ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

เปิดแนวรบPFPตั้งเป้าปี"56โต20% รุกธุรกิจครบวงจรหลังคู่แข่งตัดราคา-ก๊อบปี้หนัก

เริ่มโดย ทีมงานประชาสัมพันธ์, 11:25 น. 04 มิ.ย 56

ทีมงานประชาสัมพันธ์

เปิดแนวรบPFPตั้งเป้าปี"56โต20% รุกธุรกิจครบวงจรหลังคู่แข่งตัดราคา-ก๊อบปี้หนัก

updated: 03 มิ.ย. 2556 เวลา 11:54:11 น.
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

PFP รับศึกตลาด "ปูอัด" 1,000 ล้านบาทแข่งเดือด ถูกรายกลางรายเล็กตัดราคา-ลอกเลียนแบบ-ก๊อบปี้แบรนด์หนัก วิ่งสู้ฟัดแตกไลน์ลุยธุรกิจ "ร้านอาหารญี่ปุ่น" ในห้างสรรพสินค้า แถมรุกธุรกิจ "แคเทอริ่ง" ชิงมาร์เก็ตแชร์ตลาด Food Service เพิ่ม ตั้งเป้ายอดขายปี"56 โต 15-20% พร้อมเล็งตั้งโรงงานในเนย์ปิดอว์ เมียนมาร์ หาวัตถุดิบป้อนแทนนำเข้าจากเวียดนาม-เกาหลี

นางสาวเมตตา ปราบสุธา รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท พี.เอฟ.พี. เทรดดิ้ง จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจอาหารพร้อมปรุง ภายใต้แบรนด์ "พีเอฟพี" เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ปัจจุบันตลาดธุรกิจอาหารพร้อมปรุงภายในประเทศแข่งขันกันค่อนข้างรุนแรง เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ทำให้ผู้ส่งออกหลายรายหันมาทำตลาดภายในประเทศเพิ่มขึ้น สินค้าหลายตัวของ พี.เอฟ.พี.ฯ ถูกแข่งขันตัดราคา และถูกลอกเลียนแบบ โดยเฉพาะปูอัดและเต้าหู้ปลา พี.เอฟ.พี.ฯจึงต้องเร่งพัฒนาสินค้าใหม่ ๆ รวมทั้งการขยายธุรกิจจากอาหารพร้อมปรุงไปสู่กลุ่มอาหารพร้อมทานในอนาคต โดยการทำแคเทอริ่งเพื่อขายตลาด Food Service มากขึ้น

"เราถือเป็นเจ้าแรก ๆ ที่ทำอาหารแปรรูปจากปลาทะเลบด โดยเฉพาะปูอัด เต้าหู้ปลา วางขายทั้งตลาดสด ซูเปอร์มาร์เก็ต และตลาด Food Service พวกร้านอาหารใหญ่ ๆ แต่ตอนนี้ในส่วนของตลาดสดถือเป็นสินค้าขายดี ทำให้มีผู้ประกอบการรายกลางรายเล็กทำปูอัดขึ้นมาขายตัดราคากันอย่างรุนแรงมาก มีบางรายออกแบบแบรนด์สินค้าให้ออกมาใกล้เคียงกับแบรนด์ของ พี.เอฟ.พี.ฯ และเคยมีบางรายถึงขั้นลอกเลียนแบบใส่แบรนด์ พี.เอฟ.พี.ฯเลย ปัญหานี้ไม่ใช่พบแต่ในประเทศไทย ในตลาดต่างประเทศก็เคยพบ หากประเมินภาพรวมตลาดปูอัดในประเทศไทยวงเงินน่าจะถึงประมาณ 1,000 ล้านบาท" นางสาวเมตตากล่าวและว่า

