ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

รัฐบาลทำผิดรัฐธรรมนูญ คำเตือนจาก “วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์” ที่แทงทะลุขั้วหัวใจ “นายกฯปู”

เริ่มโดย ทีมงานบ้านเรา, 10:58 น. 14 ก.ย 56

ทีมงานบ้านเรา

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ www.manager.co.th

[attach=1]
วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์
   
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-ท่าทางจะงานเข้าซะแล้วสำหรับ 'รัฐบาลเพื่อไทย' ภายใต้ระบอบทักษิณ เมื่อมือกฎหมายระดับปรมาจารย์อย่าง 'วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์' อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ ออกมาเปิดประเด็นว่า "รัฐบาลกำลังทำผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ" และก็ไม่ได้ทำผิดแค่เรื่องเดียว แต่กรณีที่จงใจทำผิดรัฐธรรมนูญนั้นร่ายยาวเป็นหางว่าว ซึ่งแน่นอนว่าปัญหานี้ย่อมไม่ส่งผลดีต่อรัฐบาลแน่ เพราะอย่าลืมว่า ...โทษของการจงใจทำผิดรัฐธรรมนูญนั้น มีตั้งแต่ถูกถอดถอนจนถึงขั้นติดคุกติดตารางกันเลยทีเดียว
       
       ทั้งนี้ ประเด็นที่เห็นชัดเจนว่ารัฐบาลทำผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญนั้น ได้แก่
       
       ประเด็นที่ 1 กรณีไม่แถลงผลงานปีละ1 ครั้งต่อรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 75 วรรคสอง โดยมาตราดังกล่าวเขียนไว้ชัดเจนว่า นอกจากรัฐบาลจะต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภาก่อนเข้าบริหารราชการแผ่นดินแล้ว รัฐบาลยังต้องจัดทำรายงานแสดงผลการดำเนินการ รวมทั้งปัญหาและอุปสรรค เสนอต่อรัฐสภาปีละหนึ่งครั้ง โดยเป้าหมายในการเขียนกฎหมายมาตรานี้ก็เพื่อตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลผ่านระบบรัฐสภา ให้สมาชิกและประชาชนทั่วไปได้ทราบผลงาน รวมทั้งปัญหาและอุปสรรคต่างๆ แต่ที่ผ่านมารัฐบาลบริหารประเทศมากว่า 2 ปีแล้ว แต่กลับไม่เคยแถลงผลงานต่อรัฐสภาแม้แต่ครั้งเดียว
       
       ประเด็นที่ 2 โครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยตั้งแต่เดือน ก.พ.2555 เมื่อครั้งขอออกเป็น พ.ร.ก.ถือว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญ วันนี้ พ.ร.ก.ดังกล่าวออกเป็น พ.ร.บ.แล้ว โดยมาตรา 3 เขียนให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม และในวรรคหนึ่งกำหนดให้การกู้ต้องทำให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 มิ.ย.2556 แต่จนถึงขณะนี้มีคำยืนยันจากรองปลัดกระทรวงการคลังว่าไปเซ็นสัญญากับ4 ธนาคารแล้ว ประเด็นที่น่าจะขัดต่อกฎหมายก็คือการกู้เงินตาม พ.ร.บ.กำหนดให้ต้องทำให้แล้วเสร็จภายในเดือน มิ.ย. 2556 แต่การเซ็นสัญญากับธนาคารแต่ยังไม่มีการส่งมอบเงินนั้นตามกฎหมายถือว่ายังไม่มีการกู้เงิน เนื่องจากตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เขียนไว้ว่าสัญญานี้จะบริบูรณ์เมื่อมีการส่งมอบทรัพย์สินที่กู้ยืม แต่รองปลัดกระทรวงการคลังพูดชัดเจนว่าตอนนี้ยังไม่มีการส่งมอบเงิน จึงเท่ากับว่ายังไม่มีการกู้เงินเกิดขึ้น รัฐจึงเข้าข่ายทำผิดกฎหมาย
       
