ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

บทความ : เมื่อฉันคิดจะปลูกต้นคุณธรรม-จริยธรรมสักต้นแล……

เริ่มโดย คุณาพร., 01:05 น. 04 ธ.ค 55

คุณาพร.

บทความ  :  เมื่อฉันคิดจะปลูกต้นคุณธรรม-จริยธรรมสักต้นแล......


จะปลูกต้นคุณธรรม-จริยธรรมสักต้นแล  ว่ากันตามแนวทางของท่านพุทธทาส, ท่านประยุทธ์ ประยุตฺโต, กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม, ของลอเรนส์ โคลเบิร์ก และแลการปลูกคุณธรรมจริยธรรมตามแบบฉบับนิทานแดนมังกร......


ปัจจุบันสังคมไทยที่เคยมีวิถีชีวิตแบบพึ่งพาอาศัยเกื้อกูลแบ่งปัน เอื้ออาทรต่อกัน เปลี่ยนเป็นสังคมที่เข้าสู่ระบบการแข่งขัน มีชีวิตที่เร่งรีบขึ้น ทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลายและใช้อย่างสิ้นเปลือง มวลวิถีและวัฒนธรรมอันดีงามถูกละเลย เป็นเหตุให้เกิดปัญหาทางคุณธรรม-จริยธรรมสะสมในทางลบ อันเนื่องมาจากความอยากได้ อยากมี อยากเป็นเหมือนและทัดเทียม จึงพยายามทำทุกสิ่งทุกอย่างทุกรูปแบบเพื่อให้ได้มาในสิ่งที่ตนนั้นปรารถนาต้องการ สังคมไทยที่เปลี่ยนย้ายถ่ายโอนไปสู่ยุคใหม่นี้เองกลายเป็นเงื่อนไขที่ทำให้วิถีชีวิตเดิมต้องแปรเปลี่ยน ปรับย้ายผูกพันอยู่กับความเจริญทางด้านวัตถุ เน้นกระแสวัตถุนิยม เน้นการพัฒนาด้านมิติของคน และการปรับโครงสร้างของระบบต่างๆที่อยู่รายรอบตัวคน  แต่ขาดพัฒนาด้านคุณภาพชีวิตที่ดี ส่งผลให้ต้องประสบกับอุปสรรคปัญหาที่ท้าทายการตัดสินใจอย่างฉับพลัน ขาดการกลั่นกรองและเลือกใช้วัฒนธรรมต่างประเทศอย่างเหมาะสม ก่อให้เกิดปัญหาทางศีลธรรม-ปัญหาสังคมตามมารวมถึงเรื่องต่างๆเพิ่มมากขึ้นในอนาคต ส่งผลให้เกิดความอ่อนแอของสังคมไทยในยุคเน้นวัตถุนิยมดังปรากฏในปัจจุบัน  แนวคิดในเรื่องของการสร้างเสริมปลูกต้นคุณธรรม-จริยธรรมในเด็กและเยาวชนจึงเกิดขึ้นจากท่านผู้รู้หลากหลายสาขา ตามมา มากมาย......



ท่านผู้รู้หลายต่อหลายท่านพยายาม  จุดประกาย  ผลักดัน  ก่อให้ความคิดดังกล่าวเกิดเป็นแนวคิด-ทฤษฏี หวังเพื่อแก้ปัญหา  ทำให้สถานการณ์ต่างๆดีขึ้น  เช่น การพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมตามแบบฉบับของท่านพุทธทาส, ท่านประยุทธ์ ประยุตฺโต, กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม, การพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมของลอเรนส์ โคลเบิร์ก และการสร้างคุณธรรมจริยธรรมตามแนวทางของแบบจีนนิยม  ผู้เขียนจึงขอนำเสนอ  เพื่อใช้เป็นแนวทางในการศึกษาและอ้างอิงรวมกัน  ดังต่อไปนี้
การพัฒนาจริยธรรม-เป้าหมายการพัฒนาที่ถูกต้องตามหลักของพุทธศาสนา ท่านพุทธทาสกล่าวสั้นๆว่า ต้องเอื้อให้เกิดสภาพชีวิตที่ดี กล่าวคือ "มีสันติสุขส่วนบุคคลและมีสันติภาพส่วนสังคม" ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการลดละความเห็นแก่ตัว หรือการมีศีลธรรมของสมาชิกในสังคมเป็นสำคัญ


   สำหรับสังคมไทยท่านพุทธทาสได้กล่าวถึงลักษณะของการพัฒนาที่ไม่พึงปรารถนาไว้โดยสรุปดังนี้ คือ  "ศีลธรรมแฟบ การศึกษาเฟ็ด ประชาธิปไตยเฟ้อ ยุวชนฟุ้ง การปกครองเฟือน การเมืองฟุบสังคมเฟะ เศรษฐกิจฟ่าม ศาสนาฟั่น วัฒนธรรมเฟี้ยว ประเทศชาติฟอนรัฐธรรมนูญฟาง และและความเป็นไทยเฟื้อย" ซึ่งโดยสาระสำคัญคือสิ่งต่างๆเหล่านี้ไม่อำนวยประโยชน์และความสุขเท่าที่เราควรจะได้รับและจะต้องแก้ไขให้ถูกต้องเหมาะสม บนพื้นฐานของธรรมะ


