ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

'นิรโทษกรรม'ทำเพื่อบ้านเมือง ถ้าจะคลุมไปถึง'ทักษิณ'ด้วย ก็ช่วยไม่ได้

เริ่มโดย itplaza, 10:18 น. 12 มี.ค 56

itplaza




หลากหลายคำพูดพรั่งพรูออกจากปากนักการเมืองมากหน้าหลายตา ถึงเวลานี้ เวลาแห่งเกมการเมือง ท่ามกลางกระแสข่าวลือถึงการปรับคณะรัฐมนตรีครั้งใหญ่ อันเนื่องมาจากหลากหลายสาเหตุที่อาจดูแล้วสมควรแก่เวลา พรรคการเมืองอย่างพรรคภูมิใจไทย ที่จะว่าไปตั้งแต่เปลี่ยนหัวขบวนใหม่ ก็รักษาสถานภาพตัวเองอย่างชนิดที่คนการเมืองเรียกว่า "เล่นเป็น" มาตลอด กระทั่งมาถึงวันนี้ วันที่มีข่าวลือกันหนาหูว่าพรรคภูมิใจไทยเตรียมก้าวเข้ามาร่วมรัฐบาล โดยขอสร้างผลงานชิ้นแรกด้วยการผลักดันการนิรโทษกรรมให้เป็นผลสำเร็จในปีนี้ให้จงได้ มันเป็นเช่นนั้นจริงหรือ ? ต้องฟังจากปากคนนี้คนเดียว ...อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยคนปัจจุบัน


ไทยรัฐออนไลน์มีโอกาสได้สัมภาษณ์นายอนุทิน ชาญวีรกูล ถึงที่มาของข่าวลือเกี่ยวกับการเดินทางไปพบ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กระทั่งมีข่าวลือห้อยท้ายพ่วงการเดินทางครั้งนั้นว่า ได้ตกปากรับคำที่จะร่วมมือกับรัฐบาลในการผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรม เพื่อนำพาคนไกลบ้านอย่าง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ให้มีโอกาสกลับมาเหยียบผืนแผ่นดินไทยอีกครั้งในปีนี้ ความจริงเป็นเช่นไร ?

อนุทิน : "ถ้าถามว่าเจอทักษิณไหม ก็บอกได้ว่า เจอ...เมื่อต้นปี แต่ยืนยันว่าไม่ได้ไปพบในเรื่องของการเมืองเลย ไปครั้งนั้น เดินทางไปพร้อมคุณวัฒนา เมืองสุข ไปเยี่ยมเยียนในฐานะผู้หลักผู้ใหญ่เท่านั้นไม่มีการเมืองเกี่ยวข้อง ไปซินเจียยู่อี่ ตามปกติ ส่วนที่ลือกันต่างๆ นานานั้น พอได้ยินบ้าง เป็นการนั่งเทียนเขียนคำเล่าอ้างไปเรื่อย ไปวิเคราะห์กันเอง ซึ่งบอกตามตรงว่าตั้งแต่แยกตัวมาทำพรรคภูมิใจไทย มีการพบ พ.ต.ท.ทักษิณ 3-4 ครั้งเท่านั้น ซึ่งการพบในทุกครั้งเป็นการพบในลักษณะของคนที่เคารพนับถือกัน ปกติก็ไม่มีสิทธิที่จะไปเรียกร้องอะไรในทางการเมืองอยู่แล้ว"



"ผมเชื่อมั่นในการเมืองแบบเดิมๆ ผมเติบโตมาในพรรคการเมืองของ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เพราะฉะนั้น ผมจึงเชื่อในการทำการเมืองแบบ พล.อ.ชาติชาย บทบาทก็ว่ากันไปใครเป็นรัฐบาล ใครเป็นฝ่ายค้าน แต่ในเรื่องความสัมพันธ์ส่วนตัว ผมจะไม่เป็นศัตรูกับใครเด็ดขาด ที่ผ่านมาขณะที่พรรคภูมิใจไทยมีบทบาทสูงในรัฐบาลที่แล้ว พรรคก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไรจากบทบาท หรืออำนาจที่มีไปกลั่นแกล้งใคร หรือไปสร้างอุปสรรคให้ฝ่ายไหน เพราะสไตล์ของผม ถือว่า การเมืองก็คือ บทบาทอย่างหนึ่ง หากบทบาทนั้นมีเพื่อให้บริหารราชการแผ่นดิน ก็ทำไปตามหน้าที่บทบาทให้เต็มที่ แต่หากว่าบทบาทนั้นกำหนดให้เราเป็นฝ่ายตรวจสอบ เป็นฝ่ายค้าน เราก็ทำหน้าที่ตรวจสอบไป ส่วนตัวไม่เกี่ยว ซึ่งยืนยันอีกครั้งว่าการเดินทางไปพบ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่มีการไปพูดคุยเรื่องการเมือง"

