ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

ค้าปลีกปี 55 เดือดทุกโมเดล "เซเว่น" เพิ่มงบฯ สู้ศึก

เริ่มโดย ทีมงานประชาสัมพันธ์, 09:35 น. 11 ธ.ค 55

ทีมงานประชาสัมพันธ์

updated: 06 ธ.ค. 2555 เวลา 18:37:31 น.
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

ความเปลี่ยนแปลงของตลาดค้าปลีกมูลค่า 1.4 ล้านล้านบาทในปีนี้ ถือว่าตื่นเต้นและดุเดือด

ไม่เพียงสร้างความสั่นสะเทือนให้กับแวดวงค้าปลีก แต่ยังรวมไปถึง "ซัพพลายเออร์" ที่ต้องปรับตัวขนานใหญ่ จากเงื่อนไขการค้าขายที่เปลี่ยนไป และอำนาจการต่อรองที่สูงขึ้นของบรรดาค้าปลีก ที่ในปีนี้มีการควบรวมกิจการกันเป็นจำนวนมาก


ภายใต้งานสัมมนา "ทิศทางธุรกิจค้าปลีกไทย ปี 2556" ที่จัดขึ้นโดยบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 3 ธันวาคมที่ผ่านมา ได้ฉายภาพให้เห็นถึงทิศทางธุรกิจในปีหน้าไว้อย่างน่าสนใจ

"สุวิทย์ กิ่งแก้ว" นายกสมาคมพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกทุนไทย ชี้ว่า ธุรกิจค้าปลีกในปี 2556 น่าจะมีแนวโน้มที่ดีกว่าปีนี้ โดยมีปัจจัยมาจากราคาพืชผลเกษตรกรที่ปรับตัวดีขึ้น และการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศเป็น 300 บาท จะส่งผลให้คนมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น ซึ่งถือเป็นการเติบโตที่ดีต่อเนื่องจากปีนี้ และคาดว่าจะมีโมเมนตัมไปถึงปีหน้า สิ่งที่น่ากังวลคือเรื่องภัยธรรมชาติ

ขณะที่การเปิดเออีซีจะทำให้ฐานลูกค้าขยายใหญ่ขึ้นจากประชากร 65 ล้านคน กลายเป็น 611 ล้านคน และทำให้การค้าในภูมิภาคมีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยมีปัจจัยคือเส้นทางคมนาคมระหว่างไทย-จีนที่มีการพัฒนา ซึ่งทำให้คนจีนหันมาจับจ่ายสินค้าของไทยมากยิ่งขึ้น

ส่วนการแข่งขันในธุรกิจค้าปลีก โดยเฉพาะค้าปลีกขนาดเล็กมีการขยายตัวมาก เพราะเป็นเซ็กเมนต์ที่ใช้เงินลงทุนน้อยที่สุด ผู้บริโภคให้การตอบรับสูง จึงเป็นที่ดึงดูดให้ค้าปลีกค่ายอื่น ๆ สนใจเข้ามาลงทุน ล่าสุดคือ "ลอว์สัน" ของเครือสหพัฒน์ ซึ่งจะส่งผลให้ค้าปลีกขนาดเล็กมีการแข่งขันที่รุนแรงในปีหน้า โดยเติบโตถึง 15% มากกว่าภาพรวมค้าปลีกที่น่าจะเติบโตอย่างต่ำ 7-8%

คาดว่าตลอดปีหน้า "คอนวีเนี่ยนสโตร์" จะมีสาขาที่เปิดใหม่ประมาณ 1,000 แห่งทั่วประเทศ จากปกติมีการขยายต่อปี 700-800 สาขา

ด้าน "ดร.ฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสมาคมผู้ค้าปลีกไทย มองว่า ธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่งในช่วง 18 ปีที่ผ่านมามีการเติบโต 3 เท่า ส่วนหนึ่งเพราะโมเดิร์นเทรดเข้ามากระตุ้นตลาด ดังนั้น อุตสาหกรรมนี้ยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก และทิศทางของรัฐบาลจะเห็นว่าหันมากระตุ้นให้เกิดการบริโภคภายในประเทศสูงขึ้น ยกตัวอย่าง นโยบายรถคันแรก บ้านหลังแรก ส่งผลให้รีเทลเซอร์วิสเติบโตขึ้นด้วย

สำหรับแนวโน้มของซูเปอร์มาร์เก็ตและคอนวีเนี่ยนสโตร์จะเพิ่มขึ้นในเขตเมือง เพราะสามารถตอบโจทย์ความสะดวกสบาย โดยคอนวีเนี่ยนสโตร์จะมีความหลากหลายมากขึ้น อาทิ ฟู้ด คอนวีเนี่ยนสโตร์ จะเติบโต ขณะที่ซูเปอร์มาร์เก็ต มีแนวโน้มยกระดับความเป็นพรีเมี่ยม เพราะผู้บริโภคมีแนวโน้มพิถีพิถันในการเลือก และยอมจ่ายเงินมากขึ้น เพื่อแลกสินค้าที่มีคุณภาพสูง

ส่วนไฮเปอร์มาร์เก็ต ก็ยังมีการแข่งขันด้านราคาอย่างดุเดือด รวมถึงการให้น้ำหนักกับ "ลอยัลตี้โปรแกรม" ต่าง ๆ โดยจากนี้จะเป็นยุคของ "เมมเบอร์" มากขึ้น

