ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

ไอแบงก์เตรียม 3 หมื่นล้านรับลูกค้าแห่ถอนเงิน

เริ่มโดย ทีมงานประชาสัมพันธ์, 10:06 น. 11 ก.พ 56

ทีมงานประชาสัมพันธ์

updated: 10 ก.พ. 2556 เวลา 23:01:19 น.
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

จาก ที่หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจนำเสนอข่าวฉบับวันพฤหัสบดีที่ 7-วันอาทิตย์ที่ 10 กุมภาพันธ์ 2556 เปิดประเด็นธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย หรือไอแบงก์ ประสบปัญหาฐานะทางการเงินอย่างหนัก ผลดำเนินงานรวมสิ้น ธ.ค. 2555 ขาดทุนทางบัญชี 16,000 ล้านบาท และมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) รวมทั้งสิ้น 39,000 ล้านบาท คิดเป็น 32% ส่งผลให้มีภาระตั้งสำรองเงินจำนวนมาก ทำให้เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS) ติดลบ 5.18% ถือเป็นธนาคารรัฐวิสาหกิจแห่งแรกที่ประสบปัญหา BIS ติดลบจนต้องทำหนังสือถึงกระทรวงการคลังขอเงินเพิ่มทุนเป็นการเร่งด่วน 13,726 ล้านบาท ภายในปีนี้ เพื่อรักษาเงินกองทุนให้อยู่ในสถานะบวก และเป็นไปตามเกณฑ์ที่ ธปท.กำหนดไว้ที่ 8.5%

ผู้สื่อข่าวรายงาน สถานการณ์ล่าสุดว่า ผู้ฝากเงินกับไอแบงก์ โดยเฉพาะลูกค้ารายย่อยได้ติดต่อสอบถามเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวจำนวนมาก ขณะที่กลุ่มสหภาพของไอแบงก์ได้เคลื่อนไหวเรียกร้องให้เร่งสอบสวนปัญหาทุจริต ภายในองค์กร ส่งผลให้คณะกรรมการ (บอร์ด) ไอแบงก์ต้องเรียกประชุมเร่งด่วนเมื่อ 6 ก.พ. 2556 ที่ผ่านมา เพื่อจัดทำแผนการประชาสัมพันธ์ธนาคาร หลังมีลูกค้าเข้ามาถอนเงินจากบัญชีเงินฝากจำนวนมาก

แหล่ง ข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า แม้ลูกค้าบางรายจะถอนเงินแต่ขณะนี้ยังไม่มีการเบิกถอนเงินฝากออกจำนวนมากจน กระทบสถานะธนาคาร อย่างไรก็ตาม บอร์ดไอแบงก์ได้จัดประชุมเพื่อหามาตรการรับมือ โดยจะใช้สภาพคล่องที่มีอยู่เป็นเงินฝาก 1 หมื่นล้านบาท รองรับการถอนเงิน หากเงินสำรองจ่ายส่วนนี้ไม่เพียงพอก็ยังมีวงเงินฉุกเฉินรองรับอีก 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งได้เจรจาเปิดบัญชีวงเงินฉุกเฉินกับ 2 ธนาคารของรัฐ ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย (KTB) และธนาคารออมสินแห่งละ 5 พันล้านบาท

อย่างไรก็ ตาม เมื่อวันที่ 7 ก.พ. ธนาคารได้ประชุมบอร์ดอีกครั้งเป็นกรณีเร่งด่วน พร้อมทั้งได้วางแผนรับมือขั้นที่ 2 คือเจรจาขอวงเงินฉุกเฉินเพิ่มเติมอีกจำนวน 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งเชื่อว่าสภาพคล่องที่เตรียมไว้รวมทั้งหมด 3 หมื่นล้านบาท จะเพียงพอรับมือ

"การประชุมเร่งด่วนรอบ 2 คุยกันเรื่องการหาเงินกู้เพื่อมาจ่ายเงินฝาก หากลูกค้าเข้ามาถอนเงินเป็นจำนวนมาก เพราะก้อนแรกที่เป็นวงเงินฉุกเฉินจากแบงก์ 2 แห่ง 10,000 ล้านบาทนั้น เดิม ธปท.ได้กำหนดไว้อยู่แล้ว ว่าให้ธนาคารที่ถือหุ้นร่วมกันช่วยเหลือสภาพคล่องกรณีที่เกิดปัญหาฉุกเฉิน ซึ่งจะไม่มีการเก็บค่าธรรมเนียม แต่ก็อาจได้ไม่เต็มวงเงินที่ขอไป แต่วงเงินกู้ฉุกเฉินก้อนใหม่นอกเหนือจากสัญญาที่ ธปท.วางไว้ แบงก์ต้องจ่ายดอกเบี้ยปกติที่ 1%"