   การพัฒนาที่ถูกต้องเป็นไปเพื่อสภาพชีวิตที่ดี ท่านพุทธทาสอุปมาชีวิตที่สมบูรณ์ จำต้องมีพฤกษาแห่งชีวิต 4 ต้น ได้แก่
   1. กายพฤกษา คือ การพัฒนาร่างกายให้เจริญถูกต้อง ผาสุก ด้วยการเจริญกายภาวนา
   2. จิตตพฤกษา คือ การพัฒนาจิตให้มีสุขภาพ มีสมรรถภาพทำหน้าที่ได้ด้วยการเจริญสมถกรรมฐาน ให้พ้นจากนิวรณ์รบกวนจิตใจ ด้วยการเจริญจิตตภาวนา
   3. โพธิพฤกษา คือ การพัฒนาสติปัญญาให้เห็นสิ่งทั้งปวง คือ โลกและชีวิตตามเป็นจริงด้วยการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ให้พ้นจากอำนาจอวิชชาครอบงำ ด้วยการเจริญภาวนา
   4. เมตเตยยพฤกษา คือ การสร้างมิตรภาพที่มีรากฐานมั่นคงในเพื่อนมนุษย์ มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันในฐานะเพื่อนร่วมทุกข์เกิดแก่เจ็บตายด้วยกัน มีเมตตา อย่างปราศจากความเบียดเบียน และแบ่งฝักแบ่งฝ่ายเป็นศัตรูกัน หากเกื้อกูลกันได้ถูกต้อง ด้วยการเจริญศีลภาวนา ท่านใช้คำว่า "โลกพระศรีอาริย์ก็อยู่แค่ปลายจมูก" ซึ่งใกล้กว่าแค่มือเอื้อม
   การพัฒนาทั้ง 4 ด้านนี้ เหมือนปลูกต้นไม้เพื่อประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์และตนเอง ท่านกำหนดให้ทำให้พร้อมทั้ง 4 ด้าน อย่างบริสุทธิ์สมบูรณ์ คือ ทั้งถูกต้อง และทั้งครบถ้วน (อ้างอิงจาก  :  หนังสือการพัฒนาสังคมในทัศนะของพุทธทาสภิกขุ โดยพระดุษฎี เมธงฺกุโร ฉบับพิมพ์ครั้งแรก มิถุนายน 2532 สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง หน้า 8-9)



ซึ่งรายละเอียดของเรื่องที่ได้กล่าวมาข้างต้นนี้ น่าสนใจศึกษาเทียบเคียงกับความคิดในการ "พัฒนาคนอย่างแท้ ได้ทั้งคุณธรรมและความสุข" ของพระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตตฺโต) อีกทางหนึ่งด้วย ดังนี้
   พัฒนาคนอย่างแท้ ได้ทั้งคุณธรรมและความสุข  :  ตอนแรกมนุษย์ทั่วไปมีความต้องการในการเสพวัตถุ ถือว่าถ้าได้เสพวัตถุก็จะเกิดความพึงพอใจมีความสุขขึ้น ดังจะเห็นว่าหัวใจหรือหลักการพื้นฐานของเศรษฐกิจอยู่ที่การสนองความต้องการ (ในการบริโภค) อันนี้เป็นจุดที่เศรษฐศาสตร์ตัน เพราะไปถือว่าความต้องการของมนุษย์ไม่มีที่สิ้นสุด ไม่ได้มองว่าความต้องการของมนุษย์พัฒนาได้


   เราพัฒนาความต้องการของมนุษย์อย่างไร เมื่อกี้ได้บอกแล้วว่า เมื่อเราสัมพันธ์กับวัตถุ วิถีชีวิตและระบบสังคมจะชักนำตลอดจนหล่อหลอมสภาพจิตใจของเราให้มีท่าทีความรู้สึกต่อวัตถุตามอิทธิพลของมัน ดังนั้นในระบบแข่งขันหาผลประโยชน์ที่มุ่งเสพวัตถุ สภาพจิตของมนุษย์ ตลอดจนระบบการดำเนินชีวิตของคนก็จะเน้นการเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับวัตถุในแง่ที่จะเอา เมื่อกี้พูดไปแล้วว่าพอคนคิดถึงวัตถุในแง่จะได้ สภาพจิตที่เกิดขึ้นคือการมองเพื่อนมนุษย์แบบเป็นคู่แข่งและเป็นเหยื่อ


   ต่อมาพอเราช่วยให้มนุษย์ฝึกตนโดยการเรียนรู้ว่าชีวิตจะมีดุลยภาพ สังคมจะมีดุลยภาพ มนุษย์จะเอาแต่การได้อย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีการให้ด้วย ดังนั้นจะเห็นว่าในพุทธศาสนาหลักการฝึกมนุษย์ข้อแรกคือการให้ พูดอีกอย่างหนึ่งว่าหลักธรรมเบื้องต้นคือ ทาน เพราะอะไร เพราะการที่จะให้มนุษย์มีชีวิตและสังคมที่มีดุลยภาพนั้น เรารู้อยู่แล้วว่าชีวิตมนุษย์นี่ก่อนอะไรอื่นก็ยุ่งกับวัตถุในลักษณะที่จะได้จะเอาจึงต้องให้มีการให้คู่กันไปด้วย


