ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

เด็กไทยจะเดินต่ออย่างไรในประเทศ AEC ?

เริ่มโดย Mr.No, 15:02 น. 06 พ.ย 55

Mr.No

[attach=1]

วันที่ผมเขียนบทความนี้ ตรงกับเดือนพฤศจิกายน 2555 ... นั่งนับนิ้วไปมา  ไอ๊หย๋า...นี่ปี 2555 กำลังจะโบกมือลาอีกแล้วรึนี่?

ดูเหมือนว่า วันเวลาที่ล่วงไปมันช่างรวดเร็วกว่าเมื่อสัก 4-5 สิบปีก่อนมาก (ทั้งที่มันก็เท่ากัน) อาจเป็นว่าทุกวันนี้ อะไร ๆ มันก็ยุ่งยาก..และวุ่นวายไปหมดจนเราเองแทบจะลืมหยุดนั่งพักและคิดอะไรต่ออะไร..เผลอแผล่บ..ก็ก้าวย่างวันใหม่ซะแล้ว..เป็นอย่างนี้ประจำ

ในขณะที่ภาคการเมืองเองวันนี้ ก็สุมหัวกันอยู่แต่ก๊วนหน้าเดิม ๆ เล่นการเมืองเพื่อพวกพ้องและเจ้านายไปวัน ๆ ปล่อยให้ภาคประชาชนสับสนอลเวงกับปัญหาเศรษฐกิจรุมเร้า ทั้งข้าวของสินค้าราคาน้ำมัน รวมทั้งสาธารณูปโภคเช่น ไฟฟ้า,น้ำประปา ที่เดิมทีรัฐเคยสัญญาว่าจะให้แก่ประชาชนแบบไม่ค้ากำไร มาบัดนี้ทุกอย่างพร้อมใจกันขึ้นราคาและฉีกสัญญาประชาคมทีรัฐเคยมีหน้าที่บริการแบบไม่ค้ากำไรทิ้งลงถังไปนานหลายปี

นับจากนี้อีกสองปี ประเทศไทยจะกว้างไกลสุดลูกหูลูกตา... คนมากหน้าหลายภาษา จะพากันเฮโลเข้ามาบ้านเรา ทั้งมาให้..ทั้งมากอบโกย..ฯลฯ หลากหลายสารพันเหตุผลเพราะคำว่า  "AEC"

AEC  คือชื่อย่อของกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (Asean Economics Community) ที่ประเทศในภูมิภาคนี้ 10 ประเทศตกลงกันว่าในปี 2558 เราจะร่วมกันทำมาหารับประทานกันแบบเปิดเสรีด้านเศรษฐกิจกันเต็มที่  เพราะมองว่าขืนเราแยกกันแล้วยังแข่งกันเองไม่รวมกลุ่มกันให้มันใหญ่โตขึ้น ต่อไปแต่ละประเทศที่ยืนต่อสู้ด้านเศรษฐกิจแบบเดี่ยว ๆ ประเภทข้ามาคนเดียวคงตายหยังเขียดกับการถูกเอารัดเอาเปรียบจากกลุ่มประเทศในอีกฝากฝั่งโลก ไม่ว่าจะเป็น อเมริกา,กลุ่มประเทศยุโรป หรือแม้แต่พี่ยักษ์ด้านเศรษฐกิจอย่าง จีน และ อินเดีย

ผมเขียนเรื่องนี้..เพราะอยากให้หลายคนในนี้ที่กำลังมีลูกในวัยกำลังเรียนจะได้ทำความเข้าใจ,ปรับตัวและเตรียมตัวเพื่อให้ลูก ๆ  หลาน ๆ มีศักยภาพพอที่จะเป็นคนมีฝีไม้ลายมือมากกว่าเดิม เพราะนับแต่นี้ต่อไป ตลาดแรงงานอาจไม่ใช่แค่ห้างร้านบริษัทในไทย แต่เด็กไทยอาจก้าวไปเป็นใหญ่ในหน้าที่การเงินในประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคนี้ด้วย

ดูเหมือนว่าการเตรียมการปรับตัวเพื่อให้เด็ก ๆ ทำความเข้าใจและวางแผนในการมีชีวิตอยู่ในประเทศอาเซียนที่มีประชากรเฉียด 600 ล้านคนในอนาคตสำหรับประเทศไทยยังไม่ค่อยเดินหน้าไปไหน... เพราะรัฐบาลหอยทากไทยยังคงมะงุมมะงาหราทำมาหารับประทานใส่ปากท้องพวกพ้องตัวเองอย่างไม่จบสิ้น!