นอกจากนี้ พี.เอฟ.พี.ฯมีแผนแตกไลน์ทำธุรกิจร้านอาหารตามห้างสรรพสินค้า ภายใต้ชื่อ "PFP Food Shop" ขนาดพื้นที่ประมาณ 20-100 ตารางเมตร ใช้งบฯลงทุน 7 แสน-1 ล้านบาทต่อสาขา เพื่อรองรับกระแสทิศทางร้านอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทยที่มีอัตราการเติบโตอย่างก้าวกระโดด พี.เอฟ.พี.ฯตั้งเป้าจะเปิดให้ได้ 30 จุดทั่วประเทศ ภายในปี 2556 โดยบริษัทตั้งเป้ารายได้ในธุรกิจดังกล่าวไว้ที่ 10-15 ล้านบาทต่อเดือน คาดว่าทั้งปีจะมีรายได้ประมาณ 80-100 ล้านบาท ส่วนตลาดส่งออกลดลงประมาณ 5% โดยทั้งปีบริษัทคาดว่าจะเติบโตประมาณ 15-20%

ในส่วนของผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ได้มีการว่าจ้างเชฟชื่อดังมาคิดค้น พัฒนาเมนู โดยส่วนหนึ่งเป็นการต่อยอดจากผลิตภัณฑ์ปูอัด เต้าหู้ปลา ลูกชิ้น ที่มีอยู่ว่าจะนำไปปรุงอาหารอะไรได้บ้าง เพื่อแนะนำลูกค้าให้เห็นว่าเมนูของ พี.เอฟ.พี.ฯสามารถพัฒนาได้หลากหลาย

ขณะเดียวกัน เตรียมลงทุนซื้อเครื่องจักรในการผลิตซูชิจากประเทศญี่ปุ่น

เนื่องจากแรงงานมีฝีมือหายากขึ้น โดยเวลา 1 ชั่วโมงสามารถผลิตซูชิได้ 200 ชิ้น โดยกลุ่มเป้าหมายของตลาดซูชิของ พี.เอฟ.พี.ฯจะอยู่ในกลุ่มบีลงซี ยังมีฐานตลาดที่กว้าง และ พี.เอฟ.พี.ฯมีความได้เปรียบในเรื่องของวัตถุดิบ น่าจะสามารถทำราคาได้ถูกลง

นายทวี ปิยะพัฒนา ประธานกรรมการบริหารกลุ่มบริษัท พี.เอฟ.พี.ฯ เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ปัจจุบัน พี.เอฟ.พี.ฯต้องสั่งนำเข้าวัตถุดิบพวกปลาบดจากเวียดนามและเกาหลีถึงประมาณ

1,500 ล้านบาทต่อปี เนื่องจากวัตถุดิบปลานานาชนิดที่จะนำมาผลิตเป็นปลาบดแปรรูปมีไม่เพียงพอกับความต้องการ ขณะเดียวกัน ตอนนี้วัตถุดิบกุ้งก็มีปัญหา ดังนั้น บริษัทมีแผนที่จะเพิ่มกำลัง

การผลิตอาหารกึ่งแปรรูปจากทะเล

จึงมีแผนจะไปร่วมทุนกับผู้ประกอบการในเนย์ปิดอว์ประเทศเมียนมาร์ เพื่อสร้างโรงงานแห่งใหม่ รองรับการขยายการส่งออกไปประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงการขยายกำลังการผลิตในไทย ซึ่งบริษัทได้ทุ่มงบประมาณกว่า 100 ล้านบาท ในการเพิ่มเครื่องจักรภายในโรงงานที่ภาคใต้ เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตอีก 20%

โดยปัจจุบันสัดส่วนการทำตลาดแบ่งเป็นภายในประเทศ 60% และต่างประเทศ 40% ช่วงไตรมาสแรกปี 2556 ธุรกิจมีการเติบโตประมาณ 15% เป็นการขยายของตลาดภายในประเทศ ส่วนตลาดส่งออกลดลงประมาณ 5% อย่างไรก็ตาม ปัญหาเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น บริษัทไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากยังคงมีสัดส่วนการทำตลาดในไทยสูง