   การให้นั้น ถ้าคิดให้โดยไม่มีแรงจูงใจอื่นมาแฝง เช่น คิดหวังผลตอบแทน เอาแค่คิดจะให้ ได้บอกแล้วว่าพอเราคิดจะให้ จิตของเราจะไปอยู่ที่คน พอจิตของเราไปอยู่ที่คน เราก็มองหน้ามองตาเขา สนใจทุกข์สุขของเขา และสนใจความต้องการของเขา ซึ่งทำให้เราเข้าใจชีวิตของเขา มองเห็นสุขทุกข์ของเขา และเกิดความเห็นอกเห็นใจ มีความสงสารเกิดขึ้น เป็นด้านหนึ่งของความรักเพื่อนมนุษย์ ซึ่งเป็นคุณธรรมที่เรียกว่า "กรุณา" หรือ "การุณย์" นี่ก็คือความต้องการใหม่ได้เกิดขึ้นมาแล้ว คือ ความต้องการให้เขาพ้นจากสภาพที่เป็นทุกข์ และต้องการให้เขาเกิดมีความสุข


   พอเราเกิดความต้องการนี้ขึ้นมา เราก็ตอบสนอง และความต้องการมีเมื่อไหร่ การได้สนองก็ทำให้เกิดความสุขเมื่อนั้น พอเราต้องการให้เพื่อนมนุษย์มีความสุข เราก็ต้องการทำให้เขามีความสุขการให้เป็นการทำให้เขามีความสุข เราจึงต้องการจะให้ เพราะการให้แก่เขา เป็นการทำให้เขามีความสุข ดังนั้น เมื่อเราให้แก่เขา เราก็ได้สนองความต้องการของเราและเราก็เกิดความสุข
   แต่ก่อนนี้ความสุขจากการได้อย่างเดียว แต่ตอนนี้คนมีความสุขจากการให้ด้วย ด้วยการพัฒนามนุษย์ปั๊บเดียว มนุษย์นั้นก็เปลี่ยนแปลงไปโดยมีความสุขเพิ่มขึ้นและมีคุณธรรมเพิ่มขึ้นด้วย เพียงแต่ให้รู้จักตั้งจิตและรู้จักคิดจะให้เสียบ้าง พอคิดจะให้ปั๊บ พฤติกรรมก็มาหนุน และคุณธรรมก็พัฒนาขึ้นมา เมตตากรุณาอันเป็นความรักต่อเพื่อนมนุษย์ก็เกิดขึ้น เป็นอันว่าความสุขอย่างใหม่ก็เกิดขึ้น คือมนุษย์มีความสุขในการให้ แต่ก่อนนี้มนุษย์มีความสุขอย่างเดียวจากการได้ แต่ตอนนี้มีความสุขจากการให้ด้วย
   จะเห็นได้ว่ามนุษย์นั้นมีศักยภาพในทางดีนี้อยู่แล้ว เช่น พ่อแม่ก็สามารถมีความสุขจากการให้ เพราะมีความต้องการให้ลูกมีความสุข และเมื่อพ่อแม่สนองความต้องการนั้นก็ทำให้ตนเองมีความสุขด้วยและเราจะมีความสุขจากการสนองความต้องการอย่างใด เราก็ต้องพัฒนาความต้องการนั้นขึ้นมา (อ้างอิงจาก  :  หนังสือพุทธธรรมกับปรัชญาการศึกษาไทยในยุคโลกาภิวัตน์  โดยพระธรรมปิฎก / ป. อ. ปยฺตฺโต พิมพ์ครั้งแรก มิถุนายน 2539  คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ หน้า 71-73)



การพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์และเสริมสร้างคุณธรรมในแนวทางของกรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม  :  กิจกรรมพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์และเสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรม ( E.Q.-M.Q.) จึงให้ความสำคัญการฝึกทักษะชีวิตให้แก่เยาวชน เพื่อให้เยาวชนตระหนักและรู้คุณค่าของตนเอง ตลอดจนการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างเป็นสุข โดยกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุขได้พัฒนาแนวคิดเรื่องความฉลาดทางอารมณ์ ซึ่งมีปัจจัยสำคัญ 3 ประการ คือ
   (1) ความดี หมายถึง ความสามารถในการควบคุมอารมณ์และความต้องการของตนเอง รู้จักเห็นใจ เข้าใจ ยอมรับผู้อื่น รู้จักการเป็นผู้ให้ผู้รับ การให้อภัย การรับผิดชอบต่อส่วนรวม
   (2) ความเก่ง หมายถึง ความสามารถในการรู้จักตนเอง มีแรงจูงใจ สามารถตัดสินใจและแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งมีสัมพันธภาพที่ดีกับผู้อื่น
   (3) ความสุข หมายถึง ความฉลาดในการดำเนินชีวิตอย่างเป็นสุข มีความภูมิใจและพึงพอใจในตนเอง ความฉลาดทางอารมณ์ = เข้าใจตนเอง + เข้าใจผู้อื่น + แก้ไขปัญหาได้ถูกต้อง (อ้างอิงจาก  :  หนังสือจริยธรรมสำหรับเด็กและเยาวชน โดยกรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 3 ปี พ.ศ.2553 โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด หน้า 5-6)




