ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

Southern Seaboard การรุกเงียบ บนแผ่นดินด้ามขวาน!!

เริ่มโดย กิมหยง, 10:58 น. 03 เม.ย 51

กิมหยง

วันนี้ แผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกหรืออีสเทิร์น ซีบอร์ด (Eastern Seaboard Development Plan) โดยเฉพาะที่มาบตาพุดได้เผยให้เห็นแล้วว่าเกิดอะไรขึ้นกับคนทะเลตะวันออก จนเรียกได้ว่าส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์การพัฒนาอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกอย่างสูง ขณะเดียวกันสภาพพื้นที่ก็ไม่ได้เอื้อให้มีการขยายตัวของอุตสาหกรรมได้อีกแล้ว
       
       ด้วยเหตุนี้กระมัง การรุกคืบของแผนพัฒนาอุตสาหกรรมชายฝั่งทะเลจึงกำลังเคลื่อนตัวสู่ภาคตะวันตกและภาคใต้ของไทย รูปธรรมที่ชัดเจนคือการผลักดันโรงไฟฟ้าและโรงถลุงเหล็กในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
       
       ขณะที่ภาคใต้เองก็กำลังเผชิญกับการรุกเงียบของ แผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ หรือเซาเทิร์น ซีบอร์ด (Southern Seaboard Development Plan) ซึ่งเป็นแผนที่ถูกกำหนดขึ้นตั้งแต่ปี 2532 และค่อยๆ ผุดขึ้นอย่างเงียบเชียบ เงียบชนิดที่ว่าประชาชนในพื้นที่ภาคใต้แทบจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่ากำลังจะเกิดอะไรขึ้นกับบ้านของตัวเอง เฉพาะแค่ประเด็นนี้ก็ดูจะไม่เป็นธรรมนัก หากรัฐคิดจะผลักดันโครงการขนาดใหญ่โดยไม่ให้คนในพื้นที่รู้เห็น ยังมิต้องกล่าวถึงว่าเซาเทิร์น ซีบอร์ด จะเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าภาคใต้มากมายเพียงใด
       
       บรรจง นะแส เลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์การพัฒนาเอกชนภาคใต้ และนายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย ผู้ที่อาศัยปักษ์ใต้มาค่อนชีวิตและคลุกคลีกับความเป็นไปของแผ่นดินด้ามขวาน จะมาบอกกล่าวเล่าแจ้งถึงสิ่งที่เกิดขึ้นและกำลังจะเกิดขึ้น หากการพัฒนายังเป็นไปแบบปิดหูปิดตาประชาชน ไม่ยอมรับความแตกต่างหลากหลาย และไม่ฟังเสียงจากฐานล่าง
       
       *ณ ขณะนี้ โครงการเซาเทิร์น ซีบอร์ด มีการขยับรุกหน้าไปอย่างไรบ้าง
       แผนต่อเนื่องที่ค้างอยู่มี 2-3 จุด อย่างแลนด์บริดจ์ (Land Bridge) จากกระบี่ไปสุราษฎร์ฯที่เราจะเห็นการตัดถนน 4 เลน 2 ข้าง แล้วเว้นตรงกลางไว้สำหรับท่อน้ำมันและรางรถไฟ ถนนนี้เสร็จแล้ว ทำสมัยประชาธิปัตย์ คือความคาดหวังครั้งนั้นเขาต้องการจะทำท่าเทียบเรือน้ำลึก 2 ฝั่ง คือที่กระบี่กับที่สุราษฎร์ฯ อำเภอขนอม
       
       แต่ในส่วนกระบี่ก็มีปัญหาอยู่เพราะที่นั่นเป็นแหล่งท่องเที่ยว ถ้ากลายเป็นท่าเรือน้ำลึกก็จะมีทั้งเรือสินค้า เรือน้ำมัน ซึ่งเป็นเรื่องอ่อนไหวต่อการท่องเที่ยว จึงมีกระแสต้านจากนักธุรกิจที่ทำเรื่องการท่องเที่ยวและโรงแรม เพราะว่าเรื่องการท่องเที่ยวมันจบแล้วจบเลย ในขณะที่ถ้าเรารักษาไว้ มันจะอยู่ได้ชั่วลูกชั่วหลาน แต่ว่าเราลงทุนไปมโหฬารแล้ว ต้องเวนคืน มันก็เลยค้างเติ่งอยู่อย่างนั้น
       