"หากรู้จักผมดี จะรู้ว่าถ้าผมจะทำอะไร ต้องดูจังหวะเสมอ ดังนั้นถามว่าเวลานี้หากผมไปตบปากรับคำอะไรมา แล้วประโยชน์อะไรจะเกิดขึ้นในพรรค ซึ่งส่วนตัวรู้สึกตลกเวลาใครมองแต่ด้านเดียวว่า ผมคิดจะเข้าไปเสียบเป็นรัฐบาลอยู่ตลอดเวลา ซึ่งอยากให้มองว่า ในเรื่องงาน ผมมีธุรกิจ มีงานอื่นต้องทำ ส่วนในทางการเมืองเวลานี้ผม ไม่ใช่ ส.ส. เป็นหัวหน้าพรรคก็จริง แต่ไม่ได้เป็นรัฐบาล ประชุมพรรคอาทิตย์ละครั้ง การทำงานอยู่ในสมอง ไม่ต้องใช้เวลานั่งสำนักงานตลอดเวลา แล้วพรรคแกนนำรัฐบาลขณะนี้ พรรคเดียว มีเสียงเกินกึ่งหนึ่งอยู่แล้ว ดังนั้นถามว่าผมจะเอาอะไรไปต่อรอง ในเมื่อพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลไม่มีความจำเป็นต้องใช้เสียงที่พรรคภูมิใจไทยมีอยู่ ก็สามารถขับเคลื่อนอะไรได้เองอยู่แล้ว และหากคิดจะเสียบเข้าร่วมรัฐบาลจริง เวลานี้คงต้องใส่สูทผูกไทไปนั่งรอพบใครต่อใครแล้ว คงไม่ว่างมานั่งให้สัมภาษณ์แบบนี้หรอก"


กลุ่มก๊วนในพรรคภูมิใจไทยชัดเจนแค่ไหนที่แยกตัวออกไป เกิดจากความขัดแย้งกันใช่หรือไม่ ?

อนุทิน : "กลุ่มคุณสมศักดิ์ เทพสุทิน ที่แยกออกไปนั้น เพราะต่างคนต่างก็มีแนวทางของตนเอง ท่านสมศักดิ์ ท่านอาจมีความอึดอัดในการนำพาของผม ส่วนตัวคิดว่าการที่เราไม่ได้โกรธอะไรกันแล้วต่างคนต่างเดินไปตามทางของตนเอง มันเป็นสิ่งที่ดี สามารถทำให้ในอนาคตสามารถมองหน้ากัน คุยกัน มีปัญหาอะไนก็ยังช่วยเหลือเกื้อกูลกันได้ แต่ในเรื่องของระบบการบริหารจัดการภายในพรรคต่างคนก็จะไม่อึดอัดกันทั้งสองฝ่าย ส่วนเหตุแห่งการแยกตัวนั้น มองได้ว่าอาจเป็นเพราะกลุ่มก๊วนของตนเองได้ก้าวขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรค ซึ่งอาจยังไม่เป็นที่ยอมรับ แต่หากว่ากลุ่มก๊วนคุณเนวิน เข้ามาเป็นหัวหน้าพรรค ท่านสมศักดิ์ ก็อาจจะอยู่ต่อก็ได้ แต่ครั้งนี้กลายเป็นผม เรื่องการยอมรับอาจจะไม่มากเท่าท่านอื่น"



