ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

มือถือแย่งซีนชิงนำ 4G "ทรูมูฟ" ชน "เอไอเอส" บี้ "ดีแทค"

เริ่มโดย ทีมงานประชาสัมพันธ์, 09:31 น. 26 ก.พ 56

ทีมงานประชาสัมพันธ์

updated: 25 ก.พ. 2556 เวลา 21:47:44 น.
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

ค่าย มือถือชิงซีนผู้นำไฮเทค "ทรูมูฟ" ดึงคลื่น 2.1 GHz พัฒนา 4G พ่วง 3G "เม.ย.นี้" ตัดหน้าคู่แข่งที่เร่งติดตั้งเครือข่าย "เอไอเอส 3G" ตั้งเป้าลูกค้าทะลุ 26 ล้านเลขหมาย "สามารถ ไอ-โมบาย" ขน "แอร์การ์ด-สมาร์ทโฟน" รุ่นใหม่รับ 4G ลุยตลาด

หลัง จาก 3 ค่ายโทรศัพท์มือถือได้รับใบอนุญาตใหม่คลื่น 2.1 GHz จาก "กสทช." เรียบร้อยตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา ทุกเจ้าต่างซุ่มเงียบวางแผนเปิดบริการ โดยก่อนหน้านี้ "เอไอเอส" เป็นเจ้าเดียวที่เปิดเผยชัดเจนว่า กำลังเร่งสปีดติดตั้งโครงข่ายบริการ 3G เต็มพิกัด เพื่อขยายพื้นที่การบริการให้ครอบคลุมกรุงเทพฯและหัวเมืองใหญ่ทั่วประเทศ เร็วที่สุด

โดยก่อนหน้านี้ นายวิเชียร เมฆตระการ หัวหน้าคณะผู้บริหาร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) เปิดเผยว่า ทีมงานภายในบริษัทกำลังเร่งทำงานเต็มที่ เพื่อให้การเปิดบริการ "เอไอเอส 3G" ในเดือน พ.ค.นี้ มีความพร้อมมากที่สุดในทุกด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณภาพบริการ เพื่อเรียกความเชื่อมั่นในเครือข่ายคุณภาพกลับคืนมาอีกครั้ง ทั้งยอมรับว่าในระบบ 2G เอไอเอสเป็นที่ 1 แต่ใน 3G ตามหลังคู่แข่ง

หาก โฟกัสเฉพาะบริการ 3G "ทรูมูฟ เอช" ถือเป็นผู้นำตลาด เพราะเปิดให้บริการก่อนใคร ล่าสุดยังตอกย้ำความเป็นผู้นำอีกครั้ง ด้วยการเปิดตัวบริการ 4G โดยถ่ายทอดสดระบบเอชดีบนช่องทีเอ็นเอ็น ผ่าน 4G เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2555 ที่ผ่านมา

นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า จะเปิดบริการ 4G บนเทคโนโลยี LTE ให้ลูกค้าได้ใช้งานในเดือน เม.ย.นี้ บนคลื่นความถี่ 2.1 GHz ในพื้นที่ใจกลางกรุงเทพฯที่มีการใช้ดาต้าสูงมาก เช่น สยาม, สีลม, สุขุมวิท เป็นต้น โดยจะนำคลื่นความถี่ 2.1 GHz มาพัฒนาบริการทั้ง 3G และ 4G คู่กัน คาดว่าจะเปิดบริการ 4G ได้ในเดือน เม.ย.

"การลงทุน 4G สูงกว่า 3G เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีที่ไม่แพร่หลายนัก เราใช้เงินก้อนเดียวกับที่กู้มาลงทุน 3G คาดว่าลูกค้าที่เข้ามาใช้ 4G ปีนี้ยังมีไม่มากนัก เพราะยังมีมือถือที่รองรับ 4G คลื่น 2.1 น้อยกว่า 5% ของทั้งตลาด ลูกค้าที่จะใช้ต้องเปลี่ยนซิมใหม่ หลังเปิดให้บริการเดือน เม.ย.นี้ เรายังไม่ได้กำหนดราคาแพ็กเกจ บริการ คาดว่าคงสูงกว่า 3G นิดหน่อย ซึ่งลูกค้าต้องดูว่ามือถือของตนรองรับ 4G คลื่น 2.1 GHz หรือไม่ ในไทยตอนนี้มีโนเกียที่รองรับ 4G มีมาเปิดตัวแล้ว 2-3 รุ่น นอกจากนั้นก็มีไอโฟน 5 ไอแพดมินิ และไอแพดเรตินาดิสเพลย์ ส่วนซัมซุงมีแผนเข้ามาในไตรมาส 2"