ในขณะที่ฟากฝั่งประเทศที่เริ่มฟื้นตัวผ่านความเลวร้ายด้านการเมือง,เศรษฐกิจ หรือสงคราม อย่างพวก เวียตนาม,พม่า,กัมพูชา หรือใกล้บ้านอย่างประเทศลาว ประเทศเหล่านี้กลับมีความตื่นตัวและกระตือรือร้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะในประเทศลาวนั้น ก้าวหน้าไปอีกขึ้นและกล้าหาญที่ปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนแบบหลักสูตรอาเซียนศึกษาเพื่อให้สอดคล้องกับโลกที่กว้างขึ้น

[attach=2]

เด็ก ๆในลาว,เขมร, ในพม่าหรือเวียตนามหลายคนมีเป้าหมายการศึกษาไว้ค่อนข้างสดใส การเปิดกว้างทางการศึกษาทำให้มหาวิทยาลัยไทยหลายแห่งทั่วประเทศ กลายเป็นเป้าหมายสำคัญที่เด็กๆในหลายประเทศนี้ใฝ่ฝันที่จะได้มีโอกาสเข้ามาเรียน...และเริ่มจะเป็นจริงในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า.

เด็ก ๆ ในประเทศลาว,เวียตนาม,พม่าหรือกัมพูชา นิยมเรียนภาษาที่สองกันอย่างเต็มที่คือ "ภาษาไทย" เพราะเป้าหมายการได้มีโอกาสมาเรียน,ศึกษาต่อ หรือแม้แต่ได้มีโอกาสทำงานในเมืองไทยนั้นวันนี้ โอกาสมันเปิดแล้ว!

[attach=3]

การที่เด็ก ๆ เหล่านี้เลือกเรียน "ภาษาไทย" แทนที่จะเป็นภาษาอังกฤษถือเป็นความเฉียบคมในการมองอนาคตที่ใกล้กว่าและแน่นอนกว่า เพราะเหตุว่าต้นทุนทางวัฒนธรรมและประเพณีที่ไม่หนีกันมาก ทำให้ความได้เปรียบมีสูงกว่าที่จะเลือกเป้าหมายในประเทศอื่นที่ต่างวัฒนธรรมและประเพณีอย่างพวกกลุ่มประเทศมุสลิมไมว่าจะเป็น บรูไน,มาเลเซียหรือยักษ์มุสลิมอย่างอินโด

อย่างน้อยวันนี้ถ้าใครได้มีโอกาสเดินไปตลาดสดหาดใหญ่ เราจะเห็นแม่ค้าหน้าตาใหม่ ๆ ปาดหน้าด้วยทานาคาขาวว่อก ยืนยิ้มแฉ่งรอต้อนรับลูกค้ากันเต็มตลาดสดแล้ว...

แม้สำเนียงภาษาและความรู้อาจด้อย...ทว่า ด้วยความอดทนแม้จะต้องยากลำบากหรือต้องเสียเบี้ยบ้ายรายทางมากมาย เพื่อถากทางพาตัวเองมาทำมาหากินในประเทศนี้ พวกเขาก็พร้อม และจะพร้อมกว่านี้ในอีก 2 ปีข้างหน้า
และเชื่อว่า อีกไม่นาน..ตำแหน่งพนักงานขายหน้าร้าน...หรือประจำตามห้างดัง จะกลายเป็นหน้าที่ของคนเหล่านี้ในที่สุด

ว่างจะมาร่ายต่อนะครับ น่าสนใจทีเดียว...
..ขอเป็นแค่ "มนุษย์" ที่อาศัยโลกใบนี้สำหรับ เกิด.แก่.เจ็บ.ตาย อย่างนอบน้อมและคารวะ.

creme brulee

เห็นการศึกษาเกี่ยวกับอาเซียนในเมืองไทยบางทีก็เหนื่อยใจค่ะ แทบทุกโรงเรียนมีการจัดบอร์ด หรือให้ความรู้เกี่ยวกับอาเซียน แต่เนื้อหาที่ถ่ายทอดออกมาเด็กแทบไม่ได้อะไรเลย

