ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

ฝ่าวิกฤต "แรงงาน" แก้ปม 300 เหลว "เอสเอ็มอี" โคม่า

เริ่มโดย ทีมงานประชาสัมพันธ์, 15:11 น. 03 ม.ค 56

ทีมงานประชาสัมพันธ์

updated: 03 ม.ค. 2556 เวลา 09:59:15 น.
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

วันที่ 1 มกราคม 2556 จะมีการบังคับใช้มาตรการค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ หลังบังคับใช้ใน 7 จังหวัดนำร่อง ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2555 ที่ผ่านมาส่งผลให้รัฐบาลภายใต้การนำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้างจากผู้ประกอบการหรือนายจ้าง

ขณะที่สถานประกอบการจำนวนมากต่างโอดครวญทำนองเดียวกันว่า การปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทใน 7 จังหวัดนำร่องทำให้เกิดต้นทุนค่าแรงเพิ่มขึ้น จนสถานประกอบการ ผู้ประกอบการ หรือนายจ้างแบกรับต้นทุนไม่ไหว ทำให้ผู้ประกอบการบางส่วนประสบปัญหาถึงขั้นต้องปิดกิจการโดยเฉพาะผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี (SMEs)

ยิ่งมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศวันที่ 1 มกราคม 2556 ก็ยิ่งทำให้ธุรกิจเอสเอ็มอีล้มหายตายจากเพิ่มขึ้นอีก

โดยเฉพาะกับเอสเอ็มอีในจังหวัดพิจิตร พิษณุโลก แพร่ มหาสารคาม แม่ฮ่องสอน อำนาจเจริญ และอุตรดิตถ์ ที่ก่อนหน้านี้จ่ายค่าจ้างขั้นต่ำที่วันละ 163 บาท

ขณะที่จังหวัดตากและสุรินทร์จ่ายค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่ 162 บาทรวมทั้งจังหวัดน่าน 161 บาท, ศรีสะเกษ 160 บาท และพะเยา จ่ายค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่ 159 บาท/วัน

ผลเช่นนี้จึงทำให้การปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศวันที่ 1 มกราคม 2556 มีเสียงสะท้อนตามมาในหลายมิติ นักชาการ นักเศรษฐศาสตร์ต่างออกมาตั้งข้อสังเกตว่าการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำครั้งนี้จะทำให้เอสเอ็มอีอยู่ในสภาพเช่นไรและภาครัฐจะมีมาตรการอะไรออกมารองรับ ? และช่วยเหลือบ้าง ?

เสมือนเป็นการฝ่าวิกฤตแรงงานครั้งใหญ่ของประเทศ

ส่งทอ-เฟอร์นิเจอร์ กระทบหนัก

นายอาทิตย์ อิสโม รองปลัดกระทรวงแรงงาน ได้ศึกษาวิเคราะห์เปรียบเทียบผลการศึกษาจาก 3 แหล่ง ได้แก่ รายงานผลการสำรวจของกระทรวงแรงงาน, รายงานการศึกษาวิเคราะห์เรื่องค่าจ้างขั้นต่ำรอบใหม่ 300 บาท : กระทบใครเท่าไหร่ ของสำนักพัฒนาฐานข้อมูล และตัวชี้วัดภาวะสังคม (สศช.) และการศึกษาเรื่องอุตสาหกรรมไทยจะแข่งขันอย่างไร

ภายใต้ค่าแรงที่สูงขึ้น ของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) พบว่าเมื่อปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 2 ครั้ง จะส่งผลให้ต้นทุนรวมของ

เอสเอ็มอีมีสัดส่วนต้นทุนด้านแรงงานในต้นทุนรวมทั้งหมดร้อยละ 21-30 โดยมีต้นทุนเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 15.77-22.52

แต่เมื่อพิจารณาผลกระทบต่อต้นทุนในรายอุตสาหกรรมพบว่าอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากคือกลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอ ต้นทุนเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 11.13-22.75 รองลงมาเป็นอุตสาหกรรมไม้, เฟอร์นิเจอร์ และผลิตภัณฑ์จากไม้ จะมีต้นทุนเพิ่มขึ้นประมาณ 12.19-18.71

อย่างไรก็ตาม เมื่อประเมินผลกระทบต่อต้นทุนดังกล่าว กระทรวงแรงงานจึงคาดการณ์ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหลังจากวันที่ 1 มกราคม 2556 ที่มีต่อด้านแรงงานหลายส่วนด้วยกัน

1.มีแนวโน้มที่จะเกิดการจ้างงานลดลง งดรับลูกจ้าง หรือเลิกจ้างลูกจ้างบางส่วน หรือปิดกิจการ หรือมีการใช้เครื่องจักร และแรงงานทักษะฝีมือสูงทดแทน ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาการเลิกจ้าง และปัญหาการว่างงานสูงขึ้นกว่าสถานการณ์ในปี 2555

