ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

27-30 พ.ค.พิธีสมโภชและสรงน้ำเจ้าแม่อยู่หัว (วันตายายย่าน) วัดท่าคุระ

เริ่มโดย ทีมงานบ้านเรา, 16:48 น. 27 พ.ค 56

ทีมงานบ้านเรา

[attach=1]

งานสมโภชเจ้าแม่อยู่หัว วัดท่าคุระ นับเป็นประเพณีที่เก่าแก่ของชาวคาบสมุทสทิงพระ และลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ที่ครอบคลุมทั้งจังหวัดสงขลา พัทลุง นครศรีธรรมราช

วัดท่าคุระเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ "เจ้าแม่อยู่หัว"  เป็นพระพุทธรูปที่ชาวตำบลคลองรี และตำบลใกล้เคียงให้ความเคารพนับถือ ซึ่งอยู่ในหมู่ที่ 9 ตำบลคลองรี อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา

ตำนาน'เจ้าแม่อยู่หัว'

จากปากคำของคนเก่าที่เล่าต่อกันมาระบุว่า ตำนาน "เจ้าแม่อยู่หัว" เริ่มจาก "พระหน่อ" ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นโอรสเจ้าเมืองเมืองหนึ่งในสมัยสุโขทัยตอนปลายต่ออยุธยาตอนต้น (บางเสียงว่าคือเมืองนครศรีธรรมราชในปัจจุบัน) วันหนึ่งเมื่อพระหน่อมีพระชนม์ได้ 9-10 พรรษา ได้หายสูญไปขณะลงสรงน้ำที่ท่าน้ำ พระเจ้าอยู่หัวจึงทรงรับสั่งให้ทหารออกติดตามแต่ก็ไม่พบ

ขณะนั้น ณ หมู่บ้านแห่งหนึ่งในเมืองพัทลุง (เมืองพัทลุงเดิม ตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา) มีตาพรหมกับยายจันตั้งบ้านเรือนอยู่ ตาพรหมได้ไปพบ "พระหน่อ" และนำกลับมาเลี้ยงดูที่บ้านทหารของเจ้าเมืองออกตามจนมาพบพระหน่ออาศัยอยู่กับสองตายาย จึงนำความกลับไปกราบทูล

พระราชบิดาและพระราชมารดา ทราบความจึงเสด็จมารับพระหน่อกลับ พระราชมารดาได้รับสั่งให้นายช่างทองตีทองเป็นแผ่นกว้าง แล้วสลักรูปพระหน่อลงในแผ่นทอง มอบให้ตาพรหมยายจัน แผ่นทองคำสลักรูปพระหน่อนี้เรียกกันว่า "เจ้าแม่อยู่หัว" เนื่องจากพระราชินี หรือเจ้าแม่อยู่หัวทรงเป็นผู้มอบให้ 

"ภายหลังมีคนโลภได้ขโมยตัดแผ่นทองคำไปทีละเล็กทีละน้อย ชาวบ้านจึงได้ตัดสินใจว่าให้นำแผ่นทองคำไปหลอมเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้างประมาณ 2 เซนติเมตร โดยยังคงเรียกกันว่า "เจ้าแม่อยู่หัว" เป็นพระพุทธรูปทองคำปางมารวิชัย แต่เดิมมีการสร้างพระพุทธรูปอีก 2 องค์เรียกว่า "พระพี่เลี้ยง" ต่อมาหายไป 1 องค์ จึงเหลือพระพี่เลี้ยงอยู่เพียงองค์เดียว ประดิษฐานอยู่ที่วัดท่าคุระแห่งนี้ เป็นสิ่งที่อยู่คู่กับชุมชนมานานหลายร้อยปีและเป็นศูนย์รวมจิตใจของลูกหลานชาวท่าคุระและพื้นที่ใกล้เคียงตลอดมา" พระครูพิพัฒน์ธรรมจารี เจ้าอาวาสวัดท่าคุระ บอกเล่า

[attach=2]

