล่มเมื่อมีฝนตกหนักในที่สุด นอกจากนี้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่ดังกล่าวควรติดตามฟังข่าวจากระบบระวังภัยดินถล่มที่หลายหน่วยงานรัฐได้ติดตั้งไว้ให้ รวมทั้งระบบเครือข่ายแจ้งเหตุการณ์ในพื้นที่เสี่ยงภัยดินถล่ม

   พื้นที่ 7 เมื่อวันศุกร์ ที่ 28 กันยายน 2555 ณ วัดพะโคะ อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา โดย
รศ. ดร. ศรีสุพร ปิยะรัตนวงศ์ นักวิชาการด้านศิลปและวัฒนธรรม กล่าวถึง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ส่งผลกระทบต่อมรดกทางวัฒนธรรมบริเวณลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ได้แก่ น้ำท่วม ลมพายุ และดินถล่ม รวมไปถึงความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของมนุษย์ ที่มีจิตศรัทธาในการบูรณะมรดกทางวัฒนธรรมในทางที่ไม่ถูกวิธีตามข้อกำหนดของกรมศิลปากร เช่น การใช้ปูนวิทยาศาสตร์ฉาบผนัง แทนปูนตำที่ผสมกับน้ำผึ้งโบราณ การปูกระเบื้องสมัยใหม่บนอาคารไม้ที่อาจมีการผุพังจากความชื้นและปลวก ทำให้ไม่สามารถรับน้ำหนักไว้ได้ เป็นต้น ทั้งนี้ สำนักงานศิลปากรที่ 13 ได้มีการอบรมความรู้ในการซ่อมแซมแก่พระ และช่าง ซึ่งเป็นผู้ใกล้ชิดและดูแลมรดกทางวัฒนธรรมเหล่านี้

   พื้นที่ 8 เมื่อวันอังคาร ที่ 16 ตุลาคม 2555 ณ สำนักงานเทศบาลเมืองคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โดย
รศ. ดร. ธนิต เฉลิมยานนท์ นักวิชาการด้านน้ำท่วม กล่าวถึง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประกอบกับการเป็นพื้นลุ่มรองรับปริมาณน้ำฝนของชุมชนเมืองหาดใหญ่ ส่งผลให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในเมืองหาดใหญ่ ต้องรับกับสถานการณ์น้ำท่วมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างไรก็ดีวิธีการป้องกันด้วยการใช้โครงสร้าง เช่น การสร้างเขื่อน หรือคันดิน จะเป็นมาตรการที่ใช้งบประมาณที่เป็นจำนวนสูงมาก ทางเลือกที่ดีคือ มาตรการที่ไม่ใช้โครงสร้าง เช่น แผนที่แสดงพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม ระบบการเตือนภัย การยกระดับพื้นบ้านเพื่อหนีระดับน้ำท่วม และการใช้พื้นที่สีเขียวเป็นพื้นที่แก้มลิงยามน้ำท่วม เช่น สนามเด็กเล่น เป็นต้น

ทั้งนี้ รศ.ดร. ฉัตรไชย รัตนไชย ประธานในที่ประชุม และที่ปรึกษาโครงการ เสริมว่า "การเสริมสร้างความรู้เพื่อการปรับตัวเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศดังกล่าว จะนำไปสู่การวางแผนการปรับตัวและรับมือที่สอดคล้องกับภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อให้ประชาคมลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาได้มีการใช้ชีวิตอย่างเป็นสุขพอเหมาะพอควร ภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสังคมสมัยใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไป" ซึ่งผู้ที่สนใจ สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่

http://www.onep.go.th/slbproject2555 หรือ Facebook และ FanPage ที่ใช้ชื่อว่า
โครงการพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาอย่างยั่งยืน