       ตอนนี้ก็เลยขยับไปทางตอนล่าง ไปที่สตูล ที่ปากบารา จะทำท่าเรือน้ำลึกและจะลากเส้นใหม่จากสตูลเข้าสงขลา โผล่ที่จะนะ เป็นการสร้างปัจจัยพื้นฐานอย่างถนน รางรถไฟ ท่อน้ำมัน ท่าเรือน้ำลึก และเขตนิคมอุตสาหกรรม
       
       วันนี้ เท่าที่ตามดูเกี่ยวกับท่าเรือน้ำลึกที่ปากบารา ในฐานะที่ผมเป็นคณะอนุกรรมการสิทธิฯ ก็ขอเอกสารมาดู ก็เห็นแปลน ในส่วนของสงขลาก็มีปัญหากับชุมชนที่เขาไม่เห็นด้วย อย่างที่หาดใหญ่ก็มีการเลือกจุดแล้วอย่างที่นาทับ ที่สกอม ดังนั้น ความคืบหน้าที่ผมรู้ก็ยังอยู่ในระดับนั้น
       
       ท่าเรือใหญ่ที่ปากบาราอยู่ในขั้นออกแบบแปลน ส่วนเขื่อนจะไม่มีเขื่อนใหญ่ๆ เหมือนในภาคอื่นๆ เคยแตะเขื่อนแก่งกรุงอยู่ครั้งหนึ่งแต่ก็ไปไม่ได้ จะแตะทะเลสาบตอนบนเพื่อเอาเป็นแหล่งน้ำก็มีปัญหา ชาวบ้านไม่ยอม เพราะปักษ์ใต้ไม่มีแหล่งน้ำ ไม่มีแม่น้ำสายยาว มีแต่สายเล็ก แต่ที่ผมประเมินไว้คือเขาเล็งน้ำจืดในทะเลสาบกับบางส่วนในสตูล
       
       *รัฐมีโครงการขนาดใหญ่แบบนี้ ชาวบ้านในภาคใต้รับรู้ข้อมูลเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน
       ผมว่าน้อย สาเหตุที่น้อยเพราะว่าการถกเรื่องนี้ ส่วนใหญ่จะอยู่ในวงของนักธุรกิจ เขาจะให้ชาวบ้านรู้ก็ต่อเมือมันเริ่มทำแผน เช่น รับฟังความคิดเห็นตามที่รัฐธรรมนูญบังคับเอาไว้ วิธีรับฟังความคิดเห็นก็คือประชาสัมพันธ์ ไม่ใช่การมานั่งถกกันว่าตรงนี้ควรจะเป็นอะไร ฉะนั้น ถามว่าตอนนี้ชาวบ้านรู้มั้ย ผมว่าไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ของคนที่อยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ หรือถ้าเป็นคนใต้ทั้งหมดก็รู้น้อยมาก สาเหตุก็อย่างที่บอก คือแผนพวกนี้จะอยู่ในมือของข้าราชการ ของพวกสภาพัฒน์เป็นหลัก แต่มันไม่เคยกระจายสู่คนที่ไม่ได้เข้าเว็บไซต์ คนที่ไม่ได้อ่านหนังสือพิมพ์ทุกวัน ซึ่งคน 80 เปอร์เซ็นต์เป็นเกษตรกร เป็นชาวประมง เขาไม่มีโอกาสรับรู้เรื่องเหล่านี้
       
       *ดูจากลักษณะทางสังคม วัฒนธรรม ชุมชนของคนใต้ กับการรุกคืบของเซาเทิร์นซีบอร์ดน่าจะเกิดการคัดง้างกันอย่างยืดเยื้อ
       แน่นอนอยู่แล้ว แต่ผมมอง 2 ด้านนะ ในฐานะที่เราอยู่กับข้อมูล ตอนนี้เศรษฐกิจทั้งโลกโดยเฉพาะอเมริกามันกำลังลง ฉะนั้น แหล่งเงินทุนที่จะมาซัปพอร์ตการลงทุนขนาดใหญ่ ผมคิดว่าแม้คุณอยากทำขนาดไหนก็ไม่ง่าย
       