       ประเด็นที่ 3 ซึ่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าผิด แต่ไม่มีอำนาจวินิจฉัยก็คือ กรณีที่นายอดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา คณบดีคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ นิด้า ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย โครงการรับจำนำข้าว ซึ่งอาจจะขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 84 (5) ที่บัญญัติเรื่องแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ว่า นโยบายที่รัฐกำหนดขึ้นต้องให้มีการแข่งขันเสรีเป็นธรรม ป้องกันการผูกขาด ตัดตอน แต่โครงการรับจำนำข้าวที่ทำกันอยู่ถือว่ารัฐตัดตอนเสียเอง เพราะแท้จริงแล้วไม่ใช่การรับจำนำ แต่เป็นการรับซื้อข้าวทุกเมล็ดจากชาวนา กลายเป็นโรงสีของรัฐเท่านั้นที่มีสิทธิได้ซื้อ แต่โรงสีเอกชนบางรายจะไม่ได้สิทธิรับซื้อ ขัดกับหลักของการรับจำนำ เพราะการจำนำคือ การเอาทรัพย์ไปประกันหนี้กับเจ้าหนี้ เมื่อถึงเวลาหนึ่งต้องมีการไถ่ถอนหรือมีการต่อรอง แต่นี่กลับเป็นการตั้งโต๊ะรับซื้อทั้งหมด
       
       ประเด็นที่ 4 การออกกฎหมายนิรโทษกรรม ซึ่งมีประเด็นปัญหาอยู่ 3 มาตรา คือ 1.มาตรา 3 วรรคสอง เรื่องหลักนิติธรรม เช่น คดีที่เกิดพิพากษามาแล้ว อยู่ๆ จะยกเลิกมาพิจารณาใหม่ไม่ได้ 2.มาตรา 29 ซึ่งระบุว่าการออกกฎหมายต้องใช้บังคับเป็นการทั่วไป จะบังคับใช้กับคนเดียวๆ หรือบางกลุ่มไม่ได้ เและ3.ในมาตรา30 กำหนดไว้ว่า กฎหมายต้องไม่เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะสถานะของบุคคล แต่ก็รู้ๆกันอยู่ว่าเป้าหมายในการออกกฎหมายนิรโทษกรรมของรัฐบาลเพื่อไทยในครั้งนี้ก็เพื่อต้องการจะยกเว้นให้ 'คนบางคน' เท่านั้น
       
       ประเด็นสำคัญที่มิอาจมองข้ามคือ แม้ศาลรัฐธรรมนูญอาจจะไม่มีอำนาจ ที่จะก้าวล่วงเข้าไปวินิจฉัยทุกเรื่อง แต่ยังมีองค์กรอื่นๆ ที่มีอำนาจตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ เช่น ศาลปกครอง ป.ป.ช. วุฒิสภาและศาลอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งมีอำนาจตรวจสอบและถอดถอน มีอำนาจพิจารณาพิพากษานักการเมือง ที่ถูกกล่าวหาจงใจทำผิดรัฐธรรมนูญ มีโทษตั้งแต่ถูกถอดถอนจนถึงติดคุก.
       
       ดังนั้นเรื่องนี้กลายเป็นประเด็นร้อนที่รัฐบาลอยู่เฉยไม่ได้ เพราะนอกจากจะสร้างความกังขาให้กับสังคมแล้ว หากมีการส่งเรื่องให้องค์กรที่เกี่ยวข้องดำเนินการก็อาจส่งผลให้รัฐบาลต้องพ้นจากตำแหน่งก็เป็นได้ ทันทีที่มีข่าวออกมา แม้อยู่ระหว่างปฏิบัติภารกิจในต่างประเทศ นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ' เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ' ก็มิอาจนิ่งนอนใจ รีบส่งเอกสารข่าวอิเล็กทรอนิกส์ถึงสื่อมวลชนประจำทำเนียบรัฐบาลเพื่อชี้แจงถึงกรณีดังกล่าวทันที
       