"แต่นั่นไม่สำคัญเพราะส่วนตัวให้ความสำคัญกับหน้าที่มากกว่า เมื่อเราก้าวเข้ามาแล้วเป็นหัวหน้าพรรคแล้ว ก็ต้องทำตัวให้เป็นหัวหน้าพรรค ซึ่งขณะนี้กลุ่มท่านสมศักดิ์ที่แยกไปก็มี 7 คน ส่วนอีก 2 ท่านที่แยกไปครั้งหลังเป็นท่านที่ต้องการกลับไปที่พรรคเพื่อไทยอยู่แล้ว ซึ่งไม่เกี่ยวกัน ใครรับได้ก็อยู่ ใครรับไม่ได้ก็แยกออกไป ซึ่งก็ถือว่าแฟร์ดี ผมมองว่าการทำงานไม่ว่าจะเป็นงานธุรกิจส่วนตัว หรืองานพรรคการเมือง ผมเชื่อในเรื่องของทีม ใครที่จะเดินต่อไปด้วยกันก็ต้อง เชื่อมั่นในตัวหัวหน้าพรรค และเดินไปด้วยกัน เพราะฉะนั้นคนที่ไม่ไปด้วยกัน คนที่ไม่ยอมรับในการนำของผม ก็ต้องขอบคุณที่แยกตัวออกไปก่อน ก่อนที่ผมต้องเอ่ยปากอะไรออกมา ซึ่งจำนวนที่คนเหลืออยู่นั้น ผมเองพอใจ พอใจแล้วกับการครองตำแหน่งพรรคการเมืองลำดับที่สาม"

กังวลหรือไม่กับการเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาระหว่างการเป็นรัฐบาล และฝ่ายค้าน ?

อนุทิน : ก็เห็นเป็นเรื่องปกติ สมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย พรรคชาติพัฒนา เป็นฝ่ายค้านตอนต้น พอกลางเทอม ก็กลับเข้ามาร่วมรัฐบาล สมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ พรรคท่านสุวัจน์ เป็นฝ่ายค้าน พอผ่านไป ก็กลับมาร่วมรัฐบาล ซึ่งตนเองก็ได้เข้ามาในช่วงนั้นเช่นกัน กระทั่งอยู่กันต่อไปไม่นานก็กลับไปเป็นฝ่ายค้านอีก ซึ่งมองว่าเรื่องการเมืองนั้น อะไรก็เกิดขึ้นได้ ไม่มีอะไรที่เป็นเรื่องตายตัว พรรคเพื่อแผ่นดินสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ ยกมือไม่ไว้วางใจรัฐบาลเองก็เคยเกิดขึ้น อะไรก็เกิดขึ้นได้ แต่อย่าทำให้บ้านเมืองเสียหาย


ข่าวลือที่บอกว่ามีการต่อรองเรื่องการผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมเป็นอย่างไร ?

อนุทิน : "นักการเมืองอาชีพ จะไม่มีการต่อรองแบบนี้ การต่อรองต้องมีเรื่องของส่วนร่วมของประเทศชาติเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ไม่มีนักการเมืองอาชีพคนไหนที่จะมาต่อรองเฉพาะผลประโยชน์ของตัวเอง ส่วนที่มีข่าวเกี่ยวกับการนิรโทษกรรมที่พาดพิงมาถึงผมด้วยนั้น อยากอธิบายว่า ที่ผ่านมากลุ่มก๊วนพรรคภูมิใจไทยถูกกล่าวหาว่าเนรคุณ หักหลัง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร สิ่งเดี่ยวที่จะพิสูจน์ได้ว่าในขณะที่เราตัดสินใจเรื่องเหล่านั้นไปนั้น มันเป็นเรื่องความอยู่รอดของบ้านเมือง ความอยู่รอดของสภาผู้แทนราษฎรจริงๆ ซึ่งเหล่านี้เป็นเหตุให้พรรคภูมิใจไทย ต้องตัดสินใจทางการเมืองบางสิ่งบางอย่างขณะนั้น แต่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องของการเนรคุณ ทรยศ หักหลังอะไรเลย"