'ตายายย่าน' รวมลูกหลานเจ้าแม่อยู่หัว

วันพุธแรก ข้างแรม เดือนหก คือ ฤกษ์ดีที่พระราชบิดาและพระราชมารดาเสด็จมารับพระหน่อกลับตามที่ระบุไว้ในแผ่นทองคำ ถูกกำหนดให้เป็นฤกษ์สำหรับประกอบพิธีตามประเพณี "ตายายย่าน" ("ตา-ยาย" หมายถึงบรรพบุรุษ ส่วน "ย่าน" หมายถึง เทือกเถา) หรือ "พิธีสรงน้ำเจ้าแม่อยู่หัว" ที่วัดท่าคุระเป็นประจำทุกปี

ไม่เพียงชาวบ้านท่าคุระ แต่รวมไปถึงชาวอำเภอสทิงพระ ระโนด กระแสสินธุ์ และอำเภออื่นๆ โดยเฉพาะในพื้นที่แถบลุ่มทะเลสาบสงขลา รวมไปถึงลูกหลานที่เดินทางย้ายถิ่นไปทำงานยังพื้นที่อื่นๆ ที่ยังคงเดินทางกลับสู่ถิ่นฐานเพื่อร่วมพิธีนี้

กิจกรรมพิธีสรงน้ำเจ้าแม่อยู่หัว เริ่มตั้งแต่วันพุธในช่วงเช้าด้วยการทอดผ้าป่าประจำปี จากนั้นในช่วงบ่ายจะเป็นการเชิญพระพุทธรูป "เจ้าแม่อยู่หัว" ออกจากผอบที่ประดิษฐานให้ประชาชนได้สรงน้ำ

โดยเวลาประมาณ 14.00 น. เริ่มพิธีจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย ชุมนุมเทวดา พระเถรานุเถระประจำอาสนะ 9 รูป สวดชัยมงคลคาถา แล้วจึงทำการเปิดผอบ"เจ้าแม่อยู่หัว" จะถูกอัญเชิญออกจาก ห่อผ้า 9 สี 9 ชั้น ทางวัดจะเตรียมเครื่องเชี่ยนหมาก 1 สำรับ ขนมลา ขนมพอง 1 สำรับ ผ้าตั้งและผ้าคู่ 1 ชุด สำหรับใช้เปลี่ยนพระภูษาทรงขององค์แม่เจ้าอยู่หัว เพื่อให้ลูกหลานสรงน้ำ ระหว่างสรงน้ำลูกคุ่มโนราห์เชิดเครื่องไปจนเสร็จพิธี

ช่วงค่ำคืน หนึ่งในกิจกรรมที่ทุกคนรอคอยก็มาถึง นั่นคือการสมโภชโดยการรำ "โนราห์โรงครู" ซึ่งหมายถึง การรำโนราห์อย่างพิธีกรรมตามแบบฉบับดั้งเดิมอย่างครบกระบวนการ เริ่มด้วยการตั้งเครื่องโหมโรง  ประกาศเชิญราชครู รำเบิกโรง รำแม่บท ออกพราน รำคล้องหงส์ รำแทงเข้และแสดงเรื่อง ถือเป็นพิธีกรรมที่มีความสำคัญในวงการโนราเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้เพราะเป็นพิธีกรรมเพื่อเชิญครูหรือบรรพบุรุษของโนรามายังโรงพิธี เพื่อรับ การเซ่นสังเวย เพื่อรับของแก้บน และเพื่อ "ครอบ" หรือผูกผ้าแก่ผู้แสดงโนรารุ่นใหม่

"ครู" ตามความหมายของโนรามีสองความหมาย ประการแรกหมายถึง ผู้สอนวิชาการร้องรำโนราแก่ตนเอง หรือแก่ บรรพบุรุษของตน ความหมายที่สอง หมายถึง บรรพบุรุษหรือผู้ให้กำเนิดโนรา เช่น ขุนศรีศรัทธานางนวลทองสำลี และแม่ศรีมาลา บรรพบุรุษตามความหมายนี้ยังเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "ตายายโนรา"

ว่ากันว่า เจ้าแม่อยู่หัวโปรดปรานการแสดงโนราห์ ในสมัยก่อนที่เรือยนต์ยังเป็นพาหนะหลักในการเดินทาง โนราห์ที่ขึ้นท่าหน้าวัดท่าคุระ ถ้าไม่เชิดเครื่องถวายเจ้าแม่อยู่หัวก่อนอาจจะมีอันเป็นไป เช่น นักแสดงเกิดเจ็บป่วย