ก็เล่นสอนแต่ อาเซียนมีสิบประเทศ แต่ละประเทศใครเป็นผู้นำ เมืองหลวงชื่ออะไร ใช้ภาษาอะไร (แล้วก็จะมีสอนคำทักทายของแต่ละประเทศ) เห็นหลายๆ โรงเรียนเวลาแข่งกีฬาสี เด็กก็แต่งตัวด้วยชุดประจำชาติอาเซียน ซึ่งว่ากันตามจริง ชุดประจำชาติของแต่ละประเทศไม่มีเอกลักษณ์ตายตัว อย่างชุดไทยยังมีตั้งหลายแบบเลยตั้งแต่แบบละโว้ ล้านนา แบบทางภาคอีสาน สุโขทัย แบบอยุธยา รัตนโกสินทร์ตอนต้น แบบสมัยร.5 แบบสมัย ร.7 และแบบพระราชนิยมในปัจจุบัน ประสาอะไรกับประเทศอื่นๆ ที่เค้ามีชาติพันธุ์หลายหลายกว่าเรา เคยเห็นสื่อการสอนอาเซียนไม่ทราบบริษัทไหนจัดทำมาขาย ข้อมูลผิดๆ ก็มีค่ะ

เวลาสอบ เด็กต้องนั่งท่องจุดประสงค์ AEC ที่มาของ AEC มาเป็นภาษาทางการเลย ลองถามเด็กหลายคนแล้ว ท่องไปก็ไม่ได้เข้าใจอะไรเท่าไหร่เลย

กลายเป็นว่า สิ่งที่หลายๆ โรงเรียนพยายามปลูกฝังกับเด็ก แทบไม่มีประโยชน์เลย เด็กก็ยังมองว่าเป็นเรื่องไกลตัวอยู่ดี อาจจะมีบางคนที่กระตือรือร้นหน่อยที่ตระหนักว่าควรขวนขวายและฝึกภาษามากขึ้น นอกนั้น สภาพสังคม เศรษฐกิจ การเมือง สังคมและวัฒนธรรมของประเทศเพื่อนบ้านรอบตัวนี่ ยังมีน้อยคนที่จะรู้ว่าเขาเป็นยังไง

Mr.No

อ้างจาก: creme brulee เมื่อ 04:30 น.  27 พ.ย 55
เห็นการศึกษาเกี่ยวกับอาเซียนในเมืองไทยบางทีก็เหนื่อยใจค่ะ แทบทุกโรงเรียนมีการจัดบอร์ด หรือให้ความรู้เกี่ยวกับอาเซียน แต่เนื้อหาที่ถ่ายทอดออกมาเด็กแทบไม่ได้อะไรเลย

ก็เล่นสอนแต่ อาเซียนมีสิบประเทศ แต่ละประเทศใครเป็นผู้นำ เมืองหลวงชื่ออะไร ใช้ภาษาอะไร (แล้วก็จะมีสอนคำทักทายของแต่ละประเทศ) เห็นหลายๆ โรงเรียนเวลาแข่งกีฬาสี เด็กก็แต่งตัวด้วยชุดประจำชาติอาเซียน ซึ่งว่ากันตามจริง ชุดประจำชาติของแต่ละประเทศไม่มีเอกลักษณ์ตายตัว อย่างชุดไทยยังมีตั้งหลายแบบเลยตั้งแต่แบบละโว้ ล้านนา แบบทางภาคอีสาน สุโขทัย แบบอยุธยา รัตนโกสินทร์ตอนต้น แบบสมัยร.5 แบบสมัย ร.7 และแบบพระราชนิยมในปัจจุบัน ประสาอะไรกับประเทศอื่นๆ ที่เค้ามีชาติพันธุ์หลายหลายกว่าเรา เคยเห็นสื่อการสอนอาเซียนไม่ทราบบริษัทไหนจัดทำมาขาย ข้อมูลผิดๆ ก็มีค่ะ

เวลาสอบ เด็กต้องนั่งท่องจุดประสงค์ AEC ที่มาของ AEC มาเป็นภาษาทางการเลย ลองถามเด็กหลายคนแล้ว ท่องไปก็ไม่ได้เข้าใจอะไรเท่าไหร่เลย

