ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

"วิทยุ"แห่ปรับตัวฝุ่นตลบสู้นิวมีเดีย เฟ้นคอนเทนต์ปูพรมกิจกรรมดึงคนฟัง-โฆษณา

เริ่มโดย ทีมงานประชาสัมพันธ์, 14:20 น. 18 ม.ค 56

ทีมงานประชาสัมพันธ์

updated: 17 ม.ค. 2556 เวลา 12:29:41 น.
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

เพราะวันนี้ช่องทางการฟังเพลงไม่จำกัดอยู่แค่คลื่นวิทยุหลัก ๆ เพียงอย่างเดียว แต่ยังมีวิทยุชุมชนที่เข้ามาแข่งขัน การรับฟังผ่านช่องทางใหม่ ๆ ที่ขยายตัวขึ้นตามเทคโนโลยี โดยเฉพาะโซเชียลมีเดีย ออนไลน์ บวกกับกลุ่มพฤติกรรมคนฟังที่เปลี่ยนไป แม้ตัวเลขการใช้งบฯโฆษณาผ่านสื่อ 3 ไตรมาส ปี 2555 ที่เก็บข้อมูล โดยนีลเส็น ประเทศไทย เม็ดเงินของสื่อวิทยุอยู่ที่ 4,666 ล้านบาท เติบโต 2.14% จากปีก่อน แต่การปิดตัวของคลื่นดัง ๆ กลายเป็นทั้งความไม่แน่นอน และโจทย์สำคัญให้อุตสาหกรรมวิทยุ พยายามเกาะเกี่ยวผู้ฟังไว้ให้เหนียวแน่นที่สุด

สื่อวิทยุโตแต่ต้องปรับตัว

นายสุธี ฉัตรรัตนกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท สกายไฮ เน็ตเวิร์ค จำกัด ผู้บริหารสถานีวิทยุคูล 93 ฟาห์เรนไฮต์ ระบุว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมวิทยุปีนี้มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง คาดว่าจะโตอย่างน้อย 3-5% จากปีก่อนที่มีมูลค่าตลาดประมาณ 6.1 พันล้านบาท เพราะวิทยุยังคงเป็น 1 ใน 3 สื่อหลักที่ผู้บริโภคยังให้ความสนใจ ทำให้งบฯการใช้เม็ดเงินโฆษณายังไม่ได้ลดลง แต่ก็ไม่เติบโตอย่างหวือหวาเช่นกัน

ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการวิทยุที่จะอยู่รอดได้ ต้องปรับตัวต่อเนื่อง ด้วยการเพิ่มช่องทางการรับฟังที่หลากหลายทุกแพลตฟอร์ม เพราะปัจจุบันแนวโน้มการรับฟังวิทยุจากเครื่องรับลดลง และเปลี่ยนเป็นรับฟังผ่านช่องทางใหม่ เช่น ออนไลน์ สมาร์ทโฟนและแอปพลิเคชั่น ดังนั้นผู้ประกอบการต้องเพิ่มช่องทางรับฟังตามพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป

"ทุกวันนี้ธุรกิจวิทยุค่อนข้างเหนื่อย ถ้าไม่ใช่คลื่นที่ได้รับความนิยม 3 อันดับแรกยิ่งเหนื่อย เพราะเจ้าของแบรนด์หรือมีเดียเอเยนซี่จะเลือกให้งบฯกับกลุ่มท็อปทรีเท่านั้น ดังนั้นผู้จะอยู่รอดต้องรักษาฐานผู้ฟัง และเพิ่มกิจกรรมทางการตลาด เพื่อสานสัมพันธ์กับผู้ฟัง"

งัดซีอาร์เอ็มสร้างสัมพันธ์ผู้ฟัง

นายสุธีให้ข้อมูลว่า ช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา สถานีวิทยุที่เจาะกลุ่มวัยรุ่นเริ่มมีจำนวนที่ลดลง ปัจจุบันเหลือเพียง 2 สถานี คือ 97.5 ซีดส์ เอฟเอ็ม และเวอร์จิ้นฮิต 95.5 เอฟเอ็ม จากพฤติกรรมผู้ฟังกลุ่มนี้ค่อนข้างเปลี่ยนตามเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว และไม่ยึดติดกับการฟังเพลงช่องทางใดช่องทางหนึ่ง