       โดยในส่วนของประเด็นที่ระบุว่ารัฐบาลไม่แถลงผลงานภายใน 1 ปี นับแต่เข้ามาบริหารประเทศ ซึ่งขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 75 วรรคสองนั้น นายสุรนันทน์ชี้แจงว่า ..." ภายหลังที่รัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 23 ส.ค.2554 รัฐบาลได้เริ่มบริหารประเทศเรื่อยมา ซึ่งครบกำหนด 1 ปี เมื่อวันที่ 23 ส.ค.2555 รัฐบาลจึงได้ดำเนินการจัดทำรายงานผลการดำเนินการของคณะรัฐมนตรี และเมื่อวันที่ 27 พ.ย.2555 เลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้มีหนังสือเรียนเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และเลขาธิการวุฒิสภาเพื่อส่งรายงานผลการดำเนินการของคณะรัฐมนตรีดังกล่าว เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 75 วรรคสอง บัญญัติไว้เรียบร้อยแล้ว ต่อมา เมื่อรัฐบาลก็ได้ดำเนินการเสนอรายงานผลการดำเนินการของคณะรัฐมนตรีต่อสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2555 แล้ว จึงถือว่าได้รัฐบาลได้กระทำการตามหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ส่วนกรณีที่รัฐบาลยังไม่ได้แถลงผลงานรัฐบาลต่อรัฐสภานั้นถือเป็นอีกขั้นตอนหนึ่งโดยถือเป็นอำนาจของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา (ฝ่ายนิติบัญญัติ) ที่จะหยิบยกเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของสภาได้เอง ซึ่งรัฐบาลในฐานะฝ่ายบริหารจะไม่สามารถเข้าไปก้าวล่วงหรือแทรกแซงใช้อำนาจดังกล่าวได้ หากรัฐบาลเข้าไปก้าวล่วงหรือแทรกแซง ย่อมเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน" นายสุรนันทน์ระบุ
       
       แต่หากพิจารณาตามข้อกฎหมายแล้ว จะเห็นว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 75 วรรคสองเขียนไว้ชัดเจนว่า " รัฐบาลจะต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภาก่อนเข้าบริหารราชการแผ่นดิน และต้องจัดทำรายงานแสดงผลการดำเนินการรวมทั้งปัญหาและอุปสรรค เสนอต่อรัฐสภาปีละหนึ่งครั้ง" แปลว่าต้องดำเนินการทั้งสองอย่าง ไม่ใช่แค่ส่งรายงานเอกสารต่อรัฐสภาเท่านั้น และการจะโยนความผิดให้สภาโดยอ้างว่าเป็นอำนาจของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา (ฝ่ายนิติบัญญัติ) ที่จะหยิบยกเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของสภานั้น ก็ถือว่าไม่ถูกต้อง เพราะรัฐบาลมีเสียงข้างมากในสภา สามารถบรรจุเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของสภาได้อยู่แล้ว จะเห็นได้ว่าแม้แต่ประเด็นที่สมาชิกรัฐสภาจำนวนไม่น้อยไม่เห็นด้วยอย่างกรณีการออกกฎหมายนิรโทษกรรม รัฐบาลก็ยังสามารถผลักดันให้เข้าสู่การพิจารณาของสภาจนได้ !!
       