นอกจากจะส่งผลให้แรงงานที่อยู่ในตลาดแรงงานต้องตกงานแล้ว แรงงานที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานใหม่ก็จะหางานทำยากขึ้น และกลุ่มนี้จะกลายเป็นแรงงานนอกระบบ

โดยอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มจะลดการจ้างแรงงานทักษะฝีมือต่ำ (unskill labour) เป็นจำนวนมาก ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอ, เครื่องแต่งกาย และเครื่องหนัง กับอุตสาหกรรมไม้, เฟอร์นิเจอร์ และผลิตภัณฑ์จากไม้

ส่วนอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มจะลดการจ้างแรงงานทักษะฝีมือต่ำจำนวนไม่มาก ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, อุตสาหกรรมเคมี, ยางและพลาสติก, อุตสาหกรรมเหล็ก, อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน และอุตสาหกรรมเครื่องจักรและอุปกรณ์

ดังนั้น สถานประกอบการเอสเอ็มอี (มีลูกจ้างไม่เกิน 200 คน) ที่อยู่ในอุตสาหกรรมเหล่านี้ จึงมีความเสี่ยง ที่กระทรวงแรงงานต้องเฝ้าระวัง และติดตามสถานการณ์ด้านแรงงานอย่างใกล้ชิด

2.มีแนวโน้มที่นายจ้างจะเปลี่ยนแปลงสภาพการทำงาน/การจ้างงาน โดยลดชั่วโมงการทำงานล่วงเวลาลง, ลดสวัสดิการแรงงานที่ลูกจ้างเคยได้รับ 3.มีแนวโน้มที่แรงงานจะเคลื่อนย้ายกลับภูมิลำเนาของตน เพราะมีค่าจ้างเท่ากันทั่วประเทศ และ 4.มีแนวโน้มที่จะเกิดการขาดแคลนแรงงานในบางสาขา เช่น อุตสาหกรรมก่อสร้าง, อุตสาหกรรมขนส่ง/คลังสินค้า, การค้าปลีกและโรงแรม/ภัตตาคาร

ภาครัฐเข็นมาตรการเยียวยา

เพื่อเป็นการรองรับผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปี 2556 กระทรวงแรงงานจึงประมวลข้อมูลความต้องการช่วยเหลือ, ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากการสำรวจ และการสัมมนาเพื่อจัดทำเป็นข้อเสนอเพื่อกำหนดมาตรการบรรเทาผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 2556 และเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการ SMEs รวม 16 มาตรการ โดยแบ่งออกเป็น 11 มาตรการเดิม และอีก 5 มาตรการใหม่

โดยรองปลัดกระทรวงแรงงาน ฉายภาพให้ฟังถึง 11 มาตรการเดิมจะขยายเวลาการใช้มาตรการช่วยเหลือออกไปอีก 1 ปี ซึ่งจะสิ้นสุดในปี 2556 ประกอบด้วย

1.การลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคมของฝ่ายนายจ้าง-ลูกจ้าง เหลือฝ่ายละร้อยละ 3, 2.ลดภาษีเงินได้นิติบุคคลเหลือร้อยละ 20, 3.นำส่วนต่างของค่าจ้างที่จ่ายเพิ่มขึ้นจากอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 2555 มาหักเป็นค่าใช้จ่ายก่อนชำระภาษีได้ 2 เท่า 4.นำค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมพัฒนาฝีมือแรงงานมาหักลดหย่อนภาษีได้เพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่า

5.ให้กู้ยืมเงินกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงานในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.1 6.สินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงานในการเสริมสภาพคล่องของสถานประกอบการ 7.สินเชื่อเพื่อพัฒนาผลิตภาพการผลิต 8.การค้ำประกันสินเชื่อในลักษณะ portfolio guarantee scheme 9.การค้ำประกันสินเชื่อในลักษณะ portfolio guarantee scheme สำหรับผู้ประกอบการหน้าใหม่ 10.ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลกรณีการปรับเปลี่ยนเครื่องจักร และ 11.หักค่าเสื่อมราคาเครื่องจักร

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการใหม่มาช่วยเหลือเพิ่มอีก ประกอบด้วย 1.ลดค่าธรรมเนียมห้องพักที่เรียกเก็บสำหรับโรงแรมหรือที่พักแรม 2.จัดคลินิกพัฒนาฝีมือแรงงานเคลื่อนที่ไปยังสถานศึกษาและสถานประกอบการต่าง ๆ 3.ปรับเพิ่มอัตราค่าใช้จ่ายในการจัดประชุมสัมมนาของส่วนราชการ 4.จัดคาราวานสินค้าราคาถูกไปจำหน่ายให้ลูกจ้างในสถานประกอบการ 5.จ่ายเงินชดเชยส่วนต่างค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นให้แก่ผู้ประกอบการ"

