ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

ประเพณีการ “เข้าบัว” ของชาวหาดใหญ่…….ในความทรงจำของข้าพเจ้า (ปี พ.ศ.2556)

เริ่มโดย ทีมงานประชาสัมพันธ์, 15:54 น. 23 พ.ค 56

ทีมงานประชาสัมพันธ์

โดย คุณาพร  มาจากบอร์ดโนรา

ประเพณีการ "เข้าบัว" ของชาวหาดใหญ่.......ในความทรงจำของข้าพเจ้า (ปี พ.ศ.2556)

คนหาดใหญ่แต่ครั้งอดีตนับถือศาสนาพุทธนิกายหินยานมาแต่รุ่นปู่ย่าตาทวดเป็นหลัก ด้วยเหตุนี้วัฏจักรแห่งชีวิตจึงถูกผูกมัดไว้อย่างแนบแน่นกับเรื่องราวของการดำรงชีวิตโดยยึดหลักของศาสนาเป็นแก่นแห่งวิถี จึงไม่แปลกที่มีประเพณีทางศาสนาเข้ามาข้องเกี่ยวในชีวิตประจำวันตั้งแต่เกิดจนตาย ประเพณีการ "เข้าบัว" หรือ "การไหว้บรรพบุรุษ" ก็เช่นเดียวกันถือว่าเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของคนที่นี่ เป็นประเพณีพื้นฐานในรากวัฒนธรรมพื้นถิ่น ณ ที่แห่งนี้ แนบแน่น ยืนหยัด ชอนไช สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นเรียงรายกันลงมาตามลำดับเหล่ากออย่างไม่ขาดตกบกพร่องสูญสลายหายไปกับกาลเวลาแต่ประการใด


ในความทรงจำของข้าพเจ้าเมื่อเกือบสามสิบปีก่อน ครั้งจำความได้ก็เห็นคนในครอบครัว คุณพ่อ คุณแม่ คุณปู่ คุณย่า และบรรดาวงษ์ศาคณาญาติ ต่างพร้อมใจกันเข้ามามีส่วนร่วมในประเพณีการเข้าบัวเสียทุกครั้งไป หากจะเรียกว่าเป็น "ประเพณีรวมญาติ" ซึ่งหนึ่งปีจะมีแค่ครั้งเดียวก็คงอาจเรียกได้อย่างไม่เก้อเขินมากนัก การเข้าบัวเท่าที่รู้ๆกันของคนที่นี่มักจัดขึ้น ณ สุสานบรรพบุรุษภายในอาณาบริเวณของวัดใดวัดหนึ่ง หรือไม่ก็ภายในป่าช้า / สุสานที่ใดที่หนึ่ง แต่การเข้าบัวที่ข้าพเจ้าและครอบครัวต้องกระทำการไหว้เสียทุกปีนั้นคือ 1. การเข้าบัว ณ ป่าช้าโคกโพธิ์ หรือที่บางคนเรียกเปลวโคกโพธิ์ และ 2. การเข้าบัว ณ วัดโคกนาว

การเข้าบัว ณ ป่าช้าโคกโพธิ์ มักจัดกันในช่วงกลางเดือนเมษายน แต่ก็มีบ้างเหมือนกันที่ในบางครั้งจัดกันในช่วงปลายเดือนเมษายน(วัน-เวลา ในการจัดประเพณีเข้าบัวอยู่ที่การดูฤกษ์ของหมอ / พระในการทำพิธี) ส่วนการเข้าบัว ณ วัดโคกนาวมักจัดหลังพิธีที่ป่าช้าโคกโพธิ์เสร็จสิ้นไปแล้วประมาณ 7 วัน โดยวันแรกของการเข้าบัวมักเป็นวันรวมญาติสายต่างๆที่กลับมาหลังเดินทางไปทำภาระกิจจากทั่วทุกสารทิศ มาพร้อมหน้าพร้อมตากัน ทำกิจกรรมร่วมกันด้วยการทำความสะอาดสุสาน ทำความสะอาดสถานที่ฝัง /เก็บอัฐิบรรพบุรุษ(บัว)ร่วมกัน ส่วนใหญ่ก็จะเป็นการล้างบัว ขัดบัว ทาสีบัวใหม่ และทำการประดับตกแต่งบัวให้มีความสวยงามที่สุดด้วยหลอดไฟขนาดเล็ก ส่องแสงระยิบระยับน่าแลมอง(โดยส่วนใหญ่ญาติพี่น้องที่มาทำความสะอาดสุสานมักเป็นคนรุ่นหนุ่มสาว-ผู้ใหญ่ โดยมีคนเฒ่าคนแก่ในตระกูลมาคอยชี้แนะ และให้กำลังใจ)