       ขณะที่ประเด็นเรื่อง การดำเนินโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล เป็นการกระทำผิดตามรัฐธรรมนูญมาตรา 84(5) คือ ที่บัญญัติให้รัฐต้องดำเนินการตามแนวนโยบายด้านเศรษฐกิจ โดยกำกับให้การประกอบกิจการมีการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม ป้องกันการผูกขาดตัดตอนนั้น นายสุรนันทน์ ชี้แจงว่า... " การดำเนินโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลถือเป็นการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2554 ที่มีนโยบายยกระดับสินค้าเกษตรและให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยดูแลราคาสินค้าเกษตรให้มีเสถียรภาพที่เหมาะสม รวมทั้งผลักดันให้เกษตรกรสามารถขายสินค้าเกษตรได้ในราคาสูงเพียงพอเมื่อเทียบกับต้นทุน และนำระบบจำนำสินค้าเกษตรมาใช้ในการสร้างความมั่นคงด้านรายได้ให้แก่เกษตรกร เริ่มต้นจากการรับจำนำข้าว ดังนั้น จึงถือเป็นแนวทางที่รัฐบาลจะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบายดังกล่าวที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา"
       
       แต่สิ่งที่นายสุรนันทน์ไม่ได้ชี้แจงก็คือ โครงการรับจำนำข้าว ซึ่งในทางปฏิบัติคือรัฐบาลรับซื้อข้าวจากชาวนาทั้งระบบมาขายเอง ถือเป็นการที่รัฐเข้าไปผูกขาดตลาดใช่หรือไม่ !!
       
       ด้าน นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย ก็รีบออกมาเบี่ยงเบนประเด็นว่าการออกมาแสดงความเห็นของนายวสันต์นั้นมีเป้าหมายทางการเมืองแอบแฝง เพราะฝ่ายค้านได้นำเรื่องนี้ไปขยายผล แต่ประเด็นสำคัญที่โฆษกเพื่อไทยไม่สามารถตอบได้ก็คือ "รัฐบาลทำผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญจริงหรือไม่ " ?
       
       อย่างไรก็ดี หลายฝ่ายมองว่าการที่นายวสันต์ออกมาชี้ประเด็นการทำผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญของรัฐบาลเพื่อไทย ภายหลังจากที่ตัวเขาตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนั้น ก็อาจเป็นไปได้ว่าเป็นการทำงานแบบ 'แบ่งหน้าที่กัน' ของฝ่ายกฎหมายที่ต้องการดำรงไว้ซึ่งความถูกต้องชอบธรรมในบ้านเมือง เพราะการจะแสดงความเห็นในลักษณะดังกล่าวขณะที่ดำรงตำแหน่ง 'ประธานศาลรัฐธรรมนูญ' นั้นนายวสันต์ไม่สามารถทำได้ เพราะเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม แต่หากลาออกมาก็สามารถชี้ประเด็นข้อกฎหมายที่รัฐบาลเพื่อไทยจงใจทำผิดเพื่อประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้องได้อย่างชัดเจน และล้วนเป็นประเด็นที่ผู้ที่เชี่ยวชาญด้านกฎหมายเท่านั้นที่มองเห็น จึงเป็นการ 'เปิดประเด็น' ส่งไม้ต่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการ !!
       
       ส่วนว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้าน หรือองค์กรอิสระต่างๆ จะหยิบเอาประเด็นเหล่านี้ไปดำเนินการเพื่อกวาดล้างการใช้อำนาจที่ไม่ถูกต้องออกไปจากบ้านนี้เมืองนี้หรือไม่ ก็เป็นสิ่งที่ประชาชนคนไทยคงได้แต่เฝ้ารอ ?
       
สนับสนุนการขับเคลื่อนโดย
- ฮอนด้าพิธานพาณิชย์-อริยะมอเตอร์ www.phithan.co.th/hondaphithan
- ปาล์มสปริงส์ & ซิตี้รีสอร์ท บ้านและคอนโดคุณภาพจากเครืองศุภาลัย www.hatyainakarin.com
- ธีระการช่าง หาดใหญ่ (เยื้องบิ๊กซีคลองแห) โทร 086-4910345 www.facebook.com/teerakarnchanghy
- เอนกการช่าง ผู้นำการพัฒนาเครื่องจักรกลเกษตร โทร 081-7382622 www.an-anek.com/contact.php
รีวิวธุรกิจ เกาะติดบ้านเมือง ร้อยเรื่องท้องถิ่น TLP 0897384215