       ประเด็นที่ 2 คือวันนี้ชุมชนมีบทเรียนจากการพัฒนาตั้งแต่แผนที่ 1 หรือโรงงานรอบทะเลสาบสงขลา อ่าวบ้านดอน หรือหลายๆ ที่ที่มีการพัฒนาในเชิงอุตสาหกรรม ผลพวงจากสิ่งเหล่านี้ทำให้ชาวบ้านรู้มากขึ้นว่ามันส่งผลต่อชีวิตเขายังไง ฉะนั้น 100 เปอร์เซ็นต์ว่าชาวบ้านต้องตรวจสอบโครงการอย่างเข้มข้น ไม่ว่าจะลงไปไหนพื้นที่ไหน และไม่ง่ายที่จะทำลวกๆ แบบเมื่อก่อน อย่างที่จะนะ โรงงานน้ำยางข้นแค่ 2-3 โรง ชาวบ้านก็เสียที่นาไปเป็นพันๆ ไร่ หรือวันนี้เราก็มีบทเรียนของมาบตาพุดมันถูกขยาย คนมาบตาพุดออกมาบอกว่าไม่เอาแล้ว แค่นี้ก็จะตายแล้ว คิดว่าคนใต้ไม่รู้เหรอ
       
       *สภาพการเมืองตอนนี้ก็ขยับทำให้การผลักดันโครงการขนาดใหญ่เป็นได้ยากด้วย
       ก่อนไปถึงประเด็นนั้น ถ้าเราพูดถึงแผนพัฒนาภาคใต้ มันต้องโยงไปว่าใครเป็นคนคิดเรื่องการพัฒนาและผลประโยชน์ที่ได้จากการพัฒนาตกอยู่กับใคร วันนี้สังคมเริ่มรู้แล้วว่าผลพวงจากการพัฒนามันได้กับกลุ่มคนจำนวนน้อย แต่มันทำร้ายคนจำนวนมาก การกำหนดแผนการพัฒนาที่เราพยายามจะชูและถูกฝังอยู่ในรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 2540 ถึง 2550 มันจะมีเรื่องสิทธิชุมชน การอนุรักษ์ทรัพยากร สิ่งเหล่านี้หมายถึงอะไร หมายความว่าต่อไปนี้ กรุงเทพฯ สภาพัฒน์ หน่วยงานรัฐ หรืออำนาจรัฐ ไม่ง่ายที่จะใช้อำนาจไปกดขี่ชาวบ้าน เพราะชาวบ้านอาจจะมีกฎหมายรัฐธรรมนูญ พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมเอามาสู้
       
       แล้วตอนนี้การเมืองไม่ได้นิ่ง ไม่ใช่ว่าทุกอย่างลงตัว สถานการณ์ตอนนี้ไม่ได้ให้โอกาสรัฐบาลมาคิดเรื่องแผนพัฒนาหรอก แค่แก้ปัญหาตัวเองที่อินุงตุงนัง เรื่องพรรค เรื่องขัดรัฐธรรมนูญ เรื่องความขัดแย้งทางความคิด แค่นี้ก็แย่แล้ว อย่าไปคาดหวังว่าจะพัฒนานั่นนี่ ยกเว้นเรื่องง่ายๆ อย่างการดัมป์เงินลงไปสู่รากหญ้า แต่โปรเจกต์ขนาดใหญ่ที่จะลงไปสู่ชุมชนไม่ว่าเหนือ กลาง อีสาน ใต้ ผมคิดว่าไม่ง่าย รัฐบาลนี้ไม่มีสมาธิหรือเอกภาพพอที่จะผลักได้ เพราะการจะผลักโครงการใดๆ ลงไปในภูมิภาคต้องมีความพร้อมหลายๆ เรื่อง
       
       *นับจากนี้ไปสัก 1-2 ปีก็น่าจะเชื่อได้ว่าเซาเทิร์น ซีบอร์ดน่าจะยังไม่ขยับ
       ยัง หรือจะมาก็ได้ แต่ผมคิดว่าไม่หมูที่จะผลัก
       