"ดังนั้นสิ่งใดที่เราทำแล้วส่งผลให้เกิดเป็นคุณกับบ้านเมือง กับผู้ที่เดือดร้อนจากการปฏิวัติรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549  ซึ่งถ้ามันจะพาดไปคลุมท่านทักษิณ ด้วย ก็ช่วยไม่ได้ เป็นการสะท้อนให้เห็นการทำงานของพรรคภูมิใจไทยว่าเป็นมืออาชีพ เราไม่ต้องการเห็นใครฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไปรับโทษทางอาญา ติดคุก ติดตะรางด้วยอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกัน เกมมันพาไปให้เกิดการเผชิญหน้า จนที่สุดก็พัฒนานำพาไปสู่ความรุนแรง แต่เรื่องที่เกิดมันก็ด้วยกันทั้งสองฝ่าย พอเกิดเรื่องแล้วก็มานั่งคิดกันแต่ว่าจะห้ำหั่นกัน จะเอาฝ่ายหนึ่งเข้าคุก แต่ตนเองต้องไม่ติดคุก ฝ่ายเราทำไม่ผิด แต่อีกฝ่ายหนึ่งทำเหมือนกันกลับผิด ที่สุดคืออะไรประเทศไทยตกเป็นตัวประกัน คนไทยในประเทศกลายเป็นตัวประกันไปหมด"

"ถามว่าตลอดเวลาที่ทำกันมา ชีวิตดีขึ้นไหม รวยขึ้นกันไหม สังคมดีขึ้นไหม พอสังคมแตกแยก ทุกคนก็จะคิดถึงแต่ประโยชน์ตนเอง กอบโกยกันไป คนที่มีอำนาจก็กอบโกยได้มาก จึงเป็นเหตุให้พรรคภูมิใจไทยต้องคิดว่าทำไมไม่ทำให้เท่าเทียมกัน เลิกแล้วต่อกัน แล้วดึงเรื่องความขัดแย้งเข้ามาทะเลาะกันในระบบ ให้เข้าสู่สภา ถ้ามันมีกลไกอะไรที่ทำให้ต่างฝ่ายต่างเลิกแล้วต่อกันได้ ก็น่าจะดี คนที่ติดคุกติดตะรางอยู่ เขาก็ไม่ได้รู้เรื่องอะไรด้วย ซึ่งก็ไม่ถูก หากคนที่มีอำนาจต่อรองน้อยที่สุดเช่นคนกลุ่มนี้ต้องรับเคราะห์ไป เราก็ต้องหากลไกดึงคนกลุ่มนี้ให้พ้นจากการรับโทษที่เป็นความขัดแย้งทางความคิด อุดมการณ์ "


มองอย่างไรหากการนิรโทษกรรมต้องมีการยกเว้นใครคนใดคนหนึ่ง ?

อนุทิน : "ผมขอแค่ว่าให้เรามีจิตใจทำโดยบริสุทธิ์ใจ วันนี้ผมไม่ใช่เจ้าภาพในเรื่องนิรโทษกรรม ครั้งหนึ่งสมัยที่พรรคภูมิใจไทยร่วมรัฐบาล เราเป็นผู้เสนอกฎหมายนี้ แต่ตอนนั้นไม่ได้ครอบคลุมเยอะขนาดนี้ พอเวลาผ่านไป บ้านเมืองเปลี่ยน สถานการณ์เปลี่ยน การจะเพิ่มอะไรให้ครอบคลุมได้ทั่วถึงมากขึ้นก็ไม่น่ามีปัญหา แต่ไม่ใช่ไปออกกฎหมายว่ายกเว้นนิรโทษกรรมให้บุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือจำเพาะเจาะจงกลุ่มคนใดกลุ่มคนหนึ่ง อย่างนั้นทำไม่ได้ ถ้าหากจะทำ เราก็คงไม่เข้าร่วมด้วย แต่สิ่งที่เราพูดถึงอยู่นี้คือภาพรวม ซึ่งหากว่าภาพรวมมันกวาดไปถึงใครก็ช่วยไม่ได้จริงๆ ยกตัวอย่างเช่นถ้าผมถือหุ้น ปตท.อยู่แล้ววันหนึ่ง ปตท.ได้สัมปทานก๊าซธรรมชาติในต่างประเทศ หุ้นที่ผมถืออยู่ราคาก็ต้องขึ้น จะบอกว่าให้ปตท.ออกกฎให้ผมได้ประโยชน์คนเดียวก็คงไม่ใช่ เพราะใครถือหุ้นก็ได้ประโยชน์ด้วยกันทั้งหมด ไม่ได้เฉพาะเจาะจงอะไรเลย"