กลายเป็นว่า สิ่งที่หลายๆ โรงเรียนพยายามปลูกฝังกับเด็ก แทบไม่มีประโยชน์เลย เด็กก็ยังมองว่าเป็นเรื่องไกลตัวอยู่ดี อาจจะมีบางคนที่กระตือรือร้นหน่อยที่ตระหนักว่าควรขวนขวายและฝึกภาษามากขึ้น นอกนั้น สภาพสังคม เศรษฐกิจ การเมือง สังคมและวัฒนธรรมของประเทศเพื่อนบ้านรอบตัวนี่ ยังมีน้อยคนที่จะรู้ว่าเขาเป็นยังไง

สวัสดีครับคุณ creme brulee.


เห็นด้วยกับที่คุณว่า เรื่องหลักสูตรอาเซียนศึกษาต๊อง ๆ ของไทย ..เพราะสุดท้ายก็คือพวก หลักสูตรนกแก้ว นกขุนทองเดิมๆ

จริง ๆ แล้วอยากจะบอกว่า วันนี้ สิ่งที่เราควรทำเป็นอย่างแรกก็คือ ต้องเร่งปฎิรูปการเรียนการสอนของเด็กไทยกันใหม่ โดยเฉพาะพวกหลักสูตรในการสอนในวันนี้คงต้องทบทวนกันให้ดี  อย่างเจ้าหลักสูตรแกนกลางที่กลายเป็นหนังสือเรียนที่ไม่น่าเชื่อว่าเด็กนักเรียนแทบจะไม่อยากเปิดอ่านด้วยซ้ำ...(ขนาดบางเล่ม หมดเทอมแล้ว หนังสือยังเอี่ยมอ่องเพราะน้อง ๆ  หนูแทบไม่เคยเปิดดู)

ขนาดแก้ไขให้มีหลักสูตรเพิ่มเช่นพวกหลักสูตรท้องถิ่น หรือพวกหลักสูตรอิสระ ก็ยังพบว่าการสอนเด็กนักเรียนไทยวันนี้ ... ยังคงไม่ได้หนีไปจากวังวนเดิมด้วยซ้ำ


สิ่งที่ผมเป็นห่วงที่สุดสำหรับเด็กไทยวันนี้ก็คือ   เราไม่ได้พยายามสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้เด็กสามารถเติบโตขึ้นมาพร้อม ๆ กับความคิด ความเข้าใจที่จะรู้เท่าทันโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วได้เลย 

หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ  โรงเรียนไม่ได้สอนให้เด็ก "คิดเป็น"   แต่ยังคงสอนให้เด็กเดินย่ำอยู่กับวังวนเดิม ๆ คือ ต้องเรียนให้ได้เกรดสูง ๆ ... เพื่อเตรียมเข้าโรงเรียนดัง ๆ และ มหาวิทยาลัยดัง ตามสเตบ เท่านั้น!

โรงเรียนดัง ๆ โดยเฉพาะโรงเรียนของรัฐฯ เดี๋ยวนี้ กลายเป็นแข่งขันกันสร้าง "วัตถุ" มากกว่า "คุณภาพ" เด็ก
ผอ. แต่ละคนกลายเป็น นักธุรกิจการศึกษาที่มีหน้าที่ต้องหาเงินเข้าโรงเรียนให้มากที่สุด เพื่อให้โรงเรียน "เด่น" "ดัง" เพราะเมื่อ "เด่น"   เท่ากับ ตัวเองก็ได้ยกระดับฐานะทั้งในตำแหน่งแห่งหน...รวมถึง ชื่อเสียงของตน และโรงเรียน

เดี๋ยวนี้โรงเรียน เรีนรู้วิธีหาตังค์แข่งกัน..บ้างจัดมวย..บางจัดคอนเสริต์...บ้างถึงขนาดสร้างพระ สร้างเครื่องลางขายก็มี!!