ทฤษฎีพัฒนาการทางจริยธรรมของโคลเบิร์ก (Kohlberg)
โคลเบิร์ก (Lawrence  Kohlberg) ได้ศึกษาวิจัยพัฒนาการทางจริยธรรมตามแนวทฤษฎีของพีอาเจต์แต่โคลเบิรก์ได้ปรับปรุงวิธีวิจัยการวิเคราะห์ผลรวมและได้วิจัยอย่างกว้างขวางในประเทศอื่นที่มีวัฒนธรรมต่างไป วิธีการวิจัย จะสร้างสถานการณ์สมมติปัญหาทางจริยธรรมที่ผู้ตอบยากที่จะตัดสินใจได้ว่า "ถูก" "ผิด" "ควรทำ" "ไม่ควรทำ" อย่างเด็ดขาด  เพราะขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลายอย่าง  การตอบจะขึ้นกับวัยของผู้ตอบเกี่ยวกับความเห็นใจในบทบาทของผู้แสดงพฤติกรรมในเรื่องค่านิยม  ความสำนึกในหน้าที่ในฐานะเป็นสมาชิกของสังคม ความยุติธรรมหรือหลักการที่ตนยึดถือ  โคลเบิร์ก  ให้คำจำกัดความของจริยธรรมว่า จริยธรรมเป็นความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับความถูกผิด และเกิดขึ้นจากขบวนการทางความคิดอย่างมีเหตุผล  ซึ่งต้องอาศัยวุฒิภาวะทางปัญญา 
               โคลเบิร์ก เชื่อว่าพัฒนาการทางจริยธรรมเป็นผลจากการพัฒนาการของโครงสร้างทางความคิดความเข้าใจเกี่ยวกับจริยธรรม  นอกจากนั้น โคลเบิร์ก  ยังพบว่า  ส่วนมากการพัฒนาทางจริยธรรมของเด็กจะไม่ถึงขั้นสูงสุดในอายุ 10 ปี แต่จะมีการพัฒนาขึ้นอีกหลายขั้นจากอายุ 11-25 ปี  การใช้เหตุผลเพื่อการตัดสินใจที่จะเลือกกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง จะแสดงให้เห็นถึงความเจริญของจิตใจของบุคคล  การใช้เหตุผลเชิงจริยธรรม  ไม่ได้ขึ้นอยู่กับกฎเกณฑ์ของสังคมใดสังคมหนึ่งโดยเฉพาะ  แต่เป็นการใช้เหตุผลที่ลึกซึ้งยากแก่การเข้าใจยิ่งขึ้นตามลำดับของวุฒิภาวะทางปัญญา
       โคลเบิร์ก ได้ศึกษาการใช้เหตุผลเชิงจริยธรรมของเยาวชนอเมริกัน อายุ 10 -16 ปี และได้แบ่งพัฒนาการทางจริยธรรมออกเป็น 3 ระดับ (Levels) แต่ละระดับแบ่งออกเป็น 2 ขั้น (Stages) ดังนั้น พัฒนาการทางจริยธรรมของโคลเบิร์กมีทั้งหมด 6 ขั้น คำอธิบายของระดับและขั้นต่างๆ ของพัฒนาการทางจริยธรรมของโคลเบิร์ก มีดังต่อไปนี้
ระดับที่ 1 ระดับก่อนมีจริยธรรมหรือระดับก่อนกฎเกณฑ์สังคม (Pre - Conventional Level) ระดับนี้เด็กจะรับกฎเกณฑ์และข้อกำหนดของพฤติกรรมที่ "ดี"  "ไม่ดี" จากผู้มีอำนาจเหนือตน เช่น บิดามารดา ครูหรือเด็กโต และมักจะคิดถึงผลตามที่จะนำรางวัลหรือการลงโทษ
        พฤติกรรม "ดี"  คือ  พฤติกรรมที่แสดงแล้วได้รางวัล
        พฤติกรรม "ไม่ดี"  คือ พฤติกรรมที่แสดงแล้วได้รับโทษ
โดยบุคคลจะตอบสนองต่อกฎเกณฑ์ซึ่งผู้มีอำนาจทางกายเหนือตนเองกำหนดขึ้น  จะตัดสินใจเลือกแสดงพฤติกรรมที่เป็นหลักต่อตนเอง  โดยไม่คำนึงถึงผู้อื่น  จะพบในเด็ก 2-10 ปี  โคลเบิร์กแบ่งพัฒนาการทางจริยธรรม ระดับนี้เป็น 2 ขั้น คือ
ขั้นที่ 1 การถูกลงโทษและการเชื่อฟัง (Punishment and Obedience Orientation)  เด็กจะยอมทำตามคำสั่งผู้มีอำนาจเหนือตนโดยไม่มีเงื่อนไขเพื่อไม่ให้ตนถูกลงโทษ ขั้นนี้แสดงพฤติกรรมเพื่อหลบหลีกการถูกลงโทษ เพราะกลัวความเจ็บปวด  ยอมทำตามผู้ใหญ่เพราะมีอำนาจทางกายเหนือตน
       โคลเบิร์ก อธิบายว่า ในขั้นนี้เด็กจะใช้ผลตามของพฤติกรรมเป็นเครื่องชี้ว่า  พฤติกรรมของตน "ถูก" หรือ "ผิด" เป็นต้นว่า  ถ้าเด็กถูกทำโทษก็จะคิดว่าสิ่งที่ตนทำ  "ผิด"  และจะพยายามหลีกเลี่ยงไม่ทำสิ่งนั้นอีก  พฤติกรรมใดที่มีผลตามด้วยรางวัลหรือคำชม เด็กก็จะคิดว่าสิ่งที่ตนทำ "ถูก"  และจะทำซ้ำอีกเพื่อหวังรางวัล
              ขั้นที่ 2 กฎเกณฑ์เป็นเครื่องมือเพื่อประโยชน์ของตน  (Instrumental Relativist Orientation) ใช้หลักการแสวงหารางวัลและการแลกเปลี่ยน  บุคคลจะเลือกทำตามความพอใจตนของตนเอง  โดยให้ความสำคัญของการได้รับรางวัลตอบแทน  ทั้งรางวัลที่เป็นวัตถุหรือการตอบแทนทางกาย วาจา และใจ  โดยไม่คำนึงถึงความถูกต้องของสังคม ขั้นนี้แสดงพฤติกรรมเพื่อต้องการผลประโยชน์สิ่งตอบแทน  รางวัล และสิ่งแลกเปลี่ยน  เป็นสิ่งตอบแทน
       โคลเบิร์ก อธิบายว่า  ในขั้นนี้เด็กจะสนใจทำตามกฎข้อบังคับ  เพื่อประโยชน์หรือความพอใจของตนเอง หรือทำดีเพราอยากได้ของตอบแทน หรือรางวัล ไม่ได้คิดถึงความยุติธรรมและความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น  หรือความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อผู้อื่น  พฤติกรรมของเด็กในขั้นนี้ทำเพื่อสนองความต้องการของตนเอง  แต่มักจะเป็นการแลกเปลี่ยนกับคนอื่น เช่น ประโยค "ถ้าเธอทำให้ฉัน  ฉันจะให้......."