"วันนี้ผมยืนยันว่าไม่ใช่เจ้าภาพเรื่องนี้ แต่เป็นผู้เสนอความคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้ ว่าควรจะมีความปรองดองและนำไปสู่การนิรโทษกรรม แต่เนื้อหาข้อกฎหมายก็เป็นเรื่องของฝ่ายนิติบัญญัติ เราก็คงจะมีส่วนหนึ่งในนั้นด้วย ขณะนี้มี 3-4 ร่างที่อาจมีความแตกต่าง แต่สุดท้ายก็เป็นเรื่องของรัฐบาล หรือพรรคเสียงข้างมาก ซึ่งหากเขาเห็นด้วยก็บัญญัติออกมา ส่วนที่ว่าอาจมีกลุ่มก้อนที่ไม่เห็นด้วยค้านหัวชนฝาโดยเฉพาะไม่ต้องการให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้รับการนิรโทษกรรมด้วยนั้นคงยาก เพราะหากกฎหมายที่บัญญัติออกมาครอบคลุมถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ต้องให้เขารับผลของกฎหมายนั้นไปด้วย จะไปบอกว่าให้คนอื่นแต่ไม่ให้ทักษิณ หรือให้แค่ทักษิณ ไม่ให้คนอื่นก็ไม่ได้เช่นกัน"



"กฎหมายมันเป็นเรื่องของมหาชน ไม่ใช่เพื่อใครคนใดคนหนึ่ง ซึ่งพูดตรงๆ หากว่าประชาธิปัตย์ที่ยืนธงชัดเจนว่าไม่เอา พ.ต.ท.ทักษิณ ก็อยากให้มองว่าเราอยู่ในระบบอะไร ในระบบประชาธิปไตย ถ้าเสียงข้างมากเห็นด้วย แล้วเสียงข้างน้อยไม่เห็นด้วย ดึงดันขวางทางก็ไม่ใช่ประชาธิปไตย ต้องคิดว่าการนำเรื่องเข้ามาถกกันในระบบ แม้จะไม่เห็นด้วย ซึ่งอย่าไปพูดว่าเพียงประชาธิปัตย์ เพราะอาจมีคนอื่นที่ไม่เห็นด้วยอีก แต่ถึงอย่างไร กลุ่มต่างๆ เหล่านั้น ทั้งพรรคประชาธิปัตย์เอง ก็จะได้ใช้สิทธิของตนเองทักท้วงตามระบอบ เพียงแต่ต้องเคารพในเสียงส่วนใหญ่ ที่เราเรียกกันว่าประชาธิปไตย ก็มาวัดกันที่โหวต แต่หากว่าไม่เห็นด้วยแล้วไปนำมวลชนมา ตีกัน กดดันกัน มันก็ไม่จบ คนที่มาชุมนุมก็ติดคุกติดตาราง แต่ตัวต้นทางไม่เห็นต้องรับโทษอะไร แล้วบ้านเมืองจะเดินยังไงถ้าไม่รับกติกา ทุกอย่างมันก็ไม่จบ"

ทางออกที่ดีและเหมาะสมของการพาประเทศไทยคืนสู่ความเป็นปกติคืออะไร ?

อนุทิน : "ถ้าดีที่สุดคือ รีเซ็ต ใหม่ซึ่งที่ผ่านมากลุ่มการเมืองนอกรัฐสภา ต่างก็ได้รับผลกระทบทางกฎหมายไปแทบจะพอๆ กันทั้งสองฝ่ายแล้ว มันจึงน่าจะถึงเวลาที่จะต้องกดรีเซ็ต เพื่อดึงทั้งหมดกลับเข้าสู่กติกากันใหม่ แล้วแก้ไขปัญหากันด้วยระบบด้วยกลไกที่มีอยู่ ดังนั้นคนที่ยอม รีเซ็ต กลับเข้าสู่กระบวนการ จึงมองได้ว่าเป็นกลุ่มที่ต้องการเห็นบ้านเมืองสงบสุข ส่วนกลุ่มไหนไม่ยอมรับกติกา ก็คงต้องมองว่าเป็นกลุ่มที่ไม่ต้องการเห็นบ้านเมืองสงบสุข เพื่อหวังผลประโยชน์อะไรก็แล้วแต่ ซึ่งหากผมพูดไปแบบนี้ คนที่ไม่เห็นด้วยก็อาจมองว่าผมพูดเอื้อประโยชน์ แบะท่ารอเข้าร่วมรัฐบาล ซึ่งยืนยันได้เลยว่าไม่ใช่"