วันที่สองเป็นวันงานพิธี เริ่มงานพิธีประมาณช่วงหัวค่ำราว 6 โมงเย็น วันนี้ถือเป็นวันร่วมญาติอย่างแท้จริง ทุกคนจะพยายามแต่งตัวให้สวยที่สุด หล่อที่สุด ดูดีที่สุด มาถึงก็พบปะพูดคุยถึงสารทุกข์สุกดิบร่วมกัน แลกเปลี่ยนกัน มีการนำดอกไม้มาปักประดับแจกันสำหรับเคารพอัฐิบรรพบุรุษ จุดธูป 1 ดอก เทียน และธูปใหญ่(แล้วแต่ศรัทธาและทุนทรัพย์) ทำบุญกับทางผู้จัดงาน(ส่วนใหญ่จะเป็นการรวมเงินทำบุญกันที่บัวของแต่ละตระกูล) มีการนำพวงมาลัยร้อยอย่างสวยงามประดับตกแต่งยอดบัวบรรพบุรุษ โดยพวงมาลัยดอกไม้ที่นำมาประดับตกแต่งยอดบัวต้องเป็นพวงมาลัยดอกไม้สดเท่านั้น ส่วนดอกไม้ที่นิยมนำมาร้อยเป็นพวงมาลัย ส่วนใหญ่นิยมดอกมะลิ และดอกกุนหยี(ดอกบานไม่รู้โรย)เป็นหลัก แต่ช่วงหลายปีช่วงหลังๆที่เศรษฐกิจไม่ดี-ข้าวยากหมากแพง(โดยเฉพาะน้ำมันแพง) เริ่มเห็นพวงมาลัยดอกดาวเรืองเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ นอกจากนี้ที่ขาดเสียมิได้อีกอย่างหนึ่งก็คือการนำน้ำอบหอมๆมาทำการรดยอดบัวเพื่อขอพรกับบรรพบุรุษให้เจริญรุ่งเรืองในหน้าที่การงานตลอดจนประสบพบเจอสิ่งดีๆในชีวิตดังใจมุ่งหวัง หลังจากทำการเคารพอัฐิบรรพบุรุษเสร็จสิ้น มักเป็นพิธีการทางสงฆ์ ถ้าเป็นการเข้าบัว ณ ป่าช้าโคกโพธิ์ พระที่รับกิจนิมนต์มักเป็นพระจากวัดคลองเรียน และพระจากวัดโคกนาว โดยหากขาดเหลือจากนี้ทางผู้จัดงานพิธีอาจนิมนต์พระวัดใกล้ๆมาเพิ่ม ส่วนการเข้าบัว ณ วัดโคกนาวนั้นเท่าที่ทราบพระที่รับกิจนิมนต์เป็นพระจากวัดโคกนาวเสียเป็นหลัก