ขณะที่พฤติกรรมการรับสื่อของกลุ่มวัยทำงานไม่ค่อยเปลี่ยน ส่วนใหญ่อยู่ในระหว่างชั่วโมงทำงาน ทำให้ช่องทางการเลือกรับสื่อค่อนข้างจำกัด และวิทยุถือเป็นสื่อที่เข้าถึงผู้ฟังกลุ่มนี้ได้เป็นอย่างดี ส่งผลให้ช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา บริษัทได้ยกเลิกคลื่นวิทยุที่เจาะกลุ่มวัยรุ่นลง และคงเหลือไว้เพียงสถานีวิทยุที่เจาะกลุ่มวัยทำงาน คือคูล 93 เอฟเอ็ม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ฟากเอไทม์มีเดีย แห่งแกรมมี่ หลังตัดสินใจปิดคลื่นร้อน 91.5 ฮอตเวฟ ที่ดำเนินการมากว่า 20 ปีลงเมื่อต้นปีที่ผ่านมา โดยชี้แจงว่าต้องคืนคลื่นด้วยเหตุผลทางธุรกิจ ทำให้ปัจจุบันเหลือ 3 คลื่น คือกรีนเวฟ 106.5, 94 อีเอฟเอ็ม และชิลล์ 89 โดยคลื่นที่เหลือทั้งหมดเจาะกลุ่มวัยทำงานเป็นหลัก

นายสุธีกล่าวว่า ปีนี้บริษัทเดินหน้ารักษาฐานผู้ฟังและขยายฐานกลุ่มใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น ด้วยการเพิ่มช่องทางการออกอากาศออนไลน์และแอปพลิเคชั่น รวมถึงการจัดกิจกรรมทางการตลาดมากขึ้น เพื่อให้เข้าถึงไลฟ์สไตล์ของผู้ฟังกลุ่มเป้าหมาย ขณะเดียวกัน เดินหน้าต่อยอดการขายสปอตโฆษณาผ่านออนไลน์ แอปพลิเคชั่น เพื่อเพิ่มสัดส่วนรายได้ด้วย เพราะเมื่อต้นปีที่ผ่านมามียอดดาว์นโหลดแอปพลิเคชั่นสูงถึง 1 ล้านดาวน์โหลด ซึ่งเป็นฐานที่มากพอที่จะสามารถต่อยอดขายโฆษณาต่อได้

"จากนี้ไปรูปแบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชั่นจะไม่ใช่แค่เว็บประชาสัมพันธ์อีกต่อไป แต่จะต้องทำให้ผู้ฟังรู้สึกว่ามีส่วนร่วมและเป็นส่วนหนึ่งกับคลื่นวิทยุด้วย ทำให้บริษัทต่อยอดจากการขายสปอตโฆษณาบนแอปพลิเคชั่นเริ่มตั้งแต่ต้นปี"

นายสุธีกล่าวว่า ปีที่ผ่านมาถือว่าคูล 93 ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ทั้งการตอบรับจากผู้ฟัง และรายได้จากโฆษณาที่เติบโตขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการจัดอีเวนต์ หรือกิจกรรมทางการตลาด ตามความต้องการเจ้าของแบรนด์สินค้า สามารถแบ่งรูปแบบการจัดกิจกรรมออกเป็น 3 ระดับ คือขนาดเล็ก จัดทุกเดือน เพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ผู้ฟัง เช่น อิ๊งค์ Eat all aroud ตามด้วยกิจกรรมขนาดกลาง ที่จัด 2 เดือนครั้ง เช่น ทริปคอนเสิร์ต Cool music fest Lovesick at the sea และกิจกรรมขนาดใหญ่ จัดประมาณไตรมาสละ 1 ครั้ง โดยปีนี้จะเดินหน้าการจัดกิจกรรมคล้ายกับปีก่อน รวมกว่า 20 กิจกรรม

"จุดเด่นกิจกรรมของคูล 93 ดังกล่าวสามารถออกแบบกิจกรรมและงบประมาณตามความต้องการของสปอนเซอร์หรือเจ้าของแบรนด์ ทำให้มีผู้สนับสนุนกิจกรรมขนาดกลางและขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นจาก 6 รายในปี 2554 เป็น 8 รายในปีก่อน และมีแนวโน้มที่เติบโตดีปีนี้"