"ผมเชื่ออย่างหนึ่งว่าประเทศจะเจริญก้าวหน้าได้ การเมืองต้องเข้มแข็ง ซึ่งวันนี้ถือว่าการเมืองบ้านเราเริ่มเข้มแข็ง ที่ต้องมองต่อไปก็คือเรื่อง เศรษฐกิจที่ต้องเข้มแข็งตามมา การเมืองทุกวันนี้ เข้มแข็งในเรื่องของระบบรัฐสภา แต่การขัดแย้งกัน ยังคงมีอยู่ในสังคม เศรษฐกิจเดินหน้าไม่ได้  ผมเคยให้สัมภาษณ์หลายครั้งแล้วว่าคนอย่างผม ถ้าบ้านเมืองดี เศรษฐกิจดี สังคมดี ผู้คนอยู่ดีกินดี เป็นปกติ ที่ทำทั้งหมดไม่เกี่ยวกับเรื่องร่วมรัฐบาลเลย ซึ่งหากบ้านเมืองเป็นได้อย่างนั้นจริง ผมอาจเลิกเล่นการเมืองเลยก็ได้ เพราะถ้าบ้านเมืองสงบสุข เดินหน้าได้ ผมก็ยังมีอย่างอื่นให้ทำอีกมากมายที่จะสร้างความสุขให้ครอบครัวพี่น้องบริวาร มีสิ่งอื่นให้ทำอีกเยอะมากกว่าการเมือง วันนี้ที่ผมต้องอยู่ในการเมือง ก็เพราะมันลากถูกันมาตั้งแต่ปฏิวัติ ซึ่งผมคงทิ้งพรรคพวกเพื่อนฝูงไม่ได้"


จากนี้ไปจะเห็น ภท.ในเรื่องการสร้างความปรองดองมากแค่ไหน ?

อนุทิน : "ปรองดองของพรรคภูมิใจไทยที่เคยเสนอเข้าสภาไป มีไม่ครอบคลุมทั้งสองฝ่าย หากต้องคิดกันจริงๆ ก็ปรับได้ หลักการปรองดองควรที่จะครอบคลุมหมดไม่ควรเว้นฝ่ายใด คนที่ควรจะไม่เกี่ยว คือคนที่ออกคำสั่งด้วยเจตนารมณ์ที่ไม่ดี เรื่องการปรองดองมันอยู่ที่ว่าเราจะมีประโยชน์ในการร่วมกันทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นแค่ไหน ถึงเวลาจริงๆ เราไม่ค้านหรอก เพราะเรื่องการปรองดองมันค้านกันไม่ได้ แต่เนื้อหาเป็นอย่างไรต้องมาดูกันก่อน ความคิดของ พรรคภูมิใจไทยคือ ความปรองดองจะเกิดขึ้นได้ คู่กรณีทั้งสองฝ่ายต้องยอมถอยกลับเข้าที่ตั้ง แล้วเดินออกมาใหม่ใต้กฎเกณฑ์ใหม่ที่จะตราออกมาในระบบประชาธิปไตยที่ต้องฟังเสียงข้างมาก"



