ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

ประวัติศาสตร์ เมืองหาดใหญ่

เริ่มโดย Probass, 10:55 น. 26 ส.ค 52

Probass

คัดลอกมาจากส่วนหนึ่งของบทความ เทศกาลสงขลาเมืองเก่า

ก่อนปี พ.ศ.2440 เมืองสงขลาแบ่งแขวงเมืองเป็น 15 ส่วน เรียกว่า "อำเภอ" ซึ่งหนึ่งในจำนวนนี้คือ อำเภอหลวงรักษาพลสยาม ครอบคลุมบ้าน 113 บ้าน วัด 14 พระอาราม และเรือน 2,805 เรือน โดยพื้นที่หาดใหญ่ปัจจุบันก็เป็นส่วนหนึ่งของอำเภอนี้ อันดูได้จากการระบุบ้าน และ วัดต่างๆ เช่น

บ้านหาดใหญ่ 1 บ้าน 4 เรือน บ้านทุ่งเสา 1 บ้าน 75 เรือน บ้านโคกเสม็จชุน 1 บ้าน 10 เรือน บ้านทุ่งรีย์ 1 บ้าน 51 เรือน บ้านคลองเรียน 1 บ้าน 7 เรือน บ้านพรุ 1 บ้าน 75 เรือน บ้านควรลัง 1 บ้าน 120 เรือน บ้านแหลมโพ 1 บ้าน 20 เรือน

แต่เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯให้มีการปฏิรูป การปกครองหัวเมืองเป็นแบบให้มีมณฑลเมื่อปี พ.ศ.2439 เมืองสงขลาถูกปรับเหลือเพียง 5 แขวง คือ อำเภอเมือง อำเภอปละท่า อำเภอฝ่ายเหนือ อำเภอจะนะ และอำเภอเทพา

เกี่ยวกับอำเภอฝ่ายเหนือมีหลักฐานปรากฎในเอกสารรัชกาลที่ 5 กองจดหมายเหตุแห่งชาติ ในรายงานราชการมณฑลนครศรีธรรมราช ลงวันที่ 4 ตุลาคม ร.ศ.117(พ.ศ.2441) ตอนหนึ่งว่า อำเภอฝ่ายเหนือต่อแดนเมืองไทรบุรี เมืองปลิศ...ตั้งที่ว่าการที่ท่าหาดใหญ่ โดยตั้งขึ้นในปี ร.ศ.115(พ.ศ.2439)มีกำนัน 13 คน ผู้ใหญ่บ้าน 178 คน หมู่บ้าน 178 หมู่บ้าน ครัวเรือนทังหมด 7,465 ครัวเรือน ราษฎร 24,033 คน เป็นชาย 14,278 คน เป็นหญิง 9,755 คน

**ทั้งนี้เหตุที่เรียกว่าอำเภอเหนือ(ไม่มีคำว่า "ฝ่าย") เพราะเป็นอำเภอที่กันดาร คนในจังหวัดจึงใช้คำพูดเชิงดูหมิ่นบุคคลว่า "ชาวเหนือ" คู่กับการใช้คำพูดกับคนที่อยู่ระหว่างทะเลสาบสงขลากับทะเลหลวง คือระโนด และสทิงพระว่า "ชาวบก"

อำเภอฝ่ายเหนือมีอำเภอ 4 คนตามลำดับคือ

    * หลวงภูวนารถสุรารักษ์(อ่อน เศวตนันต์) ระหว่างปี พ.ศ.2447-2450
    * หลวงเทพราชธานี(โหมด ชลายนคุปต์) ระหว่างปี พ.ศ.2451-2453
    * หลวงมหานุภาพปราบสงคราม(ผ่อง โรจนหัสดินทร์) ระหว่างปี พ.ศ.2455-2457
    * พระเสน่หามนตรี(ชื่น สุคนธหงส์) ระหว่างปี พ.ศ.2457-2464

โดยในปี พ.ศ.2460 ทางการได้เปลี่ยนชื่ออำเภอฝ่ายเหนือ เป็น อำเภอหาดใหญ่ มีพระเสน่หามนตรี(ชื่น สุคนธหงส์) เป็นนายอำเภอคนแรก และสืบต่อเนื่องมาถึงปัจจุบันย้อนชื่อ "หาดใหญ่"

