ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

วพส.เผย “ชีวิตของทหารหลังผ่านศึกไฟใต้” ขาดการเยียวยาที่ต่อเนื่อง

เริ่มโดย ทีมงานประชาสัมพันธ์, 17:14 น. 29 ม.ค 56

ทีมงานประชาสัมพันธ์

สถาบันวิจัยและพัฒนาสุขภาพภาคใต้(วพส.) มอ.หาดใหญ่ เผยข้อค้นพบจากการสำรวจ"ชีวิตของทหารหลังผ่านศึกไฟใต้" ขาดการเยียวยาที่ต่อเนื่องทำให้คุณภาพชีวิตลดลง

            วันนี้(29ม.ค.56) เวลา 15.00 น. ที่ สถาบันวิจัยและพัฒนาสุขภาพภาคใต้(วพส.) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา สถาบันวิจัยและพัฒนาสุขภาพภาคใต้(วพส.) มอ.หาดใหญ่ เปิดเผยข้อค้นพบเบื้องต้นจากการสำรวจ "ชีวิตของทหารหลังผ่านศึกไฟใต้" โดยมีสื่อมวลชนทุกแขนงเข้าสนใจเข้าร่วมรับฟังจำนวนกว่า 20 คน


            อาจารย์รอฮานิ  เจ๊ะอาแซ นักวิชาการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์ความไม่สงบทหารผู้ได้รับบาดเจ็บจากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เริ่มปะทุมาตั้งแต่เดือนมกราคม 2547 ซึ่งตอนนี้ผ่านมากว่า 100 เดือน หรือราว 9 ปี พบเหตุความรุนแรงกว่า 1.1 หมื่นครั้ง มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตรวม 1.6 หมื่นราย หนึ่งในสามของผู้เคราะห์ร้ายประมาณ 5,400 คนนั้น เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งครู ตำรวจ และทหาร ส่วนมากเป็นคนต่างถิ่น ต่างภูมิภาค ที่อาสามาทำงานในหน้าที่ในพื้นที่เสี่ยงภัย และต้องกลับไปพักรักษาตัวยังภูมิลำเนาเดิม หลังจากได้รับบาดเจ็บ ส่วนใหญ่ไม่ได้รับการประเมินติดตามคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ภายหลังจากการประสบอุบัติเหตุอย่างต่อเนื่องจากหน่วยงานภาครัฐ จากการกำหนดเป้าหมายการเยี่ยมไว้ 100 คน แต่สามารถเข้าถึงเพียง 21 คน เท่านั้น เนื่องจากขาดข้อมูลที่เป็นปัจจุบันจากกลุ่มเป้าหมาย ทำให้หน่วยงานในพื้นที่ไม่ทราบข้อมูลปัจจุบัน สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของระบบการส่งต่อดูแลติดตามที่ดี       

นอกจากนี้การติดตามเยียวยายังมีความเหลื่อมล้ำระหว่างนายทหารที่เป็นข้าราชการและพลทหารที่หลังจากปลดประจำการก็จะมีสถานะเป็นเพียงบุคคลธรรมดาทั่วไป ซึ่งจะมีความแตกต่างกันทั้งในเรื่องการเยียวยาด้านจำนวนเงินและสิทธิอื่นๆ และสำหรับทหารที่ได้เข้าไปปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้(จชต.)และได้รับผลกระทบจากเหตุความไม่สงบ  เมื่อต้องกลับภูมิลำเนาเดิม ก็ยังไม่ได้รับการเยียวยาหรือความช่วยเหลือจากภาครัฐเท่าที่ควร

จึงอยากเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแลทหารหาญอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ไม่เฉพาะแต่ทหารในพื้นที่ จชต.เท่านั้น แต่หมายรวมถึงทหารนอกพื้นที่จากทุกภูมิภาคทุกนายที่ได้รับผลกระทบจากเหตุความไม่สงบอย่างเท่าเทียมกัน ทั้งนี้ ควรมุ่งเน้นการดูแลคุณภาพชีวิตของทหารและผู้ที่ได้รับบาดเจ็บให้ครอบคลุม ตั้งแต่เรื่องสุขภาพกาย ใจ สังคม และการสร้างอาชีพ รวมถึงคุณภาพชีวิตของคนในครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบ เพื่อเป็นการสร้างกำลังใจให้ทหารเหล่านั้นไม่ตกอยู่ในสภาวะถูกทอดทิ้งอย่างที่ผ่านมา

ข้อมูลและที่มา สวท.สงขลา