"ซึ่งอนาคตหากมีใครไม่ยอมรับ หาว่าเสียงข้างมากเป็นเผด็จการรัฐสภาอีก มันก็เป็นสิ่งที่พูดไปได้เรื่อย ซึ่งก็ไม่ถูกแล้ว อภิปรายไม่ไว้วางใจแล้วไม่สามารถล้มรัฐบาลได้ ก็ไปจัดม็อบมาไล่ แบบนี้มันก็ไม่ใช่ ซึ่งถ้าคุณจะเก่งจริงก็หาเสียงเลือกตั้งกันตามวิถีทางให้ได้ ส.ส.มาเป็นเสียงข้างมากซิ ทำกันตามกติกา ไม่ใช่ยิ่งว่าเขาก็ยิ่งแพ้ ส่วนเวลานี้คนเข้าใจเรื่องความไม่ถูกต้องของการจัดม็อบกดดัน ไม่ทำตามกติกามากขึ้นไหมนั้น เท่าที่สังเกตดู 2-3 ปีที่ผ่านมา ก็ไม่เห็นมีความผิดปกติเรื่องการชุมนุม แล้วถามว่า 2-3 ปีที่ผ่านมา ชีวิตดีขึ้นไหม ซึ่งส่วนตัวขนาดตนเองอยู่ฝ่ายค้านยังรู้สึกว่ามันดีขึ้น ขอให้บ้านเมืองสงบ หากบ้านเมืองสงบ คนก็จะสามารถคิดอ่านอะไรได้ด้วยความมั่นใจมากขึ้น สมัย 7-8 ปีก่อนประเทศไทยมีผู้นำคนหนึ่งที่สามารถทำให้ไทย เป็นชาติที่ยิ่งใหญ่ในสายตาชาวต่างชาติได้ ซึ่งผมก็อยากเห็นประเทศไทยเป็นแบบนั้น เพราะหลังจากวันนั้นมา จนถึงวันนี้ ผมยังไม่รู้เลยว่าตอนนี้ประเทศไทยยืนอยู่ตรงไหน ในสายตาประชาคมโลก"


เรื่องการนิรโทษกรรม ปีนี้จะสำเร็จไหม ?

อนุทิน : "ในมุมพรรคภูมิใจไทย อะไรที่ทำแล้วเกิดความปรองดอง เกิดความสงบ พรรคสนับสนุน บทสรุปมีเท่านี้ แต่ต้องเดินกันไปในสภา วันนี้พรรคภูมิใจไทยมีแค่ 24 เสียงหากมีการโหวตก็จะได้ 24 เสียง ส่วนชนะหรือไม่ เป็นเรื่องของพรรคใหญ่ การเมืองสำหรับผมนั้นมีรูปแบบของผมเอง ซึ่งไม่ได้ซีเรียสกับการทำหน้าที่หัวหน้าพรรค แม้จะเป็นฝ่ายค้านก็ตาม ก็ไม่ได้เดือดร้อนอะไร  ซึ่งมองว่าคนที่จะเดือดเนื้อร้อน ใจ อาจมีบางส่วน โดยเฉพาะคนที่เคยเป็นรัฐมนตรี มีอำนาจ บารมี มีคนติดตาม ไปไหนมาไหน รถหวอนำ ผู้ว่าฯ ต้อนรับสารพัด แต่มาวันหนึ่งหากเป็นสถานะแค่ ส.ส. ซ้ำเป็นฝ่ายค้าน อาจจะรู้สึกเดือดเนื้อร้อนใจ มันอยู่ในใจตัวเอง แบบนี้อาจจะไม่ค่อยสบายใจ แต่บางคนอาจจะปรับตัวได้ เช่น นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล คุณพ่อผม ซึ่งท่านกลับสบายใจมากกับการที่ไม่ต้องทำหน้าที่เหล่านั้น"



"แต่สำหรับผม หรือคุณเนวิน หรือคนอื่นๆ อีกหลายคน เราเจอเรื่องขึ้นๆ ลงๆ แบบนี้มาเยอะแล้ว 18 ก.ย. 49 ยังเป็นประธานกดปุ่มเปิดแพรคลุมป้าย 19 ก.ย.49 กลับเข้าบ้านตัวเองยังไม่ได้ เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นและเจอกันมาหมดแล้ว เพราะฉะนั้นในทางการเมืองเวลานี้ ผมจึงไม่ได้เดือดร้อนอะไรที่จะต้องไปดิ้นรนต่อรอง หาอำนาจอะไร"