       *แล้วช่วงเวลานี้ ภาคประชาชนจะทำอะไร
       วันนี้เราพูดถึงเรื่องปัจจัยในการผลิตหรือการพัฒนาที่ยั่งยืน ภาคใต้เรามีชายฝั่งทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน 2,600 กว่ากิโลเมตร และเราอยู่ในเส้นศูนย์สูตรซึ่งแปลว่าเรามีพันธุ์สัตว์น้ำมากกว่าเขตอื่นๆ ฉะนั้น ทิศทางการพัฒนาที่ยั่งยืนคือทำอย่างไรที่จะรักษาปัจจัยการผลิตที่อยู่กับฐานทรัพยากร เมื่อก่อนเราส่งอาหารทะเลอันดับหนึ่งของประเทศ แต่ทุกวันนี้มันลดลง เพราะอะไร เพราะเราไม่มีการบริหารจัดการ มีเครื่องมืออย่างอวนรุน อวนลากมาทำลายสัตว์น้ำวัยอ่อน
       
       ไม่ใช่ว่าภาคประชาชนอยู่เฉยๆ เราบอกว่าถ้าปักษ์ใต้จะพัฒนา เรามีชายหาดเป็นพันกิโลฯ ฝรั่งเศสต้องหาทรายมาทำหาดเทียม เรามีหาดสวยๆ แล้วไปทำลายได้ยังไง ดังนั้น ชุดของการพัฒนาจะถูกคิดจากข้างล่างมากขึ้น ในขณะที่เซาเทิร์น ซีบอร์ดถูกเบรกอยู่ แต่ข้อเท็จจริงในการพัฒนาที่สอดคล้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืนก็ถูกพูดถึงมากขึ้น ผมคิดว่านี่จะเป็นตัวคาน และถ้ามีน้ำหนักมาเติมตรงนี้ให้เยอะ เช่น มีงานวิชาการเข้ามาหนุน รายละเอียดเหล่านี้จะออกมา เพียงแต่ว่ารัฐจะฉลาดพอมั้ย จะหยิบฉวยตรงนี้ไปพัฒนาให้สอดคล้องกับสิ่งที่ประชาชนต้องการมั้ย ไม่ใช่ว่าคุณต้องการอะไรก็ผลักอย่างนั้น ซึ่งไม่ง่ายอีกแล้ว
       
       *แต่สุดท้ายภาคประชาชนจะสามารถกำหนดทิศทางการพัฒนาได้เองหรือ ในเมื่อรัฐจับมือกับทุน อย่างโรงแยกก๊าซที่จะนะก็ตัวอย่างหนึ่ง ทั้งยังเป็นตัวรุกที่ชัดเจนของเซาเทิร์น ซีบอร์ด
       ผมไม่กลัวเท่าไหร่ ถ้าเราอยู่กับชาวบ้านเราจะรู้ว่ามันต้องใช้เวลาสร้างเป็นปี แต่อาจจะพังแค่คืนเดียว ถ้ามันขัดแย้งถึงจุดหนึ่งก็ไปไม่ได้ ผมไม่เชื่อว่าอะไรที่มันขัดแย้ง เป็นหนามตำฝ่าเท้าประชาชนไปทุกย่างก้าวแล้วจะอยู่ได้นาน
       
       *ขณะนี้บรรดานายทุน อบต. อบจ. ในพื้นที่รับลูกกันขนาดไหนแล้ว
       เรื่องนี้เป็นข้อเท็จจริง ไม่ใช่เฉพาะนักการเมืองท้องถิ่นหรอก ระดับ ส.ส. เลย พื้นที่จะนะก่อนที่จะมีโครงการท่อก๊าซ คนก็รู้กันทั้งเมืองว่านักการเมืองและหัวคะแนนของพรรคการเมืองเก่าแก่พรรคหนึ่งกว้านซื้อที่ดินไว้เกินครึ่ง วันนี้ที่ปากบาราก็ไปกว้านซื้อที่เอาไว้ เพราะรู้ว่าจะมีนิคมอุตสาหกรรม มีท่าเรือน้ำลึกขึ้นที่นั่น หรืออย่างบริษัทน้ำมันขนาดใหญ่ของต่างประเทศเตรียมย้ายฐานจากสงขลาไปอยู่นครศรีธรรมราช วันนี้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฆ่ากันตายเพราะแย่งกันกว้านซื้อที่ดิน ชาวบ้านก็รู้ว่าคนพวกนี้ฆ่ากันตายเพื่อแย่งเศษเนื้อที่ฝรั่งโยนมา แล้วก็เอะใจว่าที่ย้ายเพราะบริษัทนี้มีข้อมูลบางอย่างเรื่องความไม่มั่นคงในสงขลา สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ชาวบ้านนั่งดูอยู่
       