อย่างไรก็ตาม คำว่า "หาดใหญ่" ไม่ใช่เพิ่งได้ยินชื่อเมื่อปี พ.ศ.2460 หรือ พ.ศ.2440 (ในอนุสรณ์คุณสุชาติ รัตนปราการ) เท่านั้น เพราะในปีพ.ศ.2381 ก็มีการกล่าวถึงชื่อหาดใหญ่แล้ว ใน บันทึกการรบระหว่างสงขลา โดยความช่วยเหลือจากกรุงเทพฯกับเมืองไทรบุรี ที่เป็นกบถในสมัยรัชกาลที่ 3

นอกจากนี้จาก หลักฐานจากจดหมายหลวงอุดมสมบัติ ถึงพระยาศรีพิพัฒน์(ทัด) ฉบับที่ 1 ก็ได้กล่าวถึง หาดใหญ่ 3 ครั้ง

ครั้งที่ 1 ที่กล่าวถึงมีความว่า พระยาไทร(ท่านที่ถูกกบถ)ให้คนมาจัดซื้อข้าวที่สงขลาได้ 20 เกวียน ไปจ่ายให้กองทัพ 1,194 คน ที่ หาดใหญ่..."

ครั้งที่ 2 (ในจดหมายฉบับเดียวกัน แต่บอกเวลาห่างจากครั้งแรกประมาณ 2 เดือน ) ว่า ...พระยาสงขลา(เถี้ยนเส้ง เป็นเจ้าเมืองคนที่ 4) กับนายทัพนายกองยกออกไปพร้อมกัน ณ ที่หาดใหญ่...

ครั้งที่ 3 อีกประมาณ 10 วันต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 ทรงทราบเรื่องการศึกพ่ายแพ้ ทรงโทมนัสตรัสบ่นว่า ... ความก็รู้อยู่ด้วยกันแล้ว ยังให้มันหลอกลวงทำได้ กองทัพสงขลายกไปอยู่ที่หาดใหญ่ จะคัดจัดแจงเอาพวกสงขลาอุดหนุนติดตามกันออกไปก็ไม่มี..

นอกจากนี้ หลักฐานอีกฉบับหนึ่ง คือ พงศาวดารเมืองสงขลา เรียบเรียงโดย พระยาวิเชียรคีรี(ชม) สมัยที่ยังเป็นพระยาสุนทรานุรักษ์ กล่าวถึงเหตุการณ์เดียวกันนั้นว่า ใน ศักราชปี 1200(ตรงกับปี พ.ศ.2381) ตนกูหมัดสะวะ หลานเจ้าพระยาไทรบุรี(คนก่อนหน้าพระยาไทรบุรีที่ถูกกบถหนีไป)ซ่องสุมสมัคร พรรคพวกได้แล้วยกเข้ามาตีชิงเอาเมืองไทรบุรีได้อีก พระอภัยธิเบศร์ พระยาไทรบุรีบุตรเจ้าพระยานคร ทานกำลังตนอูหมัดสะวะไม่ได้ ก็ยกครอบครัวล่าถอยมาตั้งอยู่ที่ ตำบลท่าหาดใหญ่ แขวงเมืองสงขลา พระยาสุนทรานุรักษ์ (บุญสังข์)ช่วยราชการเมืองสงขลา แต่งให้ขุนต่างตากุมไพร่ 500 คนไปตั้งค่าย มั่นรักษาอยู่ที่พะตง ที่การำริมเขตแดนเมืองไทรบุรี...

...พระยาสงขลาเกณฑ์ไพร่ได้เสร็จแล้วรีบยกขึ้นไปตั้งที่ท่าหาดใหญ่....

...แล้วให้หลวงบริรักษ์ภูเบศร์ ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลา เป็นกองส่งเสบียงอาหารอยู่ที่ตำบลท่าหาดใหญ่...

อย่างไรก็ตาม หาดใหญ่ที่มีการกล่าวถึงนี้ ไม่สามารถชี้ชัดว่า คือหาดใหญ่ บริเวณไหน เพราะจากหลักฐานที่มีอยู่ข้างต้นมองแล้วว่าน่าจะอยู่บริเวณท่าหาดทราย หลังที่ว่าการอำเภอหาดใหญ่ในปัจจุบัน แต่จากหลักฐานอื่นๆ ที่มีอยู่ เช่น จากสารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ พ.ศ.2529 กลับบอกที่ตังของ "บ้านหาดใหญ่" ว่า อยู่ ทางทิศใต้ของสถานีเลียบริมฝั่งคลองเตยไปทางทิศตะวันออก (ปัจจุบันคือ ถนนศรีภูวนารถ) และระบุอีกว่า ก่อนปี พ.ศ.2466 มีบ้านเรือนอยู่ 9 หลังตั้งอยู่ที่หมู่ 3 บ้านหาดใหญ่ มีบ้านหลังแรกตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) สาขาศรีภูวนารถเลียบริมคลองเตย จนถึงหลังที่ 9 ซึ่งเป็นหลังสุดท้ายตั้งอยู่ปากอุโมงค์รถไฟ ถนนศรีภูวนารถปลายถนนนิพัทธ์อุทิศ 1