"ดร.ฉัตรชัย" ชี้ว่า กลุ่มค้าปลีกอย่าง "เฮลท์แอนด์บิวตี้" ยังมีแนวโน้มสดใส เพราะยังมีช่องว่างอีกมาก เช่นเดียวกับ "ดีพาร์ตเมนต์สโตร์" ก็มีแนวโน้มขยายไปยังหัวเมืองต่างจังหวัดสำคัญ ๆ มากขึ้น จากความเจริญที่ขยายออกไปยังต่างจังหวัด ทำให้เกิดตลาดใหม่ ๆ โดยในปีหน้าถือว่าเป็นปีแห่งการฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว แต่ยังไม่เป็นปีทองของค้าปลีก เพราะนั่นต้องหมายถึงการกระโดดเข้าไปยังต่างประเทศ"

สำหรับเซ็กเมนต์ที่จะแข่งขันรุนแรงในปีหน้า คือดีพาร์ตเมนท์สโตร์กับคอนวีเนี่ยนสโตร์ ขณะที่ปั๊มน้ำมันยังเป็นทำเลทอง เทียบกับจำนวนปั๊มที่มีกว่า 1 หมื่นแห่งทั่วประเทศ ปัจจุบันมีร้านเซเว่นฯขยายเข้าไปแค่ 2-3 พันสาขา ดังนั้นโอกาสยังมีอีกมหาศาลสำหรับค้าปลีกรายอื่น ๆ

ด้าน "ปิยะวัฒน์ ฐิตะสัทธาวรกุล" กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ระบุว่า คู่แข่งคอนวีเนี่ยนสโตร์ที่เพิ่มขึ้นในปีหน้า กับรายเดิมที่มีอยู่ในตลาด ทำให้ซีพี ออลล์ ต้องปรับตัวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลง ด้วยการเซ็กเมนต์ลูกค้าในแต่ละพื้นที่ มีการทำโปรโมชั่น การสร้างเมมเบอร์ รวมถึงพัฒนาสินค้าเอ็กซ์คลูซีฟ หรือไพรเวตแบรนด์ นอกจากนี้ยังเตรียมพัฒนาช่องทางไปสู่อีคอมเมิร์ซ รวมทั้งการเพิ่มสินค้าและบริการที่จะตอบโจทย์ความเป็น "วันสต็อปเซอร์วิส"

ปีหน้าจะขยาย 540 สาขา จากปกติจะขยาย 500 สาขา เพราะมองเห็นแนวโน้มที่ดีของตลาด โดยใช้งบฯลงทุนปีหน้า 1,000 ล้านบาท ทั้งการขยายสาขาและดีซีใหม่

"สังเกตว่าในช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมา พฤติกรรมผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงทุกปี ทั้งที่อยู่อาศัย ครอบครัวที่มีขนาดเล็กลง การทำงานแข่งกับเวลา คนชั้นกลางมีรายได้สูงขึ้น ตลาดขยายตัวจากเมืองไปสู่ชานเมือง สิ่งที่สำคัญคือลูกค้าไม่มีเวลารอคอย ลอยัลตี้ลดลง ดังนั้นหากที่ไหนเซอร์วิส และตอบโจทย์ข้อจำกัดด้านเวลา ความเร่งรีบของลูกค้าได้ ลูกค้าก็จะไปใช้บริการ"

อีกสิ่งหนึ่งคือตลาดไม่อาศัยหน้าร้าน จะเห็นว่าพฤติกรรมผู้บริโภคบางส่วนสวิตช์ไปใช้การสั่งซื้อสินค้าผ่านอินเทอร์เน็ตมากขึ้น แนวโน้มปีหน้าถ้า 3G เกิดขึ้นก็จะทำให้การซื้อขายออนไลน์ไปได้ไกล

ปัจจุบันคนกรุงเทพฯมีมือถือ 75 ล้านเครื่อง 1 คนมีมากกว่า 1 เครื่อง ใช้คอมพิวเตอร์ 21 ล้านราย ใช้อินเทอร์เน็ต 16 ล้านราย เฟซบุ๊ก 16 ล้านคน สมาร์ทโฟน 3.4 ล้าน มีรถยนต์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น มีการจดทะเบียน 30 ล้านคัน ดังนั้นธุรกิจอีคอมเมิร์ซจะเข้ามาแทนที่

"การแข่งขันในปีหน้าดุเดือด เป็นการแข่งขันสมบูรณ์ เราจึงต้องปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลง สร้างความแตกต่าง"

"ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย" ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์ธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ค้าปลีกในอาเซียน สำหรับไทยถือว่าสู้ได้อยู่แล้ว แต่การไปเปิดสนามในประเทศอื่น ๆ เป็นเรื่องท้าทาย ขณะที่ค้าปลีกจากต่างชาติที่จะเข้ามาจากนี้ เชื่อว่าค่อนข้างยาก เพราะทุกทำเลทองถูกจับจองไว้หมดแล้ว

"สาเหตุที่การแข่งขันค้าปลีกในปีหน้าเต็มไปด้วยความรุนแรง ยังมาจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการค้าปลีกแต่ละค่ายต่างทุ่มกันเต็มที่"

จากจำนวนผู้เล่นในตลาดเพิ่มขึ้น บวกกับภาวะเศรษฐกิจที่เชื่อว่าจะฟื้นตัว ทำให้สมรภูมิรบของ "ค้าปลีก" ทวีความรุนแรง

เมื่อแต่ละค่ายที่ลงมาต่างเป็นยักษ์ใหญ่ในวงการที่พร้อมไปด้วยงบลงทุน และบุคลากรพร้อมสรรพ

วันนี้ผลแพ้-ชนะจึงขึ้นอยู่ที่ว่า ใครจะมีคอนเซ็ปต์ และไอเดียการทำตลาดที่แตกต่าง และดึงความสนใจของผู้บริโภคได้มากกว่ากัน