              ระดับที่ 2 ระดับจริยธรรมตามกฎเกณฑ์สังคม (Conventional Level)  พัฒนาการจริยธรรมระดับนี้  ผู้ทำถือว่าการประพฤติตนตามความคาดหวังของผู้ปกครอง บิดามารดา กลุ่มที่ตนเป็นสมาชิกหรือของชาติ เป็นสิ่งที่ควรจะทำหรือทำความผิด เพราะกลัวว่าตนจะไม่เป็นที่ยอมรับของผู้อื่น  ผู้แสดงพฤติกรรมจะไม่คำนึงถึงผลตามที่จะเกิดขึ้นแก่ตนเอง  ถือว่าความซื่อสัตย์ ความจงรักภักดีเป็นสิ่งสำคัญ  ทุกคนมีหน้าที่จะรักษามาตรฐานทางจริยธรรม
             โดยบุคคลจะปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของสังคมที่ตนเองอยู่  ตามความคาดหวังของครอบครัวและสังคม  โดยไม่คำนึงถึงผลที่จะเกิดขึ้นขณะนั้นหรือภายหลังก็ตาม  จะปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของสังคมโดยคำนึงถึงจิตใจของผู้อื่น  จะพบในวัยรุ่นอายุ 10 -16 ปี โคลเบิร์กแบ่งพัฒนาการทางจริยธรรม ระดับนี้เป็น 2 ขั้น คือ
              ขั้นที่ 3 ความคาดหวังและการยอมรับในสังคม สำหรับ "เด็กดี" (Interpersonal  Concordance of "Good boy , nice girl" Orientation) บุคคลจะใช้หลักทำตามที่ผู้อื่นเห็นชอบ  ใช้เหตุผลเลือกทำในสิ่งที่กลุ่มยอมรับโดยเฉพาะเพื่อน เพื่อเป็นที่ชื่นชอบและยอมรับของเพื่อน  ไม่เป็นตัวของตัวเอง  คล้อยตามการชักจูงของผู้อื่น  เพื่อต้องการรักษาสัมพันธภาพที่ดี  พบในวัยรุ่นอายุ 10 -15 ปี ขั้นนี้แสดงพฤติกรรมเพื่อต้องการเป็นที่ยอมรับของหมู่คณะ การช่วยเหลือผู้อื่นเพื่อทำให้เขาพอใจ  และยกย่องชมเชย ทำให้บุคคลไม่มีความเป็นตัวของตัวเอง  ชอบคล้อยตามการชักจูงของผู้อื่น  โดยเฉพาะกลุ่มเพื่อน
       โคลเบิร์ก อธิบายว่า  พัฒนาการทางจริยธรรมขั้นนี้เป็นพฤติกรรมของ "คนดี" ตามมาตรฐานหรือความคาดหวังของบิดา มารดาหรือเพื่อนวัยเดียวกัน พฤติกรรม "ดี" หมายถึง  พฤติกรรมที่จะทำให้ผู้อื่นชอบและยอมรับ  หรือไม่ประพฤติผิดเพราะเกรงว่าพ่อแม่จะเสียใจ
               ขั้นที่ 4 กฎและระเบียบ ("Law-and-order" Orientation) จะใช้หลักทำตามหน้าที่ของสังคม โดยปฏิบัติตามระเบียบของสังคมอย่างเคร่งครัด  เรียนรู้การเป็นหน่วยหนึ่งของสังคม  ปฏิบัติตามหน้าที่ของสังคมเพื่อดำรงไว้ซึ่งกฎเกณฑ์ในสังคม พบในอายุ 13 -16 ปี ขั้นนี้แสดงพฤติกรรมเพื่อทำตามหน้าที่ของสังคม  โดยบุคคลรู้ถึงบทบาทและหน้าที่ของเขาในฐานะเป็นหน่วยหนึ่งของสังคมนั้น  จึงมีหน้าที่ทำตามกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่สังคมกำหนดให้ หรือคาดหมายไว้
       โคลเบิร์ก อธิบายว่า  เหตุผลทางจริยธรรมในขั้นนี้ ถือว่าสังคมจะอยู่ด้วยความมีระเบียบเรียบร้อยต้องมีกฎหมายและข้อบังคับ  คนดีหรือคนที่มีพฤติกรรมถูกต้องคือ  คนที่ปฏิบัติตามระเบียบบังคับหรือกฎหมาย  ทุกคนควรเคารพกฎหมาย เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยและความเป็นระเบียบของสังคม
               ระดับที่ 3 ระดับจริยธรรมตามหลักการด้วยวิจารณญาณ หรือระดับเหนือกฎเกณฑ์สังคม  (Post - Conventional Level)  พัฒนาการทางจริยธรรมระดับนี้  เป็นหลักจริยธรรมของผู้มีอายุ 20 ปี ขึ้นไป  ผู้ทำหรือผู้แสดงพฤติกรรมได้พยายามที่จะตีความหมายของหลักการและมาตรฐานทางจริยธรรมด้วยวิจารณญาณ  ก่อนที่จะยึดถือเป็นหลักของความประพฤติที่จะปฏิบัติตาม  การตัดสินใจ   "ถูก"  "ผิด" "ไม่ควร" มาจากวิจารณญาณของตนเอง  ปราศจากอิทธิพลของผู้มีอำนาจหรือกลุ่มที่ตนเป็นสมาชิก กฎเกณฑ์ – กฎหมาย  ควรจะตั้งบนหลักความยุติธรรม  และเป็นที่ยอมรับของสมาชิกของสังคมที่ตนเป็นสมาชิก  ทำให้บุคคลตัดสินข้อขัดแย้งของตนเองโดยใช้ความคิดไตร่ตรองอาศัยค่านิยมที่ตนเชื่อและยึดถือเป็นเครื่องช่วยในการตัดสินใจ  จะปฏิบัติตามสิ่งที่สำคัญมากกว่าโดยมีกฎเกณฑ์ของตนเอง  ซึ่งพัฒนามาจากกฎเกณฑ์ของสังคม  เป็นจริยธรรมที่เป็นที่ยอมรับทั่วไป  โคลเบิร์กแบ่งพัฒนาการทางจริยธรรม ระดับนี้เป็น 2 ขั้น คือ
ขั้นที่ 5  สัญญาสังคมหรือหลักการทำตามคำมั่นสัญญา (Social Contract Orientation)  บุคคลจะมีเหตุผลในการเลือกกระทำโดยคำนึงถึงประโยชน์ของคนหมู่มาก  ไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น  สามารถควบคุมตนเองได้  เคารพการตัดสินใจที่จะกระทำด้วยตนเอง  ไม่ถูกควบคุมจากบุคคลอื่น  มีพฤติกรรมที่ถูกต้องตามค่านิยมของตนและมาตรฐานของสังคม  ถือว่ากฎเกณฑ์ต่างๆเปลี่ยนแปลงได้  โดยพิจารณาประโยชน์ของส่วนรวมเป็นหลัก  พบได้ในวัยรุ่นตอนปลายและวัยผู้ใหญ่  ขั้นนี้แสดงพฤติกรรมเพื่อทำตามมาตรฐานของสังคม เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน โดยบุคคลเห็นความสำคัญของคนหมู่มากจึงไม่ทำตนให้ขัดต่อสิทธิอันพึงมีได้ของผู้อื่น  สามารถควบคุมบังคับใจตนเองได้  พฤติกรรมที่ถูกต้องจะต้องเป็นไปตามค่านิยมส่วนตัว  ผสมผสานกับมาตรฐานซึ่งได้รับการตรวจสอบและยอมรับจากสังคม 