ไม่ผิดที่จะหาเงินมาซื้อ..มาสร้างอะไรต่ออะไรที่พยายามจะบอกว่า  "เพื่อเด็ก"
แต่เอาเข้าจริง... โรงเรียนกลับขาดสิ่งที่สำคัญที่สุดของเจตนารมณ์แห่งโรงเรียนก็คือ  "แก้ปัญหาให้เด็ก"

สมัยก่อน โรงเรียนช่วยผู้ปกครอง ร่วมกันแก้ปัญหาให้เด็ก ..แต่เดี๋ยวนี้ กลายเป็น เด็กคนไหนมีปัญหา นอกจากจะไม่ช่วยแก้ กลับพยายามผลักดันหรือพูดง่าย ๆ ว่า เอาเด็กออกไป เพราะเด็กอาจกลายเป็นปัญหาให้โรงเรียนเสียชื่อเสียง

ห้องเรียนที่มีเด็กสี่ห้าสิบคน กับครูคนเดียว จะไปเอาอะไรกับวิชาการนักหนา แค่ครูประจำวิชายืนด่าระบายอารมณ์กับหัวเกรียนบางคนในห้องก็แทบเกือบหมดคาบ ...เวลาที่เหลือจะหวังเผื่อให้เด็กทุกคนได้รับความรู้จากครูเต็มที่ก็คงยาก...
เมื่อโรงเรียนมาถึงจุดที่เอา  "โรงเรียน" เป็นตัวตั้ง แทนที่จะเอา "เด็ก" เป็นตัวตั้ง  จึงบังเกิดผลผลิตโคลนนิ่งเด็กที่มีสมองและกึ๋นระดับใกล้เคียงกัน... คือ "รู้"  แต่เอาไปปรับใช้หรือแก้ปัญหาอะไรไม่เป็น

ไม่น่าเชื่อว่า เด็กบางคนจบ ม.6 แล้วยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะเรียนต่ออะไร...เพื่ออะไร?  แต่รู้แต่เพียงว่าต้องเรียนต่อ!! 
เด็กบางคนจบมหาวิทยาลัยแล้ว ยังคิดไม่ออกด้วยซ้ำว่า จบแล้วจะยังไงต่อ? 

นี่คือส่วนหนึ่งของที่ปัญหาว่า ทำไมเด็กไทยจึงมีแนวโน้ม "หน่อมแน้ม" มากขึ้นจนน่าวิตก (จริงๆ) ครับ
..ขอเป็นแค่ "มนุษย์" ที่อาศัยโลกใบนี้สำหรับ เกิด.แก่.เจ็บ.ตาย อย่างนอบน้อมและคารวะ.

creme brulee

เห็นด้วยกับคุณ Mr.No มากค่ะ

ปัญหาการศึกษาไทย มันเป็นปัญหากันทั้งระบบ ถ้าจะแก้ก็ต้องแก้พร้อมกันทั้งระบบ ซึ่งมันเป็นเรื่องยาก หลายรัฐบาลก็พยายามแก้ แต่ไม่เข้าใจทำไมเอาแต่ไปแก้ระบบสอบเข้ามหาวิทยาลัย ทั้งๆ ที่ปัญหาจริงๆ มันอยู่ที่การวางรากฐานตั้งแต่ชั้นประถมมากกว่า

หนังสือเรียนบางเล่ม เขียนออกมาดี แต่ครูผู้สอนเอาไปใช้ไม่เป็น
เคยเจอขนาดกระทั่งว่า ครูยังไม่รู้เลยว่าหนังสือเป็นยังไง ฝ่ายจัดซื้อของรร.เค้าซื้อมา (เพราะเซลล์ของสำนักพิมพ์มาโฆษณา) ก็เลยซื้อไปตามนั้น

บางโรงเรียนสอนสังคม ครูใช้ตำราเล่มเดียวเป็นสิบๆ ปีเอามาสอนเด็ก ไม่เคยอัพเดตเนื้อหาใหม่ๆ ทั้งๆ ที่เป็นวิชาสำคัญวิชาหนึ่งเลยด้วยซ้ำ แต่คนทั่วไปไปให้ความสำคัญกับวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เพราะเป็นวิชาหลักในสนามสอบส่วนใหญ่

พอสังคม ซึ่งเป็นวิชาที่ควรสอนการคิดวิเคราะห์ กลับไม่สอนทักษะนี้แก่เด็ก เด็กก็คิดไม่เป็น ก็ท่องตามครูกันไปเรื่อย ครูสอนผิดสอนถูกก็ไม่เอะใจ เพราะฟัง จด อย่างเดียว ไม่ได้วิเคราะห์ตาม ส่งผลให้การเรียนวิชาอื่นกระทบไปด้วย เพราะเรียนเป็นนกแก้วอย่างเดียว