"และหากมีมาตรการที่จะช่วยลดผลกระทบดังกล่าวได้เพิ่มขึ้น กระทรวงแรงงานจะประสานงานกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมกันเข้าหารือเพื่อเตรียมวางมาตรการช่วยเหลือสำหรับเอสเอ็มอีต่อไป"

ตั้งศูนย์ช่วยเหลือเอสเอ็มอี

นอกจากนี้ เพื่อเป็นการช่วยเหลือเอสเอ็มอีในต่างจังหวัดแล้ว กระทรวงแรงงานยังได้เตรียมกำหนดแนวทางการดำเนินงานเพิ่มเพื่อประสิทธิภาพการจัดการผลกระทบ โดยจัดตั้งศูนย์อำนวยการเพื่อรองรับผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท ศูนย์นี้จะทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือสำหรับเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ โดยเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์จะคอยให้คำปรึกษาอย่างมีประสิทธิผล รวดเร็ว และติดตามเฝ้าระวังเพื่อรายงานผลการปฏิบัติในภาพรวมของกระทรวงแรงงานต่อไป

ผู้ประกอบการสามารถเข้ามาปรึกษาโดยตรงที่ศูนย์นี้ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคทุกจังหวัด โดยในส่วนกลางจะตั้งอยู่ที่สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน (กทม.) และในส่วนภูมิภาคจะตั้งอยู่ที่สำนักงานแรงงานจังหวัด หรือศาลากลางจังหวัด

"มองในด้านดีในวันที่ 1 มกราคม 2556 จะเป็นจุดเปลี่ยนที่จะทำให้ทั้งนายจ้างและลูกจ้างเกิดแรงกระตุ้นในการพัฒนาศักยภาพของสถานประกอบการได้เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะลูกจ้างจะต้องเพิ่มประสิทธิภาพทางการทำงานด้วยถึงจะตอบโจทย์ต่อค่าแรงที่เพิ่มขึ้น และเพื่อการแข่งขันกับประเทศสมาชิกในอนาคตด้วย"

300 ทั่ว ปท.กระทบหลายระดับ

จากการศึกษาของศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า การปรับค่าแรงขั้นต่ำขึ้นเป็น 300 บาท/วันเท่ากันทั้งประเทศในช่วงต้นปี 2556 จะทำให้อัตราค่าจ้างมาตรฐานของไทยขยับขึ้นร้อยละ 31.7 จากค่าแรงขั้นต่ำเฉลี่ยในปี 2555 ซึ่งอยู่ที่ 227.8 บาท/วัน โดยจังหวัดพะเยาซึ่งมีฐานค่าจ้างแรงงานเฉลี่ยต่ำที่สุดของประเทศที่ 206.3 บาท/วัน จะมีการปรับเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 45.5 และลดหลั่นกันไปตามช่องว่างระหว่างอัตราค่าแรงฐานในปัจจุบัน และค่าแรงใหม่ ขณะที่ 7 จังหวัดนำร่องที่มีการปรับขึ้นค่าแรงไปแล้วในเดือนเมษายน 2555 จะคงอยู่ที่ 300 บาท/วัน

โดยผลกระทบจะรุนแรงเพียงใดขึ้นอยู่กับพื้นที่กิจการ หากเป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกล และมีฐานอัตราค่าจ้างแรงงานเดิมต่ำ ก็อาจได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก ส่วนใหญ่เป็นจังหวัดในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ขณะที่ขนาดธุรกิจและประเภทธุรกิจที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการขึ้นค่าจ้างมากที่สุดคงหนีไม่พ้นกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี ที่ส่วนใหญ่ยังคงพึ่งพาแรงงานที่รับค่าจ้างในอัตราขั้นต่ำ เพื่อทำงานที่ไม่ต้องอาศัยความชำนาญ โดยเฉพาะเอสเอ็มอีที่อยู่ในธุรกิจที่พึ่งพาการใช้แรงงานไร้ทักษะอย่างเข้มข้น

นอกจากนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคาดว่าจำนวนผู้ว่างงานในปี 2556 จะอยู่ที่ 3 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 0.8 (กรอบคาดการณ์ 2.6-3.4 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 0.7-0.9) เพิ่มขึ้นจากจำนวน 2.65 แสนคน หรือคิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 0.7 ในปี 2555