              โคลเบิร์ก อธิบายว่า  ขั้นนี้เน้นถึงความสำคัญของมาตรฐานทางจริยธรรมที่ทุกคนหรือคนส่วนใหญ่ในสังคมยอมรับว่าเป็นสิ่งที่ถูกสมควรที่จะปฏิบัติตาม  โดยพิจารณาถึงประโยชน์และสิทธิของบุคคลก่อนที่จะใช้เป็นมาตรฐานทางจริยธรรม  ได้ใช้ความคิดและเหตุผลเปรียบเทียบว่าสิ่งไหนผิดและสิ่งไหนถูก ในขั้นนี้การ "ถูก" และ  "ผิด" ขึ้นอยู่กับค่านิยมและความคิดเห็นของบุคคลแต่ละบุคคล  แม้ว่าจะเห็นความสำคัญของสัญญาหรือข้อตกลงระหว่างบุคคล  แต่เปิดให้มีการแก้ไข  โดยคำนึงถึงประโยชน์และสถานการณ์แวดล้อมในขณะนั้น
                  ขั้นที่ 6 หลักการคุณธรรมสากล  (Universal Ethical Principle Orientation) เป็นขั้นที่เลือกตัดสินใจที่จะกระทำโดยยอมรับความคิดที่เป็นสากลของผู้เจริญแล้ว  ขั้นนี้แสดงพฤติกรรมเพื่อทำตามหลักการคุณธรรมสากล โดยคำนึงความถูกต้องยุติธรรมยอมรับในคุณค่าของความเป็นมนุษย์  มีอุดมคติและคุณธรรมประจำใจ  มีความยืดหยุ่นและยึดหลักจริยธรรมของตนอย่างมีสติ  ด้วยความยุติธรรม และคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน  เคารพในความเป็นมนุษย์ของแต่ละบุคคล  ละอายและเกรงกลัวต่อบาป  พบในวัยผู้ใหญ่ที่มีความเจริญทางสติปัญญา
                  โคลเบิร์ก อธิบายว่า  ขั้นนี้เป็นหลักการมาตรฐานจริยธรรมสากล  เป็นหลักการเพื่อมนุษยธรรม  เพื่อความเสมอภาคในสิทธิมนุษยชนและเพื่อความยุติธรรมของมนุษย์ทุกคน  ในขั้นนี้สิ่งที่ "ถูก" และ  "ผิด"  เป็นสิ่งที่ขึ้นมโนธรรมของแต่ละบุคคลที่เลือกยึดถือ (แพรภัทร ยอดแก้ว, 2551, สุรางค์ โค้วตระกูล, 2548)
มองระบบคุณธรรม-จริยธรรมแดนมังกร จากนิทานเรื่องรักษาคำมั่นสัญญา  :  แต่ก่อนนานมาแล้วยังมีครอบครัวๆหนึ่ง อยู่ด้วยกันสองคนแม่ลูก แม่เฒ่าผู้นี้สอนลูกเก่งมาก แม่เฒ่าปักใจว่าจะต้องสอนสั่งอบรมลูกให้เติบใหญ่เป็นพลเมืองดีมีความสามารถ ดังนั้น แม่เฒ่าจึงสนใจพฤติกรรมของตนเองเป็นพิเศษ เพื่อเป็นตัวอย่างอันดีแก่ผู้เป็นบุตร แม่เฒ่าสอนลูกเสมอว่าต้องเป็นคนสัตย์ซื่อคุณธรรม ปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยมารยาทอันดี
ครั้งหนึ่ง ผู้เป็นลูกได้ยินเสียงหมูถูกเชือดร้องลั่นมาจากท้ายบ้าน จึงถามผู้เป็นแม่ว่า
"แม่ครับ เขาฆ่าหมูทำไม"
ผู้เป็นแม่กำลังยุ่งอยู่กับการทำงาน รู้สึกรำคาญลูกที่มาถามกวนใจ จึงตอบเรื่อยเปื่อยไปว่า "เขาฆ่าหมูให้เจ้ากินนะซี"
พอคำพูดหลุดออกมาจากปาก แม่เฒ่าก็รู้ตัวว่าตนเองพลั้งปากเสียแล้ว ตนกำลังโกหกลูก นางรู้สึกเสียใจมาก เฝ้าครุ่นคิดในใจว่า "นับตั้งแต่ตั้งครรภ์เป็นต้นมา ข้าเฝ้าหวังแต่ว่าจะสามารถมีลูกที่ดีพร้อมทั้งจริยธรรมและคุณธรรม เวลานี้ลูกโตขึ้นแล้ว พอรู้ความบ้างแล้ว ทำไมข้าจึงพูดโกหกเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีแก่เขาเช่นนี้ ความคิดและการกระทำทุกอย่างของลูกล้วนแต่เลียนแบบพ่อแม่ทั้งนั้น เวลานี้ข้ากำลังสอนให้เขาโกหก..."
เย็นวันนั้น เมื่อลูกกลับจากโรงเรียน ก็ตรงเข้ามาถามผู้เป็นแม่ว่า "แม่ครับ หมูมันหยุดร้องแล้ว แสดงว่ามันถูกเชือดเรียบร้อย เนื้อของมันกินได้หรือยังครับ..."
"กินได้แล้วจ้ะ"
บุตรชายดีใจมาก กระโดดโลดเต้นพลางร้องว่า "วันนี้ได้กินเนื้อหมูแล้ว  วันนี้ได้กินเนื้อหมูแล้ว"
สมัยนั้นข้าวปลาอาหารมิได้อุดมสมบูรณ์ดังเช่นปัจจุบัน มื้อไหนมีเนื้อมีปลา นับว่าวิเศษที่สุด ส่วนใหญ่จะได้ทานอาหารที่มีเนื้อก็แต่ในเทศกาลใหญ่ๆเท่านั้นเอง
ผู้เป็นแม่พูดเช่นนี้แล้ว จึงเดินไปซื้อเนื้อหมูจากเพื่อนบ้านมาชิ้นหนึ่ง ทำให้ลูกกินเพื่อแสดงให้ลูกรู้ว่าตนมิได้โกหก
แม่เฒ่าผู้นี้สอนลูกด้วยการประพฤติตนเป็นแบบอย่างอันดีงามแก่ลูก ควบคู่กับการอบรมบ่มสอนทางวาจา นางสนใจคำพูดและการกระทำของตัวเองมาก สิ่งใดที่พูดออกมาแล้วก็ต้องทำให้ได้ วิธีการสอนลูกเช่นนี้ ทำให้ลูกของนางเติบใหญ่เป็นคนดีสมใจนึกทุกประการ (อ้างอิงจาก  :  หนังสือมังกรสอนลูก  แปลโดยรัถยา สารธรรม พิมพ์ครั้งที่ 6 สิงหาคม 2540 สำนักพิมพ์ธรรมชาติ  หน้า 59-60)