รุ่นดิฉันเจอระบบ Child Center (ดีว่าศธ.พยายามให้ยกเลิกแล้ว) หนักสุด ครูแทบไม่สอนเลย ให้หัวข้อเด็กจับกลุ่มไปทำรายงาน แล้วออกมารายงานหน้าชั้น พอเด็กโวยวายครูก็อ้างว่า Child Centerๆๆ พวกเธอต้องค้นคว้าเอง แล้วให้คะแนนจากความสวยงามของรูปเล่มรายงาน เพราะครูไม่เปิดอ่าน อันนี้รู้แจ้งเองเลยเพราะตอนเอามาอ่านเองยังสังเกตเห็นว่าตัวเองพิมพ์อะไรวนไปวนมาผิดๆ ถูกๆ ขาดๆ แต่ดีว่าใช้คอมทำ ปกสวย ครูให้เต็ม

การให้เด็กไปทำรายงาน ธรรมชาติของเด็ก ต้องมีคนที่กินแรงเพื่อน สรุป คนทำจริงๆ มีไม่กี่คน
พอออกมารายงานหน้าชั้น เพื่อนที่ไหนจะฟัง ทุกคนก็เอาแต่ก้มหน้าท่องเรื่องที่ตัวเองต้องออกไปพูดหน้าชั้น สรุปครูฟังคนเดียว

มีครั้งนึงลืมเตรียมรายงานวิทยาศาสตร์ แต่ต้องออกไปรายงานหน้าชั้นแล้ว เลยแก้ปัญหาเอาดาบหน้า พูดมั่วไปสดๆ เมคเนื้อหาเอง จับแพะชนแกะ แต่คงดูมีหลักการเพราะครูประทับใจมากถึงขนาดเอาเรื่องที่ดิฉันพูดหน้าห้องไปออกข้อสอบ!! ตั้งแต่วันนั้นเลยไม่ค่อยเชื่อถือครูเท่าไหร่ เพราะตัวเองก็รู้แก่ใจอยู่ว่าเรื่องที่พูดไปหน้าห้องมันผิดนะ

การก่อตัวขึ้นของกวดวิชาส่วนนึงน่าจะมาจากระบบนี้ เพราะในห้องเด็กแทบไม่ได้เรียนอะไรเลย
พอกวดวิชามีมากขึ้น ครูก็เห็นช่องทางรวย ออกมาสอนเองบ้าง สอนไปสอนมาอยากได้เด็กเพิ่มขึ้นก็เริ่มกั๊กความรู้ ไม่สอนในห้องเรียนละ เก็บไปสอนพิเศษ แล้ววิธีฮิตสุดคือบอกข้อสอบเฉพาะเด็กที่เรียนพิเศษ เป็นปัญหาต่อเนื่องที่สั่งสมจนเป็นปัญหาใหญ่ในปัจจุบัน

มีผู้ปกครองที่รู้จักกันมาเล่าให้ฟังว่า ต้องส่งลูกเรียนวิชาละสองที่ ที่นึงเรียนเอาเกรดกับครูผู้สอน อีกที่นึงเรียนเพื่อให้ลูกได้ความรู้จริงๆ ฟังแล้วหดหู่  ส.แย่จัง

แต่ก็ใช่ว่าเด็กสมัยนี้ไม่มีความรู้อะไรเลย ความที่ต้องไปเรียนกวดวิชานี่แหละยังพอกู้หน้าคุณภาพการศึกษาไทยมาได้บ้าง (ไม่ได้สนับสนุนให้เด็กเรียนกวดวิชานะคะ แต่จากปัญหาที่มันเกิดขึ้นอยู่ตอนนี้ กวดวิชากลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเด็กไปเลย) สมัยนี้เห็นกวดวิชาหลายๆ ที่ (อย่างน้อยเอาที่เห็นในหาดใหญ่) ครูมีคุณภาพกว่าในโรงเรียนเยอะ ส่วนใหญ่เป็นครูจบเฉพาะทางมา หลายคนตอนเด็กๆ เป็นเด็กเรียนดี โตมาเป็นครูก็ขยันอัพเดตเนื้อหาที่สอน มีความรู้ถ่ายทอดจริงๆ เด็กเลยได้ความรู้จากตรงนี้ เอาไปสอบแข่ง เอาไปสอบเข้าตามที่ต่างๆ ทำให้คะแนนสอบในหลายๆ สนามสอบสูงขึ้นทุกปี ... ส่วนความรู้จากโรงเรียน เทียบกับกวดวิชาแล้ว ได้น้อยมาก เพราะครูในโรงเรียนส่วนใหญ่ตอนนี้ บางคนแทบไม่มีความรู้ในเรื่องที่ตัวเองสอนเลย