ซึ่งพื้นที่นี้ ตรงกับ "บันทึกของคุณหมอพลับ ไชยวงศ์" ที่ได้บันทึกไว้ว่า บ้านหาดใหญ่อยู่ริมคลองเตยช่วงทางเข้าปลายสาย 3 จันทร์นิเวศน์ สุดถนนนิพัทธ์อุทิศ 3 กับทุ่งเสา-สถานีรถไฟ

ย้อนมองศักยภาพของพื้นที่หาดใหญ่ในอดีตนั้น แทบจะเรียกได้ว่าหากไม่มีปัจจัยอะไรเป็นพิเศษคงยากที่จะเติบโตกลายเป็นเมือง ศูนย์กลางของภาคใต้ในปัจจุบันได้ ทั้งนี้เพราะ ***พื้นที่บริเวณนี้เต็มไปด้วย "ปลัก" และ "พรุ" เช่น

ปลักมดหนอย หรือ ปลักมดตะนอย ซึ่งจะอยู่บนถนนธรรมนูญวิถี บริเวณโรงแรมโนราห์(ในอดีต) หรือ เจ้าพระยาอาบอบนวดในปัจจุบัน

ปลักขี้ใส่โพง จะอยู่บริเวณตลาดโก้งโค้ง ถนนประชาธิปัตย์ในปัจจุบัน

ปลักแฉลง ซึ่งอยู่บริเวณโรงพยาบาลมิตรภาพสามัคคี(เซียงตึ้ง)

พรุบัว จะอยู่แถวโรงแรมโฆษิต ถนนนิพัทธ์อุทิศ 2

พรุแม่สอน ที่อยู่ตรงข้ามกับห้างหุ้นส่วนจำกัด เรดาห์เทรดดิ้ง ถนนเพชรเกษมในปัจจุบัน พรุใหญ่, พรุเล็ก ที่อยู่บริเวณหลังฟาร์มจระเข้ ถนนราษฎร์ยินดี(30 เมตร) และบริเวณโรงเรียนสุวรรณวงศ์ในปัจจุบัน

ทว่าทันทีที่เส้นทางรถไฟได้มาถึง โดยจุดแรกคือ สถานีรถไฟอู่ตะเภา พ.ศ.2453 ก่อนที่จะย้ายมาที่สถานีรถไฟโคกเสม็จชุน หรือหาดใหญ่ในปัจจุบัน ที่ก่อนหน้านั้นมีฐานะเป็นเพียง "ป้าย" เท่านั้น

ในปี พ.ศ.2467 ได้มีการทำพิธีฉลองเปิดสถานีหาดใหญ่และตลาดหาดใหญ่ที่ขุนนิพัทธ์ฯเป็นผู้ เริ่มก่อตั้งและวางผังเมืองเอง ซึ่งในสมัยนั้นมีบ้านเรือนในตลาดหาดใหญ่กว่า 100 หลังคาเรือนแล้ว ตลาดหาดใหญ่ได้เริ่มกลายเป็นศูนย์กลางธุรกิจ มีการทำการค้ากันมากขึ้น

25 กรกฎาคม พ.ศ.2471 ท้องที่ตลาดหาดใหญ่ได้ถูกยกฐานะให้เป็นสุขาภิบาล

7 ธันวาคม 2478 ได้ยกฐานะเป็นเทศบาลตำบลหาดใหญ่

16 มีนาคม 2492 ได้ยกฐานะเป็นเทศบาลเมืองหาดใหญ่

และเมื่อ ปี 2540 ก็ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นเทศบาลนครหาดใหญ่ ที่มีประชาชน แหล่งธุรกิจ และความเป็นเมืองศูนย์กลางของภาคใต้ครบรูปแบบ

เอกสารอ้างอิง

* อนุสรณีคุณสุชาติ รัตนปราการ : สถานภาพเมืองสงขลา เมื่อปี ร.ศ.113(พ.ศ.2437) ที่ปรากฎตามรายงานพระสฤษดิ์พจนกรณ์ ซึ่งว่าด้วยการตรวจแหลมมลายูในพระราชอาณาเขต ร.ศ.113