   การพัฒนาคุณธรรม-จริยธรรม การพัฒนามนุษย์ ล้วนเกิดขึ้นเพื่อปรับให้บุคคลนั้นๆมีพื้นฐานทางจิตใจและการแสดงออกที่ดีขึ้น เมื่อการพัฒนาจริยธรรมถูกปลูก-ฝังรากลึกสู่เด็กและเยาวชน เราเชื่อมั่นลึกๆว่า เด็กในวันนี้จะเป็นผู้ใหญ่ในวันหน้า เมื่อเด็กมีคุณธรรมจริยธรรมดี ย่อมเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในวันข้างหน้าด้วย ต้นคุณธรรม-จริยธรรมจะสามารถเติบใหญ่แตกกิ่งก้านสาขา ออกดอกงอกผลดังสมประสงค์ของผู้ผลักดันหรือไม่ คนที่สมควรจะตอบโจทย์ข้อนี้....สมควรเป็นใครกันนะ  ใช่พวกเราทุกคนหรือเปล่า? 

เขียน / รวบรวมเรียบเรียง  :  อ.คุณาพร ไชยโรจน์
วันจันทร์ที่ 3 ธันวาคม 2555



เสริมนิด...เกี่ยวกับเรื่องการพัฒนาคุณธรรม-จริยธรรมในประเทศนิวซีแลนด์
ผู้เขียนเคยไปเรียนคอร์สระยะสั้นที่ประเทศแห่งนี้  และแลเห็นถึงผลของการพัฒนาคุณธรรม-จริยธรรมที่ประสบผลสำเร็จเป็นรูปธรรม ดังนี้