เคยมานั่งคิดว่าทำไมครูสอนน้อย สอนผิดๆ ถูกๆ บ้าง หรือส่วนนึงอาจเป็นเพราะคนที่มาเป็นครูหลายคนตอนเด็กๆ เรียนไม่เก่ง เอนท์ไม่ติด เลยต้องเลือกเรียนศึกษาศาสตร์เพราะคะแนนต่ำ เข้าง่ายกว่าคณะอื่นๆ หลายคณะ จบมาเลยเป็นครูที่คุณภาพไม่ดีตามไปด้วย เพราะนิสัยไม่ชอบเรียนรู้ตั้งแต่เด็กก็มีส่วนด้วย

ที่ว่านี่ไม่ได้เหมารวมนะคะ ครูดีๆ มีจรรยาบรรณความเป็นครูสูง ขยันหาความรู้เพิ่มเติมก็ยังมี ที่ดิฉันเคารพอยู่ก็หลายท่าน แต่เหลือน้อยเต็มทีแล้ว หลายคนเอาเวลาที่ควรค้นคว้า เพิ่มศักยภาพตัวเองไปสอนพิเศษหมด

ได้แต่หวังว่า รัฐปรับเพิ่มเงินเดือนครูแล้ว จะดึงดูดให้เด็กเก่งๆ สอบเข้าไปเป็นครูตามรร.กันเยอะๆ ไม่แห่ไปเรียนหมอ วิศวะ กันหมด เห็นโพลบางประเทศในอาเซียนเคยสำรวจอาชีพที่เด็กอยากทำ มีครูเป็นอันดับต้นๆ คิดแล้วก็อยากให้เมืองไทยเป็นอย่างนั้นบ้าง

Ark

ไม่ต้องสนใจaecดีเเต่พวกนายทุน

Mr.No

อ้างจาก: creme brulee เมื่อ 04:28 น.  30 พ.ย 55

ปัญหาการศึกษาไทย มันเป็นปัญหากันทั้งระบบ ถ้าจะแก้ก็ต้องแก้พร้อมกันทั้งระบบ ซึ่งมันเป็นเรื่องยาก หลายรัฐบาลก็พยายามแก้ แต่ไม่เข้าใจทำไมเอาแต่ไปแก้ระบบสอบเข้ามหาวิทยาลัย ทั้งๆ ที่ปัญหาจริงๆ มันอยู่ที่การวางรากฐานตั้งแต่ชั้นประถมมากกว่า

ผมชอบบรรทัดข้างต้นครับ...
เห็นด้วยว่า การวางรากฐานที่สำคัญให้เด็กนั้นต้องวางให้มั่นคงตั้งแต่อนุบาลด้วยซ้ำ...

ปัจจุบัน เราวางรากฐานโดยการเน้นให้เด็กมุ่งแต่วิชาการ เพื่อการเข้าสู่การ "แข่งขัน" กันเร็วเกินไป!

และที่สำคัญ...แนวคิดในการเลี้ยงลูกในทศวรรษหลัง ๆ มานี่..เราเลี้ยงลูกผิดกันมาก

เพราะ "รัก" จึง "ให้"  (ในเชิงวัตถุ) มากเกินไป ... ดังนั้นการที่เด็กเกิดมาก็ได้แต่ "รับ" จึงเกิดอาการบ่มหมักของกิเลสไว้ตั้งแต่วัยเยาว์ และตีความหมายของชีวิตไปในทางผิดพลาด

คำว่า "ให้" ที่ผมคิดว่าผุ้ให้ญ่วันนี้ไม่เคยให้เด็กก็คือการ "ให้" ในสิ่งที่จำเป็นสำหรับการเป็นเกราะป้องกันความล้มเหลวให้แก่ลูกเมื่อเติบใหญ่