"การต่อรองเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเสมอ แต่ต้องดูช่วงเวลา ช่วงจังหวะและผลที่จะเกิดกับประเทศชาติ พรรคภูมิใจไทยเป็นตัวของตัวเอง หากวันหนึ่งเราทำหน้าที่ร่วมรัฐบาล เราก็ใช้อำนาจหน้าที่ที่มีทำหน้าที่ไป ให้เกิดประโยชน์กับประเทศชาติ ประชาชน และต้องเกิดประโยชน์กับพรรคด้วย ในเรื่องการทำให้เกิดความนิยมให้ได้ แต่ถามว่าวันนี้มีที่ตรงไหนให้พรรคภูมิใจไทยยืนในการร่วมรัฐบาล มันไม่มีไง ต้องคิดในเชิงการเมืองก่อน มองในมุมการเมืองมันไม่มีที่ให้พรรคภูมิใจไทย มันเป็นหลักความจริงเลย ซึ่งไม่ได้เกิดจากการคาดเดา ซึ่งข่าวลือต่างๆ นานา ว่า ภท.จะเข้าร่วมรัฐบาล อาจเกิดจากความกลัว และการคาดเดาของบางกลุ่มที่คิด ว่าพรรคภูมิใจไทยจะเข้ามาร่วมรัฐบาล จึงประมวลเรื่องราวกันเองเอง แต่ไม่ต้องไปคิดเองหรอก วันนี้ยังไม่มีที่ยืนจริงๆ ลำพังแค่พรรคแกนนำตำแหน่งรัฐมนตรียังไม่พอจะแบ่งให้กันเองเลย เพราะต้องแชร์ไปตามอัตราส่วนให้พรรคร่วมรัฐบาล"

"อยู่ดีๆ พรรคภูมิใจไทยจะก้าวเข้าไปรับกระทรวงเกรด B เกรด A แล้วพรรคแกนนำจะตอบพรรคร่วมรัฐบาลพรรคอื่นว่าอย่างไร และตัวพรรคภูมิใจไทยเอง ในฐานะที่เป็นพรรคการเมืองลำดับที่ 3 โดยสภาพก็ต้องคงสถานะไปอย่างนี้ จนกว่าจะมีการเลือกตั้งใหม่ หรือจนกว่าจะมีการเขี่ยใครในรัฐบาลนี้ออก ซึ่งก็ยังไม่เห็นความจำเป็นว่าอยู่ดีๆ พรรคแกนนำจะไปเอาใครออกจากการร่วมรัฐบาลเพื่ออะไร เพราะเท่าที่ดูด้วยสายตา ทุกคนที่ร่วมรัฐบาลก็มีความสนิทสนมคุ้นเคย และมากกว่าแกนนำพรรคภูมิใจไทยเองด้วยซ้ำ ซึ่งยืนยันว่ายังไม่คิดในเรื่องการร่วมรัฐบาลจริงๆ"

สรุปความอย่างย่อจากการพูดคุยกับหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย นายอนุทิน ชาญวีรกูล ในสาระสำคัญคือ อนุทิน รับว่าได้เคยเดินทางไปพบ พ.ต.ท.ทักษิณ จริง แต่ไม่เคยเอ่ยปากกันเรื่องการเมือง ซึ่งหมายความรวมว่าไม่ได้ไปรับงานผลักดันเรื่องนิรโทษกรรม แต่การออกตัวเรื่องนิรโทษกรรมเนื่องด้วยเพราะภาพรวมบ้านเมืองจำเป็นต้องเดินหน้า ความขัดแย้งต้องถูกแก้ด้วยกติกา ส่วนจะนำพาประโยชน์สู่ "คนไกล" ด้วยไหม ช่วยไม่ได้ ที่สำคัญอีกข้อคือ ยืนยันกระต่ายขาเดียว ณ เวลานี้ ยังไม่คิดร่วมรัฐบาลแน่นอน

แต่การเมืองก็ยังคงเป็นการเมืองอย่างที่บอก โบราณว่าไว้อะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้ หากการต่อรองเป็นเรื่องสมเหตุ สมผล และสมประโยชน์ อนาคตอาจมีเหตุโดดเดี่ยวพรรคใหญ่ในมุมฝ่ายค้านเกิดขึ้นบ้างก็ได้ ใครจะรู้ ??


อ้างอิง : ไทยรัฐ
ที่มา : http://itplaza.co.th/update_details.php?type_id=1&news_id=25364&page=1