** พระอรรถโมลี รองเจ้าคณะจังหวัดสงขลา : เขียนถึงพระเสน่หามนตรี ในหนังสือ อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพพระเสน่หามนตรี(ชื่น สุคนธหงส์), 11 กุมภาพันธ์ 2516
ท่าหาดใหญ่

เสถียร บุญกาญจน์ เพื่อนของถวัลย์ วาณิชย์กุล หนึ่งในสมาชิกชมรมรวบรวมเรื่องเมืองหาดใหญ่ ได้ส่งจดหมายจากS.BOONYAGARN 265 VICTORIA sT. SANFRANCISCO CA 94132 U.S.A. ถึงถวัลย์ เพื่อร่วมเล่าเรื่องเมืองหาดใหญ่ ซึ่งเป็นเรื่องเล่าที่น่าสนใจยิ่ง


.......เมื่อปี 2470 ผมมีอายุพอที่จะรู้เรื่องหรือเข้าใจภาษาที่เขาพูดกัน สมัยนั้นผมอยู่บ้านเลขที่ 4 ถนนราษฎร์เสรี เดี๋ยวนี้ถิ่นนั้นประมาณ 100-200 หลังคาเขาเรียกกันว่าบ้านหลังอำเภอ ถนนราษฎร์เสรีทั้งสายตังแต่ถนนสาครมงคลไปจนถึงถนนพลพิชัย(หน้าโรงเรียน เทศบาล) เดี๋ยวนี้ร่มรื่นมาก ทั้งสองฟากถนนจะมีต้นมะเฟืองที่สูงให้ผลเป็นหลัก และยังมีต้นประดู่ใหญ่ๆ อีก 2-3 ต้น ปลายถนนราษฎร์เสรีตัดกับถนนสาครมงคลมีทางเดินลงไปริมคลองอู่ตะเภา ซึ่งคลองอู่ตะเภานี้มีต้นน้ำมาจากคลองแงะ หรือเกือบจะถึงอำเภอสะเดาแต่เล็กไปเรื่อยๆ ส่วนปลายคลองไปออกทะเลสาบสงขลา

ริมคลองอู่ตะเภานี้มีความกว้างประมาณ 100 เมตรกว่านิดหน่อยทั้งสองฟากก็คือฟากตะวันออกและฟากตะวันตก สมัยนั้นท่าน้ำดังกล่าวนี้เป็นสถานที่สำคัญซึ่งเปรียบเสมือนว่าเป็นหัวใจของ หาดใหญ่ก็ได้ สมัยนั้นสะพานคอนกรีตข้ามคลองใกล้หน้าอำเภอยังไม่มี ใครจะข้ามฟากจะต้องมาขึ้นข้ามเรือที่ท่านี้ ทังนี้เพราะที่อื่นข้ามไม่ได้ เพราะไม่มีหาดและตลิ่งก็ชันมาก จะเรียกว่าถึง 90 องศาก็ว่าได้ ดังนั้นที่หาดนี้จึงเป็นจุดสำคัญของอำเภอหาดใหญ่ในสมัยเมื่อ 100 ปีกว่าขึ้นไป การข้ามฟากระหว่างฝั่งตะวันออกกับตะวันตกหลานตำบลที่มาติดต่อซึ่งกันและกัน หรือไม่มาติดต่อทางราชการคับคั่งมาก จนกระทังต้องมีการประมูลเป็นนายท่าต่อที่ว่าการอำเภอ ซึ่งสมัยนั้นเมื่อผมเป็นเด็กพอจะจำนั้น นายยิ้ม บุญธรรม เป็นผู้ประมูลได้ รวมทังโรงยาฝิ่นก็เป็นของนายยิ้มด้วย