นายศุภชัยกล่าวว่า อุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยเกิดความเปลี่ยนแปลง และเปิดเสรีมากขึ้น ความถี่ 2.1 GHz ที่ได้มาจากการประมูลไม่ได้จำกัดรูปแบบการใช้เทคโนโลยี ทำให้เอกชนพัฒนาได้รวดเร็ว จุดประสงค์ของกลุ่มทรูมี 3 เรื่อง คือ 1.ต้องการเป็นผู้เปิดให้บริการเป็นรายแรกต่อเนื่องจากการเป็นผู้นำในบริการ 3G และ 2.ต้องการทำให้บริการของทรูมีคุณภาพดีที่สุด มีโครงข่ายครอบคลุมพื้นที่สูงสุด และเรื่องที่ 3 ต้องการนำศักยภาพเรื่องคอนเวอร์เจนซ์มาทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงข้อมูลได้รวด เร็วขึ้น

ปัจจุบันมีสถานีฐานให้บริการ 3G คลื่น 850 MHz จำนวน 10,000 สถานีฐาน วางแผนเพิ่มเป็น 13,000 แห่งภายใน มี.ค.นี้ ทั้งสร้างสถานีฐานสำหรับให้บริการ 3G คลื่น 2.1 GHz ให้ได้ 5,000 แห่งภายในปีนี้ ส่วนฐานลูกค้าตั้งเป้าเพิ่มจาก 20 ล้านคน เป็น 26 ล้านคน ลูกค้าใหม่ส่วนใหญ่เป็นผู้ใช้ 3G และมีแผนขอเลขหมายใหม่จาก กสทช.เพิ่มอีก 10 ล้าน จากที่ขอไปก่อนหน้านี้ 4 ล้าน รวมเป็น 14 ล้านเลขหมาย

"สัมปทาน ทรูมูฟจะหมดอายุ ก.ย.นี้ เราเองพร้อมประมูล แต่ถ้าประมูลไม่ได้ ลูกค้าที่ใช้อยู่ก็ไม่มีปัญหา เพราะมีช่วงเวลาให้ลูกค้าเปลี่ยนผ่านเครือข่ายอีก 1-2 ปี โดยทรูจะรับผิดชอบลูกค้าในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านนี้อย่างต่อเนื่อง"

รายงาน ข่าวแจ้งด้วยว่า บมจ.ทีโอที ได้ทดลองบริการ 4G บนคลื่นความถี่ 2.1 GHz เช่นกัน โดยนำมาโชว์ในงานวันสถาปนาองค์กรในโอกาสครบรอบปีที่ 59 เมื่อวันที่ 22 ก.พ.ที่ผ่านมา และนำไปโชว์ที่พารากอน ระหว่างวันที่ 25-26 ก.พ.นี้ด้วย โดย บมจ.สามารถ คอร์ปอเรชั่น เป็นผู้นำระบบดังกล่าวมาติดตั้งเพื่อให้ทีโอทีได้ทดลองใช้บริการบริเวณสยาม สแควร์

โดยนายวัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.สามารถ คอร์ปอเรชั่น เปิดเผยว่า เตรียมนำโทรศัพท์มือถือ และแอร์การ์ดที่รองรับ 4G เข้ามาทำตลาดด้วย และคาดว่าจะเซ็นสัญญาเป็นตัวแทนทางการตลาดรายใหญ่ หรือเอ็มวีเอ็นโอ ระบบ 3G ของทีโอทีได้ภายในเดือน มี.ค.นี้ โดยบริษัทจะกลับมารุกทำตลาด บริการ "ไอโมบาย 3GX" เนื่องจากเครือข่ายการให้บริการมีความครอบคลุมมากกว่าเดิม

ด้าน ดร.เจษฎา ศิวรักษ์ เลขานุการรองประธาน กสทช. พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ กล่าวว่า การให้ใบอนุญาตให้ใช้คลื่น 2.1 GHz ที่ผ่านมา แม้ส่วนใหญ่จะเรียกว่าใบอนุญาต 3G แต่ในเงื่อนไขไม่ได้จำกัดว่าต้องนำไปให้บริการ 3G เท่านั้น แต่ครอบคลุมไปถึงการให้ใบอนุญาต 4G และ 5G ด้วย หากผู้ให้บริการรายใดพร้อมก็เปิดให้บริการ 4G ได้ทันที

"โอ เปอเรเตอร์ขณะนี้ต้องการชิงความเป็นผู้นำ และสร้างอิมเมจก่อนคนอื่น เชื่อว่าในการเปิดตัว 3G ในไตรมาส 2 จะเห็นการนำ 4G มาสร้างกิมมิกทางการตลาดด้วย แต่กว่าจะได้เห็นการใช้จริงจังคง 3-4 ปีข้างหน้า สำหรับการนำคลื่น 2.1 GHz มาให้บริการ 4G-LTE ปัจจุบันมีเพียงญี่ปุ่น เพราะเทรนด์ทั่วโลกนิยมเปิด LTE บนคลื่น 1800 MHz มากกว่า"