       *อย่างกรณีความขัดแย้งในพื้นที่ของคนในชุมชน
       เกิดทุกที่ แต่ผมมองในแง่ดี เพราะถ้ามันไม่เกิดพลวัตเรื่องพวกนี้นะ มันก็ไม่ถูกตรวจสอบว่าอะไรดี ไม่ดี แล้วจะมีคนกลุ่มหนึ่งโผล่ตัวตนออกมาว่าทำเพื่อใคร ชาวบ้านก็จะรับรู้ ฉะนั้น ความขัดแย้งจะเกิดทุกพื้นที่ในที่ที่มีสิ่งแปลกปลอมลงไปที่ไม่สอดคล้องกับสิ่งที่มีอยู่เดิม อย่างที่เขาจะทำฮาลาลใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อจะแก้ปัญหาคนว่างงาน แต่ภาคประชาชนมองว่าทรัพยากรใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งชายฝั่ง ภูมิอากาศที่เหมาะกับผลไม้ราคาแพงอย่างลองกอง มังคุด ผู้มีอำนาจกลับไม่หนุน เพราะอะไร เพราะไม่ได้อยู่ในมือของคุณ แต่คุณจะเอาโรงงานไปตั้ง ตั้งใกล้ๆ แหล่งน้ำ ก็จะไปทำลายแม่สายบุรี แม่น้ำโกลก ซึ่งก็เป็นแหล่งผลิตของชาวบ้าน มันขัดแย้งกับภาคประชาชนที่ต้องการจะอยู่จนชั่วลูกชั่วหลาน อยู่อย่างมีศักดิ์ศรี ไม่ต้องไปเป็นลูกจ้างในโรงงาน
       
       *ซึ่งในภาคใต้เองก็มีการแย่งชิงทรัพยากรกันค่อนข้างรุนแรงอยู่แล้ว
       รุนแรงและมีหลายระดับ ผมยกตัวอย่างในสมัยท่านนายกฯ ทักษิณ รู้มั้ยว่ามีบริษัทหนึ่งมาเจาะแหล่งก๊าซสัมปทานในอ่าวไทย ห่างจากฝั่งสงขลาไป 30 กิโลเมตร แต่วันนี้รัฐบาลไม่เคยเข้าไปตรวจสอบ ผมไปเช็กข้อมูลได้ว่าบริษัทที่ได้สัมปทาน G4/45 ไปตั้งบริษัทอยู่ที่เกาะเคย์แมนซึ่งเป็นเกาะอะไรเราก็รู้ และคนที่เซ็นอนุมัติก็คือหมอคนหนึ่งในรัฐบาลชุดที่แล้วที่ตอนนี้ถูกตัดสิทธิอยู่
       
       นี่คือทรัพยากรที่สังคมไทยละเลย อ่าวไทยสามารถเลี้ยงสังคมไทยให้สุขสมบูรณ์ได้ แต่วันนี้ทรัพยากรในอ่าวไทยถูกฝรั่งเข้ามาแบ่งเค้ก บริษัทอย่างเชฟรอนบริษัทเดียวมีแท่นขุดเจาะในอ่าวไทย 130 แห่ง แล้วยังมีอยู่อีกประมาณ 10 บริษัทในอ่าวไทย
       
       ฉะนั้น วันนี้สิ่งที่ต้องพูดกันก็คือปัญหาการแย่งชิงทรัพยากรเราอาจจะเห็นสิ่งเฉพาะหน้า ลำคลอง แม่น้ำ ป่าไม้ แต่ในอ่าวไทยเองก็มีมโหฬาร เราไปเซ็นสัมปทานให้บรรษัทข้ามชาติราคาถูก และให้บรรษัทพวกนี้จ่ายค่าภาคหลวงในราคาคงที่ ตอนนี้ปิโตรเลียมราคาทองคำ แต่เขาให้เราแค่ 4 เปอร์เซ็นต์ทุกปี อย่างนี้เป็นธรรมหรือ ดังนั้น ภาคประชาชนจะต้องตรวจสอบการใช้ทรัพยากรที่เป็นของเรา ไม่จำเป็นต้องเฉพาะเรื่องเซาเทิร์น ซีบอร์ด
       
