ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

ประกันจ่อขึ้นเบี้ยรถยนต์ปี′56 รับมือค่าแรง-อะไหล่พุ่งพรวด

เริ่มโดย ทีมงานประชาสัมพันธ์, 10:30 น. 30 พ.ย 55

ทีมงานประชาสัมพันธ์

updated: 29 พ.ย. 2555 เวลา 10:17:55 น.
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

นายเรืองเดช ดุษฎีสุรพจน์ ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการ บมจ.สินมั่นคงประกันภัย เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ปัจจุบันเริ่มเห็นสัญญาณต้นทุนสินไหมของประกันภัยรถยนต์เริ่มขยับขึ้นแล้วพอสมควร ทำให้อัตราสินไหม (ลอสเรโช) ขยับสูงขึ้นมาเป็น 59% จากเดิม 56% จึงเป็นแรงกดดันที่ธุรกิจน่าจะต้องปรับตัวด้วยการขึ้นเบี้ยประกันภัยรถยนต์ให้สอดคล้องกันไปด้วย อย่างไรก็ตาม สภาพการแข่งขันที่ยังรุนแรงในตลาดประกันรถยนต์เวลานี้ ทำให้อาจเห็นการทยอยปรับขึ้นเบี้ยในต้นปีหน้าเป็นต้นไป

"สิ่งที่เห็นตอนนี้คือต้นทุนค่าแรงในการซ่อมเราต้องปรับเพิ่มไปแล้ว 7-10% ขณะเดียวกัน การขยายตลาดเพิ่มขึ้น ก็จะมีต้นทุนการตั้งสำรองสินไหมเยอะขึ้นด้วย และเมื่อดูข้อมูลการซ่อมโดยเฉลี่ย จะพบว่าความถี่ในการเกิดเหตุไม่สูงขึ้น แต่ความเสียหายรุนแรงขึ้น ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้ต้นทุนสูงขึ้นดังกล่าว"

อย่างไรก็ตาม นายเรืองเดชกล่าวว่า ในทางปฏิบัติแล้ว คงไม่ได้ปรับขึ้นเบี้ยรวดเดียวทั้งหมด แต่จะทยอยปรับตามกลุ่มที่มีอัตราความเสียหายสูง ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างประเมินว่าจะต้องปรับในกลุ่มใดบ้าง และดูสถานการณ์การแข่งขันไปด้วย ถ้ารายใหญ่ยังแข่งอยู่ ก็อาจจะต้องยืนระดับเบี้ยนี้ไปก่อน จะเริ่มปรับตอนต้นปีหน้า

นายจิรวุฒิ บุญศิริ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ไทยพาณิชย์สามัคคีประกันภัย กล่าวว่า ในปีหน้าธุรกิจจะเผชิญกับปัจจัยต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะประกันรถยนต์แบบซ่อมห้าง ที่จะมีผลต่อต้นทุนการซ่อม ทั้งมาตรการค่าแรง 300 บาท/วัน และเงินเดือนปริญญาตรีขั้นต่ำ 15,000 บาท/เดือน ส่งผลให้อัตราต้นทุนสูงขึ้น และตามมาด้วยการปรับราคาเบี้ยให้เหมาะสม ซึ่งเป็นจังหวะที่ธุรกิจต้องเริ่มกลับมาดูงานในพอร์ตตัวเองมากขึ้น และยอมลดการแข่งขันลง เพื่อให้ตลาดได้ปรับตัวตามให้สะท้อนกับความเป็นจริง

ด้านแหล่งข่าวจากบริษัทประกันภัยรายหนึ่งกล่าวว่าต้นทุนการซ่อมขยับสูงขึ้นเช่นกัน แม้จะไม่ได้กระทบจากมาตรการค่าแรง 300 บาทโดยตรง เพราะค่าแรงในอู่ซ่อมรถมักจะสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำอยู่แล้ว แต่จะเจอผลกระทบทางอ้อมมากกว่าในแง่การทำให้อะไหล่รถยนต์ขยับสูงขึ้น จะกระทบให้ต้นทุนการซ่อมต้องเพิ่มขึ้นตาม และจะเห็นการปรับเพิ่มเบี้ยตามมา เฉลี่ย 5-10%

"ปกติแล้วต้นทุนค่าสินไหมจะเป็นเรื่องที่บริษัทประกันภัยติดตามกันตลอด และมักต้องทยอยปรับทุก ๆ 3-6 เดือน ซึ่งสัญญาณตอนนี้ก็ยังเห็นว่า กลุ่มรถยนต์ขนาดเล็ก เครื่องยนต์ไม่เกิน 2,000 ซีซี ยังเป็นกลุ่มที่อัตราความเสียหายสูง และต้องปรับเบี้ยอยู่ตลอด ลักษณะการบริหารพอร์ตงานในเวลานี้ มักจะไม่ได้ยืนราคาเบี้ยอัตราเดิมตลอดทั้งปีอยู่แล้ว"

แหล่งข่าวยังกล่าวอีกว่า กลุ่มที่น่าจะต้องจับตาดูเพิ่มขึ้น คืออีโคคาร์ เพราะต้นทุนจะขยับขึ้นพอสมควร เมื่อเทียบกับค่าเบี้ยซึ่งค่อนข้างต่ำอยู่แล้ว ก็อาจจะเห็นต้นทุนการซ่อมสูงขึ้น และยังเป็นกลุ่มรถที่ค่อนข้างใหม่ในตลาด อยู่ในช่วงเก็บข้อมูล สร้างประสบการณ์ในตลาดอีโคคาร์ ฉะนั้น บริษัทประกันภัยไม่มีข้อมูลสถิติความเสียหายของรถกลุ่มนี้มาก่อน อาจจะคุมสินไหมได้ยาก

นอกจากนี้ บริษัทประกันภัยรายใหญ่ ๆ ยังคงพยายามเร่งเพิ่มยอดขายในจังหวะที่ตลาดสามารถเติบโตได้สูงในปีนี้ เพื่อแย่งส่วนแบ่งตลาดให้มากที่สุด โดยเฉพาะบริษัทที่มีส่วนแบ่งตลาดอันดับ 2 อย่างทิพยประกันภัยประกาศจะแซงขึ้นอันดับ 1 ทำให้เจ้าตลาดอย่างวิริยะประกันภัยก็ต้องเร่งทำตลาด เพื่อพยายามทิ้งห่างให้เพิ่มขึ้น

กำไรอีตาย

เดิมๆก็กำไรอีตายแล้ว เพื่อนไม่ชนก็ได้เบี้ยฟรี เพื่อนชนก็มีสิทธิยกเลิกเค้า มีแต่ได้กับได้

แถวนั้น

ที่ว่าเพื่อนชน นั้น เขาเคลมให้มั้ยละครับ ถ้าไม่เคลมให้ก็ฟ้อง คปภ. ไปเลยครับ แต่ถ้าเขาเคลมให้ แล้วยกเลิกกรมธรรม์ ก็แสดงว่าคงจะเคลมไปหลายตังค์อยู่นะ ไม่นั้นเขาคงไม่ยกเลิก แล้วลองหักกับเบี้ยประกันดูสิครับว่า ใครได้ใครเสีย ประกันมันก็แค่แชร์ความเสี่ยง ถ้าไม่อยากแชร์ก็ไม่ต้องทำ เขาไม่ได้บังคับ แล้วเรื่องการเพิ่มเบี้ยประกันก็รอดูก่อนมั้ยครับ มันคงไม่ขึ้นจนเวอร์ ผมว่านะ