เฟ้นคอนเทนต์-กิจกรรมตรึงคนฟัง

นางหัทยา วงษ์กระจ่าง กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินดิเพนเด้นท์ คอมมูนิเคชั่น เนตเวิร์ค จำกัด ผู้บริหารสถานีวิทยุเก็ท 102.5, 103.5 เอฟ.เอ็ม.วัน และเลิฟ เรดิโอ 104.5 มองว่า แนวโน้มของอุตสาหกรรมวิทยุถือว่าอยู่ในช่วงที่มีอัตราเติบโตเต็มที่แล้ว ทั้งนี้หากย้อนกันไปเมื่อ 5 ปีก่อนถือว่าเป็นช่วงที่อุตฯวิทยุเติบโตมากที่สุด ผู้ประกอบการที่จะสามารถยืนอยู่บนตลาดได้ ต้องปรับตัวอย่างต่อเนื่อง อยู่นิ่งไม่ได้ เพราะวิทยุมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องในหลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะระบบการออกอากาศที่เพิ่มจำนวนขึ้น

ปัจจุบันผู้ฟังมีทางเลือกมากขึ้น เพราะเลือกช่องทางการรับฟังได้หลายช่องทาง ทั้งออนไลน์ แอปพลิเคชั่น บวกกับจำนวนเพลงที่มากขึ้น ซึ่งวิทยุเองต้องปรับตัว ดังนั้นหัวใจสำคัญของวิทยุ คือคอนเทนต์ที่ดี ยังเป็นส่วนสำคัญ การร้อยเรียงเพลง เสน่ห์การจัดรายการของพีเจ (Program Jockey) หรือนักจัดรายการวิทยุ และหาเพลงให้ตรงกับกลุ่มผู้ฟัง ก็เป็นส่วนหนึ่งในดึงความสนใจของผู้ฟัง รวมถึงการจัดรายการให้ตรงกับกลุ่มผู้ฟังในแต่ละช่วงเวลา ถือว่ามีความสำคัญ และเป็นสิ่งที่บริษัทต้องปรับเปลี่ยนอยู่เสมอ

ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา อินดิเพนเด้นท์ฯได้รับช่วงบริหารคลื่นวิทยุรวม 3 คลื่นจากบริษัท คลิค เรดิโอ จำกัด ได้แก่ เก็ท 102.5 คลื่น เพลงสากลเจาะกลุ่มวัยทำงาน นักศึกษา และผู้เริ่มทำงาน, 103.5 เอฟ.เอ็ม.วัน คลื่นเพลงไทยที่เจาะกลุ่มผู้ฟังทุกเพศทุกวัย และเลิฟ เรดิโอ 104.5 เข้ามาแทนที่แฟต เรดิโอ ที่ย้ายคลื่นไปที่ 98 เอฟเอ็ม เป็นคลื่นเพลงสากล ตั้งแต่ยุค 80 เน้นเจาะกลุ่มวัยทำงาน

การสร้างกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างฐานผู้ฟังเป็นอีกเรื่องที่สถานีวิทยุต้องทำ ปีนี้ทั้ง 3 คลื่นจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง เริ่มด้วยเก็ท 102.5 กับกิจกรรมที่จะพาผู้ฟังเกาะติดทุกความบันเทิงแบบ 360 องศา เพื่อตอบสนองทุกไลฟ์สไตล์สุดฮิตของคนเมืองกรุง อาทิ CUPIDS SEND LOVE 2, GATEWAY TO SUCCESS WITH GET DIVAS 4 เปิดประตูสู่ความสำเร็จไปกับ Get Divas ที่จะให้คุณแข็งแกร่ง ทั้งกาย ใจ และสมอง เป็นต้น

ตามด้วยคลื่น 103.5 เอฟเอ็มวัน เตรียมกิจกรรมใหม่ ๆ และของรางวัลมากมาย ผ่านการร่วมสนุกในกิจกรรมต่าง ๆ ตลอดปี รวมถึงการจัดอีเวนต์และคอนเสิร์ตร่วมกับสปอนเซอร์หลัก ๆ เช่น ดีแทค ไทยประกันชีวิต เนสท์เล่ ซึ่งปีนี้แนวโน้มรูปแบบการสปอนเซอร์รูปแบบดังกล่าวเพิ่มขึ้น

สุดท้ายคือเลิฟ เรดิโอ 104.5 จัดกิจกรรมให้ผู้ฟังได้ร่วมสนุกผ่านหน้าปัดวิทยุ ขณะที่การขยายฐานผู้ฟังรุ่นใหม่นั้น บริษัทขยายช่องทางการรับฟังผ่านออนไลน์และแอปพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนที่สามารถรับฟังได้ทั้ง 3 คลื่น