       *แต่เซาเทิร์น ซีบอร์ดจะไปขยายแผลการแย่งชิงทรัพยากรให้หนักขึ้น?
       มันแน่นอน แผลเดิมก็มีอยู่แล้ว แผลแรกที่ภูเก็ตอย่างกรณีแทนทาลัม ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวซึ่งทำให้มีการพัฒนาเชิงข้อมูล เอกสาร หลักฐาน ข้อเท็จจริง ฉะนั้น การที่เซาเทิร์น ซีบอร์ดลงไปจะทำให้เกิดการเอกซเรย์ อาจไม่ใช่ขยายแผล อาจหมายถึงการตัดเอาเนื้อร้ายออก ยกเลิกไปเลย และมีข้อเสนอใหม่
       
       วันนี้ข้ออ่อนของภาคประชาชนคือไม่มีข้อเสนอใหม่แบบเป็นแพกเกจเหมือนสภาพัฒน์ เพราะเขามีนักวิชาการ แต่ภาคประชาชนมีอะไร มีแต่ชาวบ้าน เอ็นจีโอ กับนักวิชาการบางส่วน ซึ่งไม่สามารถนำเสนอแบบเป็นแพกเกจได้ ผมว่านี่คือจุดอ่อน เพราะในการนำข้อเสนอที่ปฏิเสธการพัฒนาในเชิงทุนนิยม มันก็ต้องมีแพกเกจสิ่งที่จะเป็นไปได้ในอนาคตซึ่งผมคิดว่าอยู่ในช่วงนี้ แต่ตอนนี้ข้อมูลมันกระจัดกระจาย
       
       *เซาเทิร์น ซีบอร์ดจะส่งผลอย่างไรกับปัญหาใน 3 ชายแดนภาคใต้
       2 ด้าน ถ้าเป็นความเชื่อแบบทุนนิยม ศาสนาที่ทุนนิยมกลัวที่สุดคือศาสนาอิสลามเพราะมันขัดแย้งแบบตรงกันข้ามเลย ยกตัวอย่างเรื่องการกินดอกเบี้ย อิสลามบอกว่าการกินดอกเบี้ยคือการสมสู่กับแม่ของตัวเอง แต่ระบบทุนนิยม ดอกเบี้ยคือวิถีปกติ
       
       ทีนี้ความเชื่อของทุนนิยมเชื่ออีกแบบว่าก็เจเนอเรชันนี้อาจจะยังเชื่ออยู่ แล้วก็ทำลายความเชื่อซะ ส่งละคร ส่งอะไรลงไป เมื่อก่อนโต๊ะอิหม่ามพอถึงเวลา 6 โมงเย็นสามารถสั่งปิดทีวีได้เพื่อให้คนมาละหมาด วันนี้เหลือคนในมัสยิดไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ เพราะว่าทุนนิยมนำสื่อเข้าไปซึมซับ เด็กติดละครจะให้มาละหมาดได้ยังไง ระบบทุนนิยมเชื่อว่าถ้าดัมป์ตรงนี้ลงไปมากๆ ความศรัทธาจะอ่อนลง ทุนนิยมจะรุกคืบได้ง่าย
       
       ขณะเดียวกัน โลกในอนาคตมันก็พูดถึงอัตลักษณ์ของผู้คน มนุษย์จะใฝ่หาอัตลักษณ์ของตัวเอง ดังนั้น มันก็จะมีพัฒนาการในการตอบโต้กับทุนนิยม มันจึงมี 2 ด้านซึ่งสรุปไม่ได้ว่าใครจะแพ้หรือชนะ
       
       แต่ถ้าผมเป็นนักลงทุน ตอนนี้จะกล้าไปตั้งโรงงานใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มั้ย ตอนนี้นโยบายของรัฐบาลคือเอาทหารไปลง อุตสาหกรรมของทหาร เอาทหารไปสร้าง ไปทำ
       