ผมยกตัวอย่างการ "ให้" ของคนในยุคก่อนเช่น การ "ให้" ที่มิใช่เป็นวัตถุ .... แต่เป็นการซึมซาบและเรียนรู้เท่าทันการเอาตัวรอด

ผมว่า ผู้ใหญ่ที่อ่านกระทู้นี้ หลายคนอาจมีประสบการณ์หลายอย่างในวัยเยาว์โดยเฉพาะการเป็นส่วนหนึ่งของเรียนรู้ร่วมกันในครอบครัว เช่นการ ช่วย "ทำมาหากิน"

บางคน..เดินเร่ขายเรียงเบอร์, บางคนส่งขนมขายร้านกาแฟตอนเช้า...หลายคนใช้เวลาปิดเทอมไปเดินขายไอติมแท่งละสลึง ฯลฯ

ผมยกตัวอย่างเด็กตัวน้อยเดินสะพายกะติกไอติมหนักกว่าสองกิโล ..กับการเรียนรู้ โลกของความเป็นจริง.
เด็ก..เรียนรู้การ รับ.ทอน เงิน ได้ในที่สุด   แม้ในระยะแรกอาจมีบทเรียนให้จดจำสำหรับการทอนเงินผิด

ทุกเท้าย่ำไปบนพื้น..เด็กได้เรียนรู้ความจริงของชีวิตว่า "เงินแต่ละบาทนั้นไม่ได้มาง่ายแบบแบมือขอ" เหมือนเด็กในวัยนี้.

วิชาคหกรรม...เด็กในวัยก่อนเรียนรู้ได้เพราะถูกสอนให้รู้ว่า ถ้าเลี้ยงเป็ดหรือไก่ไว้ ..ย่อมมีไข่ และถ้าเถาตำลึงบนรั้วบ้านมันผ่านฝนฉ่ำแตกงามเมื่อใด เมื่อนั้นสองสิ่งมารวมกันบนกะทะ ก็จะได้ "ผัดไข่ตำลึง" สำหรับมื้อง่าย ๆ แต่มีประโยชน์ โดยไม่ต้องนอนรอ พ่อแม่ หิ้วกล่องอาหารญี่ปุ่นหรูกลับมาฝากลูกแบบวันนี้

วิชาสุขศึกษา+ชีว+สังคมศึกษา..เด็กเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กันเมื่ออยู่พร้อมหน้าเพื่อน ๆ ในยามหน้าแล้งกับกิจกรรมวิดปลา..

การก่อแนวบล๊อกกำแพงโคลนเป็นภูมิปัญญา...การช่วยกันวิดน้ำออกจากหนองน้ำแห้งขอดจนเห็นปลาเป็นดิ้นกระเแด่วแล้วไล่จับกันอย่างสนุกสนาน..แบ่งสรรกันอย่างมิตรภาพ..เรียนรู้ว่าปลาชนิดไหนควรจับอย่างไรที่ไม่ต้องเสี่ยงไปโดนเงี่ยงคม ฯลฯ เหล่านี้คือ การเรียนรู้เพื่อ  "อยู่" ในโลกความจริง แทบทั้งสิ้น

ในอีกสองปีข้างหน้า...จะมีคนต่างวิถี...หลากวัฒนธรรม ไหล่หลั่งเข้ามา และที่สำคัญกว่าที่น่าวิตกก็คือ

ถ้าเราไม่เร่ง "สร้างความมั่นคง" ในความเป็นวิถีไทยที่ดีพอ มัวแต่รอนับตัวเลขที่เป็น GDP หลอก ๆ เพื่อบอกชาวโลกว่า ประเทศเราร่ำรวย สุดท้ายประเทศไทยจะเสีย???  มากกว่าได้ แน่นอน.
..ขอเป็นแค่ "มนุษย์" ที่อาศัยโลกใบนี้สำหรับ เกิด.แก่.เจ็บ.ตาย อย่างนอบน้อมและคารวะ.

Mr.No

อ้างจาก: Ark เมื่อ 10:04 น.  01 ธ.ค 55
ไม่ต้องสนใจaecดีเเต่พวกนายทุน

ส.ยกน้ิวให้  สั้นง่าย แต่ได้ความหมายสะใจดีครับ
..ขอเป็นแค่ "มนุษย์" ที่อาศัยโลกใบนี้สำหรับ เกิด.แก่.เจ็บ.ตาย อย่างนอบน้อมและคารวะ.