ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

รมต.คมนาคม พูดถึงบ้านเรา

เริ่มโดย Bangdan SKL, 01:21 น. 14 ก.ย 56

Bangdan SKL

ท่านผู้มีปัญญาโปรดพิจารณาเถิด
เมื่อวานนี้ เวลา 20:20 น. ·

วันนี้ ผมมาร่วมเสวนาเรื่อง การคมนาคมภาคใต้เชื่อมสู่ AEC ที่จัดโดยคณะกรรมาธิการคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร ที่ โรงแรมลี การ์เด้นส์ พลาซ่า หาดใหญ่ ตามคำเชิญของ ท่านเจือ ราชสีห์ ประธานคณะกรรมาธิการ โดยมี ส.ส.จังหวัดสงขลาหลายท่านมาร่วมด้วย เช่น ท่านถาวร เสนเนียม ท่านชัยวุฒิ ผ่องแผ้ว ท่านพล.ต.ต สุรินทร์ ปาลาเร่ และ ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ และ มีผู้เข้าร่วมฟังเป็นจำนวนมาก เท่าที่สอบถาม ส่วนใหญ่น่าจะเป็นผู้ประกอบการและนักธุรกิจในพื้นที่ครับ

การเปิด AEC ที่จะมาถึงในปี คศ.2015 นี้ เรามักจะพูดถึงกันอย่างตื่นเต้นว่าเป็นโอกาส (Opportunity) เป็นเรื่องที่ดี เป็นการสร้างโอกาสทางธุรกิจ แต่ถ้าคิดให้ดีๆแล้ว AEC ก็อาจเป็นภัยคุกคาม (Threat)ได้ เพราะธุรกิจ อุตสาหกรรมต่างๆ ก็ไม่จำเป็นจะต้องอยู่ในประเทศไทยก็ได้ อาจจะตั้งอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านและส่งสินค้าเข้ามาในไทย หรือ ผ่านไทยไปยังประเทศอื่นได้ ถ้าเพื่อนบ้านเราเขามีความพร้อมกว่าเรา มีต้นทุนในการดำเนินการที่ถูกกว่าเรา ซึ่งเรื่องนี้ ภาคใต้จะต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ เพราะ โครงสร้างพื้นฐานของประเทศมาเลเซีย (ตามรายงานของ World Economic Forum) เขาดีกว่าเราทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็น ถนน รถไฟ ท่าเรือ หรือ ท่าอากาศยาน

ถ้าเราลองพิจารณาตัวเลขการนำเข้า ส่งออก ที่ด่านสะเดา ซึ่งเป็นด่านชายแดนที่มีปริมาณการค้าขายสูงที่สุดในประเทศนั้น มีตัวเลขที่น่าสนใจคือ ในปี 2554

สินค้าส่งออกจากไทย น้ำหนัก 2.55 ล้านตัน มูลค่า 165,606 ล้านบาท (เฉลี่ยมูลค่า 65 บาทต่อกิโลกรัม)
สินค้านำเข้าจากมาเลเซีย น้ำหนัก 893,162 ตัน มูลค่า 144,631 ล้านบาท (เฉลี่ยมูลค่า 162 บาทต่อกิโลกรัม)

สินค้าที่เราส่งออกไปมาเลเซียนั้น ส่วนใหญ่เป็น ยางพารา ไม้ ยิปซัม เป็นวัตถุดิบที่แทบจะไม่มีการสร้างมูลค่าเพิ่ม (มูลค่าต่อน้ำหนักต่ำ) ในขณะที่สินค้าที่ส่งเข้ามาจากมาเลเซียนั้น ส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุตสาหกรรม เช่น เครื่องปรับอากาศ เคมีภัณฑ์ ที่มีการสร้างมูลค่าเพิ่มแล้ว (มูลค่าต่อน้ำหนักสูง) ซึ่งชี้ให้เห็นว่าอุตสาหกรรมต่างๆนั้น อยู่ฝั่งมาเลเซียมากกว่า ในขณะที่ภาคใต้ของไทย ส่งวัตถุดิบไปเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งทำให้รายได้ของเราขึ้นกับราคาตามตลาดโลกที่ไม่แน่นอน และ มีผลกระทบรุนแรงกรณีราคาตลาดโลกต่ำลง เช่น กรณีของยางพารา

นอกจากนี้ สินค้าที่เราส่งออกไปมาเลเซียนั้น ส่วนใหญ่ไปขึ้นเรือต่อที่ท่าเรือปีนัง เพื่อกระจายไปที่ต่างๆ เช่น จีน สิงคโปร์ เพราะทางภาคใต้ เราไม่มีท่าเรือที่สามารถแข่งขันกับท่าเรือที่ปีนัง หรือ ที่พอร์ตกลัง ได้ ทำให้เราต้องส่งสินค้าผ่านท่าเรือของมาเลเป็นส่วนใหญ่