วันรุ่งขึ้น คือวันพฤหัสบดี จะมีกิจกรรมการแก้บนตามที่บนบานศาลกล่าวไว้ โดยการจัดสำรับ หรือ "หมรับ" ประกอบด้วยขนมพอง ขนมลา ขนมโค ไปรวมกันที่วัด ในการทำขนมเซ่นบวงสรวง หลังจากเสร็จพิธีแก้บนแล้ว ก็จะอัญเชิญเจ้าแม่อยู่หัวเข้าผอบโดยห่อผ้า 9 สี 9 ชั้น พระสวดบังสุกุล และกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศล

"ลูกหลานไปอยู่ต่างที่ต่างถิ่น ไปอยู่ที่ไหนก็บนได้ นึกถึงเจ้าแม่อยู่หัว ถ้าสำเร็จก็จะมาแก้บนกัน แต่ถ้าปีไหนยังไม่พร้อมจะมาก็ยังไม่ต้องมาก็ได้ พร้อมเมื่อไหร่ค่อยมา การ "บน" ก็มีหลากหลายไม่ว่าจะเป็นการขอให้ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน การค้าขาย ไปจนถึงขอลูก เมื่อ "บน" สำเร็จแล้วก็ต้อง "แก้บน"  ไม่ว่าจะบนบวชนาค บนบวชชี ส่วนการบนขอลูกหากได้ลูกชายให้แก้บนด้วยขนมพอง ขนมลา ถ้าได้ลูกสาวให้แก้บนด้วยขนมโค ขนมต้มขาว ขนมต้มแดง"

หลังจากการแสดง "โนราห์โรงครู" หรือการแสดงของนักโนราห์อาชีพ เพื่อถวายเจ้าแม่อยู่หัวผ่านไป ก็เป็นเวลาของนักโนราห์สมัครเล่นทุกเพศวัยที่มารำถวายแก้บนเจ้าแม่อยู่หัว ทำเอาเวทีโนราห์แน่นขนัดไปด้วยผู้คนในชุดโนราห์หลากสีสัน มีบ้างที่บน "ออกพราน" หรือ "ออกทาสี" (แสดงเป็นตัวพรานหรือตัวทาสหญิง) ตามที่แต่ละคนได้บนไว้



พลังศรัทธาของมวลมหาชนยังคงเพิ่มขึ้นทุกปีไม่เคยเสื่อมหายไปกับกาลเวลาแต่อย่างใด   
สนับสนุนการขับเคลื่อนโดย
- ฮอนด้าพิธานพาณิชย์-อริยะมอเตอร์ www.phithan.co.th/hondaphithan
- ปาล์มสปริงส์ & ซิตี้รีสอร์ท บ้านและคอนโดคุณภาพจากเครืองศุภาลัย www.hatyainakarin.com
- ธีระการช่าง หาดใหญ่ (เยื้องบิ๊กซีคลองแห) โทร 086-4910345 www.facebook.com/teerakarnchanghy
- เอนกการช่าง ผู้นำการพัฒนาเครื่องจักรกลเกษตร โทร 081-7382622 www.an-anek.com/contact.php
รีวิวธุรกิจ เกาะติดบ้านเมือง ร้อยเรื่องท้องถิ่น TLP 0897384215

พี่ตุ๊กติ๊ก

สาธุ.....ขอบคุณเวฟกิมหยงและทีมงานบ้านเรานะค่ะที่เอาตำนานแม่อยู่หัวมาให้ชนรุ้นหลังใด้อ่านและร่วมจารึกไว้ในความทรงจำ.... ข้าพเจ้าลูกหลานแม่อยู่หัวค่ะ ว่างๆๆเชิญไปร่วมทำบุญกันนะค่ะพี่น้อง 1ปีมีครั้งเดียวค๊าาาา

Galong

พอได้รู้เรื่องราวก็ไปทุกปีไม่เคยขาดครับ

วันนี้ไปมาแล้วครับ มืออื้นไม่แน่ใจจะได้ไปหรือเปล่า