ผมเองในฐานะที่รู้จักกับนายยิ้ม และลูกนายยิ้ม บ้านก็อยู่ใกล้ท่าน้ำยังเอาเวลาว่างไปแจวเรือข้ามฟากด้วย การแจวเรือพายเรือถึงได้เป็นมาจนกระทั่งบัดนี้ ท่านี้ หาดนี้นอกจากจะเป็นการติดต่อระหว่างทั้งสองฟากหลายตำบลแล้ว ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ จะมีตลาดนัดใหญ่ ตลอดสายสองฟากถนนราษฎร์เสรีไปจนถึงสนามหญ้า ซึ่งเดี๋ยวนี้เป็นสำนักงานประปา ทุกเสาร์-อาทิตย์จะมีเรือบรรทุกของประเภทน้ำตาลโตนดชนิดเหลวและชนิดแว่น ข้าวสาร น้ำส้มโตนด จากมุงหลังคา ขนมประเภทต่างๆ และของพื้นเมืองอีกมากมายเดินทางมาจากทางทะเลสาบสงขลาตั้งแต่บ้านปากหรอ รัตภูมิไปจนถึงอำเภอปากพะยูนหรือระโนด บรรทุกเรือมาขาย หรือแลกเปลี่ยนของที่จำเป็น ซึ่งมีไม่ต่ำกว่า 50 ลำที่มาจอดที่ท่าหาดแห่งนี้

นอกจากของพื้นเมืองที่นำมาจากทางเรือแล้ว ของป่า ของพื้นเมืองทางตะวันตกหลายตำบลตลอดไปถึงอำเภอรัตภูมิที่จะเข้ามาอำเภอ หาดใหญ่ก็ต้องนำมาผ่านหาดหรือท่านี้

ถนนราษฎร์เสรีสมัยนั้นเจริญมากมีร้านขายทอง ทำทองรูปพรรณ ร้านรับซื้อยางพารา ร้านน้ำชา ร้านอาหาร โต๊ะบิลเลียด ร้านขายจักรยาน ร้านประกอบรถสามล้อพ่วงซึ่งสมัยนั้นเป็นที่นิยมกันทั่วภาคใต้ สำหรับที่สงขลาแล้วส่วนมากก็มาหาซื้อหรือสั่งประกอบกันที่ตลาดแห่งนี้

ตลาดหาดใหญ่ซึ่งประกอบด้วยถนนนิพัทธ์อุทิศ 1, 2 และ 3 สมัยนี้คนสมันเมื่อ 70-80 ปีที่แล้วเขาเรียกกันว่า�โคกเสม็ดชุน� เพราะที่ที่เจริญรุ่งเรืองสมัยนั้นเป็นก่อนเป็นป่าเสม็ด ใครต้องการไม้เสม็ดไปทำฟืน ทำรั้วบ้าน หรือใบพ้อไปทำต้ม ต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิง ก็ต้องแวะไปหาแถวที่เป็นถนนนิพัทธ์อุทิศ 1, 2, 3 เดี๋ยวนี้ สมัยนั้นตัวหาดใหญ่จริงๆ คือ ถนนราษฎร์เสรี แต่ที่เจริญไปไม่มาก ก็เพราะว่าส่วนมากที่ดินเป็นของราชพัสดุ รอบๆ บริเวณที่ว่าการอำเภอรัศมี 500 เมตร 80% ที่ของราชการ ไม่มีใครที่จะก่อสร้างตึกรามบ้านช่องให้ใหญ่โตหรูหรา เพราะที่ดินไม่ใช่ของตนเอง

ต่อมาสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ทหารญี่ปุ่นมาทำสะพานข้ามคลองอู่ตะเภาเพื่อเชื่อมทางสายอำเภอหาดใหญ่กับ อำเภอรัตภูมิขึ้น การข้ามคลองอู่ตะเภาโดยสะพานใกล้หน้าอำเภอสะดวกขึ้น ท่าหาดใหญ่ที่เคยเจริญก็ต้องกลายเป็นบ้านอาศัยธรรมดาๆ พอถึงปีก็ไปเสียค่าเช่าที่ดินให้กับเทศบาล

ที่ดินทางโคกเสม็ดชุนทั้งหมดเป็นป่าจับจองของเอกชน-จีนซื้อขายกันได้ตาม อัธยาศัย ประกอบกับขุนนิพัทธ์จีนนคร อุทิศที่ดินให้เป็นถนนถึง 3 สายแต่ละสายยาวกิโลกว่า จึงทำให้เสม็ดชุนกลายเป็นนครหาดใหญ่ขึ้นมาดงอย่างทุกวันนี้

จากที่เล่ามานี้ ผมคาดว่าคำว่า "หาดใหญ่" มาจากท่าน้ำตรงปลายถนนราษฎร์เสรีตัดกับถนนสาครมงคล ซึ่งเป็นชายหาดที่คนรุ่นเก่าก่อนมีความเห็นว่ามันใหญ่ กว้างกว่าท่าไหนๆ ของคลองอู่ตะเภา....