ทั้งนี้ ไอแบงก์มียอดเงินฝากรวม 1.1 แสนล้านบาท ใกล้เคียงกับพอร์ตสินเชื่อรวมที่ 1.2 แสนล้านบาท

แหล่ง ข่าวกล่าวต่อว่า พอร์ตเงินฝากของไอแบงก์ ส่วนใหญ่เป็นเงินฝากจากรัฐวิสาหกิจและข้าราชการสัดส่วน 70-80% ของยอดเงินฝากรวม ที่เหลือเป็นผู้ฝากเงินรายย่อย ซึ่งจากการประเมินสถานการณ์ในเวลานี้ รัฐวิสาหกิจและข้าราชการจะมีดีลอายุฝากที่ครบกำหนด การจะถอนเงินออกนั้นจำเป็นต้องคำนวณหาผลตอบแทนที่ดี ซึ่งต่างจากรายย่อยอาจมีการถอนเงินจากบัญชีได้ทันที ซึ่งคาดว่าน่าจะอยู่ที่ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงาน เพิ่มเติมว่า วันที่ 11 ก.พ.นี้นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือ สศค.จะเดินทางเข้าตรวจเยี่ยมไอแบงก์ รวมทั้งสอบถามถึงสถานะการดำเนินงานของธนาคาร แผนฟื้นฟูเร่งด่วนในระยะ 5 ปี นอกจากนี้

ผู้บริหารไอแบงก์ได้ทำหนังสือถึงนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ขอให้ร่วมแถลงแผนดำเนินงานและหารือเกี่ยวกับกระแสข่าวลือปัญหาการทุจริตภาย ในองค์กรซึ่งนำมาสู่ความเสียหายของธนาคาร ซึ่งช่วงกลางเดือน ก.พ. นายธานินทร์ อังสุวรังษี กรรมการผู้จัดการไอแบงก์คนใหม่ มีแผนจะแถลงข่าวดังกล่าว

ด้านนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รมว.คลังเปิดเผยว่า ไม่ต้องห่วงกรณีที่สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ 2 แห่ง มีปัญหาจนเงินกองทุนติดลบ เพราะเป็นธนาคารของรัฐซึ่งรัฐต้องดูแลทั้งผู้ฝากเงินและผู้เกี่ยวข้องอยู่ แล้ว ประกอบกับที่ผ่านมาก็ได้เปลี่ยนผู้บริหารใหม่แล้ว ยืนยันว่าสถานการณ์ขณะนี้ไม่ได้เลวร้ายไปกว่าเดิม รวมทั้งมีกระบวนการสอบสวนอยู่แล้ว หากเกิดการปล่อยสินเชื่อจนเกิดปัญหาหนี้เสีย

"ปัญหานี้สะสมมา คนที่เกี่ยวข้องในช่วงเวลาในอดีต จากข้อมูลที่ผมเห็น เขาก็เห็นว่ามีปัญหา แต่คงจะไม่แก้ แต่รัฐบาลนี้ไม่มีนโยบายว่าเห็นปัญหาแล้วจะจบ ๆ ไป จะเร่งแก้ไข แต่ต้องไม่หาแพะ อย่าเพิ่งไปสรุปว่ามีกรรมการผู้จัดการใหญ่คนนั้นคนนี้เกี่ยวข้อง บางทีเป็นเจ้าหน้าที่ก็มี ต้องเอาให้ชัดว่า ส่วนไหนเป็นภาวะที่เกิดปัญหาจากการดำเนินงานปกติ ส่วนไหนเกิดจากการปฏิบัติทุจริตมิชอบ และขณะนี้ ยังไม่ต้องควบคุมกิจการของ 2 แบงก์รัฐที่มีปัญหา โดยทั้ง 2 แห่งยังเดินหน้าทำธุรกรรมได้ตามปกติ" นายกิตติรัตน์กล่าว

ตอบกลับอย่างรวดเร็ว

ชื่อ:
การยืนยัน:
กรุณาเว้นช่องนี้ว่างไว้:
พยัญชนะไทยรองตัวสุดท้าย:
shortcuts: กด alt+s เพื่อตั้งกระทู้ หรือ alt+p แสดงตัวอย่าง