ปี 56 โอกาสและความท้าทาย

ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) บอกว่า สิ่งที่สถานประกอบการจะต้องเจอแน่ ๆ เมื่อเข้าสู่เดือนมกราคม 2556 คือการปรับค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศ ถือเป็นโอกาสและความท้าทาย ข้อเสนอคือในช่วงที่จะไม่มีการปรับขึ้นค่าจ้างต่อไปอีก 2 ปี (2557-2558) รัฐบาลควรมีมาตรการเข้าไปช่วยปรับปรุงเรื่องประสิทธิภาพ และคุณภาพอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะ SMEs

นอกจากนี้นโยบายสร้างงานขนาดใหญ่ควรเน้นการให้คนไทยเข้ามาทำงานให้มากที่สุด หากจะมีมาตรการช่วยเหลือด้วยการลดการส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมตามที่ภาคธุรกิจเรียกร้องก็ไม่ควรลดเกิน 2% และมีกำหนดระยะเวลาชัดเจนเฉพาะในช่วง 2 ปี ที่ไม่มีการปรับค่าจ้าง ขณะที่แรงงานนอกระบบก็ยังเป็นเรื่องใหญ่ที่ควรต้องมีการดูแลติดตาม

ขณะเดียวกัน สิ่งที่ต้องทำมากขึ้นคือการให้ความสำคัญเรื่องความมั่นคงทางรายได้ และสิทธิ์ความคุ้มครองต่าง ๆ ที่แรงงานนอกระบบยังด้อยสิทธิ์อยู่มาก รวมถึงการดูแลติดตามการใช้แรงงานเด็กที่ต้องทำให้ไม่มีการใช้แรงงานเด็กในสภาพเลวร้ายเกิดขึ้น

สภาอุตฯชี้การเยียวยาไม่ตรงจุด

นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า สำหรับมาตรการเยียวยาค่าแรง 300 บาท ไม่ว่าจะเป็นการชดเชยส่วนต่าง การลดเงินประกันสังคมเหลือ 2.5% เป็นเวลา 3 ปี การหักภาษีที่จ่าย 0.1% นั้น สำหรับอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มถือว่าได้รับผลกระทบมากที่สุด และมองว่าเป็นเพียงการช่วยเหลือ "ระดับหนึ่ง" เท่านั้น แต่ในเมื่อเป็นนโยบายรัฐบาล

ภาคอุตสาหกรรมต้องปรับตัวให้ได้ แต่ที่ค่อนข้างลำบากคือกลุ่มเอสเอ็มอีที่ต้องการให้ผลักดันการช่วยเหลือสำคัญคือ การเข้าให้กลุ่มนี้เข้าถึงแหล่งเงินทุนให้มากขึ้น

และลดข้อจำกัดต่าง ๆ ให้น้อยลงรองประธานสภาอุตสาหกรรมฯย้ำว่า รัฐมีนโยบายปรับค่าแรง แต่แก้ไขปัญหาไม่ตรงจุด ไม่ยอมฉีดยาแรงตั้งแต่แรก และจำเป็นต้องมาจ่ายส่วนต่างให้อุตสาหกรรม พยายามให้ข้อมูลว่าการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของเอสเอ็มอีถือว่าสำคัญ

แต่ไม่มีการผลักดันเรื่องนี้ ในเมื่อมีการจัดมันนี่เอ็กซ์โปทุกปี ก็ควรมีงานลักษณะนี้ แต่เป็นการซัพพอร์ตเอสเอ็มอีโดยเฉพาะบ้าง

ด้านนายวีระยุทธ สุขวัฑฒโก รองประธานและประธานสภาอุตสาหกรรมฯกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 ส.อ.ท. เปิดเผยว่า มาตรการเยียวยาเบื้องต้นของภาครัฐถือว่า "ไม่ตรงจุด" และยังไม่มีความชัดเจนโดยเฉพาะมาตรการชดเชยว่าจะกำหนดสัดส่วนอย่างไร หากชดเชย 100% ในปีแรก และในปีถัดมาอาจจะเหลือ 75 : 25 หรือ 50 : 50 จะทำให้อุตสาหกรรมสามารถเดินหน้าต่อไป

หากเดินหน้าตามข้อเสนอนี้ภาครัฐอาจจะช่วยเหลือแค่ 2 ปีเท่านั้น ในปีที่ 3 ภาคอุตสาหกรรมสามารถเดินได้ด้วยศักยภาพของตัวเองแล้ว

"มาตรการลดภาษีเงินได้ บริษัทใหญ่เท่านั้นได้ประโยชน์ รายเล็กที่มีกำไรน้อยก็ไม่ได้ประโยชน์จากมาตรการนี้ นอกจากนี้ควรช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อนำมาบริหารกระแสเงินสดให้ดีขึ้น คงต้องรอดู 6 เดือนนับจากนี้ว่ามาตรการเยียวยาจะได้ผลหรือไม่"