โดยสรุปแล้ว ปัญหาด้านการคมนาคมขนส่งของภาคใต้ คือ

•   ถนนเพชรเกษม (สาย 4 และ 41) ซึ่งเป็นถนนสายหลักของภาคใต้ มีความชำรุด ทรุดโทรม ตลอดเส้นทาง ตั้งแต่ประจวบลงมาถึงปัตตานี
•   ทางรถไฟ ที่ยังเป็นทางเดี่ยวตลอดเส้นทาง ทำให้เกิดปัญหาคอขวดตามจุดต่างๆ เช่น ประจวบ-ชุมพร ทุ่งสง-หาดใหญ่
•   ท่าเรือ ที่มีปัญหาด้านร่องน้ำ อุปกรณ์ประจำท่าเรือ ข้อจำกัดในการขยาย
•   ท่าอากาศยาน ที่แออัดมาก เช่น ท่าอากาศยานภูเก็ต ท่าอากาศยานหาดใหญ่ที่เริ่มจะเต็ม
•   ด่านชายแดน มีความแออัดสูง โดยเฉพาะด่านสะเดา ที่มีปริมาณ คน รถยนต์ รถบรรทุก สูงที่สุดในบรรดาด่านชายแดนทั้งหมดของประเทศ
•   กฎระเบียบต่างๆ ในการขนส่งข้ามพรมแดนระหว่างไทย – มาเลเซีย

ซึ่งรัฐบาลเองก็ได้เห็นความจำเป็นในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหลักของภาคใต้ และ ได้มีการเสนอโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ทั้งที่อยู่ในส่วนของ พรบ.โครงสร้างพื้นฐาน งบประมาณประจำปี และ งบลงทุนรัฐวิสาหกิจ ดังนี้

•   การบูรณะเส้นทางหลวงสายหลัก จำนวน 3 สายทาง ได้แก่ สาย 4 สาย 41 สาย 43 ระยะทางรวม 660 กม. งบประมาณ 10,546 ล้านบาท ครับ
•   การขยายถนน 4 ช่องจราจร 7 โครงการใน 8 จังหวัด นครศรีธรรมราช สงขลา พังงา กระบี่ ตรัง ชุมพร ระนอง ยะลา ระยะทาง 123 กม.
•   ทางหลวงชนบทสนับสนุนการท่องเที่ยวตามแนวชายทะเล (Royal Coast) ระยะทาง 150.67 กม.
•   การก่อสร้างรถไฟทางคู่ จากนครปฐม ถึง ปาดังเบซาร์
•   การก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพ-ปาดังเบซาร์ โดยเริ่มช่วงแรก กรุงเทพ-หัวหิน
•   การปรับปรุงด่านชายแดน โดยเฉพาะที่ด่านสะเดา
•   การก่อสร้างสถานีขนส่งสินค้า จังหวัดสงขลา นราธิวาส และสุราษฎร์ธานี
•   การขยายท่าอากาศยานภูเก็ต และ การวางแผนขยายท่าอากาศยานหาดใหญ่
•   การก่อสร้างท่าเรือ สงขลาแห่งที่สอง ท่าเรือชุมพร และ ท่าเรือปากบารา
•   การศึกษาโครงการมอเตอร์เวย์เชื่อมหาดใหญ่ สะเดา

โครงการเหล่านี้ส่วนใหญ่ได้มีการศึกษา วางแผนมานานแล้วในหลายรัฐบาลที่ผ่านมารวมทั้งรัฐบาลท่านนายกอภิสิทธิ์ด้วย ถึงเวลาที่เราจะต้องร่วมมือกันผลักดันต่อ เพราะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานนี้คือส่วนสำคัญอันหนึ่งในการสร้างอนาคตของประเทศไทยครับ

ในการเสวนา ก็มีผู้ร่วมเสวนาบางท่าน กล่าวว่า รัฐบาลนี้ ไม่ให้ความสำคัญกับภาคใต้ มีโครงการลงมาน้อย ซึ่งผมก็ยินดีรับฟังความเห็นของท่านครับ แต่ขอเรียนยืนยันว่า กระทรวงคมนาคมให้ความสำคัญกับทุกภาค และ เรารับใช้ประชาชนทุกคนเท่าเทียมกัน

โครงการต่างๆที่เราเสนอ เป็นไปตามยุทธศาสตร์ของประเทศ ที่จะส่งเสริมศักยภาพของประเทศในภาพรวม ผมก็บอกกับเพื่อนข้าราชการที่ไปด้วยกันว่า เราคงไม่ไปแก้ตัว หรือไปเถียงกันในประเด็นนี้ ทางที่ดีที่สุดคือเราต้องทำงานให้หนักขึ้น ผลักดันโครงการเหล่านี้ให้สำเร็จ เพื่อพิสูจน์ด้วยผลงานว่าเราทำเพื่อคนไทยทุกคนครับ

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
https://www.facebook.com/chadchartofficial?hc_location=timeline