       *เอาล่ะ สมมติว่าถ้าเซาเทิร์น ซีบอร์ดเกิดขึ้นจริง หน้าตาภาคใต้จะเปลี่ยนไปยังไง
       ถ้าลงได้จริงๆ ผมว่ามันเปลี่ยนเยอะมาก ทั้งวิถีชีวิต ศาสนา วัฒนธรรม รูปแบบการดำเนินชีวิตของคน เพราะเราก็เห็นสังคมอุตสาหกรรมว่ามันถูกสร้างโมเดลอีกแบบหนึ่ง มีแฟลตสำหรับผู้ใช้แรงงาน ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมหายไป ภาพการไปสวน ไปนาจะหายไป ตื่นเช้าขึ้นมาก็วิ่งเข้าโรงงาน
       
       แต่ช่วงผ่านนี่สิที่อันตราย เพราะองค์ประกอบที่จะพัฒนาไปเป็นสังคมอุตสาหกรรมได้ มันมีเรื่องของระดับการศึกษา ถามว่าวันนี้เรามีพร้อมมั้ย ถ้าไม่ หรือเรานำเข้าจากที่อื่น คนภาคใต้มี 12 ล้านคน ถามว่าระดับการศึกษาที่จะรองรับอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นจะรองรับได้หมดมั้ย ผมว่าไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์หรือสูงสุด 20 เปอร์เซ็นต์ แล้วอีก 80 เปอร์เซ็นต์ที่เป็นชาวไร่ ชาวนาจะอยู่ตรงไหนของการพัฒนาแบบอุตสาหกรรม ชาวประมงจะสูญเสียเรือ ไม่มีน่านน้ำให้จับปลา จับมาก็ขายไม่ได้แบบมาบตาพุด ช่วงเปลี่ยนในระยะ 5-10 ปีนี่จึงอันตราย
       
       เราจะเสี่ยงมั้ย ถ้าจะเสี่ยงเราก็ต้องมีโครงสร้างที่จะอุ้มคนเหล่านี้ไปด้วยในอนาคต แต่วันนี้เราไม่พร้อม คำว่าพร้อมคือรัฐสวัสดิการต้องเกิดขึ้น ภาษีต้องระบบก้าวหน้า ฉะนั้น คนที่ไม่มีโอกาสเข้าสู่โรงงานก็ต้องมีสวัสดิการต่างๆ เอามาจากไหน ก็เอามาจากการปรับเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจใหม่ ระบบภาษีก้าวหน้า ภาษีมรดก การจำกัดการถือครองที่ดิน ซึ่งวันนี้เราไม่พูดถึงเรื่องพวกนี้เลย แล้วอะไรมันจะเกิดขึ้นล่ะ
       
       *ในฐานะที่คุณเป็นคนใต้คนหนึ่ง คุณอยากให้ภาคใต้พัฒนาไปในทิศทางไหน
       เรื่องนี้ผมดูจากฐานข้อมูล ไม่ใช่ความรู้สึกนะ เรามีชายฝั่ง มีทุ่งนาในหลายจังหวัด ผมอยู่ปักษ์ใต้มาค่อนชีวิต ถ้าเราพูดถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน ผมว่าปักษ์ใต้พึ่งตัวเองได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ฉะนั้น ถ้าเราชูประเด็นเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน ถ้าจะทำธุรกิจก็เป็นธุรกิจเชิงท่องเที่ยวที่ไม่ทำร้ายธรรมชาติ เป็นอุตสาหกรรมก็เป็นอุตสาหกรรมสะอาด ทิศทางการพัฒนาควรถูกออกแบบอย่างนี้ภาคใต้จึงจะรอด
       
       แต่ถ้าเป็นทิศทางอย่างที่เป็นอยู่ตอนนี้ ประโยชน์จะได้กับคนจำนวนหนึ่ง แต่จะทำร้ายคนจำนวนมหาศาล ในฐานะคนใต้ ผมคิดว่าอนาคตลูกหลานไม่มี
       
       ****************
       
       เรื่อง-กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล

โดย ผู้จัดการรายวัน    3 เมษายน 2551 08:44 น.
http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9510000039501
สร้าง & ฟื้นฟู