ข่าว:

ทดลองใช้งานบอร์ดตะลุง ที่อยู่ในขั้นตอนการกู้คืนข้อมูล เบื้องต้นมีแต่กระทู้ (ข้อความ) กำลังกู้รูปภาพ ไฟล์แนบต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยสมบูรณ์ภายในไม่ช้า

Main Menu

แบงก์หั่นค่าบิลชนบิ๊กซี-โลตัส แก้เกมฉกลูกค้า/กรุงไทยเล็งเก็บ5บาท

เริ่มโดย ทีมงานประชาสัมพันธ์, 10:38 น. 07 ต.ค 56

ทีมงานประชาสัมพันธ์

updated: 04 ต.ค. 2556 เวลา 16:43:13 น.
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

แบงก์ เสียรังวัด ค้าปลีกเจาะหม้อข้าว "โกยค่าธรรมเนียม" แก้เกมดัมพ์สู้บิลละ 5 บาท "กรุงไทย" เล็งดูดลูกค้าเหมาพอร์ตผูกสินค้าอื่นพ่วง "กสิกรฯ" ชูโมบายแบงกิ้ง เจ้าตลาด "เคาน์เตอร์เซอร์วิส" โชว์ยอด 10 ล้านรายการ/เดือน ชี้ตลาดโต 15-20% "เทสโก้-บิ๊กซี" จัดโปรฯล่อใจบิลเพย์เมนต์ถูกสุด 5-8 บาท

การเปิดตัวของธนาคารไทยพาณิชย์ที่ร่วมมือกับบริษัท เซ็นทรัลแฟมิลี่มาร์ท จำกัด ให้บริการระบบการรับชำระเงินค่าสินค้าและบริการในปัจจุบันมากกว่า 100 รายการ อาทิ ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า บัตรเครดิต ประกันชีวิต ประกันภัย ฯลฯ ผ่านช่องทางเคาน์เตอร์ของแฟมิลี่มาร์ท กว่า 900 สาขาทั่วประเทศนั้น

ปราก ฎว่า ขณะนี้กำลังเป็นสัญญาณการปรับตัวของกลุ่มธนาคารไทยเพื่อเพิ่มช่องทางสร้าง รายได้ค่าธรรมเนียมการบริการ หลังจากบรรดาห้างค้าปลีกและร้านสะดวกซื้อรุกให้บริการดังกล่าวมานานนับสิบปี และมีรายได้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ "ประชาชาติธุรกิจ" ได้จับปรากฏการณ์ดังกล่าวมานำเสนอในมุมการแข่งขันที่เกิดขึ้นและทิศทางต่อ จากนี้

จับเทรนด์ค้าปลีกตีตลาดจ่ายบิล

นายณรงค์ชัย ว่องธนะวิโมกษ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายกลยุทธ์และการเงิน ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า แนวโน้มธุรกิจค้าปลีกและร้านสะดวกซื้อทั้งหลาย ประกอบด้วยร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ห้างเทสโก้ โลตัส ได้เข้ามามีบทบาทในการทำธุรกิจทับซ้อนกับธนาคารพาณิชย์มากยิ่งขึ้น เห็นชัดจากธุรกิจบริการรับชำระค่าสินค้าและบริการผ่านเคาน์เตอร์ ทำให้ธนาคารสูญเสียโอกาสสร้างรายได้ค่าธรรมเนียมค่อนข้างมากและจะมากขึ้นใน อนาคต

"ธนาคารต่าง ๆ ต้องเร่งปรับตัว เพราะนอกจากจะต้องรับมือกับการแข่งขันกับธนาคารด้วยกันเอง แข่งกับสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารหรือน็อนแบงก์ และต้องแข่งกับผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีก ร้านสะดวกซื้ออีกด้วย ซึ่งรายได้ตรงนี้จะเห็นชัดหลังเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) และยิ่งชัดขึ้นภายใน 5-10 ปีนี้แน่นอน" นายณรงค์ชัยกล่าว