ในงานพิธีเท่าที่ฟังๆอยู่ทุกปีมักเป็นบทสวดโดยทั่วไป ซึ่งมักปิดท้ายลงด้วยบทการกรวดน้ำเพื่ออุทิศส่วนกุศลแก่ญาติพี่น้อง-บรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้ว เสร็จสิ้นพิธีผู้จัดงานก็จะแจ้งให้ผู้มาเข้าบัวทุกท่านทราบถึงจำนวนเงินบริจาค ณ ค่ำคืนนี้ คือเงินสำหรับร่วมกันทำบุญเข้าวัดใดวัดหนึ่งเพื่อเป็นกุศลร่วมกัน ปิดท้ายด้วยการจุดประทัด ให้รู้ว่างานพิธีในค่ำคืนนี้จบสิ้นลงแล้วอย่างสมบูรณ์ (ส่วนใหญ่มักจุดประทัดในห้วงเวลาระหว่าง 20.00 – 21.30 น. แล้วแต่ว่าปีไหนเสร็จช้าหรือเสร็จเร็ว) โดยในวันรุ่งขึ้นก็จะมีพิธีกรรมทางสงฆ์ เลี้ยงพระเพล และจุดประทัดในช่วงหลังงานพิธีเสร็จสิ้น (อีกครั้ง) เป็นอันเสร็จพิธีเข้าบัวในแต่ละปี

ประเพณีการ "เข้าบัว" ของชาวหาดใหญ่ยังคงมีจัดกันมาอย่างต่อเนื่อง ยืนยาว มั่นคง ไม่ตกหล่นสูญหายไปกับกาลเวลา ตราบใดที่ลูกหลานในตระกูลยังคงยึดมั่นในพระพุทธศาสนา เคารพผู้อาวุโสในตระกูล / ในวงษ์ศาคณาญาติอย่างแนบแน่น เป็นประเพณีแห่งการรวมญาติอย่างแท้จริงของกลุ่มชนแต่ครั้งดั้งเดิม ณ ที่แห่งนี้ วันนี้แม้โลกจะหมุนเปลี่ยนไป ทั้งโคกโพธิ์ และโคกนาวจะแปรเปลี่ยนไปเฉกเช่นไร ความเชื่อของกลุ่มชนจะถูกสลายหรือแทรกซึมปรับเปลี่ยนไปตามเข็มนาฬิกาที่มิอาจหมุนทวนย้อนกลับไปยังอดีตได้อย่างสมบูรณ์ แต่เชื่อว่าประเพณีการ "เข้าบัว" จะยังคงหยัดยืน ตั้งมั่น ประหนึ่งไม้ยืนต้นอยู่ ณ ที่เดิมไม่หลบลี้หนีหายไปไหน การเข้าบัวจะยังคงเป็นรากแก้วแห่งจิตวิญญาณของคนในพื้นที่แต่ครั้งดั้งเดิมต่อไปในภายภาคหน้า.......โลกเปลี่ยน แต่บางอย่างมิอาจแปลเปลี่ยนไปได้


คุณาพร / 29 / 4 / 2556
(****** หมายเหตุ ****** บทความใช้ขอเก่าปี 2555 ส่วนภาพประกอบใช้ของใหม่ปี 2556 / สถานที่ : ป่าช้าโคกโพธิ์ / ป่าช้าต้นโพธิ์)

sirichot

น่าจะเรียกว่าไหว้บัวหรือทำบุญว่างหรือทำบุญเดือนห้ามากว่าครับ ซึ่งในภาคใต้เองแต่ละท้องถิ่นอาจจะเรียกแตกต่างกันไป
จะทำช่วงที่เรียกกันว่าวันว่าง เดือนเมษายน
ส่วนเข้าบัวน่าจะหมายถึงเวลานำกระดูกผู้ล่วงลับไปแล้วมาบรรจุในบัว ซึ่งก็ต้องดูฤกษ์ยาม ซึ่งบัวหนึ่งๆอาจจะมักระดูกของหลายท่านที่เป็นคนในตระกูลเดียวกันก็ได้ หากเป็นฮวงซุ่ย ปกตอจะทำกันในช่วงวันเช้งเม้ง ซึ่งก็อยู่ในช่วงเดือนเมษายนเหมือนกันครับ
ภาคใต้เรียกบัว ภาคอื่นๆเรียกสถูปย้าง เจดีย์บ้าง