ถังขยะของคนนิวซีแลนด์  ปกติจะเก็บไว้ในบ้าน-ในสวน  แต่ทุกเช้า  จะมีรถเก็บขยะมาเก็บ  ปรากฏว่าทุกบ้านมีความพร้อมเพรียงเป็นอย่างยิ่ง  ถังขยะมาตั้งอยู่หน้าบ้านเป็นระเบียบสวยงาม  พอรถเก็บขยะมาเก็บเสร็จ  ช่วงเย็น-เลิกงาน  ถังขยะก็ถูกเก็บเข้าบ้านเป็นระเบียบ  เป็นแบบนี้ทุกเช้าจริงๆ


โดยทุกวันพฤหัสบดี  การวางถังขยะ  ทุกบ้านจะแยกขยะที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้  ทำการแยกต่างหากจากขยะทั่วไป  เป็นแบบนี้ทุกบ้านเลยจริงๆ  กติกาเป็นกติกา  ระเบียบวินัยดีเลิศครับ  อีกนิดดด...สังเกตนะครับว่าถนนหนทางที่นี่สะอาดมากๆ  ผมเคยเห็นขยะตกลงมาจากถัง  ลมพัดไปกลางถนน  ปรากฏว่ามีเด็กวัยรุ่นคนหนึ่งวิ่งไปเก็บขยะนำมาทิ้งลงถัง  ถามดูเด็กบอกกลับมาว่า  "บ้านเมืองนี้เป็นของเราทุกคน เราต้องช่วยกันดูแล  บ้านเมืองสะอาด  เราก็มีเมืองที่สะอาด  เราทุกคนมีความสุขที่ได้ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองที่สะอาด"  (ตบมือให้ครับ  แปะ แปะ ^__^   )




ที่นี่  สอนให้คนบริโภคของที่มีประโยชน์ครับ  น้ำโค้กขวดทางซ้ายมือน่ะราคาประมาณ 60 บาทไทยครับ  ส่วนน้ำเปล่าขวดเล็กๆทางขวาราคาขวดละ 95 บาท  ถามเพื่อนดูเขาเล่าให้ฟังว่า  น้ำเปล่ามีคุณค่ามากกว่าโค้กเลยราคาสูงกว่าครับ (เรื่องจริง)


อันนี้แบบว่าอึ้งพอสมควรเลยครับ  เป็นห้องครัวในมหาวิทยาลัยเมสซี่(เมืองพาร์เมอร์ตัน นอร์ท) เจ้าหน้าที่มหาลัยเอาขนมมาวางขายไว้ครับ ชิ้นละ 1.50 ดอลลาร์กีวี่  คิดเป็นเงินไทยก็ประมาณชิ้นละ 36 บาท  คือวางขนมไว้เฉยๆ  ใครอยากทานก็แค่หยิบออกมาแล้วจ่ายตังค์ในกระปุกเหล็กข้างๆ ซึ่งในกระปุกเหล็กข้างๆนี้เองมีเงินทอนใส่ไว้ด้วยครับ  กติกา+คุณธรรมจริยธรรม เลยครับเรื่องนี้



สุดท้ายถนนของคนนิวซีแลนด์...ถ้าเป็นทางม้าลาย  คุณแค่เดินไปหยุดอยู่ที่ทางม้าลาย  รถทุกคันพร้อมที่จะหยุดให้คุณข้างครับ  ไม่ว่าจะเป็น 18 ล้อ  รถยนต์ส่วนบุคคล  ไปจนถึงรถหรูราคาแพงๆ....กติกาของที่นี่  ทางม้าลาย คนต้องได้ข้ามถนนอย่างปลอดภัยครับ(กฎหมายเอาผิดกับคนขับรถของที่นี่ แรงงงง มากๆครับ)
อนึ่ง ทางม้าลาย  ถ้าเป็นบ้านเรา...วัดดวงกันนะครับ  ^___^"


ส.อ่านหลังสือ











****** บทความพิเศษ : เปิดกรุหนังต้องห้าม (Prohibited Films) *******
http://www.siamsouth.com/smf/index.php?topic=19768.0

เว็บบอร์ดส่วนตัว  :  ห้องคุยกับคุณาพร
http://www.siamsouth.com/smf/index.php?board=11.0

Mr.No

 ส.ยกน้ิวให้ ยอดเยี่ยมครับ...

เนื้อหาค่อนข้างเยอะหน่อย..แต่ถ้าค่อย ๆ อ่าน ทำความเข้าใจไป ถือว่า ดีมากเลยครับ.
..ขอเป็นแค่ "มนุษย์" ที่อาศัยโลกใบนี้สำหรับ เกิด.แก่.เจ็บ.ตาย อย่างนอบน้อมและคารวะ.