สอดคล้อง กับนายไตรรงค์ บุตรากาศ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ สาย GTS ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ที่กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันพฤติกรรมของลูกค้าให้ความนิยมหันมาชำระบิลและบริการผ่านร้านค้าปลีก มากกว่าเคาน์เตอร์ของธนาคารแล้ว โดยจำนวนรายการที่ชำระบิลผ่านร้านค้าปลีกมีสัดส่วน 60% ที่เหลือ 40% เป็นชำระผ่านเคาน์เตอร์แบงก์

"การจ่ายบิลผ่านร้านค้าปลีกมีแนวโน้ม ขยายตัวต่อเนื่อง โตปีละกว่า 10% ขณะที่ช่องทางเคาน์เตอร์ธนาคารเติบโตแค่ 5-6% ส่วนช่องทางอิเล็กทรอนิกส์เติบโต 20-30% ส่วนนี้จะยังมีปริมาณค่อนข้างน้อย" นายไตรรงค์กล่าวและว่า

สำหรับ ธนาคารพาณิชย์ ปัจจุบันมีปริมาณธุรกรรมรับชำระค่าบิลประมาณ 2 ล้านบิล/เดือน หรือคิดเป็นส่วนแบ่งตลาด 15% สร้างรายได้ค่าธรรมเนียม 20-30 ล้านบาท/เดือน ส่วนใหญ่เป็นธุรกรรมที่ชำระผ่านเคาน์เตอร์ธนาคาร แต่หลังจากร่วมมือกับเซ็นทรัลแฟมิลี่มาร์ท คาดว่าในปี 2560 ส่วนแบ่งการตลาดมีแนวโน้มจะเพิ่มเป็น 20%

"ครึ่งปีแรกไทยพาณิชย์มี รายได้ค่าธรรมเนียม 1,800 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากช่องทางการรับชำระเงิน 40% ซึ่งค่อนข้างสูงและมาแรงมาก และความร่วมมือกับแฟมิลี่มาร์ทจะช่วยผลักดันรายได้ค่าธรรมเนียมรวมของแบงก์ เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 7-10% รวมถึงในอนาคตช่องทางอิเล็กทรอนิกส์จะมีบทบาทเพิ่มมากขึ้นอีก" นายไตรรงค์กล่าว

ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าปริมาณบิลที่จ่ายผ่านช่องทางต่างๆ ของร้านค้าปลีกและธนาคาร รวมกันแล้วมีประมาณ 30 ล้านรายการ/เดือน หรือมากกว่า 300 ล้านรายการในแต่ละปี ทั้งยังมีแนวโน้มเติบโตขึ้นทุกปี เนื่องจากประเภทของสินค้าและบริการที่ออกบิลมีเพิ่มขึ้นด้วย

กรุงไทยดัมพ์ค่าธรรมเนียมสู้

นายเวทย์ นุชเจริญ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า การขยายบริการด้านธุรกรรมรับชำระเงินเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์การเติบโตที่ สำคัญของธนาคาร โดยมีแผนยกระดับความสามารถแข่งขันในธุรกิจนี้มาสู้ กับธุรกิจค้าปลีก ซึ่งกลยุทธ์แรกจะต้องพยายามกดค่าบริการลงไปสู้ให้ได้ จากปัจจุบันค่าบริการของแบงก์อยู่ที่ 8 บาท/รายการ ยังสูงกว่าราคาต่ำสุดในตลาดที่ 5 บาท/รายการ

