ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

คลังโหมปฏิรูปธนาคารรัฐปี"56 ดึง15กูรูชงไอเดียจัดแถวแบงก์

เริ่มโดย ทีมงานประชาสัมพันธ์, 15:08 น. 03 ม.ค 56

ทีมงานประชาสัมพันธ์

updated: 02 ม.ค. 2556 เวลา 16:16:53 น.
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า คลังกำลังเดินหน้าแผนปรับบทบาทของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFI) 3 ด้าน ด้านแรก ปรับขอบเขตการทำธุรกิจให้สอดคล้องกับภารกิจหลักที่เน้นให้บริการทางการเงินแก่กลุ่มลูกค้าที่เข้าไม่ถึงธนาคารพาณิชย์ แต่เนื่องจากที่ผ่านมามีบางแบงก์รัฐถูกมองว่าแข่งขันกับธนาคารพาณิชย์จนผิดบทบาท และขยายตัวสูงทัดเทียมธนาคารพาณิชย์

ทั้งนี้ ในช่วงปี 2555 ธนาคารออมสินมียอดปล่อยสินเชื่อจนติดอันดับ 1 และด้านเงินฝากขึ้นมาอยู่อันดับ 3 ขณะที่สินทรัพย์อยู่อันดับ 4 ของระดับธนาคารพาณิชย์

ด้านที่สอง การปรับปรุงระบบกำกับตรวจสอบใหม่ทั้งระบบให้เหมาะสมกับการเป็นธนาคารของรัฐ ซึ่งบางแห่งต้องการให้คลังเป็นผู้ตรวจสอบ จากปัจจุบันธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นผู้ตรวจสอบ ซึ่งคลังจะรู้ว่าจุดไหนต้องผ่อนคลาย แต่ยังต้องมีมาตรฐานและข้อบังคับ ซึ่งอาจต่างกับ ธปท. บ้าง แต่ก็ไม่ถึงกับยืดหยุ่นจนเกิดความเสี่ยงต่อแบงก์รัฐ ส่วนเกณฑ์การดำรงเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (บีไอเอส) ยังคงยึดตาม ธปท.กำหนดที่ 8.5% แต่อาจมีบางแบงก์ที่ถูกกำหนดไม่ต่ำกว่า 10%

นายสมชัยยืนยันว่า แบงก์รัฐโดยรวมไม่มีปัญหาฐานะการเงิน โดยสิ้น ก.ย. 2555 บีไอเอสเฉลี่ย 10.2% หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ 4.5% กำไรสุทธิ 19,700 ล้านบาท กำไรสะสม 179,373 ล้านบาท แต่ยอมรับว่าธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ธพว.) กับธนาคารอิสลามยังมีปัญหา

สำหรับด้านสุดท้าย การใช้ทรัพยากรร่วมกันของกลุ่มแบงก์รัฐ ซึ่งจะช่วยให้สามารถขยายการดำเนินงานได้ดีขึ้น เช่น การเป็นช่องทางช่วยเหลือทางการเงินระหว่างกัน เพราะบางแบงก์ระดมเงินฝากไม่ได้ จะต้องไปกู้ ซึ่งมีต้นทุนแพงมากและเกิดความเสี่ยง ทำให้ต้องไปปล่อยกู้ในอัตราสูง ซึ่งผู้กู้ก็จะมีความเสี่ยงด้านความสามารถในการชำระอีก แต่หากกู้จากธนาคารออมสินด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่า ความเสี่ยงก็จะน้อยกว่าการระดมเอง หรือกรณีธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) ที่รับเงินฝากไม่ได้ ก็มากู้แบงก์รัฐรายอื่นที่มีเงินเหลือ

"เราต้องการเห็นแบงก์รัฐกลับมาทำหน้าที่ให้บริการทางการเงินกับคนที่ไม่สามารถเข้าถึงแบงก์เอกชน นี่คือภารกิจหลักที่ต้องออกมาเป็นนโยบายกระทรวงการคลังที่ชัดเจน แบงก์รัฐจะได้ปรับพอร์ต แล้วก็ส่งนโยบายผ่านตัวแทนคลังที่นั่งในบอร์ดแบงก์รัฐช่วยดูแล" นายสมชัยกล่าว

ทั้งนี้ แผนดังกล่าวทั้ง 3 ด้านคืบหน้า 80-90% แล้ว อยู่ระหว่างปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินเศรษฐกิจ 15 คน เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะเพิ่มเติม อาทิ นายอัมมาร สยามวาลา นายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ประธานกรรมการธนาคารกรุงไทย อดีตปลัดกระทรวงการคลัง นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นายธวัชชัย ยงกิตติกุล เป็นต้น และขั้นตอนต่อไปจะเสนอนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลังพิจารณา และภายในต้นปี 2556 จะเชิญแบงก์รัฐทุกแห่งมารับมอบนโยบาย

นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ในปี 2556 นี้ แบงก์รัฐที่มีปัญหา จะเร่งแก้ปัญหา และวางทิศทางที่จะเดินไปข้างหน้าโดยเร็ว โดยเฉพาะกรณีธนาคารอิสลามและ ธพว.ที่มีปัญหา ได้ขีดเส้นตายว่าต้องสรุปแผนฟื้นฟูกิจการ รวมถึงแนวทางปิดความเสี่ยงการปล่อยสินเชื่อใหม่ให้ออกมาชัดเจนภายในเดือน ม.ค.นี้ เนื่องจากให้เวลามา 4 เดือนแล้ว และคลังก็เตรียมเงินเพิ่มทุนไว้แล้ว หากแผนออกมาเป็นที่พอใจก็จะเพิ่มทุนให้ทันที