และนี่คือเรื่องการเล่าเรือหาดใหญ่มาจาก สหรัฐอเมริกา ของ "เสถียร บุญกาญจน์"

นายฉ่ำ ขุนเพชร อยู่บ้านเลขที่ 56/1 ตำบลคูหาใต้ หมู่ที่ 3 อำเภอรัตภูมิ ซึ่งดังเดิมก็เกิดที่รัตภูมิแต่มาอยู่หาดใหญ่บ้านครูปลื้ม(บิดาอดีตเทศมนตรี เมืองหาดใหญ่-นายเฉวียง ณ พัทลุง) ตังแต่อายุ 7 ปี บอกว่า ริมคลองมีต้นกะท้อน ต้นมะม่วงคันใหญ่ อยู่ทางฝั่งท่าออก ในคลองบริเวณใกล้ศาลาลุงทอง มีต้นไม้ล้มวางคลองอยู่ต้นหนึ่ง ไม่ทราบเหมือนกันว่าเป็นต้นอะไร

ลุงฉ่ำบอกว่า ตนเป็นคนที่เข้าออกค่ายทหารญี่ปุ่นเป็นประจำ เพราะยังเป็นเด็ก เมื่อโรงเรียนปิดเทอมก็ไปทำงานกับทหารญี่ปุ่นซึ่งเดิมเป็นหมอญี่ปุนในตลาด มาฉีดวัคซีนให้เด็กๆ เมื่อญี่ปุ่นขึ้นเมือง กลายเป็นนายทหารญี่ปุ่น ยศร้อยเอก แกทำงานช่วยแปลภาษีญี่ปุ่นเท่าที่พอจะทำได้ แต่หน้าที่สำคัญคือเป็นเด็กซื้อกับข้าวจากตลาดกิมหยงให้

ทหารญี่ปุ่นตังค่ายอยู่บริเวณโรงเรียนเทศบาล 2 และตรงข้ามบ้าน อดีตส.ส.อนันต์ เรืองกูล เป็นที่ตั้งปืนต่อสู้อากาศยาน 4-5 กระบอก เพราะที่ตรงนั้นมีต้นพะยอมขนาดใหญ่เท่าต้นมะพร้าวประมาณ 20 ต้น

ทหารญี่ปุ่นสร้างสะพานครั้งแรกเป็นสะพานไม้เพื่อข้ามคลองอู่ตะเภาที่ฟาก ระหว่างฝังที่สูบน้ำของดับเพลิงปัจจุบันกับท่าศาลาลุงทอง แต่ต่อมาก็มาสร้างเป็นสะพานอู่ตะเภา

นายบุญภา วัชรพันธ์ อดีตประธานประธานสภาจังหวัดสงขลา บุตรปลัดกลัด อายุ 60 ปี เกิดที่บ้านหาดใหญ่ บอกว่า ที่ริมคลองบริเวณหาดทรายด้านศาลาลุงทอง มีต้นมะหาดต้นหนึ่งล้มอยู่ ไม่ทราบว่าล้มอยู่ตังแต่เมื่อไร แต่สมัยเด็กๆ ลงไปเล่นน้ำในคลอง ก็มักจะไต่ตามขอนไม้ขอนนี้ และบอกว่า มีปลาปักเป้ามาก ต้องคอยระวัง เพราะที่ขอนไม้นี้เป็นรังปลาปักเป้า เด็กรุ่นราวคราวเดียวกันที่เกิดและเติบโตบริเวณนี้จะลงเล่นน้ำที่ท่านี้ด้วย กันแทบทั้งนั้น โดยเฉพาะเด็กที่ชอบซุกซนทุกคนจะรู้จักขอนไม้ขอนนี้เป็นอย่างดี

พี่ช้าง ซึ่งเป็นชื่อเล่นของนายบุญพา เล่าให้ฟังอีกถึงตลาดหาดใหญ่ว่าอยู่หลังอำเภอหาดใหญ่ในปัจจุบัน เส้นทางเข้าสู่ตลาดจะปลูกต้นมะเฟือง 2 ข้างทางดูสายงาม ซึ่งปัจจุบันก็ยังคงดำรงอยู่.

ที่มา : อ่านเต็มๆ คลิก -> เทศกาลสงขลาเมืองเก่า 
TUF ลุ้น break new high   UVAN @80 บาท --> 106.50 บาท

Probass

เรื่องราวเก่าๆ จากอ.พิชัย ศรีใสและหลายๆท่าน  สามารถดูได้ที่นี่ http://www.khlong-u-taphao.com/hadyaistory/
TUF ลุ้น break new high   UVAN @80 บาท --> 106.50 บาท