กลยุทธ์ต่อมา ธนาคารจะชูความสะดวกสบายแก่ลูกค้า เช่น ดีลตรงกับลูกค้าองค์กรที่ใช้บัญชีเงินเดือน (เพย์โรล) กับกรุงไทย จัดแพ็กเกจตัดค่าบริการจากบัญชีโดยตรง และมีบริการ SMS แจ้ง สุดท้ายจะต่อยอดกับผลิตภัณฑ์การเงินอื่น ๆ เช่น บัญชีเงินฝาก จะเพิ่มออปชั่นทำธุรกรรมชำระเงินเข้าไปให้ฟรี ผลิตภัณฑ์ใหม่จะออกในเดือน ต.ค.นี้ รวมถึงการให้บริการชำระบิลผ่านแคมเปญ "Net Fee Zero" ผ่านอินเทอร์เน็ต และไม่เสียค่าธรรมเนียม

"ถ้าดูแค่ราคาอย่างเดียว เรายังแพงกว่าร้านค้าปลีกอยู่ประมาณ 3 บาท/รายการ ดังนั้น ถ้าจะกดลงมาให้สู้ได้ เราต้องเฉลี่ยกับค่าบริการส่วนอื่น ๆ เข้ามาช่วย ธุรกรรมชำระบิลนี้มีปริมาณมหาศาลและเติบโตขึ้นทุกปี ซึ่งกรุงไทยมีฐานลูกค้ากว่า 14 ล้านราย ศักยภาพเรามีก็ควรทำเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าและรักษาฐานเอาไว้" นายเวทย์กล่าว

กสิกร ชูเกมการตลาดดันค่าฟีโต

ด้าน ธนาคารกสิกรไทยเป็นสถาบันการเงินอีกรายที่แข่งขันหนักในตลาดนี้ จะใช้กลยุทธ์การตลาดผสมผสานสร้างลูกเล่นดึงดูดใจลูกค้า ด้วยการแยกช่องทางด่วนสำหรับจ่ายบิล แคมเปญจ่ายบิลด่วนสะสมแสตมป์แลกของรางวัลโดราเอมอน

ล่าสุด เพิ่งออกโมบายแบงกิ้งเวอร์ชั่นใหม่ ลูกค้าสามารถใช้บริการผ่านสมาร์ทโฟนสแกนบาร์โค้ดจากใบแจ้งหนี้แล้วชำระผ่าน โมบายแบงกิ้งของกสิกรไทยได้ทันที

นายปกรณ์ พรรธนะแพทย์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ธนาคารต้องการเติบโตในบริการชำระค่าสินค้าและบริการ โดยเน้นตอบโจทย์ความสะดวก ปลอดภัย และตรงกับไลฟ์สไตล์ลูกค้า เซ็กเมนต์ที่สะดวกกับสมาร์ทโฟนจะใช้โมบายแบงกิ้งจ่ายตรงเลย หรือกลุ่มที่ยังไม่สะดวกวิธีนี้ก็จ่ายผ่านเคาน์เตอร์ธนาคาร ซึ่งจะมีแคมเปญพิเศษให้แก่ลูกค้า ซึ่งผลตอบรับช่วงครึ่งปีแรกค่อนข้างดี มีธุรกรรมจ่ายบิลกว่า 1 ล้านรายการ/เดือน เพิ่มขึ้นมากกว่า 10%

"ราย ได้ค่าธรรมเนียมของธุรกรรมจ่ายบิล ครึ่งปีแรกเราเติบโตได้ 14% ครึ่งปีหลังคงโตขึ้นอีกเยอะ ปีนี้เราตั้งเป้าเติบโต 33-36% เพราะเห็นโอกาสและไลฟ์สไตล์ลูกค้าเปลี่ยนไปเยอะ จากเดิมเป็นครอบครัวใหญ่ บิลรวม 4-5 บิล/เดือน เดี๋ยวนี้เป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น ส่วนใหญ่อยู่คอนโดมิเนียม จำนวนบิลก็เพิ่มขึ้นมหาศาล" นายปกรณ์กล่าว

นอก จากนี้ จากการสำรวจในกลุ่มธนาคารระดับกลางพบว่า ต่างก็พลิกมาสู้ด้วยผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เน้นความคุ้มค่าจากการทำธุรกรรมมากขึ้น เช่น ธนาคารทหารไทย (ทีเอ็มบี) ออกบัญชีเงินฝาก

