ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

“ม.อ.” ห่วงท่องเที่ยวนำเชื้อราร้ายคุกคาม “กบ” บน “ตะรุเตา”ร่

เริ่มโดย ทีมงานประชาสัมพันธ์, 09:58 น. 16 พ.ค 56

ทีมงานประชาสัมพันธ์

"ม.อ." ห่วงท่องเที่ยวนำเชื้อราร้ายคุกคาม "กบ" บน "ตะรุเตา"ร่วมนานาชาติปลุกสำนึกอนุรักษ์ และพัฒนาวิธีตรวจเชื้อ

นักวิชาการ ม.อ. ห่วงนักท่องเที่ยวนำเชื้อรา "ไคทริต" ลามกระทบ "กบ" บนเกาะตะรุเตา หลังทำกบเกือบทั่วโลกสูญพันธุ์ และพบเชื้อในคางคกป่าที่สงขลา  ร่วมสถาบันจากอังกฤษเร่งให้ความรู้เจ้าหน้าที่ นักศึกษา นักท่องเที่ยว และหาวิธีการตรวจเชื้อก่อนข้ามมาทำลายตัวเชื่อมโยงสายใยอาหารของระบบนิเวศของเกาะ


[attach=1]

ดร. ศันสรียา วังกุลางกูร ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) เปิดเผยว่า ในปัจจุบัน นักชีววิทยากำลังให้ความสนใจกับการระบาดของเชื้อราสายพันธุ์เก่าแก่ชนิดหนึ่ง ชื่อ "ไคทริต (Chytrid)" ซึ่งมีผลกับสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำเช่นกบ  ที่ได้ทำให้เกิดการตายของกบไปทั่วโลก  จากข้อมูลพบว่าทั่วโลกมีเชื้อราไคทริดประมาณ 1,000 สายพันธุ์ทั้งในน้ำและในพื้นที่ชื้น โดยเชื้อราไคทริด ชนิด Batrachochytrium dendrobatidis หรือเรียกสั้น ๆ ว่า BD สามารถเติบโตได้ดีบนผิวหนังกบ ทำให้เกิดการติดเชื้อในกบมากกว่า 6,000 ชนิดทั่วโลก และทำให้มีลดจำนวนลงอย่างรวดเร็วรุนแรงถึงสูญพันธุ์   การระบาดนี้อาจกินเวลาเพียง 2-3 สัปดาห์เท่านั้น เนื่องจากสปอร์ของเชื้อราสามารถติดไปกับดินใต้พื้นรองเท้า หรือบนเสื้อผ้า อุปกรณ์ของนักท่องเที่ยว จึงมีการแพร่กระจายของเชื้อราชนิดนี้ไปทั่วโลกได้อย่างรวดเร็ว

เมื่อไม่นานมานี้ นักวิชาการของมหาวิทยาลัย ร่วมกับ Dr. Judit Voros จากพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา ฮังการี ได้มีการตรวจพบเชื้อราไคทริดบนผิวหนังคางคกแคระบนเขาคอหงส์ ซึ่งเป็นพื้นที่ติดกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ซึ่งเป็นการพบเชื้อราไคทริดในธรรมชาติเป็นครั้งแรกในไทย  ประกอบกับประเทศไทยเป็นประเทศที่มีรายได้จากการท่องเที่ยว และมีนักท่องเที่ยวเดินทางทั่วประเทศจำนวนมาก จึงมีความเสี่ยงที่จะเกิดการระบาดของเชื้อราชนิดนี้
ดังนั้น  ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จึงร่วมมือกับสถาบันฮาร์ริสัน (Harrison institute) ประเทศอังกฤษ โดยการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนรัฟฟอร์ด (Rufford Small Grants Foundation) ประเทศอังกฤษ  ได้ดำเนินการสำรวจเพื่อป้องกันการระบาดของเชื้อราดังกล่าวในแหล่งท่องเที่ยวภาคใต้ โดยมุ่งสำรวจที่อุทยานแห่งชาติตรุเตา จังหวัดสตูล ซึ่งจากการสุ่มตรวจเชื้อราไคทริด ยังไม่พบการติดเชื้อหรืออาการที่ส่อให้เห็นว่ามีการติดเชื้อของกบบนเกาะตะรุเตา  แต่ยังคงต้องเฝ้าติดตามต่อไป โดยมีการได้จัดอบรมเจ้าหน้าที่ในอุทยานแห่งชาติตะรุเตา และนักศึกษาให้มีความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับอนุกรมวิธาน ชีววิทยา นิเวศวิทยา ของกบ รวมทั้งมีความรู้ในเบื้องต้นเกี่ยวกับการสังเกตและติดตามโอกาสการติดเชื้อราไคทริด ชนิด Batrachochytrium dendrobatidis บนผิวหนังกบ เนื่องจากเห็นว่าอุทยานแห่งชาติตะรุเตาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาสม่ำเสมอ จึงมีความเสี่ยงต่อการนำสปอร์ของเชื้อราไคทริดเข้ามาโดยไม่ตั้งใจ

นอกจากนี้ นางสาวมาศสุภา สังวะระ นักศึกษาภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ กำลังมีการพัฒนาการตรวจเชื้อราบนผิวหนังกบด้วยการเพาะเชื้อในจานเพาะเลี้ยง โดยมี ดร.ศันสรียา วังกุลางกูร เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา และรองศาสตราจารย์ ดร. เสาวลักษณ์ พงษ์ไพจิตร จากภาควิชาจุลชีววิทยา เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาร่วม  การตรวจวิธีดังกล่าว มีต้นทุนถูกกว่าการตรวจแบบเดิมที่ต้องใช้การตรวจด้วย DNA ที่ต้องใช้เครื่องมือราคาแพง ซึ่งหากประสบความสำเร็จ จะเป็นการแยกเชื้อราไคทริดบริสุทธิด้วยการเพาะเชื้อได้เป็นแห่งแรกในภูมิภาคเอเชีย
 
"ในทางชีววิทยาสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกสามารถแบ่งได้ 3 กลุ่มหลัก ๆ คือ กระท่างหรือซาลามานเดอร์  เขียดงูหรือซีซีเลียน และ กบ อึ่งอ่าง คางคก  แต่ที่เรารู้จักกันทั่วไปคือ "กบ" ซึ่งเป็นสัตว์ที่พบใกล้ตัวมนุษย์ และเรายังได้ประโยชน์จากกบหลายประการ ทั้งทางตรง เช่น การนำมาทำเป็นอาหาร หรือโดยทางอ้อม เช่น การช่วยควบคุมแมลงศัตรูพืช การเป็นตัวเชื่อมโยงในสายใยอาหารของระบบนิเวศ  การลดจำนวนลงของกบในธรรมชาติอาจเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ แต่ส่วนมากจะเกิดขึ้นจากผลกระทบของกิจกรรมของมนุษย์ สารเคมีที่เจือปนลงในน้ำทำให้ลูกอ๊อดมีการพัฒนาผิดปกติ อุณหภูมิของโลกที่ร้อนขึ้นซึ่งจะมีผลต่ออุณหภูมิของน้ำทำให้ลูกอ๊อดตาย  รวมทั้งการระบาดของเชื้อราไคทริต (Chytrid) บนผิวหนังที่ทำให้เกิดการตายของกบไปทั่วโลก"   ดร.ศันสรียา วังกุลางกูร กล่าว

ข่าวโดย นายทวาทศ  สุวรรณโร นักประชาสัมพันธ์  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
โทรศัพท์ 0-7428-2026  อีเมล tawatos.s@psu.ac.th