"ทีเอ็มบี ธุรกรรมทำฟรี" ทั้งฟรีค่าธรรมเนียมธุรกรรมกดเงิน จ่ายบิลและโอนเงิน เลือกได้แบบ 10 และ 20 ธุรกรรม/เดือน ขณะที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยาออกบัญชีเงินฝาก "ออมทรัพย์จัดให้" ที่ให้จ่ายบิลฟรีค่าธรรมเนียม 5 บิล/บัญชี/เดือน

ด้านธนาคารซีไอเอ็ม บี ไทย มีแคมเปญจ่ายบิลที่เคาน์เตอร์ของธนาคาร ตู้เอทีเอ็ม และผ่านอินเทอร์เน็ต โดยมีค่าธรรมเนียมบิลละ 5 บาททุกประเภท ถึง 31 ธ.ค. 2556

เคาน์เตอร์เซอร์วิสโตปีละ 20%

นายวีรเดช อัครผลพานิช ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท เคาน์เตอร์เซอร์วิส จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทเป็นผู้ให้บริการรับชำระบิลกว่า 10 ล้านรายการ/เดือน มีเครือข่ายเคาน์เตอร์เซอร์วิสกว่า 9,000 แห่ง ในจำนวนนี้ 7,300 แห่งอยู่ในร้านเซเว่นอีเลฟเว่น แผนในอนาคตจะเพิ่มเป็น 1 หมื่นแห่ง ในปี 2557 และ 1.3 หมื่นแห่ง ในอีก 3 ปีข้างหน้า เพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกรรมนี้ที่ประเมินว่าจะเติบโตได้อีกมาก เฉลี่ยปีละ 15-20%

"ธุรกรรมนี้ไม่ได้สร้างรายได้เป็นหลัก แต่เป็นกลยุทธ์ที่ดึงลูกค้าให้เข้าร้านสะดวกซื้อมากกว่า ส่วนกลยุทธ์เรื่องราคาก็ไม่ใช่ประเด็นหลักที่ลูกค้าตัดสินใจ เพราะค่าธรรมเนียมน้อยมากเมื่อเทียบกับมูลค่าบิลที่ลูกค้าจ่ายเป็นหลักพัน บาท หมื่นบาท แต่ลูกค้าจะดูที่ความสะดวกและความน่าเชื่อถือมากกว่า เราบุกเบิกตลาดนี้มา 20 ปี จนถึงวันนี้เป็นผู้นำตลาด และมองว่าการแข่งขันกันเป็นเรื่องปกติ สุดท้ายจะใช้ช่องทางไหนอยู่ที่ลูกค้าเป็นคนเลือกเอง" นายวีรเดชกล่าว

นาย ณัฐ วงศ์พานิช ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เซ็นทรัลแฟมิลี่มาร์ท จำกัด กล่าวว่า อัตราค่าบริการเริ่มตั้งแต่ 5 บาท 10 บาท 15 บาท 20 บาท จากนี้มีแผนจะจัดโปรโมชั่นออกมาดึงดูดผู้บริโภค ถือเป็นช่องทางที่มีโอกาสเติบโตได้อีกมาก ส่วนเทสโก้ โลตัส อัตราค่าบริการเฉลี่ยอยู่ที่ 8 บาท โดยอยู่ระหว่างจัดโปรโมชั่นบิลเพย์เม้นต์ วันที่ 22 พ.ค.-31 ต.ค.นี้

"1 ใบเสร็จ รับ 1 สิทธิ์ ลุ้น BMW 5 เดือน 5 คัน" รถยนต์ยี่ห้อบีเอ็มดับเบิลยูรุ่น X1 sDrive ขณะที่บิ๊กซี อัตราค่าบริการเริ่มต้นที่ 5 บาท และเซเว่นอีเลฟเว่นเริ่มต้นที่ 10 บาท